ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๗๐๘-๗๑๓.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

[๘๖๘] บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. กลหวิวาทสูตร๑-
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๖๙] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๐] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก๒- การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่ มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๗-๑๑๒/๒๙๗-๓๓๗ @ สิ่งเป็นที่รัก มีความหมาย ๒ อย่าง คือ (๑) สัตว์ หมายถึงมารดา บิดา พี่ น้อง บุตร ธิดา เป็นต้น @(๒) สังขาร หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๘/๓๐๑-๓๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๑] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ ความโลภของชนเหล่านั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า ความหวังและความสำเร็จหวังนั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๒] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๓] ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน และความตัดสินใจมีมาจากไหน อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย มีมาจากอะไร และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๔] ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น ชนในโลกมองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อมทำการตัดสินใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

[๘๗๕] ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย ย่อมมีในเมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ บุคคลผู้มีสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ๑- และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้ ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มีมา (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๖] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านั้นจึงไม่มี @เชิงอรรถ : @ ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ) ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ @ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ (๑) นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป) (๒) ปัจจยปริคคหญาณ @(ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป) (๓) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดย @ไตรลักษณ์) (๔) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ) (๕) ภังคานุ- @ปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด) (๖) ภยตูปัฏ- @ฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น) @(๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ) (๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ @(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย) (๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อ @หน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น) (๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ @(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก) (๑๑) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ @อันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย) (๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ @อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ) (๑๓) โคตรภูญาณ (ญาณหยั่งรู้ที่เป็น @หัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล) (๑๔) มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค (ความ @หยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น) (๑๕) ผลญาณ ญาณในอริยผล (ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของ @พระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ) (๑๖) ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผล @กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน) (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑-๖๕/๗-๑๐๙, วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/๒๕๐-๓๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๑๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

ขอพระองค์จงตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์ (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๗] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี เราขอบอกเรื่องคือความไม่มีและความมีนี้ว่า มีต้นเหตุมาจากผัสสะแก่เธอ (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๘] ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน และความยึดถือมีมาจากไหน เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๙] เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิดขึ้น ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๘๐] เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๑๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๘๑] บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่ เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี เพราะส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๘๒] ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์๑- ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ หรือว่าสมณพราหมณ์บางพวก กล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่า เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้ (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๘๓] สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่า เป็นผู้ฉลาด พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ @เชิงอรรถ : @ ยักษ์ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑๐/๓๓๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๑๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๒. จูฬวิยูหสูตร

[๘๘๔] มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์ ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้ว ก็หลุดพ้นไม่ถึงการวิวาท ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่
กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑ จบ
๑๒. จูฬวิยูหสูตร๑-
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๘๕] สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตนๆ ถือแล้วก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด พูดกันไปต่างๆ ว่า บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า ยังไม่สำเร็จกิจ [๘๘๖] สมณพราหมณ์เหล่านั้นถืออย่างนี้ แล้วก็พากันวิวาท และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด ต่างก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๘๗] คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑๓-๑๒๙/๓๓๘-๓๖๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๑๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๐๘-๗๑๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=708&pages=6&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=19113 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=19113#p708 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๐๘-๗๑๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]