ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๗๕๔-๗๕๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๕. โธตกมาณวกปัญหา

[๑๐๖๗] นรชนใดในที่นี้เป็นผู้มีปัญญา จบเวท สลัดกิเลสเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
เมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔ จบ
๕. โธตกมาณวกปัญหา๑-
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๑๐๖๘] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว ศึกษาธรรม๒- เป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน [๑๐๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖-๙๓/๑๘-๒๐ @ ศึกษาธรรม หมายถึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๑/๑๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๕. โธตกมาณวกปัญหา

[๑๐๗๐] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้) ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ๑- ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์ จากความสงสัยทั้งหลายเถิด [๑๐๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐ ก็จะข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ [๑๐๗๒] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล เป็นผู้ไม่อาศัย๒- เที่ยวไปอยู่ @เชิงอรรถ : @ ผู้สักกะ หมายถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๒/๑๖๓) @ ไม่อาศัย หมายถึงไม่อาศัยในอารมณ์ไหนๆ ด้วยทิฏฐิหรือตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๕. โธตกมาณวกปัญหา

[๑๐๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้ เราจักกล่าวความสงบนั้นที่เรารู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ [๑๐๗๔] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้ [๑๐๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย
โธตกมาณวกปัญหาที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๕๔-๗๕๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=754&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=20413 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=20413#p754 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๕๔-๗๕๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]