ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

หน้าที่ ๔๖๘-๔๖๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

                                                                 ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา

[๗๖๕] เราได้ขึ้นปราสาทคือสติปัฏฐาน พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้ยินดีในร่างกายของตน ที่เราจักได้รู้ในกาลก่อนโดยเป็นแก่นสาร [๗๖๖] เมื่อคราวที่เราได้เห็นทาง (คือวิปัสสนา) ซึ่งเป็นอุบายสำหรับขึ้นเรือ (คืออริยมรรค) แล้วไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน จึงได้เห็นท่าที่ดีเยี่ยม๑- [๗๖๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงทางอันยอดเยี่ยม เพื่อไม่ให้เป็นไปแห่งบาปธรรมคือทิฏฐิและมานะเป็นต้น ซึ่งเปรียบเหมือนลูกศรเกิดแต่ตน ทั้งเกิดแต่ตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ [๗๖๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำจัดโทษที่เป็นพิษ ได้ทรงช่วยบรรเทากิเลสเครื่องร้อยรัดของเราที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ครอบงำสันดานอยู่มาเป็นเวลานาน
๔. รัฏฐปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระรัฏฐปาลเถระ
(พระรัฏฐปาลเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๗๖๙] ขอเชิญโยมมารดาบิดาทรงดูอัตภาพ ที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้น ทำให้วิจิตร มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง กระสับกระส่ายที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น [๗๗๐] ขอเชิญโยมมารดาบิดาทรงดูรูปที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหู แต่งให้วิจิตร ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมเสื้อผ้า @เชิงอรรถ : @ โสดาปัตติมรรค (ขุ.เถร.อ. ๒/๗๖๖/๓๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๖๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

                                                                 ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา

[๗๗๑] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๗๗๒] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๗๗๓] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ๆ ที่งดงาม ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๗๗๔] นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้แล้ว เนื้อไม่มาติดบ่วง เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กินเหยื่อแล้วหลบหนีไป เมื่อนายพรานกำลังคร่ำครวญอยู่ [๗๗๕] เราทั้งหลายกัดบ่วงของพรานเนื้อขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เรากินเหยื่อแล้วหลบหนีไป เมื่อพรานเนื้อกำลังเศร้าโศกอยู่ [๗๗๖] อาตมาเห็นผู้คนที่มีทรัพย์ในโลก ได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้ว ไม่ยอมให้(ใคร) เพราะความหลง ได้ทรัพย์แล้ว เก็บสะสมไว้ และปรารถนากามคุณยิ่งๆ ขึ้นไป [๗๗๗] พระราชาทรงกดขี่ ช่วงชิงเอาแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครล้อมรอบ ตลอดสมุทรสาครฝั่งนี้ ยังไม่ทรงพอ ยังทรงปรารถนาจะครอบครองสมุทรสาครฝั่งโน้นอีก [๗๗๘] ทั้งพระราชาและคนอื่นเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ปราศจากตัณหา เข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มตามที่ต้องการเลย ก็ละทิ้งร่างกายไป เพราะความอิ่มด้วยกามไม่มีในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๖๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๖๘-๔๖๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=26&page=468&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=13006 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=26&A=13006#p468 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_26 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26 https://84000.org/tipitaka/english/?index_26



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๖๘-๔๖๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]