ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

หน้าที่ ๕๔๖-๕๔๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

                                                                 ๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๗๑] เราได้ถึงฝั่งแห่งอภิญญา ชำระโสตธาตุให้หมดจด ได้วิชชา ๓ บรรลุฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น (พระวังคีสเถระ ในคราวที่พระอุปัชฌาย์ของท่านปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๗๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดาผู้มีพระปัญญามากว่า ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี่แหละ ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร [๑๒๗๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ภิกษุนั้นเห็นธรรมคือนิพพานอันมั่นคง เป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า นิโครธกัปปะ ผู้มุ่งแต่ความหลุดพ้น ปรารภความเพียร ยังกราบไหว้ท่านอยู่ [๑๒๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ซึ่งมีพระจักษุรอบคอบ แม้ข้าพระองค์ทุกรูป ปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตลงฟัง พระองค์มิใช่หรือเป็นศาสดา พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม [๑๒๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน ขอพระองค์โปรดตัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้า พระองค์ทราบด้วยเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

                                                                 ๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๗๖] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้ เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตซึ่งมีพระจักษุ มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป [๑๒๗๗] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นบุรุษแต่เพียงกำเนิด ก็จะไม่พึงทรงทำลายกิเลสได้ เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆหมอกที่หนาทึบไม่ได้ โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะมืดหนักลง พระสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นต้น ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง ก็จะไม่พึงรุ่งเรืองนัก [๑๒๗๘] นักปราชญ์ทั้งหลาย เป็นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระปรีชาญาณ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์เข้าใจพระองค์ว่า ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่าพระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ในบริษัทด้วยเถิด [๑๒๗๙] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวานที่เกิดแต่พระนาสิกที่บุญญาธิการ ตกแต่งมาดีแล้วได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา เหมือนพญาหงส์ทอง โก่งคอขันเบาๆ อย่างไพเราะ ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่ ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

                                                                 ๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๘๐] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตายที่ละได้อย่างสิ้นเชิง จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด เพราะบรรดาปุถุชนและเสขบุคคลเป็นต้น ผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี เหมือนคนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตัวต้องการได้ [๑๒๘๑] พระดำรัสของพระองค์นี้มีไวยากรณ์สมบูรณ์ พระองค์ทรงมีพระปัญญาตรงไปตรงมาตรัสไว้อย่างถูกต้อง ข้าพระองค์ก็เรียนมาดีแล้ว การถวายบังคมที่ข้าพระองค์ถวายอย่างนอบน้อมนี้เป็นครั้งสุดท้าย ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญามาก พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระได้ ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง [๑๒๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ทรงตรัสรู้อริยธรรมทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมดได้ ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อน ก็ต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ขอพระองค์ทรงยังฝนคือพระธรรมเทศนา ที่ข้าพระองค์ฟังมาแล้วให้ตกลงเถิด [๑๒๘๓] พระนิโครธกัปปเถระได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ของท่านนั้นไม่สูญเปล่าหรือ ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

                                                                 ๑. วังคีสเถรคาถา

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) [๑๒๘๔] พระนิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้ ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน ข้ามพ้นชาติมรณะได้อย่างสิ้นเชิง พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการได้ตรัสไว้ดังนี้ (พระวังคีสเถระกราบทูลด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วย่อมเลื่อมใส ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์ พระองค์เป็นพุทธเจ้าไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน [๑๒๘๖] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้างทั้งมั่นคงของพญามารเจ้าเล่ห์ได้ขาด [๑๒๘๗] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า ท่านนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว (พระวังคีสเถระเมื่อจะประกาศความเลื่อมใส จึงได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า) [๑๒๘๘] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ ข้าพระองค์ขอกราบไหว้ท่านพระนิโครธกัปปเถระ ผู้เป็นวิสุทธิเทพ เป็นอนุชาตบุตร มีความเพียรมาก เป็นผู้ประเสริฐ ทั้งเป็นโอรสของพระองค์ผู้ประเสริฐนั้น ทราบว่า ท่านพระวังคีสเถระได้กล่าวภาษิตทั้งหลายไว้ ด้วยประการฉะนี้แล
มหานิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๕๔๖-๕๔๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=26&page=546&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=15221 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=26&A=15221#p546 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_26 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26 https://84000.org/tipitaka/english/?index_26



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๔๖-๕๔๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]