บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |||
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส หน้าที่ ๑๔๙-๑๕๒.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]
๖. ชราสุตตนิทเทส
เป็นธรรมดา ขออย่าได้แตกสลายไปเลย จะพึงหาได้จากที่ไหนในโลกนี้เล่า ข้อนั้น ไม่ใช่ฐานะจะมีได้ ขันธ์ ธาตุ อายตนะก่อนๆ แปรผันเป็นอื่นไป ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่เกิดหลังๆ ก็ย่อมเป็นไป๑- รวมความว่า ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง คำว่า ดังนี้ ในคำว่า กุลบุตรเห็นดังนี้แล้วก็ไม่พึงครองเรือน เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน คำว่า เห็นดังนี้แล้ว ได้แก่ เห็นแล้ว คือ มองเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็น ของเรา ดังนี้ รวมความว่า เห็นดังนี้แล้ว คำว่า ก็ไม่พึงครองเรือน อธิบายว่า พึงตัดความกังวลเรื่องการครองเรือน ตัดความกังวลเรื่องบุตรภรรยา ตัดความกังวลเรื่องญาติ ตัดความกังวลเรื่องมิตร อำมาตย์ ตัดความกังวลเรื่องการสะสมทั้งหมด โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้า กาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความไม่กังวลแล้ว เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว รวมความว่า กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่ ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน [๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา @เชิงอรรถ : @๑ ที.ม. ๑๐/๒๐๗/๑๒๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]
๖. ชราสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการยึดถือเบญจขันธ์ คำว่า เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย อธิบายว่า คำว่า ความตาย ได้แก่ การจุติ การเคลื่อนจากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่า สัตว์นั้นๆ ความทำลาย ความหายไป มัจจุ ความตาย กาลกิริยา การทำลายขันธ์ การทอดทิ้งซากศพไว้ การตัดขาดชีวิตินทรีย์ คำว่า เบญจขันธ์นั้น ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คำว่า ย่อมละไป ได้แก่ เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไป คือ ละทิ้ง ละขาด สูญหาย สลายไป สมจริงดังภาษิตนี้ว่า โภคทรัพย์ย่อมละบุคคลไปก่อนบ้าง บุคคลย่อมละโภคทรัพย์ไปก่อนบ้าง โจรราชผู้ใคร่กาม๑- หมู่ชนผู้มีโภคทรัพย์ เป็นผู้ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็ลับไป ดวงอาทิตย์กำจัดความมืดแล้วก็ลับไป ศัตรูเอ๋ย เรารู้จักโลกธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก๒- คำว่า เบญจขันธ์ใด ในคำว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา เบญจขันธ์นั้น บุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คำว่า บุรุษ ได้แก่ การกล่าวถึง การขนานนาม การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ คำว่า ย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา อธิบายว่า ย่อมสำคัญเพราะ ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐิ ย่อม @เชิงอรรถ : @๑ โจรราชผู้ใคร่กาม เป็นชื่อของพระราชาองค์หนึ่ง ในมณิกุณฑลชาดก (ขุ.ชา.อ. ๔/๒-๓/๔๑๙-๔๒๑, @ขุ.ม.อ. ๔๑/๒๔๙) @๒ ขุ.ชา. ๒๗/๒-๓/๑๒๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๕๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]
๖. ชราสุตตนิทเทส
สำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจมานะ ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจ กิเลส ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจทุจริต ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญ ด้วยอำนาจกิเลสเครื่องประกอบ ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจวิบาก รวมความว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา คำว่า บัณฑิต ... รู้ชัดโทษนี้แล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งโทษนี้ ในเบญจขันธ์ที่ยึดถือ ว่าเป็นของเรา รวมความว่า รู้ชัดโทษนี้แล้ว คำว่า บัณฑิต ได้แก่ นักปราชญ์ บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า บัณฑิต ... รู้ชัดโทษนี้แล้ว คำว่า ผู้เป็นพุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบายว่า คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ๑- คำว่า ผู้เป็นพุทธมามกะ ได้แก่ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ผู้นั้นย่อมนับถือพระผู้มีพระภาคว่าเป็นของเรา พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรอง บุคคลนั้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นคน คดโกง แข็งกระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่มั่นคง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น มิใช่ผู้นับถือเรา เป็นผู้ไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว และภิกษุเหล่านั้นจะไม่ ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด ไม่คดโกง ไม่พูด พล่อย เป็นนักปราชญ์ ไม่แข็งกระด้าง มีจิตมั่นคง ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้นับถือเรา เป็นผู้ไม่ไปจากธรรมวินัยนี้ และภิกษุเหล่านั้นจะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ใน ธรรมวินัยนี้๒- @เชิงอรรถ : @๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ @๒ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๖/๓๑, ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๘/๓๒๖-๓๒๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๕๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]
๖. ชราสุตตนิทเทส
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า) ภิกษุทั้งหลาย ผู้คดโกง แข็งกระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่มั่นคง ย่อมไม่งอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว (ส่วน)ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่คดโกง ไม่พูดพล่อย เป็นนักปราชญ์ ไม่แข็งกระด้าง มีจิตมั่นคง ย่อมงอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว๑- คำว่า ผู้เป็นพุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบายว่า ผู้เป็นพุทธมามกะละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่พึงน้อมไป คือ ไม่พึง โน้มไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ไม่พึงเป็นผู้เอนไปในความยึดถือว่าเป็น ของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้โอนไปในความยึดถือว่าเป็นของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้โน้ม ไปในความยึดถือว่าเป็นของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้น้อมใจไปในความยึดถือว่าเป็นของ เรานั้น ไม่พึงเป็นผู้มีความยึดถือว่าเป็นของเรานั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ผู้เป็น พุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา [๔๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด ใครๆ ย่อมไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น @เชิงอรรถ : @๑ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๖/๓๑, ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๘/๓๒๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๕๒}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑๔๙-๑๕๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=149&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=4437 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=4437#p149 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29
จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๔๙-๑๕๒.
|
|
| |
บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]