ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๓๙๑-๓๙๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส

คำว่า ครั้นรู้แล้ว ในคำว่า พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้ว... ทิฏฐิสมมติที่เกิดจาก ปุถุชน อธิบายว่า ครั้นรู้แล้ว คือ ครั้นทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ครั้นรู้แล้ว คือ ครั้นทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้ว ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิสมมติ คำว่า ที่เกิดจากปุถุชน อธิบายว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านั้น เกิดจากปุถุชน จึงชื่อว่า ที่เกิดจากปุถุชน หรือทิฏฐิสมมติเหล่านั้น เกิดจากชนต่างๆ มากมาย จึงชื่อว่า ที่เกิดจากปุถุชน รวมความว่า พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้ว... ทิฏฐิสมมติที่เกิด จากปุถุชน คำว่า ก็วางเฉย... แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ถือ ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ส่วนพระอรหันต์วางเฉย ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รวมความว่า ก็วางเฉย... แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า พราหมณ์พิจารณาแล้วย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น [๑๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๓๙๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส

คำว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ในคำว่า มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว ได้แก่ กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่าง คือ ๑. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา ๒. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท ๓. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส ๔. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ พยาบาท ความยึดมั่นศีล วัตร หรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ สีลัพพตปรามาส ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส คำว่า สลัด ได้แก่ สละ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด อีกนัยหนึ่ง มุนีแก้ หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือ กิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว อธิบายว่า มุนีสละ หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด เหมือนคน ทำการปลด ปล่อยวอ รถ เกวียน หรือรถมีเครื่องประดับ คือ ให้เคลื่อนที่ไปได้ ฉะนั้น อีกนัยหนึ่ง มุนีแก้ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือ กิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑- คำว่า ในโลกนี้ ได้แก่ ในทิฏฐินี้... มนุษยโลกนี้ รวมความว่า มุนีสลัดกิเลส เครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว คำว่า เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย อธิบายว่า เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๓๙๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๓๙๑-๓๙๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=391&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=11612 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=11612#p391 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๙๑-๓๙๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]