ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๕๕๑-๕๕๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส

คำว่า ความยินดี ในคำว่า บรรลุความยินดีแล้ว ได้แก่ บรรลุ คือ บรรลุ พร้อม ถึง ถูกต้อง ทำให้แจ้งความยินดีในเนกขัมมะ ความยินดีในวิเวก ความยินดี ในอุปสมะ (สภาวะอันเป็นที่สงบ คือนิพพาน) ความยินดีในสัมโพธิญาณแล้ว รวม ความว่า ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึง กล่าวว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ ย่อมทรงปรากฏแก่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว [๑๙๒] (พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า) ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้
ว่าด้วยพระนามของพระพุทธเจ้า
คำว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง อธิบายว่า คำว่า พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระสยัมภู ไม่มีครูอาจารย์ ได้ตรัสรู้สัจจะในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน ด้วยพระองค์เอง ทรงบรรลุความเป็น พระสัพพัญญูในสัจจะนั้น และความเป็นผู้ทรงชำนาญในพลญาณทั้งหลาย คำว่า พระพุทธเจ้า อธิบายว่า ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะมีความหมายว่าอย่างไร ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลายแล้ว ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงทำหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้ ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นพระสัพพัญญู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๕๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส

ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะเป็นผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีคนอื่นแนะนำ ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้เบิกบาน ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นพระขีณาสพ ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ปราศจากอุปกิเลส ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะเสด็จถึงทางสายเอก ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ขจัดความไม่รู้ได้แล้ว เพราะทรงเป็นผู้ได้ เฉพาะความรู้ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง มิใช่พระภาดา ทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติและผู้ร่วมสาย- โลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม เป็นสัจฉิกาบัญญัติของพระผู้มี พระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย เกิดขึ้นพร้อมกับการทรงได้เฉพาะพระสัพพัญญุตญาณที่ โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น คำว่า ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความ อาศัยด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ
ว่าด้วยตัณหาทิฏฐิ
ความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ ว่าเป็นของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเราซึ่ง วัตถุประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณเท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๕๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๕๕๑-๕๕๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=551&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=16406 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=16406#p551 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๕๑-๕๕๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]