ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

หน้าที่ ๔๒๖-๔๓๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

๘. เขมาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเขมาเถรี
(พระเขมาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๘๙] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๒๙๐] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ ในกรุงหงสวดี เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก [๒๙๑] หม่อมฉันเข้าไปเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนา แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ [๒๙๒] หม่อมฉันได้วิงวอนมารดาบิดาแล้ว จึงทูลนิมนต์พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน [๒๙๓] เมื่อ ๗ วันล่วงไปแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน ทรงตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง ซึ่งสูงสุดฝ่ายภิกษุณีผู้มีปัญญามากในเอตทัคคะ [๒๙๔] หม่อมฉันได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว มีความยินดี ทำสักการะพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระองค์นั้นอีก แล้วหมอบลงปรารถนาตำแหน่งนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๒๙๕] แต่นั้น พระชินเจ้าพระองค์นั้นตรัสกะหม่อมฉันว่า “ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จ สักการะที่เธอทำแล้วแก่เรา พร้อมทั้งพระสงฆ์นี้มีผลประมาณไม่ได้ [๒๙๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๒๙๗] สตรีผู้นี้จักเป็นภิกษุณีมีนามว่าเขมา เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักได้ตำแหน่งอันเลิศนี้” [๒๙๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๒๙๙] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี [๓๐๐] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใดๆ ในภพนั้นๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา [๓๐๑] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน [๓๐๒] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและในมนุษยโลก มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๐๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก งดงามน่าทัศนายิ่งนัก ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๓๐๔] หม่อมฉันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน ได้ฟังธรรมที่ประณีตแล้วจึงออกบวชเป็นบรรพชิต [๓๐๕] ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในศาสนา ของพระวีรเจ้าพระองค์นั้นตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี ประกอบความเพียร เป็นพหูสูต [๓๐๖] ฉลาดในปัจจยาการ ชำนาญในสัจจะ ๔ มีปัญญาละเอียด แสดงธรรมไพเราะ ปฏิบัติตามสัตถุศาสน์๑- [๓๐๗] ด้วยผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ หม่อมฉันจุติจากภพนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นผู้มียศ เสวยสมบัติอยู่ในภพนั้นและภพอื่น [๓๐๘] หม่อมฉันเกิดในภพใดๆ ก็เป็นผู้มีโภคะมาก มีทรัพย์มาก มีปัญญา มีรูปงาม มีบริวารชนที่เชื่อฟัง [๓๐๙] ด้วยกรรมและความเพียรในศาสนาของพระชินเจ้านั้น หม่อมฉันเป็นที่รักดังดวงใจ(ของสามี) สมบัติทุกอย่างหม่อมฉันได้โดยง่าย [๓๑๐] ด้วยผลแห่งการปฏิบัติของหม่อมฉัน เมื่อหม่อมฉันอยู่ ณ ที่ใดๆ ผู้ที่เป็นสามีหม่อมฉันก็ไม่ดูหมิ่น ทั้งใครอื่นๆ ก็ไม่ดูหมิ่นหม่อมฉัน @เชิงอรรถ : @ สัตถุศาสน์ ในที่นี้หมายถึง สัจจะ ๔ กัมมัฏฐาน และภาวนา (ขุ.เถรี.อ. ๑๑๓/๑๔๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๑๑] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่าโกนาคมนะ ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๓๑๒] ครั้งนั้นเอง ชน ๓ คน คือนางธนัญชานีพราหมณี พระนางสุเมธาเถรี และหม่อมฉัน เป็นคนของตระกูลที่สำเร็จความประสงค์ทุกอย่างในกรุงพาราณสี [๓๑๓] หม่อมฉันทั้งหลายได้ถวายสังฆารามแก่พระมุนีหลายพันองค์ และได้สร้างวิหารอุทิศถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งสงฆ์สาวก [๓๑๔] หม่อมฉันทั้งหลายทั้งหมดพากันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ และเมื่อเกิดในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน [๓๑๕] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๓๑๖] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๓๑๗] หม่อมฉันเป็นธิดาคนโตของพระองค์มีนามปรากฏว่าสมณี ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา [๓๑๘] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี [๓๑๙] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์ มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๒๐] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา (๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา (๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา (๗) พระนางสังฆทาสิกา [๓๒๑] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด) คือ หม่อมฉัน ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑ พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑ พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑ และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา [๓๒๒] บางครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นดังดวงอาทิตย์ของนรชน ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์ หม่อมฉันได้ฟังมหานิทานสูตร๑- แล้วนำมาศึกษาปฏิบัติอยู่ [๓๒๓] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๓๒๔] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเป็นพระธิดาที่พอพระทัย รักใคร่ โปรดปรานของพระเจ้ามัททราช ในสากลนครที่อุดมสมบูรณ์ [๓๒๕] พร้อมกับในกาลที่หม่อมฉันพอเกิดมา นครนั้นได้มีแต่ความเกษมสำราญ เพราะฉะนั้น นามว่าเขมา จึงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันโดยคุณ [๓๒๖] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว มีรูปร่างและผิวพรรณงดงาม พระราชบิดาก็โปรดประทานหม่อมฉันแก่พระเจ้าพิมพิสาร @เชิงอรรถ : @ ที.ม. (แปล) ๑๐/๙๕/๕๗-๗๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๒๗] หม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามีนั้น ยินดีแต่ในการบำรุงรูปโฉม ไม่เอื้อเฟื้ออย่างมากด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้ามีปกติกล่าวโทษของรูป [๓๒๘] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงโปรดให้นักขับ ขับร้องเพลงพรรณนาพระเวฬุวันเจาะจงหม่อมฉัน เพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันให้มีความรู้สึก [๓๒๙] หม่อมฉันสำคัญว่าพระเวฬุวัน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสุคต เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ผู้ใดยังมิได้เห็น ผู้นั้นก็จัดว่ายังไม่ได้เห็นสวนนันทวัน [๓๓๐] พระเวฬุวัน ซึ่งเป็นสถานที่น่าเพลิดเพลินยินดีของนรชน ผู้ใดได้เห็นแล้ว ผู้นั้นเหมือนได้เห็นสวนนันทวัน ซึ่งเป็นสถานที่เพลิดเพลินของท้าวอัมรินทราธิราช [๓๓๑] ท้าวสักกเทวราชและเทพทั้งหลายละสวนนันทวันแล้ว ลงมาที่พื้นปฐพี เห็นพระเวฬุวันที่น่ารื่นรมย์แล้ว ก็อัศจรรย์ใจ มิรู้เบื่อ [๓๓๒] พระเวฬุวันเกิดขึ้นเพราะบุญของพระราชา อันบุญญานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าประดับแล้ว ใครเล่าจะประมวลคุณแห่งพระเวฬุวันมากล่าวให้หมดสิ้นได้ [๓๓๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังความสำเร็จแห่งสมบัติของพระเวฬุวัน ที่เสนาะโสตไพเราะจับใจหม่อมฉัน ใคร่จะได้ชมอุทยานนั้นจึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ [๓๓๔] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดส่งหม่อมฉัน ผู้มุ่งจะชมอุทยานนั้น ไปพร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ด้วยพระดำรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๓๕] “พระนางผู้มีโภคะเป็นอันมาก เชิญไปชมพระเวฬุวันซึ่งเป็นที่สบายตา ซึ่งเปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีของพระสุคต สว่างไสวด้วยพระสิริตลอดเวลา” [๓๓๖] (หม่อมฉันทูลว่า) “เมื่อใดพระมุนีเสด็จเข้ามาทรงรับบิณฑบาต ยังกรุงราชคฤห์อันยอดเยี่ยม เมื่อนั้น หม่อมฉันจะเข้าไปชมพระเวฬุวันมหาวิหาร” [๓๓๗] ขณะนั้น พระเวฬุวันมหาวิหาร มีสวนดอกไม้ที่แย้มบาน มีเสียงหึ่งด้วยหมู่ภมรนานาชนิด มีเสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ทั้งหมู่นกยูงก็รำแพน [๓๓๘] สงัดจากเสียงอย่างอื่น ไม่พลุกพล่าน ประดับไปด้วยที่จงกรมต่างๆ สะพรั่งไปด้วยแถวแห่งกุฎีและมณฑป เรียงรายไปด้วยพระโยคีผู้บำเพ็ญเพียร [๓๓๙] หม่อมฉันเมื่อเดินเที่ยวไปได้รู้สึกว่า “นัยน์ตาของเรามีประโยชน์” ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งประกอบกิจอยู่ แล้วคิดไปว่า [๓๔๐] ‘ภิกษุนี้ยังอยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม มีรูปงาม น่าปรารถนา ปฏิบัติดีอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์เช่นนี้ เหมือนคนอยู่ในที่มืด [๓๔๑] ภิกษุนี้มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏินั่งอยู่ที่โคนไม้ ละความยินดีที่เกิดจากอารมณ์เข้าฌานอยู่หนอ [๓๔๒] ธรรมดาคฤหัสถ์บริโภคกามอย่างมีความสุข แก่แล้วจึงควรประพฤติธรรมอันดีงามนี้ในภายหลังมิใช่หรือ’ [๓๔๓] หม่อมฉันเข้าใจว่า ‘พระคันธกุฎีที่ประทับแห่งพระชินเจ้าว่างเปล่า’ จึงเดินเข้าไป ได้เห็นพระชินเจ้าผู้งดงามดังดวงอาทิตย์อุทัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๔๔] ประทับสำราญอยู่พระองค์เดียว มีสตรีสาวสวยพัดวีอยู่ ครั้นแล้วจึงมีความคิดผิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค ผู้องอาจกว่านรชนพระองค์นี้มิได้เศร้าหมองเลย [๓๔๕] หญิงสาวนั้นก็มีรัศมีเปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ มีหน้าตางดงามดังปทุมชาติ ริมฝีปากก็แดงดังผลตำลึงสุก ชำเลืองมองแต่น้อย เป็นที่ติดตาตรึงใจยิ่งนัก [๓๔๖] มีลำแขนงามเหมือนทองคำ วงหน้าสวย ถันทั้งคู่ก็เต่งตึงดังดอกบัวตูม มีเอวคอดกลมกลึง สะโพกผึ่งผาย ลำขาน่ายินดี มีเครื่องประดับสวยงาม [๓๔๗] ผ้าสไบมีสีแดงแวววาว นุ่งห่มผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเขียว มีรูปสมบัติที่ชวนชมโดยไม่รู้เบื่อ ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด’ [๓๔๘] หม่อมฉันเห็นสตรีสาวนั้นแล้วจึงคิดว่า ‘โอ! สตรีสาวคนนี้มีรูปงามเหลือเกิน เราไม่เคยเห็นด้วยนัยน์ตาดวงนี้ในที่ไหนๆ มาก่อนเลย’ [๓๔๙] ขณะนั้น สตรีสาวคนนั้นถูกชราย่ำยี มีผิวพรรณแปลกไป ปากอ้า ฟันหัก ผมหงอก น้ำลายไหล หน้าไม่สะอาด [๓๕๐] หูตึง นัยน์ตาฝ้าฟาง ถันหย่อนยาน ไม่งาม เหี่ยวย่นทั่วกาย มีศีรษะและร่างกายสั่นงันงก [๓๕๑] หลังงอ มีไม้เท้าเป็นเพื่อนเดิน ร่างกายซูบผอมซีดไป สั่นงันงก ล้มลงแล้วหายใจถี่ๆ [๓๕๒] จากนั้น ความสังเวชที่ก่อให้เกิดขนพองสยองเกล้า ซึ่งไม่เคยมีก็ได้มีแก่หม่อมฉันว่า ‘น่าติเตียน รูปไม่สะอาดที่พวกคนเขลายินดีกัน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๕๓] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา มีจิตเบิกบานโสมนัส ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉัน ผู้มีใจสังเวชแล้ว จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๓๕๔] “เขมา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย ไม่สะอาด เปื่อยเน่า (มีของเหลว) ไหลเข้าและไหลออก ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก [๓๕๕] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียว ด้วยอารมณ์ที่ไม่งามเถิด เธอจงเจริญกายคตาสติมากไปด้วยความเบื่อหน่ายเถิด [๓๕๖] รูปของหญิงนี้เป็นฉันใด รูปกายของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น รูปกายของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น เธอจงคลายความยินดีพอใจในกาย ทั้งภายในและภายนอกเถิด [๓๕๗] จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์๑- จงละมานานุสัยเสีย แต่นั้นเธอจักเป็นผู้อยู่อย่างสงบ เพราะมานานุสัยสงบระงับไป [๓๕๘] ชนเหล่าใดกำหนัดเพราะราคะเกาะติดกระแสอยู่ เหมือนแมงมุมเกาะใยอยู่ตรงกลางที่ทำไว้เอง ชนเหล่านั้นตัดกระแสราคะนั้นแล้ว ไม่มีความอาลัย ละกามสุข หลีกไป” [๓๕๙] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นสารถีฝึกนรชน ทรงทราบว่า หม่อมฉันมีจิตควรแล้ว จึงทรงแสดงมหานิทานสูตรเพื่อทรงแนะนำหม่อมฉัน @เชิงอรรถ : @ อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนิจจัง คือ @หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตาแล้วถอนนิมิตเสียได้ (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๒๒๙/๓๘๗-๓๙๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๖๐] หม่อมฉันได้ฟังพระสูตรอันประเสริฐนั้นแล้ว จึงระลึกถึงสัญญาในกาลก่อนได้ ตั้งมั่นอยู่ในสัญญานั้นแล้ว ชำระธรรมจักษุ๑- ให้หมดจด [๓๖๑] ขณะนั้น หม่อมฉันหมอบลงแทบพระยุคลบาท ของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อประสงค์จะแสดงโทษ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า [๓๖๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระมหากรุณา หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เสด็จข้ามวัฏฏสงสารได้แล้ว หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานอมตธรรม หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์ [๓๖๓] หม่อมฉันจมอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ หลงใหลเพราะกามราคะ พระองค์ทรงแนะนำด้วยอุบายที่ชอบ เป็นผู้ยินดีในธรรมที่ทรงแนะนำ [๓๖๔] สัตว์ทั้งหลายพลัดพรากจากประโยชน์ เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เช่นพระองค์ จึงประสบมหันตทุกข์อยู่ในสงสารสาคร [๓๖๕] ในกาลใดหม่อมฉันยังมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์ ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้ไม่มีข้าศึกคือกิเลส @เชิงอรรถ : @ ธรรมจักษุ หมายถึงปัญญาในมรรค ๓ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค @(ที.สี.อ. ๑/๒๑๓/๑๖๕, ๒๑๔, ๒๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

ทรงถึงที่สุดแห่งมรณธรรม ทรงมีธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างดี หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น [๓๖๖] หม่อมฉันมัวแต่ยินดีในรูป ระแวงว่าพระองค์จะไม่เป็นประโยชน์จึงมิได้เข้าเฝ้า พระองค์ผู้ทรงมีความเกื้อกูลมาก ทรงประทานพระธรรมที่ประเสริฐ หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น” [๓๖๗] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา มีพระสุรเสียงไพเราะและก้องกังวาน เมื่อจะทรงใช้น้ำอมฤตรดหม่อมฉันจึงตรัสว่า “ลุกขึ้นเถิดเขมา” [๓๖๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันประณตน้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า ทำประทักษิณพระองค์แล้ว กลับไปเฝ้าพระราชา ผู้เป็นใหญ่กว่านรชนแล้วกราบทูลคำนี้ว่า [๓๖๙] “ข้าแต่พระองค์ผู้ย่ำยีข้าศึก อุบายที่พระองค์ทรงดำริแล้วโดยชอบนี้ น่าอัศจรรย์ หม่อมฉันผู้ปรารถนาจะเที่ยวชมพระเวฬุวันมหาวิหาร ได้เฝ้าพระมุนีผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังป่าแล้ว [๓๗๐] ข้าแต่พระราชา ถ้าพระองค์ทรงพอพระทัย หม่อมฉันผู้เบื่อหน่ายในรูปตามที่พระมุนีตรัสสอนแล้ว จักบวชในศาสนาของพระมุนีผู้คงที่พระองค์นั้น”
ภาณวารที่ ๒ จบ
[๓๗๑] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร พระองค์นั้น ทรงประคองอัญชลีตรัสว่า “พระน้องนาง พี่อนุญาตแก่เธอ ขอการบรรพชาจงสำเร็จแก่เธอเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๘. เขมาเถริยาปทาน

[๓๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันบวชมาแล้วผ่านไป ๗ เดือน เห็นประทีปสว่างขึ้นและดับไป จึงมีใจสังเวช [๓๗๓] มีความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ฉลาดในปัจจยาการ ข้ามพ้นโอฆะ๑- ๔ แล้ว ก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๓๗๔] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ [๓๗๕] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๓๗๖] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณที่บริสุทธิ์ของหม่อมฉัน ล้วนเกิดขึ้นแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้า [๓๗๗] หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย๒- คล่องแคล่วในกถาวัตถุ รู้แจ้งนัยแห่งพระอภิธรรม เชี่ยวชาญในศาสนา [๓๗๘] จากนั้น พระราชสวามีผู้ฉลาด ตรัสถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งในโตรณวัตถุ หม่อมฉันได้วิสัชนาโดยควรแก่กถา [๓๗๙] ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตแล้ว ทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้น เหมือนอย่างที่หม่อมฉันพยากรณ์ @เชิงอรรถ : @ โอฆะ หมายถึงสังกิเลสท่วมทับใจสัตว์มี ๔ คือ (๑) กาโมฆะ (๒) ภโวฆะ (๓) ทิฏโฐฆะ (๔) อวิชโชฆะ @ วิสุทธิทั้งหลาย หมายถึงสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ และทิฏฐิวิสุทธิ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๔/๒๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

                                                                 ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๓๘๐] พระชินเจ้าผู้สูงสุดแห่งนระ ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีผู้มีปัญญามาก [๓๘๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๘๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระเขมาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เขมาเถริยาปทานที่ ๘ จบ
๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบลวรรณาเถรี
(พระอุบลวรรณาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๘๔] พระอุบลวรรณาภิกษุณีถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ กราบไหว้พระยุคลบาทของพระศาสดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า [๓๘๕] “ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันข้ามพ้นชาติสงสารได้แล้ว บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว ทุกข์ทั้งปวงหม่อมฉันให้สิ้นไปแล้วจึงขอบอกว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๒๖-๔๓๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=33&page=426&pages=13&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=33&A=11855 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=33&A=11855#p426 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_33 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33 https://84000.org/tipitaka/english/?index_33



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๒๖-๔๓๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]