ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์

หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๒.


                                                                 พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ

[๑๖๘] บุคคลผู้มืดมาและมืดไป๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างสาน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำ และสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่องนุ่งห่ม ได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักและเครื่องประทีป เขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว หลังจาก ตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่าง นี้ (๑) บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างสาน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำ และสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่องนุ่งห่ม ได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผัา ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ครั้นประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตแล้ว หลังจากตายแล้วจะ ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างนี้ (๒) บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูงคือตระกูลขัตติยมหาศาล๒- ตระกูลพราหมณ์ มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๘๕/๑๒๙-๑๓๐ @ มหาศาล หมายถึงผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ @พราหมณ์มหาศาลมีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์สมบัติ ๔๐ โกฏิ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๖๘/๙๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๐๑}

                                                                 พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ

มีทองและเงินมากมาย มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แต่เขา ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคล ผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างนี้ (๓) บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูล พราหมณ์มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี โภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และ ธัญชาติมากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป และเขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ครั้นประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตแล้ว หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลผู้สว่างมาและ สว่างไป เป็นอย่างนี้ (๔) [๑๖๙] บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป๑- เป็นไฉน ฯลฯ๒- บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป เป็นอย่างนี้ บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป เป็นไฉน ฯลฯ๒- บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป เป็นอย่างนี้ บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป เป็นไฉน ฯลฯ๒- บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป เป็นอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๘๖/๑๓๑-๑๓๒ @ ดูความเต็มในข้อ ๑๖๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๐๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=36&page=201&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=36&A=5533 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=36&A=5533#p201 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 36 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_36 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu36 https://84000.org/tipitaka/english/?index_36



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]