ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

หน้าที่ ๓๖-๓๗.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๗. ปัพพัชชากถา

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เศรษฐีคหบดีทราบการที่พระผู้มี พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาทกระทำประทักษิณกลับไป เมื่อเศรษฐีคหบดีกลับไปแล้วไม่นาน ยสกุลบุตรได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอัน เรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านยสะนั้น ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๗ รูป
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ธรรมจักษุ
[๒๙] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่าน พระยสะเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปยังนิเวศน์ของเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มารดาและภรรยาเก่า เมื่อทรงทราบว่าทั้งสองมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่มารดาและ ภรรยาเก่า ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๖}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๗. ปัพพัชชากถา

มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความ เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสทั้งสองนี้ ได้เป็นเตวาจิกอุบาสิกา(ผู้กล่าว ถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)เป็นคู่แรก ในโลก ครั้นแล้ว มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้นำของเคี้ยวของฉัน อันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคกับท่านพระยสะด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มี พระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่ง ณ ที่ สมควร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดาและภรรยาเก่าของ ท่านพระยสะเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะจากไป
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ
[๓๐] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะ ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสีได้ทราบข่าวว่า “ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว” ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าวแล้ว จึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและ บรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต นั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่” ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหา ท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๓๖-๓๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=4&page=36&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=4&A=1020 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=4&A=1020#p36 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๖-๓๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]