ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

หน้าที่ ๑๐๘-๑๐๙.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

                                                                 ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จ ไปทาง ป่ามหาวัน ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใน กรุงเวสาลีนั้น
ลิจฉวีภาณวารที่ ๓ จบ
๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ว่าด้วยสีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร
[๒๙๐] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมกันในสันถาคาร๑- กล่าวสรรเสริญ พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่างๆ สมัยนั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ลำดับนั้น สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่งประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่างๆ อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ต่อมา เขาเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระ สมณโคดม เจ้าข้า” นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้าพระ สมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า สีหะ เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อม แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น” ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค @เชิงอรรถ : @ สันถาคาร มีความหมาย ๒ นัยคือ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับมหาชน ถูกสร้าง @ขึ้นที่ใจกลางเมือง คนที่อยู่รอบๆ ทั้ง ๔ ทิศสามารถมองเห็นได้ คนที่มาจากทิศทั้ง ๔ จะพักผ่อนที่อาคาร @นี้ก่อนที่จะไปพักในที่สบายสำหรับตน นัยที่ ๒ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชุมพิจารณาราชกิจสำหรับ @ราชตระกูล ในที่นี้หมายถึงนัยที่ ๒ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๒/๒๒๙-๒๓๐, ดู องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๒/๑๔๙ ด้วย) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๐๘}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

                                                                 ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมอยู่ในสันถาคาร กล่าวสรรเสริญ พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่างๆ แม้ครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่ง ประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าว สรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่างๆ ก็พวกนิครนถ์เหล่านี้ เราจะบอกหรือไม่ก็ไม่ มีประโยชน์อะไร อย่ากระนั้นเลย เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเดินทางออกจากกรุงเวสาลีแต่หัววัน พร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน เดินทางไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร สีหเสนาบดีผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ องค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ทรงแสดง ธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่า ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะ นำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงตามที่พระ ผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้ อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำกล่าวต่อๆ กันมา จะ เป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย”
ข้อกล่าวหาของคนทั่วไป ๘ ประการ
[๒๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ๑. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น มีมูลอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๐๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๐๘-๑๐๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=5&page=108&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=5&A=2863 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=5&A=2863#p108 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 5 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5 https://84000.org/tipitaka/english/?index_5



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๐๘-๑๐๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]