ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
๘. สิงคาลกสูตร (๑๓)
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกคฤหบดีบุตร ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบ น้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน ฯ [๑๗๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็น สิงคาลกคฤหบดีบุตร ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศ เบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ แล้วได้ตรัสถามว่า ดูกรคฤหบดีบุตร ท่านลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้อง หลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุอะไรหนอ ฯ สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คุณพ่อของข้าพระ- *พุทธเจ้าเมื่อใกล้จะตายได้สั่งไว้อย่างนี้ว่า ดูกรพ่อ เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของคุณพ่อ จึงลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศ ทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศ เบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ ฯ ภ. ดูกรคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กัน อย่างนี้ ฯ สิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด ฯ [๑๗๔] ดูกรคฤหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เรา จักกล่าว ฯ สิงคาลกคฤหบดีบุตร ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อ ชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ กรรมกิเลส ๔ เป็นไฉน ที่อริยสาวกละได้แล้ว ดูกรคฤหบดีบุตร กรรม กิเลส คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ กรรม กิเลส ๔ เหล่านี้ ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๑๗๕] ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ ฯ [๑๗๖] อริยสาวกไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชนถึง ฉันทาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโมหา- *คติ ย่อมทำกรรมอันลามก ถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๑๗๗] ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดังดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น ฯ [๑๗๘] อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน ดูกร คฤหบดีบุตร การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการ เที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การเที่ยว ดูมหรสพเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบ เนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบ เนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ [๑๗๙] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการนี้ คือ ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง ๑ ก่อการทะเลาะวิวาท ๑ เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑ เป็นเหตุ เสียชื่อเสียง ๑ เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ๑ มีบทที่ ๖ คือ เป็นเหตุทอนกำลัง ปัญญา ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ [๑๘๐] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปใน ตรอกต่างๆ ในกลางคืน ๖ ประการเหล่านี้ คือ ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ตัว ๑ ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา ๑ ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๑ เป็นที่ระแวงของคนอื่น ๑ คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น ๑ อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการ ประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืนเหล่านี้แล ฯ [๑๘๑] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการเหล่านี้คือ รำที่ไหนไปที่นั่น ๑ ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ๑ ประโคมที่ไหนไปที่นั่น ๑ เสภาที่ไหน ไปที่นั่น ๑ เพลงที่ไหนไปที่นั่น ๑ เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการเที่ยวดูมหรสพเหล่านี้แล ฯ [๑๘๒] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการเหล่านี้ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๑ ผู้แพ้ย่อม เสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๑ ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน ๑ ถ้อยคำของคนเล่นการ พนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น ๑ ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท ๑ ไม่มีใคร ประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยง ภรรยา ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ [๑๘๓] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่ว เป็นมิตร ๖ ประการเหล่านี้ คือ นำให้เป็นนักเลงการพนัน ๑ นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๑ นำให้เป็นนักเลงเหล้า ๑ นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม ๑ นำให้เป็นคน โกงเขาซึ่งหน้า ๑ นำให้เป็นคนหัวไม้ ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการ ประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตรเหล่านี้แล ฯ [๑๘๔] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน ๖ ประการเหล่านี้ คือ มักให้อ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าร้อน นัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้ อ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผลัด เพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความสิ้น ไป ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เหล่านี้แล ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๑๘๕] เพื่อนในโรงสุราก็มี เพื่อนกล่าวแต่ปากว่าเพื่อนๆ ก็มี ส่วนผู้ใดเป็นสหายในเมื่อความต้องการเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นจัดว่า เป็นเพื่อนแท้ เหตุ ๖ ประการ คือ การนอนสาย ๑ การเสพ ภรรยาผู้อื่น ๑ ความประสงค์ผูกเวร ๑ ความเป็นผู้ทำแต่สิ่งหา ประโยชน์มิได้ ๑ มิตรชั่ว ๑ ความเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่นนัก ๑ เหล่านี้ ย่อมกำจัดบุรุษเสียจากประโยชน์สุขที่จะพึงได้พึงถึง คนมีมิตรชั่ว มีเพื่อนชั่ว มีมรรยาทและการเที่ยวชั่ว ย่อม เสื่อมจากโลกทั้งสอง คือ จากโลกนี้และจากโลกหน้า เหตุ ๖ ประการ คือ การพนันและหญิง ๑ สุรา ๑ ฟ้อนรำขับร้อง ๑ นอนหลับในกลางวันบำเรอตนในสมัยมิใช่การ ๑ มิตรชั่ว ๑ ความตระหนี่เหนียวแน่นนัก ๑ เหล่านี้ ย่อมกำจัดบุรุษเสียจาก ประโยชน์สุข ที่จะพึงได้พึงถึง ชนเหล่าใดเล่นการพนัน ดื่ม สุรา เสพหญิงภรรยาที่รักเสมอด้วยชีวิตของผู้อื่น คบแต่คน ต่ำช้า และไม่คบหาคนที่มีความเจริญ ย่อมเสื่อมเพียงดัง ดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดดื่มสุรา ไม่มีทรัพย์ หาการงานทำ เลี้ยงชีวิตมิได้ เป็นคนขี้เมา ปราศจากสิ่งเป็นประโยชน์ เขา จักจมลงสู่หนี้เหมือนก้อนหินจมน้ำ ฉะนั้น จักทำความอากูล แก่ตนทันที คนมักมีการนอนหลับในกลางวัน เกลียดชังการ ลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลงขี้เมาเป็นนิจ ไม่อาจครอบครอง เหย้าเรือนให้ดีได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยชายหนุ่มที่ ละทิ้งการงาน ด้วยอ้างเลศว่า หนาวนัก ร้อนนัก เวลานี้เย็น เสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น ส่วนผู้ใดไม่สำคัญความหนาวและความ ร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ทำกิจของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจาก ความสุขเลย ฯ [๑๘๖] ดูกรคฤหบดีบุตร คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนนำสิ่งของๆ เพื่อนไปถ่ายเดียว [คนปอกลอก] ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนใน ทางฉิบหาย ๑ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ฯ [๑๘๗] ดูกรคฤหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็น แต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เป็นคนคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ เสียให้น้อยคิด เอาให้ได้มาก ๑ ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ ประโยชน์ของตัว ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ [๑๘๘] ดูกรคฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็น แต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย ๑ อ้างเอาของที่ยัง ไม่มาถึงมาปราศรัย ๑ สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดง ความขัดข้อง [ออกปากพึ่งมิได้] ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ [๑๘๙] ดูกรคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็น แต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว [จะทำชั่วก็คล้อย ตาม] ๑ ตามใจเพื่อนให้ทำความดี [จะทำดีก็คล้อยตาม] ๑ ต่อหน้าสรรเสริญ ๑ ลับหลังนินทา ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่ คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ [๑๙๐] ดูกรคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่ มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ ๑ ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๑๙๑] บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑ มิตรหัวประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ว่าไม่ใช่มิตรแท้ ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนคน เดินทางเว้นทางที่มีภัย ฉะนั้น ฯ [๑๙๒] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี [เป็นมิตรแท้] ฯ [๑๙๓] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้นเพิ่มทรัพย์ให้ สองเท่า [เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก] ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตร มีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ [๑๙๔] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตร แท้โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับ [ของตน] แก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑ ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ [๑๙๕] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตร แท้โดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยัง ไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึง ทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ [๑๙๖] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ ยินดีด้วยความเจริญของ เพื่อน ๑ ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑ ดูกรคฤหบดี บุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๑๙๗] บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรัก ใคร่ ๑ ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพ เหมือนมารดากับบุตร ฉะนั้น บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อม รุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่ เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจ จอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น คฤหัสถ์ในตระกูลผู้ สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภค สมบัติออกเป็นสี่ส่วน เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอย โภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย หมายว่าจักมีไว้ในยามอันตราย ดังนี้ ฯ [๑๙๘] ดูกรคฤหบดีบุตร ก็อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ อย่างไร ท่าน พึงทราบทิศ ๖ เหล่านี้ คือ พึงทราบมารดาบิดาว่าเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็น ทิศเบื้องขวา บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรและอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน ฯ [๑๙๙] ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุง ด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำ กิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์สกุล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ ก็หรือเมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ ในความดี ๑ ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑ หาภรรยาที่สมควรให้ ๑ มอบทรัพย์ให้ ในสมัย ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหน้านั้น ชื่อว่า อันบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ [๒๐๐] ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์พึงบำรุงด้วย สถาน ๕ คือ ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ๑ ให้เรียนดี ๑ บอก ศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ๑ ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๑ ทำความป้องกัน ในทิศทั้งหลาย ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่า นี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องขวานั้น ชื่อว่าอันศิษย์ ปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ [๒๐๑] ดูกรคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีพึงบำรุงด้วย สถาน ๕ คือ ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑ ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๑ ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี ๑ สงเคราะห์คน ข้างเคียงของผัวดี ๑ ไม่ประพฤตินอกใจผัว ๑ รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ ๑ ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหลังนั้น ชื่อว่า อันสามีปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ [๒๐๒] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรพึงบำรุงด้วย สถาน ๕ คือ ด้วยการให้ปัน ๑ ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ๑ ด้วยประพฤติ ประโยชน์ ๑ ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑ ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความ จริง ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมิตรมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ ไม่ละทิ้ง ในยามวิบัติ ๑ นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น ชื่อว่า อันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ [๒๐๓] ดูกรคฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายพึงบำรุง ด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหารและ รางวัล ๑ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๑ ด้วยปล่อยในสมัย ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๑ เลิกการงานทีหลังนาย ๑ ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑ ทำการงานให้ดีขึ้น ๑ นำคุณของนายไปสรรเสริญ ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น ชื่อว่า อันนายปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนั้น ฯ [๒๐๔] ดูกรคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตร พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยวจีกรรมประกอบ ด้วยเมตตา ๑ ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑ ด้วยให้อามิสทานเนืองๆ ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วย สถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ คือ ห้ามไม่ให้ทำ ความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ ยังไม่เคยฟัง ๑ ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑ ฯ ดูกรคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วย สถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ ทิศเบื้องบน นั้น ชื่อว่าอันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๒๐๕] มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยา เป็นทิศเบื้องหลัง มิตรอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสกรรมกร เป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน คฤหัสถ์ในสกุล ผู้สามารถควรนอบน้อมทิศเหล่านี้ บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนหมั่นไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหว ในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติ ไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่างๆ เนืองๆ ผู้เช่นนั้น ย่อม ได้ยศ การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติให้เป็น ประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย ในคนนั้นๆ ตามควร ๑ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล เป็น เหมือนสลักรถอันแล่นไปอยู่ ถ้าธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ ไม่พึงมีไซร้ มารดาและบิดาไม่พึงได้ความนับถือหรือความบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรม เครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้นจึงถึง ความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า ดังนี้ ฯ [๒๐๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสฉะนี้แล้ว สิงคาลกคฤหบดีบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็น สรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล ฯ
จบ สิงคาลกสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๓๙๒๓-๔๒๐๖ หน้าที่ ๑๖๒ - ๑๗๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3923&Z=4206&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=174&book=11              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=11&siri=8              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=172              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=11&A=4147              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=11&A=4147              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_11

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]