บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
| |
ฉบับหลวง ฉบับมหาจุฬาฯ บาลีอักษรไทย PaliRoman |
ราชวรรค ๑. ฆฏิการสูตร [๔๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออกจากทาง แล้วได้ทรงแย้มพระสรวลในประเทศแห่งหนึ่ง. ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดว่า เหตุอะไรหนอ ปัจจัยอะไร ที่พระผู้มีพระภาคทรง แย้มพระสรวล พระตถาคตทั้งหลายจะทรงแย้มพระสรวลโดยหาเหตุมิได้นั้นไม่มี ดังนี้. ท่าน พระอานนท์จึงทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุอะไรหนอ ปัจจัยอะไร ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแย้มพระสรวล พระตถาคตทั้งหลายจะทรงแย้มพระสรวลโดยหาเหตุมิได้นั้นไม่มี? [๔๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่ประเทศนี้ได้มีนิคม ชื่อเวภฬิคะ เป็นนิคมมั่งคั่งและเจริญ มีคนมาก มีมนุษย์หนาแน่น. พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยเวภฬิคนิคมอยู่. ดูกรอานนท์ ได้ยินว่า ที่นี่เป็นพระอารามของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า. ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ที่นี่.เรื่องช่างหม้อชื่อฆฏิการะ [๔๐๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ปูผ้าสังฆาฏิสี่ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ภูมิประเทศนี้จักได้เป็นส่วนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ทรงบริโภค. พระผู้มี- *พระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูถวายแล้ว. จึงตรัสกะพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในประเทศนี้มีนิคมชื่อเวภฬิคะ เป็นนิคมมั่งคั่งและเจริญ มีคนมาก มีมนุษย์หนาแน่น. ดูกรอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยเวภฬิคนิคมอยู่ ได้ยินว่า ที่นี่เป็นพระอารามของพระผู้มี- *พระภาค ทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาพุทธเจ้า ประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ที่นี่. และ ในเวภฬิคนิคม มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอุปัฏฐากผู้เลิศ. มีมาณพชื่อโชติปาละเป็นสหายของ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เป็นสหายที่รัก. ครั้งนั้นฆฏิการะช่างหม้อเรียกโชติปาลมาณพมาว่า มาเถิด เพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติ กันว่าเป็นความดี. [๔๐๖] ดูกรอานนท์ เมื่อฆฏิการะช่างหม้อกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า? ดูกร อานนท์ แม้ครั้งที่สอง ฆฏิการะช่างหม้อก็ได้กล่าวกะโชติปาลมาณพว่า มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่า การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี. แม้ครั้งที่สอง โชติปาลมาณพก็ได้กล่าวว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วย พระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า? แม้ครั้งที่สาม ฆฏิการะช่างหม้อก็ได้กล่าวว่า มาเถิด เพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี. ดูกรอานนท์ แม้ครั้งที่สาม โชติปาลมาณพก็กล่าวว่า อย่าเลยเพื่อน ฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า? ฆ. เพื่อนโชติปาละ ถ้าอย่างนั้น เรามาถือเอาเครื่องสำหรับสีตัวเมื่อเวลาอาบน้ำไป แม่น้ำเพื่ออาบน้ำกันเถิด โชติปาลมาณพรับคำฆฏิการะช่างหม้อแล้ว. [๔๐๗] ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น ฆฏิการะช่างหม้อและโชติปาลมาณพได้ถือเอาเครื่อง สำหรับสีตัวเมื่อเวลาอาบน้ำไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำ. ครั้งนั้นแล ฆฏิการะช่างหม้อได้เรียก โชติปาลมาณพมากล่าวว่า เพื่อนโชติปาละ นี้ก็ไม่ไกลพระอารามของพระผู้มีพระภาคทรงพระนาม ว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี. [๔๐๘] ดูกรอานนท์ เมื่อฆฏิการะช่างหม้อกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวกะ ฆฏิการะช่างหม้อว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้น ที่เราเห็นแล้วเล่า? แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม ฆฏิการะช่างหม้อก็ได้เรียกโชติปาลมาณพมา กล่าวว่า เพื่อนโชติปาละ นี้ไม่ไกลพระอารามของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทรงพระนาม ว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สมมติกันว่าเป็นความดี. แม้ครั้งที่สามโชติปาลมาณพก็ได้กล่าวกะ ฆฏิการะช่างหม้อว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้น ที่เราเห็นแล้วเล่า? [๔๐๙] ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น ฆฏิการะช่างหม้อได้จับโชติปาลมาณพที่ชายพกแล้ว กล่าวว่า เพื่อนโชติปาละ นี้ก็ไม่ไกลพระอารามของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทรงพระนาม ว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี. ลำดับนั้น โชติปาลมาณพให้ฆฏิการะ ช่างหม้อปล่อยชายพกแล้วกล่าวว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะ ศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า? ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น ฆฏิการะช่างหม้อจับโชติปาละผู้อาบน้ำดำเกล้าที่ผมแล้วกล่าวว่า เพื่อนโชติปาละ นี้ไม่ไกลพระอารามของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระมีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี. ครั้งนั้น โชติปาลมาณพมีความคิดว่า น่าอัศจรรย์ หนอท่าน ไม่เคยมีมาหนอท่าน ที่ฆฏิการะช่างหม้อผู้มีชาติต่ำมาจับที่ผมของเราผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้ว การที่เราจะไปนี้ เห็นจะไม่เป็นการไปเล็กน้อยหนอ ดังนี้แล้ว ได้กล่าวกะฆฏิการะช่างหม้อว่า เพื่อนฆฏิการะ การที่เพื่อนทำความพยายามตั้งแต่ชักชวนด้วยวาจา จับที่ชายพกจนล่วงเลยถึงจับ ที่ผมนั้น ก็เพื่อจะชวนให้กันไปในสำนักพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เท่านั้นเองหรือ? ฆ. เท่านั้นเองเพื่อนโชติปาละ จริงเช่นนั้นเพื่อน ก็การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความดี. โช. เพื่อนฆฏิการะ ถ้าอย่างนั้น จงปล่อยเถิด เราจักไป. [๔๑๐] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น ฆฏิการะช่างหม้อและโชติปาลมาณพได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ แล้วฆฏิการะ ช่างหม้อถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ส่วนโชติปาลมาณพได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคทรงพระนาม ว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ฆฏิการะช่างหม้อนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี่โชติปาลมาณพ เป็นสหายที่รักของข้าพระพุทธเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรม แก่โชติปาลมาณพนี้เถิด. [๔๑๑] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยังฆฏิการะช่างหม้อ และโชติปาลมาณพให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น ฆฏิการะช่างหม้อ และโชติปาลมาณพ อันพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา เพลิดเพลินชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำประทักษิณแล้ว หลีกไป. [๔๑๒] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น โชติปาลมาณพได้ถามฆฏิการะช่างหม้อว่า เพื่อนฆฏิการะ เมื่อท่านฟังธรรมนี้อยู่ และเมื่อเช่นนั้นท่านจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตหรือหนอ? ฆ. เพื่อนโชติปาละ ท่านก็รู้อยู่ว่า เราต้องเลี้ยงมารดาบิดา ซึ่งเป็นคนตาบอดผู้ชราแล้ว มิใช่หรือ? โช. เพื่อนฆฏิการะ ถ้าเช่นนั้น เราจักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต. [๔๑๓] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น ฆฏิการะช่างหม้อและโชติปาลมาณพได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ฆฏิการะช่างหม้อได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี่โชติปาลมาณพเป็น สหายที่รักของข้าพระพุทธเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงให้โชติปาลมาณพนี้บวชเถิด ดังนี้ โชติปาลมาณพได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. ครั้นเมื่อโชติปาลมาณพอุปสมบทแล้วไม่นานประมาณกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ในเวภฬิค- *นิคมตามควรแก่พระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จหลีกจาริกไปทางพระนครพาราณสี เสด็จจาริกไป โดยลำดับ ถึงพระนครพาราณสีแล้ว.เรื่องพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกิ [๔๑๔] ดูกรอานนท์ ได้ยินว่า ในคราวนั้นพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี. ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกิได้ทรงสดับว่า ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงพระนครพาราณสี ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตน- *มิคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี. ครั้งนั้น พระเจ้ากิกิกาสิราชรับสั่งให้เทียบราชยานที่ดีๆ แล้ว ทรงราชยานอย่างดีเสด็จออกจากพระนครพาราณสีด้วยราชยานอย่างดี ด้วยราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไป โดยเท่าที่ยานจะไปได้แล้ว เสด็จลงจากราชยาน เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๔๑๕] ดูกรอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันต์สัมมา สัมพุทธเจ้า ทรงยังพระเจ้ากิกิกาสิราชให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรง ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ลำดับนั้น พระเจ้ากิกิกาสิราชอันพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรง ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้. พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับด้วยอาการดุษณีภาพ. พระเจ้ากิกิกาสิราชทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับนิมนต์แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคม ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จหลีกไป. พอล่วงราตรีนั้นไป พระเจ้ากิกิกาสิราชรับสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียะอันประณีต ล้วนแต่เป็นข้าวสาลีอันขาวและ อ่อน มีสิ่งดำเก็บออกหมดแล้ว มีแกงและกับเป็นอเนก ในพระราชนิเวศน์ของท้าวเธอ แล้ว รับสั่งให้ราชบุรุษไปกราบทูลภัตกาลว่า ได้เวลาแล้ว พระเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. [๔๑๖] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ ของพระเจ้ากิกิกาสิราช ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. ลำดับนั้น พระเจ้ากิกิกาสิราช ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วย ของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยพระหัตถ์ของท้าวเธอ ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยเสร็จ วางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว พระเจ้ากิกิกาสิราช ทรงถือ อาสนะต่ำอันหนึ่ง ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับการอยู่จำพรรษา ณ เมืองพาราณสีของหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจักได้บำรุง พระสงฆ์เห็นปานนี้. พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับการอยู่จำพรรษาเสียแล้ว. แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม พระเจ้ากิกิกาสิราชได้กราบ ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับการอยู่จำพรรษา ณ เมืองพาราณสีของ หม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจักได้บำรุงพระสงฆ์เห็นปานนี้. แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับการอยู่จำพรรษาเสียแล้ว. ครั้งนั้น พระเจ้ากิกิกาสิราชทรงเสีย พระทัย ทรงโทมนัสว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรง รับการอยู่จำพรรษา ณ เมืองพาราณสีของเราเสียแล้ว ดังนี้ แล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีใครอื่นที่เป็นอุปัฏฐากยิ่งกว่าหม่อมฉันหรือ?พระกัสสปพุทธเจ้าสรรเสริญช่างหม้อชื่อฆฏิการะ [๔๑๗] มีอยู่ มหาบพิตร นิคมชื่อเวภฬิคะ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ อยู่ในนิคมนั้น เขาเป็นอุปัฏฐากของอาตมภาพ นับเป็นอุปัฏฐากชั้นเลิศ พระองค์แลทรงเสียพระทัยมีความโทมนัส ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับการอยู่จำพรรษา ในเมืองพาราณสีของเราเสียแล้ว ความเสียใจและความโทมนัสนี้นั้น ย่อมไม่มี และจักไม่มีใน ช่างหม้อฆฏิการะ ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะแล ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกร มหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นผู้หมดสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บริโภคภัต มื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ปล่อยวางแก้วมณีและทองคำ ปราศจาก การใช้ทองและเงิน ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะแล ไม่ขุดแผ่นดินด้วยสากและด้วยมือ ของตน นำมาแต่ดินตลิ่งพังหรือขุยหนูซึ่งมีอยู่ด้วยหาบ ทำเป็นภาชนะแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ในภาชนะนี้ ผู้ใดต้องการ ผู้นั้นจงวางถุงใส่ข้าวสาร ถุงใส่ถั่วเขียว หรือถุงใส่ถั่วดำไว้ แล้วนำ ภาชนะที่ต้องการนั้นไปเถิด ดูกรมหาบพิตร ช่างหม้อฆฏิการะ เลี้ยงมารดาบิดา ผู้ชรา ตาบอด ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นอุปปาติกะ จะปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้าประการหมดสิ้นไป. [๔๑๘] ดูกรมหาบพิตร ครั้งหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวภฬิคะนั้นเอง. เวลาเช้า อาตมภาพนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปหามารดาบิดาของฆฏิการะช่างหม้อถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปไหนเสียเล่า? มารดาบิดาของฆฏิการะช่างหม้อตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐากของพระองค์ออกไปเสียแล้ว ขอพระองค์จงเอาข้าวสุกจากหม้อข้าวนี้ เอาแกงจากหม้อ แกงนี้เสวยเถิด. ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น อาตมภาพได้เอาข้าวสุกจากหม้อข้าว เอาแกงจาก หม้อแกงฉันแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป. ลำดับนั้น ฆฏิการะช่างหม้อเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ใครมาเอาข้าวสุกจากหม้อข้าว เอาแกงจากหม้อแกงบริโภคแล้วลุกจากอาสนะ หลีกไป. มารดาบิดาบอกว่า ดูกรพ่อ พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเอาข้าวสุกจากหม้อข้าว เอาแกงจากหม้อแกงเสวยแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป. ครั้งนั้น ฆฏิการะช่างหม้อมีความคิดเห็นว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้แก่เรา. ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่ละฆฏิการะช่างหม้อตลอดกึ่งเดือน ไม่ละมารดาบิดาตลอดเจ็ดวัน. [๔๑๙] ดูกรมหาบพิตร ครั้งหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่เวภฬิคนิคมนั้นเอง. ครั้งนั้นเวลาเช้า อาตมภาพนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปหามารดาบิดาของฆฏิการะช่างหม้อถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปไหนเสียเล่า? มารดาบิดาของฆฏิการะช่างหม้อตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐากของพระองค์ออกไปเสียแล้ว ขอพระองค์จงเอาขนมสดจากกระเช้านี้ เอาแกงจากหม้อแกง นี้เสวยเถิด. ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น อาตมภาพได้เอาขนมสดจากกระเช้า เอาแกงจากหม้อแกง ฉันแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป. ลำดับนั้น ฆฏิการะช่างหม้อเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่ แล้วได้ ถามว่า ใครมาเอาขนมสดจากกระเช้า เอาแกงจากหม้อแกงบริโภค แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป. มารดาบิดาบอกว่า ดูกรพ่อ พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรง เอาขนมสดจากกระเช้า เอาแกงจากหม้อแกงเสวยแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป. ครั้งนั้น ฆฏิการะช่างหม้อมีความคิดเห็นว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้แก่เรา. ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่ละฆฏิการะช่างหม้อตลอดกึ่งเดือน ไม่ละมารดาบิดาตลอดเจ็ดวัน. [๔๒๐] ดูกรมหาบพิตร ครั้งหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่เวภฬิคนิคมนั้นเอง. ก็สมัยนั้น กุฏิรั่ว. อาตมภาพจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันไปดูหญ้าที่นิเวศน์ ของฆฏิการะช่างหม้อ. เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หญ้าที่นิเวศน์ของฆฏิการะช่างหม้อไม่มี มีแต่หญ้าที่มุงหลังคาเรือนที่ฆฏิการะ ช่างหม้ออยู่เท่านั้น. อาตมภาพได้สั่งภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันไป รื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือน ที่ฆฏิการะช่างหม้ออยู่มาเถิด. ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น ได้ไปรื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือนที่ฆฏิการะช่างหม้ออยู่มาแล้ว. ลำดับนั้น มารดาบิดาของฆฏิการะ ช่างหม้อได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ใครมารื้อหญ้ามุงหลังคาเรือนเล่า. ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ดูกร น้องหญิง กุฎีของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รั่ว มารดาบิดา ฆฏิการะช่างหม้อได้กล่าวว่า เอาไปเถิดเจ้าข้า เอาไปตามสะดวกเถิด ท่านผู้เจริญ. ครั้งนั้น ฆฏิการะช่างหม้อเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ใครมารื้อหญ้ามุงหลังคาเรือนเสียเล่า? มารดาบิดาตอบว่า ดูกรพ่อ ภิกษุทั้งหลายบอกว่า กุฎีของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รั่ว. ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น ฆฏิการะช่างหม้อมีความคิดเห็นว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้แก่เรา. ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่ละฆฏิการะ ช่างหม้อตลอดกึ่งเดือน ไม่ละมารดาบิดาตลอดเจ็ดวัน. และครั้งนั้น เรือนที่ฆฏิการะช่างหม้อ อยู่ทั้งหลังนั้น มีอากาศเป็นหลังคาอยู่ตลอดสามเดือน ถึงฝนตกก็ไม่รั่ว ดูกรมหาบพิตร ฆฏิการะ ช่างหม้อมีคุณเห็นปานนี้. กิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของฆฏิการะช่างหม้อแล้ว ฆฏิการะช่างหม้อได้ดีแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้แก่เขา. [๔๒๑] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ากิกิกาสิราชได้ส่งเกวียนบรรทุกข้าวสารข้าวปัณฑุมุ- *ฑิกสาลีประมาณ ๕๐๐ เล่ม และเครื่องแกงอันสมควรแก่ข้าวสารนั้น ไปพระราชทานแก่ฆฏิการะ ช่างหม้อ. ครั้งนั้น ราชบุรุษทั้งหลายเข้าไปหาฆฏิการะช่างหม้อแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้เจริญ นี่ข้าวสารข้าวปัณฑุมุฑิกสาลีบรรทุกเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม และเครื่องแกงอันสมควรแก่ ข้าวสารนั้น พระเจ้ากิกิกาสิราชส่งมาพระราชทานแก่ท่านแล้ว จงรับของพระราชทานเหล่านั้น ไว้เถิด. ฆฏิการะช่างหม้อได้ตอบว่า พระราชามีพระราชกิจมาก มีราชกรณียะมาก ของที่พระ- *ราชทานมานี้ อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิด. [๔๒๒] ดูกรอานนท์ เธอจะพึงมีความคิดเห็นว่า สมัยนั้น คนอื่นได้เป็นโชติปาล- *มาณพแน่นอน แต่ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้นเราได้เป็นโชติปาลมาณพ. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล.จบ ฆฏิการสูตร ที่ ๑. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๖๕๙๖-๖๘๒๔ หน้าที่ ๒๘๘ - ๒๙๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=6596&Z=6824&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=405&book=13 อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=31 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=403 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=13&A=7683 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=13&A=7683 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_13
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]