ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๘. ปิณโฑลยสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต
[๑๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ สักกชนบท. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเรื่องหนึ่งแล้ว เวลาเช้า ทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้นแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จไปยังป่ามหาวัน เพื่อประทับพักใน กลางวัน ครั้นเสด็จถึงป่ามหาวันแล้ว ได้ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ครั้งนั้น แล พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดพระปริวิตกขึ้นว่า เราแลได้ขับไล่ ภิกษุสงฆ์ให้ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นเรา พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน เหมือนลูกโค น้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือนกับพืชที่ยังอ่อนๆ ไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปรไป ฉะนั้น ถ้ากระไรเราพึงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้อนุเคราะห์มาแล้วในก่อนๆ ฉะนั้นเถิด. [๑๖๖] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ได้ทราบพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาค ด้วย ใจของตนแล้ว ได้หายไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนกับ บุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทำ ผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วประนมมือ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ทรงขับไล่ ภิกษุสงฆ์ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุที่ยังใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุสงฆ์เหล่านั้นไม่เห็นพระผู้มีพระภาค พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน เหมือนกับลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือน กับพืชที่ยังอ่อนๆ เมื่อไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงพร่ำสอนภิกษุสงฆ์ จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้ทรงอนุเคราะห์มาแล้วแต่ก่อนๆ ฉะนั้นเถิด. พระผู้มีพระภาค ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ. ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว อันตร- *ธานไปจากสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นแล. [๑๖๗] ลำดับนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากที่พักผ่อนแล้ว เสด็จไปยังนิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงบันดาล ด้วยอิทธาภิสังขาร ให้ภิกษุเหล่านั้นเกรงกลัว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทีละรูป บ้าง สองรูปบ้าง ครั้นแล้วต่างก็ถวายบังคมแล้ว นั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้น ภิกษุเหล่านั้น นั่งลงเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสพระพุทธวจนะว่า ดูกรภิกษุทั้ง- *หลาย ข้อเลวทรามของการเลี้ยงชีพทั้งหลาย ก็คือการแสวงหาบิณฑบาต. ภิกษุทั้งหลาย ย่อม ได้รับคำแช่งด่าในโลกว่า เป็นผู้มีมือถือบาตรเที่ยวแสวงหาบิณฑบาต. ดูกรภิกษุทั้งหลายก็กุลบุตร ทั้งหลาย เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ อาศัยอำนาจแห่งเหตุ จึงเข้าถึงความเป็นผู้แสวงหา บิณฑบาตนี้แล ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์ ไม่ใช่เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่เป็น คนมีหนี้ ไม่ใช่เป็นคนมีภัย ไม่ใช่เป็นคนมีอาชีพแร้นแค้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อีกอย่าง หนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่า เราทั้งหลายเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ประจำ แล้ว ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. แต่ว่ากุลบุตรนั้น เป็นผู้ มากด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจ อันโทสะประทุษ ร้ายแล้ว มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลผู้เสื่อมแล้ว จากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วย ไม่ทำประโยชน์ คือ ความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ด้วยว่า มีอุปมาเหมือนกับดุ้นฟืนในที่เผาศพ ซึ่งไฟติดทั้งสองข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถจะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ ฉะนั้น. [๑๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตต- *สมาธิ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิมิตตสมาธิควร แท้ ที่จะเจริญจนกว่าจะละอกุศลวิตกนี้ได้. อนิมิตตสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก. [๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ คือ ภวทิฏฐิ ๑ วิภวทิฏฐิ ๑. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น ดังนี้ว่า เรายึดถือ สิ่งใด ในโลกอยู่ จะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นมีอยู่บ้างไหม? เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เรา เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ พึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย. เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ ก็เราเมื่อ ยึดถือ พึงยึดถือรูปนั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือเวทนานั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสัญญา นั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสังขารนั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือวิญญาณนั้นเอง ภพพึงมีแก่ เรา เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ พึงมีได้ ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน รูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูล ว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวของตัวเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๘.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๐๔๒-๒๑๑๐ หน้าที่ ๙๐ - ๙๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=2042&Z=2110&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=167&book=17              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=17&siri=80              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=165              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=17&A=2231              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=17&A=2231              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_17

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]