บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
| |
ฉบับหลวง ฉบับมหาจุฬาฯ บาลีอักษรไทย PaliRoman |
อัปปมาทวรรคที่ ๑๐ ตถาคตสูตรที่ ๑ ผู้เจริญอริยมรรคน้อมไปในการสละ [๒๔๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเป็น ผู้เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็น มูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อม เจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.จบ สูตรที่ ๑ (อีก ๓ สูตรข้างหน้า พึงให้พิสดารอย่างนี้) ตถาคตสูตรที่ ๒ ผู้เจริญอริยมรรคมีการกำจัดราคะเป็นที่สุด [๒๔๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี ... อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็น ที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัด โมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.จบ สูตรที่ ๒ ตถาคตสูตรที่ ๓ ผู้เจริญอริยมรรคอันหยั่งลงสู่อมตะ [๒๔๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี ... อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๒๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อม เจริญสัมมาสมาธิ อันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.จบ สูตรที่ ๓ ตถาคตสูตรที่ ๔ ความไม่ประมาทเลิศกว่ากุศลธรรม [๒๕๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเป็น ผู้เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น เหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๒๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฯลฯ ย่อม เจริญสัมมาสมาธิ อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.จบ สูตรที่ ๔ ปทสูตร กุศลธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล [๒๕๓] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ผู้สัญจรไปบน แผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนั้นย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง บัณฑิต กล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูลรวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าว ว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึง หวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบ ด้วยองค์ ๘. [๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อม เจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.จบ สูตรที่ ๕ กูฏสูตร ว่าด้วยเรือนยอด [๒๕๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลอนแห่งเรือนยอดอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนั้นไปสู่ยอด น้อมไปสู่ยอด ประชุมเข้าที่ยอด ยอดแห่งเรือนยอดนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่ากลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาท เป็นมูล ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯจบ สูตรที่ ๖ มูลคันธสูตร ว่าด้วยกลิ่นที่ราก [๒๕๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่รากชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม้กลัม- *พัก บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่รากเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯจบ สูตรที่ ๗ สารคันธสูตร ว่าด้วยกลิ่นที่แก่น [๒๕๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์ แดง บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่แก่นเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯจบ สูตรที่ ๘ ปุปผคันธสูตร ว่าด้วยกลิ่นที่ดอก [๒๕๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่ดอกชนิดใดชนิดหนึ่ง มะลิ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่ดอกเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมด นั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯจบ สูตรที่ ๙ กุฏฐราชาสูตร ว่าด้วยพระราชาผู้เลิศ [๒๕๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาผู้น้อย (ชั้นต่ำ) เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นผู้ตามเสด็จพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าพระ- *ราชาผู้น้อยเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาท เป็นมูล ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯจบ สูตรที่ ๑๐ จันทิมสูตร ว่าด้วยพระจันทร์ [๒๖๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แสงสว่างแห่งดวงดาวชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แสงสว่างของพระจันทร์ แสงสว่างของพระจันทร์ บัณฑิต กล่าวว่าเลิศกว่าแสงสว่างของดวงดาวเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมด นั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯจบ สูตรที่ ๑๑ สุริยสูตร ว่าด้วยพระอาทิตย์ [๒๖๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสรทสมัยท้องฟ้าบริสุทธิ์ ปราศจากเมฆ พระอาทิตย์ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ย่อมส่องแสงและแผดแสงไพโรจน์ กำจัดความมืดอันมีอยู่ในอากาศ ทั่วไป แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล ... ฉันนั้น เหมือนกัน ฯลฯจบ สูตรที่ ๑๒ วัตถสูตร ว่าด้วยผ้า [๒๖๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่ทอด้วยด้ายชนิดใดชนิดหนึ่ง ผ้าของ ชาวกาสี บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าผ้าที่ทอด้วยด้ายเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิต กล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบ ด้วยองค์ ๘. [๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อม เจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.จบ สูตรที่ ๑๓ จบ อัปปมาทวรรค ----------------------------------------------------- รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ตถาคตสูตรที่ ๑ ๒. ตถาคตสูตรที่ ๒ ๓. ตถาคตสูตรที่ ๓ ๔. ตถาคตสูตร ที่ ๔ ๕. ปทสูตร ๖. กูฏสูตร ๗. มูลคันธสูตร ๘. สารคันธสูตร ๙. ปุปผคันธสูตร ๑๐. กุฏฐราชาสูตร ๑๑. จันทิมสูตร ๑๒. สุริยสูตร ๑๓. วัตถสูตร----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๑๔๓๗-๑๕๗๘ หน้าที่ ๖๓ - ๖๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=1437&Z=1578&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=253&book=19 อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=19&siri=49 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=245 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=19&A=1130 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=19&A=1130 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_19
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]