๕. ภิสชาดก
ว่าด้วยผู้ลักเอาเหง้ามัน
[๑๙๒๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ม้า
วัว เงิน ทอง และภรรยาที่น่าชอบใจ จงพร้อมพรั่งด้วยบุตรและภรรยา
มากมายเถิด.
[๑๙๒๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ทัด
ทรงระเบียบ ดอกไม้ ลูบไล้กระแจะจันทน์ แคว้นกาสี จงเป็นผู้
มากไปด้วยบุตร จงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลายเถิด.
[๑๙๒๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
คฤหัสถ์มีธัญชาติมากมาย สมบูรณ์ด้วยเครื่องกสิกรรม มียศ จงได้บุตร
ทั้งหลาย มั่งมีทรัพย์ ได้กามคุณทุกอย่าง จงอยู่ครองเรือนอย่างไม่เห็น
ความเสื่อมเลย.
[๑๙๒๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจง
ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์บรมราชาธิราช มีกำลัง มียศศักดิ์ จงครอบ
ครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด.
[๑๙๒๕] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
พราหมณ์มัวประกอบในทางทำนายฤกษ์ยาม อย่าได้คลายความยินดีใน
ตำแหน่ง ท่านผู้เป็นเจ้าแคว้น ผู้มียศ จงบูชาผู้นั้นไว้เถิด.
[๑๙๒๖] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอชาวโลกทั้งมวล
จงสำคัญผู้นั้นว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเวทมนต์ทั้งปวง ผู้เรืองตบะ ชาว
ชนบททั้งหลายทราบดีแล้ว จงบูชาผู้นั้นเถิด.
[๑๙๒๗] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงครอบ
ครองบ้านส่วย อันพระราชาทรงประทานให้ เป็นบ้านที่มั่งคั่ง สมบูรณ์
ด้วยเหตุ ๔ ประการ ดุจท้าววาสวะพระราชทานให้ อย่าได้คลายความ
ยินดีจนกระทั่งถึงความตายเถิด.
[๑๙๒๘] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
นายบ้าน บันเทิงอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางสหาย อย่าได้
รับความพินาศอย่างใดอย่างหนึ่งจากพระราชาเลย.
[๑๙๒๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้พระมหา-
กษัตริย์ผู้ทรงเป็นเอกราช ทรงปราบปรามศัตรูได้ทั่วพื้นปฐพี ทรงสถาปนา
ให้หญิงนั้นเป็นยอดสตรีจำนวนพัน ขอหญิงนั้นจงเป็นมเหสีผู้ประเสริฐ
กว่านางสนมทั้งหลายเถิด.
[๑๙๓๐] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้หญิงนั้น
จงเป็นทาสีไม่สะดุ้งสะเทือน กินของดีๆ ในท่ามกลางคนทั้งปวงที่มา
ประชุมกันอยู่ จงเที่ยวโอ้อวดลาภอยู่เถิด.
[๑๙๓๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้
เป็นเจ้าอาวาสในวัดใหญ่ๆ จงเป็นผู้ประกอบนวกรรมในเมืองกชังคละ
จงกระทำหน้าต่างตลอดวันเถิด.
[๑๙๓๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ช้าง
เชือกนั้น จงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อย จงถูกนำออกจากป่าอันน่า
รื่นรมย์มายังราชธานี จงถูกทิ่มแทงด้วยประตักและสับด้วยขอเถิด.
[๑๙๓๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ลิงตัว
นั้นมีพวงดอกไม้สวมคอ ถูกเจาะหูด้วยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว
เมื่อฝึกหัดให้เล่นงู เข้าไปใกล้ปากงู ถูกมัดตระเวนเที่ยวไปตามตรอก
เถิด.
[๑๙๓๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดแกล้งกล่าวถึงของที่ไม่หายว่าหายก็ดี หรือผู้ใด
สงสัยคนใดคนหนึ่งก็ดี ขอให้ผู้นั้นจงได้บริโภคกามทั้งหลาย จงเข้าถึง
ความตายอยู่ในท่ามกลางเรือนเถิด.
[๑๙๓๕] สัตว์ทั้งหลายในโลก ย่อมพากันเที่ยวแสวงหากามใด เป็นสิ่งที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าฟูใจของสัตว์เป็นอันมาก ในชีวโลกนี้
เพราะเหตุไร ฤาษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามเลย.
[๑๙๓๖] ดูกรท่านผู้เป็นจอมภูต เพราะกามนั่นแล สัตว์ทั้งหลายจึงถูกประหาร
ถูกจองจำ เพราะกามทั้งหลาย ทุกข์และภัยจึงเกิดเพราะกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายจึงประมาทลุ่มหลงกระทำกรรมอันเป็นบาป สัตว์เหล่านั้น
มีบาป จึงประสบบาปกรรม เมื่อตายไปแล้วย่อมไปสู่นรก เพราะเห็น
โทษในกามคุณดังนี้ ฤาษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกาม.
[๑๙๓๗] ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะทดลองดูว่า ฤาษีเหล่านี้ยัง
น้อมไปในกามหรือไม่ จึงถือเอาเหง้ามันที่ฝั่งน้ำไปฝังไว้บนบก ฤาษี
ทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีบาป นี้เหง้ามันของท่าน.
[๑๙๓๘] ดูกรท้าวสหัสนัยน์เทวราช ฤาษีเหล่านั้นมิใช่นักฟ้อนของท่าน และมิใช่
ผู้ที่ท่านจะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของท่าน เพราะเหตุไร
ท่านจึงมาดูหมิ่นล้อเล่นกับฤาษีทั้งหลาย?
[๑๙๓๙] ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีปัญญากว้าง ท่านเป็นอาจารย์และ
เป็นบิดาของข้าพเจ้า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้ง-
พลาด ขอได้โปรดอดโทษครั้งหนึ่งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความ
โกรธเป็นกำลัง.
[๑๙๔๐] การที่พวกเราได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมภูต นับเป็นราตรีเอกของพวก
เราเหล่าฤาษีซึ่งอยู่กันด้วยดี ท่านผู้เจริญ ทุกคนจงพากันดีใจเถิด เพราะ
ท่านพราหมณ์ได้เหง้ามันคืนแล้ว.
[๑๙๔๑] เราตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะและ
อานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ในครั้งนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตรา
เป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส สาตาคีระเป็นเทวดา ปาลิเลยยกะเป็น
ช้าง มธุทะผู้ประเสริฐเป็นวานร กาฬุทายีเป็นท้าวสักกะ ท่านทั้งหลาย
จงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ภิสชาดกที่ ๕.
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๗๔๒๙-๗๕๐๓ หน้าที่ ๓๓๒ - ๓๓๔.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=7429&Z=7503&pagebreak=0
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=1939&book=27
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=488
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1921
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=27&A=7728
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=27&A=7728
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗
http://84000.org/tipitaka/read/?index_27
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]