ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ ๗
[๒๒๔] (ท่านพระติสสเมตเตยยะ กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้หาทุกข์มิได้ ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งความคับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม พวกข้าพระองค์ได้ฟัง คำสอนของพระองค์แล้ว จะศึกษาในวิเวก.
ว่าด้วยเมถุนธรรม
[๒๒๕] คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม ความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรม ได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมของชาวบ้าน ธรรมของคนเลว ธรรมชั่วหยาบ ธรรมมีน้ำเป็นที่สุด ธรรมอันพึงทำในที่ลับ ธรรมคือความถึงพร้อมแห่งคนคู่ๆ กัน. เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า เมถุน- *ธรรม. เพราะเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นธรรมของคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คนสองคนทำความทะเลาะกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนทำความมุ่งร้ายกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนทำความอื้อฉาวกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนทำความวิวาทกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคน ก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนพูดกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนปราศรัยกัน เรียกว่าคนคู่ ฉันใด ธรรมนั้นเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม คือ ของบุคคลผู้ประกอบ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๑.

ประกอบทั่ว ประกอบเอื้อเฟื้อ ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ประพฤติในเมถุนธรรม มักมาก ในเมถุนธรรม หนักอยู่ในเมถุนธรรม น้อมไปในเมถุนธรรม โน้มไปในเมถุนธรรม โอนไปใน เมถุนธรรม น้อมใจไปในเมถุนธรรม มีเมถุนธรรมนั้นเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของ บุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม. [๒๒๖] คำว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า มีความว่า ศัพท์ว่า อิติ เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสัคคะ เป็นบทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักขระ เป็นศัพท์สละ สลวยด้วยพยัญชนะ เป็นลำดับบท. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าว ด้วยความเคารพ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพ เป็นเครื่องกล่าวด้วยความยำเกรง คำว่า ติสฺส เป็นนาม เป็นเครื่องนับ เป็นเครื่องหมายรู้ เป็นบัญญัติ เป็นโวหาร เป็นชื่อ เป็นความตั้งชื่อ เป็นความทรงชื่อ เป็นเครื่องกล่าวถึง เป็นเครื่องแสดงความหมาย เป็นเครื่อง กล่าวเฉพาะ แห่งพระเถระนั้น. คำว่า เมตเตยยะ เป็นโคตร เป็นเครื่องนับ เป็นเครื่องหมาย รู้ เป็นบัญญัติ เป็นโวหาร แห่งพระเถระนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า. [๒๒๗] คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้หาทุกข์มิได้ ขอพระองค์จงตรัสบอกความคับแค้น (ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม) มีความว่า ขอพระองค์จงตรัสบอก คือ โปรดบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศซึ่งความคับแค้น คือ ความ เข้าไปประกอบ ความเบียดเบียน ความกระทบกระทั่ง ความทรมาน ความขัดข้อง. คำว่า มาริสะ เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ เป็นเครื่องกล่าวด้วยยำเกรง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้หาทุกข์มิได้ ขอพระองค์จงตรัสบอกความคับแค้น. [๒๒๘] คำว่า ได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้ว มีความว่า ได้ฟัง ได้สดับ ศึกษา เข้าไปทรง เข้าไปกำหนดแล้ว ซึ่งคำเป็นทาง เทศนา คำพร่ำสอนของพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว.
ว่าด้วยวิเวก ๓
[๒๒๙] คำว่า จะศึกษาในวิเวก มีความว่า วิเวก ได้แก่ วิเวก ๓ คือ กายวิเวก ๑ จิตตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๒.

กายวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่ คือ เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งอยู่ใน ที่หลีกเร้นผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยว อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา เป็นไป ให้เป็นไป นี้ชื่อว่า กายวิเวก. จิตตวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุเข้าปฐมฌาน มีจิตสงัดจากนิวรณ์ เข้าทุติยฌาน มีจิตสงัด จากวิตกและวิจาร เข้าตติยฌาน มีจิตสงัดจากปีติ เข้าจตุตถฌาน มีจิตสงัดจากสุขและทุกข์ เข้าอากาสานัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา เข้าวิญญาณัญจา ยตนฌาน มีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา เข้าอากิญจัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจาก วิญญาณัญจายตนสัญญา เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา (เมื่อภิกษุนั้น) เป็นโสดาบันบุคคล มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐา นุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับสักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น เป็นพระ สกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่าง หยาบๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น เป็นพระอนาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียดๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์อย่างละเอียดเป็นต้นนั้น เป็นพระ- *อรหันต์ มีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และจากสังขารนิมิตทั้งปวงใน ภายนอก นี้ชื่อว่า จิตตวิเวก. อุปธิวิเวกเป็นไฉน? กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่าอุปธิ. อมตนิพพาน เรียกว่าอุปธิวิเวก ได้แก่ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่า อุปธิวิเวก. ก็กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออก ผู้ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตตวิเวก ย่อมมี แก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมด อุปธิ ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร. (๑)- @(๑) ดูข้อ ๓๓

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๓.

คำว่า จะศึกษาในวิเวก มีความว่า พระเถระนั้นมีสิกขาอันศึกษาแล้วโดยปกติ อีกอย่างหนึ่ง พระเถระนั้นเมื่อจะทูลขอพระธรรมเทศนา จึงทูลอย่างนี้ว่า จะศึกษาในวิเวก. เพราะเหตุนั้น พระติสสเมตเตยยเถระจึงทูลว่า (ท่านติสสเมตเตยยะกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้หาทุกข์ มิได้ ขอพระองค์จงตรัสบอกความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม พวกข้าพระองค์ได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจะศึกษา ในวิเวก. [๒๓๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมตเตยยะ) คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบ เนืองๆ ในเมถุนธรรม ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด นี้ เป็นธรรมอันไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น. [๒๓๑] คำว่า ของผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม ความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรม คือ ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมของชาวบ้าน ธรรมของคนเลว ธรรมชั่วหยาบ ธรรมมีน้ำเป็นที่สุด ธรรมอันพึงทำในที่ลับ ธรรมคือความถึงพร้อมแห่งคนคู่ๆ กัน. เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. เพราะเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอัน ราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คน สองคนทำความทะเลาะกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนทำความมุ่งร้ายกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคน ทำความอื้อฉาวกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนทำความวิวาทกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนก่ออธิกรณ์ กัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนพูดกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนปราศรัยกัน เรียกว่าคนคู่ ฉันใด ธรรมนั้นเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะมีราคะ กำเริบขึ้น มีจิตอัน ราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม คือ ของบุคคลผู้ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบเอื้อเฟื้อ ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ประพฤติในเมถุนธรรม มักมาก ในเมถุนธรรม หนักมากในเมถุนธรรม หนักอยู่ในเมถุนธรรม น้อมไปในเมถุนธรรม โน้มไป ในเมถุนธรรม โอนไปในเมถุนธรรม น้อมใจไปในเมถุนธรรม มีเมถุนธรรมนั้นเป็นใหญ่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๔.

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม. (ความหมายของคำว่า ภควา) พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระเถระนั้นโดยโคตรว่า เมตเตยยะ. คำว่า ภควา เป็นพระนามเครื่อง กล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภควา เพราะอรรถว่า ผู้ทำลายราคะแล้ว ทำลาย โทสะแล้ว ทำลายโมหะแล้ว ทำลายมานะแล้ว ทำลายทิฏฐิแล้ว ทำลายเสี้ยนหนามแล้ว ทำลาย กิเลสแล้ว และเพราะอรรถว่า ทรงจำแนก ทรงจำแนกวิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะ ซึ่ง ธรรมรัตนะ. เพราะอรรถว่า ทรงทำซึ่งที่สุดแห่งภพทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า มีพระกายอันอบรม แล้ว. มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว. มีปัญญาอันอบรมแล้ว. อนึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่วิเวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เพราะฉะนั้นจึง ชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันเป็นอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง. พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ (ฌานเป็นที่ตั้งแห่งความ ครอบงำอารมณ์ในกสิณ) อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑) เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑ อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วน แห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมี องค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐ เวสารัชชธรรม ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนาม ว่า ภควา นี้พระมารดา พระบิดา พระภาดา พระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณ พราหมณ์ เทวดา มิได้เฉลิมให้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามในอรหัตผล ในลำดับแห่งอรหัตมรรค) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ (บัญญัติที่เกิดเพราะทำแจ่มแจ้งอรหัตผลและธรรม ทั้งปวง) พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญตญาณ ณ โคนแห่งต้นโพธิ์ ของพระผู้มีพระภาค ทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมตเตยยะ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๕.

[๒๓๒] คำว่า คำสั่งสอน ... ย่อมเลอะเลือน มีความว่า คำสั่งสอน ย่อมเลอะเลือน ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ คำสั่งสอนทางปริยัติย่อมเลอะเลือน ๑ คำสั่งสอนทางปฏิบัติย่อม เลอะเลือน ๑. คำสั่งสอนทางปริยัติเป็นไฉน? คำสั่งสอนใด คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ อันบุคคลนั้นศึกษาแล้ว นี้ชื่อว่าคำสั่งสอนทาง ปริยัติ. คำสั่งสอนทางปริยัติแม้นั้น ย่อมเลอะเลือน ฟั่นเฝือไป ย่อมเหินห่าง คำสั่งสอน ... ย่อม เลอะเลือนแม้อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้. คำสั่งสอนทางปฏิบัติเป็นไฉน ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติ ไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้ สมบูรณ์ในศีล ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ชื่อว่า คำสั่งสอนทางปฏิบัติ. คำสั่งสอนทางปฏิบัติแม้นั้น ย่อมเลอะเลือน ฟั่นเฝือไป ย่อมเหินห่าง คำสั่งสอน ... ย่อม เลอะเลือนแม้อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้. [๒๓๓] คำว่า บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด มีความว่า บุคคลนั้น ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดที่ต่อบ้าง ปล้นโดยไม่เหลือบ้าง ปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นที่หนทาง เปลี่ยวบ้าง คบหาภรรยาของผู้อื่นบ้าง กล่าวคำเท็จบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติ ผิด. [๒๓๔] คำว่า นี้เป็นธรรมอันไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น มีความว่า ข้อปฏิบัติผิดนี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐ เป็นธรรมของคนพาล เป็นธรรมของคนหลง เป็นธรรมของคนไม่รู้ เป็น ธรรมของคนมีถ้อยคำกวัดแกว่งไม่ตายตัว ในบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นี้เป็นธรรมอัน ไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมตเตยยะ) คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม ย่อมเลอะเลือน บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด นี้เป็นธรรมอันไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๖.

[๒๓๕] บุคคลใด เป็นผู้เดียวเที่ยวไปในเบื้องต้น (ภายหลัง) ย่อมซ่องเสพ เมถุนธรรม บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นปุถุชนคนเลว ใน โลก เหมือนยวดยานที่หมุนไป ฉะนั้น.
ว่าด้วยผู้บวชแล้วสึก
[๒๓๖] คำว่า เป็นผู้เดียวเที่ยวไปในเบื้องต้น มีความว่า เป็นผู้เดียวเที่ยวไปใน เบื้องต้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยส่วนบรรพชา ๑ ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่ ๑. เป็นผู้เดียวเที่ยวไปในเบื้องต้นด้วยส่วนบรรพชาอย่างไร? บุคคลตัดกังวลในฆราวาส ทั้งหมด ตัดกังวลในบุตรและภรรยา ตัดกังวลในญาติ ตัดกังวลในมิตรและพวกพ้อง ตัดกังวล ในความสั่งสม ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็น ผู้ไม่มีความกังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป คือ อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา เป็นไป ยังอัตภาพ ให้เป็นไป ชื่อว่าเป็นผู้เดียวเที่ยวไปในเบื้องต้นด้วยส่วนบรรพชาอย่างนี้. เป็นผู้เดียวเที่ยวไปในเบื้องต้นด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่อย่างไร? บุคคลนั้น บวชแล้วอย่างนั้น เป็นผู้เดียว ซ่องเสพเสนาสนะเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่ วิเวก. ภิกษุนั้นเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเที่ยวบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป คือ อยู่ เปลี่ยน อิริยาบถ ประพฤติ รักษา เป็นไป ยังอัตภาพให้เป็นไป ชื่อว่าเป็นผู้เดียวเที่ยวไปในเบื้องต้นด้วย การละความคลุกคลีด้วยหมู่อย่างนี้. [๒๓๗] คำว่า บุคคลใด ... ย่อมซ่องเสพเมถุนธรรม มีความว่า ชื่อว่า เมถุนธรรม ได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คำว่า บุคคลใด ... ย่อม ซ่องเสพเมถุนธรรม คือ สมัยต่อมา บุคคลนั้น บอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา เวียนมาเป็นคฤหัสถ์ ย่อมเสพ ซ่องเสพ หมกมุ่น เสพเฉพาะเมถุนธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลใด ... ย่อมซ่องเสพเมถุนธรรม.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๗.

[๒๓๘] คำว่า บุคคลนั้น ... ในโลก เหมือนยวดยานที่หมุนไป ฉะนั้น มีความว่า ยาน คือ ยานช้าง ยานม้า ยานโค ยานแพะ ยานแกะ ยานอูฐ ยานลา ที่หมุนไป คือ ที่เขามิได้ฝึกหัด มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม ย่อมแล่นไปผิดทาง ย่อมขึ้นบนตอไม้บ้าง กองหินบ้าง ที่ไม่เรียบร้อย ทำลายอวัยวะผู้ขึ้นขับขี่บ้าง ตกไปในเหวบ้าง ยานนั้นที่หมุนไป คือ ที่เขามิได้ฝึกหัด มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม ย่อมแล่นไปผิดทาง ฉันใด บุคคลนั้น หมุนไปผิด เปรียบเหมือนยานที่หมุนไป ย่อมถือทางผิด คือ ถือมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ถือมิจฉาสมาธิ ก็ฉันนั้น. ยานนั้นที่หมุนไป คือ ที่เขามิได้ ฝึกหัด มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม ย่อมขึ้นไปบนตอไม้บ้าง กองหินบ้าง ที่ไม่เรียบร้อย ฉันใด บุคคลนั้นหมุนไปผิดเปรียบเหมือนยานที่หมุนไป ย่อมขึ้นสู่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขาร กามคุณ ๕ นิวรณ์ อันไม่เสมอ ฉะนั้น. ยานนั้นที่หมุนไป คือ ที่เขามิได้ฝึกหัด มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม ย่อมทำลายอวัยวะผู้ขับขี่บ้าง ฉันใด บุคคลนั้นหมุนไปผิด เปรียบเหมือน ยานที่หมุนไป ย่อมทำลายตนในนรก ทำลายตนในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ทำลายตนในวิสัยแห่งเปรต ทำลายตนในมนุษยโลก ทำลายตนในเทวโลก ฉันนั้น. ยานนั้นที่หมุนไป คือ ที่เขามิได้ฝึกฝน มิได้ฝึกหัด มิได้อบรม ย่อมตกเหวบ้าง ฉันใด บุคคลนั้นหมุนไปผิด เปรียบเหมือนยานที่หมุนไป ย่อมตกไปสู่เหวคือชาติบ้าง ตกไปสู่เหวคือชราบ้าง ตกไปสู่เหวคือพยาธิบ้าง ตกไปสู่เหวคือ มรณะบ้าง ตกไปสู่เหวคือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง ฉันนั้น. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก ฯลฯ มนุษยโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งบุคคลนั้น ... ในโลก เหมือนยานที่หมุนไป ฉะนั้น. [๒๓๙] คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นปุถุชนคนเลว มีความว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะ อรรถว่าอย่างไร? เพราะอรรถว่า ยังกิเลสอันหนาแน่นให้เกิด เพราะอรรถว่า มีสักกายทิฏฐิที่ยัง ไม่ได้กำจัดอันหนาแน่น เพราะอรรถว่า ปฏิญาณต่อศาสดามาก เพราะอรรถว่า อันคติทั้งปวงร้อยไว้ มาก เพราะอรรถว่า ผู้อันอภิสังขารต่างๆ ปรุงแต่งไว้มาก เพราะอรรถว่า ผู้ลอยไปตามโอฆกิเลส ต่างๆ มาก เพราะอรรถว่า ผู้เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนต่างๆ มาก เพราะอรรถว่า ผู้กำหนัด

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๘.

ปรารถนา ยินดี ติดใจ ลุ่มหลง ข้องเกี่ยว พัวพัน ในเบญจกามคุณมาก และเพราะอรรถว่า อันนิวรณ์ ๕ ร้อยรัด ปกคลุม หุ้มห่อ ปิดบัง ครอบงำไว้มาก. คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นปุถุชนคนเลว มีความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าว ได้กล่าว บอก พูด แสดง แถลงอย่างนี้ว่า เป็นปุถุชน คนเลว ทราม ต่ำช้า ลามก สกปรก ต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวว่า เป็นปุถุชนคนเลว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลใด เป็นผู้เดียวเที่ยวไปในเบื้องต้น (ภายหลัง) ย่อมซ่องเสพเมถุน ธรรม บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นปุถุชนผู้เลวในโลก เหมือนยานหมุนไป ฉะนั้น. [๒๔๐] ยศและเกียรติในกาลก่อนของภิกษุนั้น ย่อมเสื่อมไป ภิกษุเห็นความ เสื่อมแม้นั้นแล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรมเสีย.
ว่าด้วยยศและเกียรติ
[๒๔๑] คำว่า ยศและเกียรติในกาลก่อนของภิกษุนั้น ย่อมเสื่อมไป มีความว่า ยศเป็น ไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อันชนทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมแล้ว เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ในกาลก่อน คือ ในคราว เป็นสมณะ นี้เรียกว่ายศ. เกียรติเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อันชนทั้งหลาย สรรเสริญเกียรติคุณว่า เป็นบัณฑิต ผู้ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำอันไพเราะ มีปฏิภาณดี ทรงจำพระสูตรบ้าง ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้ถือการอยู่ในป่าเป็น วัตรบ้าง เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง เป็น ผู้ถือการทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ ถือการห้ามภัตในภายหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะ ตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตน- *สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง ในกาลก่อน คือ ในคราวเป็นสมณะ นี้เรียกว่าเกียรติ. คำว่า ยศและเกียรติในกาลก่อนของภิกษุ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๙.

นั้น ย่อมเสื่อมไป คือ สมัยต่อมา เมื่อภิกษุนั้นบอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา เวียน มาเป็นคฤหัสถ์ ยศและเกียรตินั้น ย่อมเสื่อมไป คือ เสื่อมรอบ สิ้นไป หมดไป สูญไป สลาย ไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ยศและเกียรติในกาลก่อนของภิกษุนั้น ย่อมเสื่อมไป. (๑)-
ว่าด้วยสิกขา ๓ อย่าง
[๒๔๒] คำว่า ภิกษุเห็นความเสื่อมแม้นั้นแล้ว พึงศึกษา เพื่อละเมถุนธรรมเสีย มี ความว่า คำว่า นั้น คือ ภิกษุ เห็น พบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นแจ้ง ซึ่ง สมบัติและวิบัตินั้น คือ ยศและเกียรติในกาลก่อน คือ ในคราวเป็นสมณะ ย่อมกลายเป็นความเสื่อม ยศและเสื่อมเกียรติของภิกษุ ผู้บอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขาแล้ว เวียนมาเป็น คฤหัสถ์ในภายหลัง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เห็นความเสื่อมแม้นั้นแล้ว. คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ อย่าง คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑. อธิศีลสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยความสำรวมใน ปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ศีลขันธ์น้อย ศีลขันธ์ใหญ่ ศีลเป็นที่ตั้ง เป็นเบื้องต้น เป็นเครื่อง ประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นปาก เป็นประธาน แห่งความถึงพร้อมแห่ง กุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า อธิศีลสิกขา. อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบไป บรรลุทุติย- *ฌานอันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ บรรลุจตุตธถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มี อุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา. อธิปัญญาสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอัน @(๑) ดูข้อ ๘๔

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๐.

ให้ถึงความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส อันให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ภิกษุนั่น ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ นี้เรียก ว่า อธิปัญญาสิกขา. คำว่า เมถุนธรรม มีความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรม ได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ ฯลฯ เพราะ เหตุนั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คำว่า ภิกษุเห็นความเสื่อมแม้นั้นแล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุน- *ธรรมเสีย มีความว่า ภิกษุพึงศึกษาแม้อธิศีล พึงศึกษาแม้อธิจิต พึงศึกษาแม้อธิปัญญา เพื่อละ เพื่อสงบ เพื่อสละคืน เพื่อระงับเมถุนธรรม คือ ภิกษุเมื่อนึก เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมจิตไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียร เมื่อเข้าไปตั้งสติ เมื่อตั้งจิต ไว้มั่น เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่พึงรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่พึงกำหนดรู้ เมื่อละ ธรรมที่พึงละ เมื่อเจริญธรรมที่พึงเจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่พึงทำให้แจ้ง พึงศึกษา พึง ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติด้วยดี สมาทานประพฤติ ซึ่งสิกขา ๓ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อ ว่า ภิกษุเห็นความเสื่อมแม้นั้นแล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรมเสีย. เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสว่า ยศและเกียรติในกาลก่อนของภิกษุนั้น ย่อมเสื่อมไป ภิกษุเห็นความ เสื่อมแม้นั้นแล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรมเสีย. [๒๔๓] ภิกษุนั้น ถึงพร้อมด้วยความดำริ ย่อมซบเซา เหมือนคนกำพร้า ได้ยิน เสียงติเตียนของชนเหล่าอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น.
ว่าด้วยข้อเสียของภิกษุ
[๒๔๔] คำว่า ภิกษุนั้น ถึงพร้อมด้วยความดำริ ย่อมซบเซา เหมือนคนกำพร้า มี ความว่า ภิกษุนั้น อันความดำริในกาม ดำริในพยาบาท ดำริในความเบียดเบียน ดำริด้วยทิฏฐิ กระทบ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบ ย่อมซบเซา ซึมเซา เซื่องซึม หงอยเหงา เหมือนคนกำพร้า คนโง่ คนหลงใหล. นกเค้าคอยดักหนูอยู่ที่กิ่งต้นไม้ ย่อมซบเซา ซึมเซา เซื่องซึม หงอยเหงา ฉันใด สุนัขจิ้งจอกดักจับปลาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ย่อมซบเซา ซึมเซา เซื่องซึม หงอยเหงา ฉันใด

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๑.

แมวคอยดักจับหนูอยู่ในที่ต่อ ที่ท่อน้ำ และที่ฝั่งน้ำมีเปือกตม ย่อมซบเซา ซึมเซา เซื่องซึม หงอยเหงา ฉันใด ลามีแผลที่หลัง ย่อมซบเซา ซึมเซา เซื่องซึม หงอยเหงาอยู่ในที่โขดเขิน ที่มี น้ำและฝั่งมีเปือกตม ฉันใด ภิกษุนั้น ผู้หมุนไปผิด อันความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในความเบียดเบียน ความดำริด้วยทิฏฐิ กระทบ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบ ย่อม ซบเซา ซึมเซา เซื่องซึม หงอยเหงา ฉันนั้น เหมือนคนกำพร้า คนโง่ คนหลงใหล เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นถึงพร้อมด้วยความดำริ ย่อมซบเซา เหมือนคนกำพร้า. [๒๔๕] คำว่า ได้ยินเสียงติเตียนของชนเหล่าอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น มีความว่า ชนเหล่าอื่น คือ อุปัชฌายะบ้าง อาจารย์บ้าง พวกชั้นอุปัชฌายะบ้าง พวกชั้นอาจารย์ บ้าง มิตรบ้าง คนที่เคยเห็นกันบ้าง คนที่เคยคบกันบ้าง คนที่เป็นสหายบ้าง ย่อมตักเตือนว่า ดูกรอาวุโส ไม่ใช่ลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว คือ ข้อที่ท่านได้พระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่เห็นปานนี้ บวชในธรรมวินัยที่พระศาสดาตรัสดีแล้วอย่างนี้ ได้หมู่คณะพระอริยเจ้าเห็นปานนี้แล้ว บอกคืน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขาแล้ว เวียนมาเพื่อความเป็นคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่ง เมถุนธรรมอันเลว ท่านเป็นผู้ไม่มีศรัทธาบ้าง หิริบ้าง โอตตัปปะบ้าง วิริยะบ้าง สติบ้าง ปัญญา บ้าง ในกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนี้ ภิกษุนั้น ได้ยิน ได้ฟัง กำหนด พิจารณา ตรวจตราแล้ว ซึ่ง ถ้อยคำ คำเป็นคลอง คำแสดง คำสั่งสอน ของอุปัชฌายะเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน คือ ขวยเขิน อึดอัด กระดากอาย เสียใจ. คำว่า เป็นผู้เช่นนั้น คือ ภิกษุผู้หมุนไปผิดนั้น ย่อมเป็นผู้เช่นนั้น เป็นผู้เหมือนกันเช่นนั้น เป็นผู้ดำรงอยู่อย่างนั้น เป็นผู้มีประการอย่างนั้น เป็นผู้ชนิดนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ได้ยินเสียงติเตียนของชนเหล่าอื่นแล้ว เป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุนั้น ถึงพร้อมด้วยความดำริ ย่อมซบเซา เหมือนคนกำพร้า ได้ยิน เสียงติเตียนของชนเหล่าอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น. [๒๔๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกวาทะของชนอื่นตักเตือน ย่อมกระทำศาตรา การกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่นั้น เป็นเครื่องผูกพันภิกษุนั้น ภิกษุนั้นย่อมหยั่งลงสู่ ความเป็นผู้พูดเท็จ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๒.

[๒๔๗] คำว่า ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกวาทะของชนอื่นตักเตือน ย่อมกระทำศาตรา มี ความว่า ศัพท์ว่า อถ เป็นบทสนธิ เป็นอุปสรรค เป็นบทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักษร เป็นศัพท์ มีพยัญชนะสละสลวย เป็นลำดับบท. คำว่า ศาตรา ได้แก่ ศาตรา ๓ อย่าง คือ ศาตราทางกาย ๑ ศาตราทางวาจา ๑ ศาตราทางใจ ๑ กายทุจริต ๓ อย่าง เป็นศาตราทางกาย วจีทุจริต ๔ อย่าง เป็น ศาตราทางวาจา มโนทุจริต ๓ อย่าง เป็นศาตราทางใจ. คำว่า ถูกวาทะของชนอื่นตักเตือน คือ ภิกษุนั้น อันอุปัชฌายะบ้าง อาจารย์บ้าง พวกชั้นอุปัชฌายะบ้าง พวกชั้นอาจารย์บ้าง มิตรบ้าง คนที่ เคยเห็นกันบ้าง คนที่เคยคบกันบ้าง คนที่เป็นสหายกันบ้าง ตักเตือนแล้ว ย่อมกล่าวเท็จทั้งรู้ คือ ย่อมกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ายินดียิ่งนักในบรรพชา แต่ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงมารดา ฉะนั้น จึงต้องลาสิกขา ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงบิดา ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงพี่ชายน้องชาย ต้องเลี้ยงพี่สาวน้องสาว ต้องเลี้ยงบุตร ต้องเลี้ยงธิดา ต้องเลี้ยงมิตร ต้องเลี้ยงพวกพ้อง ต้องเลี้ยงญาติ ต้องเลี้ยงคนที่ สืบเชื้อสาย ฉะนั้น จึงต้องลาสิกขา ดังนี้ ชื่อว่าย่อมทำศาตราทางวาจา คือ ย่อมให้ศาตราทางวาจา เกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อม ให้บังเกิด ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ลำดับนั้น ภิกษุนั้น ถูกวาทะของชนอื่นตักเตือนแล้ว ย่อมกระทำศาตรา. [๒๔๘] คำว่า กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่นั้น เป็นเครื่องผูกพันภิกษุนั้น มีความว่า การกล่าวเท็จ ทั้งรู้อยู่นั้น เป็นเครื่องผูกพัน คือ เป็นป่าใหญ่ เป็นป่าชัฏใหญ่ เป็นกันดารใหญ่ เป็นทางไม่เสมอ มาก เป็นทางคดมาก เป็นหล่มมาก เป็นเปือกตมมาก เป็นเครื่องกังวลมาก เป็นเครื่องผูกรัดมาก ของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า การกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่นั้น เป็นเครื่องผูกพันภิกษุนั้น. [๒๔๙] คำว่า ภิกษุนั้นย่อมหยั่งลงสู่ความเป็นผู้พูดเท็จ มีความว่า มุสาวาท เรียกว่า ความเป็นผู้พูดเท็จ. บุคคลบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภาก็ดี อยู่ในที่ประชุมชนก็ดี อยู่ในท่ามกลาง ญาติก็ดี อยู่ในท่ามกลางสมาคมก็ดี อยู่ในท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขานำไปถามเป็นพยานว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใด ก็จงบอกสิ่งนั้น. บุคคลนั้น เมื่อไม่รู้ก็บอกว่ารู้บ้าง เมื่อรู้ก็บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่าไม่เห็นบ้าง ย่อมกล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะ เหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ นี้ เรียกว่า ความเป็นผู้พูดเท็จ. อีกอย่างหนึ่ง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๓ คือ ในเบื้องต้น บุคคลนั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๓.

ก็มีความรู้ว่า เราจักพูดเท็จ เมื่อพูดอยู่ก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ เมื่อพูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๓ นี้. อนึ่ง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๔ ย่อมมีด้วยอาการ ๕ ย่อมมี ด้วยอาการ ๖ ย่อมมีด้วยอาการ ๗ ย่อมมีด้วยอาการ ๘ คือ ในเบื้องต้น บุคคลนั้นก็มีความรู้ว่า เราจักพูดเท็จ เมื่อพูดอยู่ก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ เมื่อพูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว ปิดบังซึ่งทิฏฐิ ความควร ความชอบใจ ความสำคัญ ความจริง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๘ นี้. คำว่า ย่อมหยั่งลง สู่ความเป็นผู้พูดเท็จ คือ ย่อมหยั่งลง ก้าวลง ยึดถือ เข้าไปสู่ความเป็นผู้พูดเท็จ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมหยั่งลงสู่ความเป็นผู้พูดเท็จ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ลำดับนั้น ภิกษุนั้น ถูกวาทะของชนอื่นตักเตือนแล้ว ย่อมกระทำศาตรา การกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่นั้น เป็นเครื่องผูกพันภิกษุนั้น ภิกษุนั้นย่อมหยั่งลง สู่ความเป็นผู้พูดเท็จ. [๒๕๐] ภิกษุเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นบัณฑิต อธิษฐานความประพฤติผู้เดียว แม้ภายหลังประกอบในเมถุนธรรม จักเศร้าหมอง เหมือนคนโง่ ฉะนั้น.
ว่าด้วยต้นตรงปลายคด
[๒๕๑] คำว่า ภิกษุเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นบัณฑิต มีความว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อันชนทั้งหลายสรรเสริญเกียรติคุณว่า เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณดี ทรงจำพระสูตรบ้าง ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง ฯลฯ เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง ในกาลก่อน คือ ในคราวเป็นสมณะ เป็นผู้อันประชุม ชนรู้ หมายรู้ เลื่องลือกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นบัณฑิต. [๒๕๒] คำว่า อธิษฐานความประพฤติผู้เดียว มีความว่า อธิษฐานความประพฤติ ผู้เดียวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยส่วนบรรพชา ๑ ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่ ๑. อธิษฐานความประพฤติผู้เดียวด้วยส่วนบรรพชาอย่างไร? ภิกษุตัดกังวลในฆราวาสทั้งหมด ฯลฯ อธิษฐานความประพฤติผู้เดียวด้วยส่วนบรรพชาอย่างนี้. อธิษฐานความประพฤติผู้เดียวด้วยการละ ความคลุกคลีด้วยหมู่อย่างไร? ภิกษุนั้นบวชแล้วอย่างนั้น เป็นผู้เดียว ซ่องเสพเสนาสนะเป็นป่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๔.

ละเมาะ และป่าทึบอันสงัด ฯลฯ อธิษฐานความประพฤติผู้เดียวด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อธิษฐานความประพฤติผู้เดียว. [๒๕๓] คำว่า แม้ภายหลังประกอบในเมถุนธรรม มีความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรม ได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คำว่า แม้ภายหลังประกอบใน เมถุนธรรม คือ สมัยต่อมา ภิกษุนั้นบอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขาแล้ว เวียนมาเป็นคฤหัสถ์ ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบด้วยความเอื้อเฟื้อ ประกอบด้วยดี ในเมถุนธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้ภายหลังประกอบในเมถุนธรรม.
ว่าด้วยการลงโทษ
[๒๕๔] คำว่า จักเศร้าหมอง เหมือนคนโง่ ฉะนั้น มีความว่า บุคคลนั้นจักลำบาก จักเศร้าหมอง มัวหมอง เหมือนคนกำพร้า เหมือนคนหลงใหล ฉะนั้น คือ ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดที่ต่อบ้าง ปล้นโดยไม่เหลือบ้าง ปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นที่หนทาง เปลี่ยวบ้าง คบหาภรรยาของผู้อื่นบ้าง กล่าวเท็จบ้าง จักลำบาก จักเศร้าหมอง มัวหมอง แม้อย่างนี้. พระราชารับสั่งให้จับกุมบุคคลนั้นแล้วให้ทำกรรมกรณ์ต่างๆ ๑- คือ ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตี ด้วยไม้พลองบ้าง ให้ตัดมือบ้าง ให้ตัดเท้าบ้าง ให้ตัดมือและเท้าบ้าง ให้ตัดใบหูบ้าง ให้ตัด จมูกบ้าง ให้ตัดใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะออกแล้วขัด ให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง ใส่ไฟลุกโพลงเข้าไปในปากจนโลหิตไหลออกเต็มปากเหมือนปากราหูบ้าง พันตัวด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็นบ้าง พันมือด้วยผ้าจุดไฟให้ลุกเหมือนประทีปบ้าง ถลกหนัง ตั้งแต่คอลงมาข้อเท้าลุกเดินเหยียบหนังนั้นจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอลงมาถึงบั้นเอวทำ ให้เป็นดังนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าทั้งหมดแล้วเสียบหลาวเหล็ก ๕ ทิศ ตั้งไว้เผาไฟบ้าง เอาเบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เอามีดเฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ ดัง เหรียญกระษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็นออกเหลือแต่กระดูกบ้าง เอาหลาวเหล็กแทงที่ช่องหูจน ทะลุถึงกันเสียบติดดินแล้วจับขาหมุนไปโดยรอบบ้าง ทุบให้กระดูกละเอียดแล้วถลกหนังออก เหลือแต่กองเนื้อดังตั่งใบไม้บ้าง เอาน้ำมันเดือดพล่านรดตัวบ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่ @๑. ต่อไปนี้คือกรรมกรณ์ ๓๒ แต่นับได้เพียง ๒๖

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๕.

กระดูกบ้าง เสียบหลาวยกขึ้นนอนหงายทั้งเป็นบ้าง เอาดาบตัดศีรษะบ้าง บุคคลนั้นจักลำบาก จักเศร้าหมอง มัวหมองแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง บุคคลนั้น ถูกกามตัณหาครอบงำแล้ว มี จิตอันกามตัณหาตรึงไว้แล้ว เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ย่อม แล่นไปสู่มหาสมุทรด้วยเรือ ฝ่าหนาว ฝ่าร้อน ถูกสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานเบียดเบียน ถูกความหิว กระหายเบียดเบียนอยู่ ไปคุมพรัฐ ไปตักโกลรัฐ ไปตักกสิลรัฐ ไปกาลมุขรัฐ ไปมรณปารรัฐ ไปเวสุงครัฐ ไปเวราปถรัฐ ไปชวรัฐ ไปกมลิรัฐ ไปวังกรัฐ ไปเอฬวัทนรัฐ ไปสุวัณณกูฏรัฐ ไปสุวัณณภูมิรัฐ ไปตัมพปัณณิรัฐ ไปสุปปารรัฐ ไปภรุกรัฐ ไปสุรัทธรัฐ ไปอังคเณกรัฐ ไปคังคณรัฐ ไปปรมคังคณรัฐ ไปโยนรัฐ ไปปีนรัฐ ไปอัลลสันทรัฐ ไปมรุกันตารรัฐ ๑- เดินทางที่ต้องไปด้วยเข่า เดินทางที่ต้องไปด้วยแพะ เดินทางที่ต้องไปด้วยแกะ เดินทางที่ต้อง โหนไปด้วยเชือกและหลัก เดินทางที่ต้องโดดลงด้วยร่มหนังแล้วจึงเดินไปได้ เดินทางที่ต้องไป ด้วยพะองไม้ไผ่ เดินทางตามทางนก เดินทางตามทางหนู เดินทางตามทางซอกภูเขา เดินทาง ตามลำธารที่ต้องไต่ไปตามเส้นหวาย ๒- จักลำบาก จักเศร้าหมอง มัวหมองแม้อย่างนี้. เมื่อ แสวงหาไม่ได้ ย่อมเสวยทุกข์และโทมนัสแม้มีความไม่ได้เป็นมูล จักลำบาก จักเศร้าหมอง มัวหมองแม้อย่างนี้. เมื่อแสวงหาได้ ครั้นได้แล้วก็เสวยทุกข์และโทมนัสแม้มีความรักษาเป็นมูล ด้วยวิตกอยู่ว่า ด้วยอุบายอะไรหนอ พระราชาจึงจะไม่ริบโภคทรัพย์ของเรา พวกโจรจะไม่ลักไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดไป พวกทายาทอัปรีย์จะไม่ขนเอาไป เมื่อรักษาปกครองอย่างนี้ โภคทรัพย์ย่อมสลายไป บุคคลนั้นก็เสวยทุกข์และโทมนัสแม้มีความสลายไปแห่งทรัพย์เป็นมูล จักลำบาก จักเศร้าหมอง มัวหมองแม้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จักเศร้าหมอง เหมือน คนโง่ ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นบัณฑิต อธิษฐานความประพฤติผู้เดียว แม้ภาย หลังประกอบในเมถุนธรรม จักเศร้าหมองเหมือนคนโง่ ฉะนั้น. [๒๕๕] มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความเป็นสมณะก่อนใน ธรรมวินัยนี้ พึงทำความเป็นผู้ประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง ไม่พึงเสพเมถุน ธรรม. @๑. รวม ๒๔ รัฐตามอรรถกถา ๒. ทางเดินลำบาก ๑๐ ทาง.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๖.

ว่าด้วยปฏิปทาของมุนี
[๒๕๖] คำว่า มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความเป็นสมณะก่อนใน ธรรมวินัยนี้ มีความว่า คำว่า นั้น คือ มุนี ทราบ รู้ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้ แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นแจ้ง ซึ่งสมบัติและวิบัตินั้น คือ ยศและเกียรติในกาลก่อน คือ ในคราว เป็นสมณะ ย่อมกลายเป็นความเสื่อมยศและเสื่อมเกียรติ ของภิกษุผู้บอกคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขาแล้ว เวียนมาเป็นคฤหัสถ์ในภายหลัง. คำว่า มุนี มีความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหา เพียงดังข่าย ดำรงอยู่ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี. คำว่า ในธรรม วินัยนี้ คือ ในลัทธิ ในความควร ในความชอบใจ ในเขตแดน ในธรรม ในวินัย ใน ธรรมวินัย ในปาพจน์ ในพรหมจรรย์ ในสัตถุศาสน์ ในอัตภาพ ในมนุษยโลกนี้ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความเป็นสมณะก่อนในธรรม วินัยนี้. [๒๕๗] คำว่า พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง มีความว่า พึงทำความประพฤติ ผู้เดียวให้มั่นคง ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยส่วนบรรพชา ๑ ด้วยการละความคลุกคลีด้วย หมู่ ๑. พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคงด้วยส่วนบรรพชาอย่างไร? มุนีตัดกังวลใน ฆราวาสทั้งหมด ตัดกังวลในบุตรและภรรยา ตัดกังวลในญาติ ตัดกังวลในมิตรและพวกพ้อง ตัดกังวลในความสั่งสมแล้ว ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต แล้ว เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีกังวล พึงเป็นผู้เดียวประพฤติ คือ อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา เป็นไป ยังอัตภาพให้เป็นไป มุนีพึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคงด้วยบรรพชา อย่างนี้. พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่อย่างไร? มุนีนั้น บวชแล้วอย่างนั้น พึงเป็นผู้เดียวซ่องเสพเสนาสนะเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบอันสงัด มีเสียง น้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๗.

สมควรแก่วิเวก มุนีนั้น พึงเดินผู้เดียว พึงยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อ บิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวประพฤติ คือ อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา เป็นไป ยังอัตภาพให้เป็นไป มุนีพึงทำความ ประพฤติผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่อย่างนี้. มุนีพึงทำความประพฤติผู้เดียว ให้มั่นคงถาวร มีการสมาทานมั่นคง มีการสมาทานตั้งลงในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง. [๒๕๘] คำว่า ไม่พึงเสพเมถุนธรรม มีความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรม ได้แก่ ธรรมของ อสัตบุรุษ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม ไม่พึงเสพ ไม่พึงซ่องเสพ ไม่พึงร่วม ไม่พึงเสพเฉพาะซึ่งเมถุนธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงเสพเมถุนธรรม. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความเป็นสมณะก่อนใน ธรรมวินัยนี้ พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง ไม่พึงเสพเมถุน ธรรม. [๒๕๙] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว เพราะความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอัน สูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย บุคคลไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ ประเสริฐด้วยความประพฤติวิเวกนั้น บุคคลนั้นแล ย่อมปฏิบัติในที่ใกล้ นิพพาน. [๒๖๐] คำว่า บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว มีความว่า วิเวก ได้แก่ วิเวก ๓ อย่าง คือ กายวิเวก ๑ จิตตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑ กายวิเวก เป็นไฉน ฯลฯ นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก ก็กายวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตตวิเวกย่อมมีแก่บุคคล ผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง อุปธิวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้หมดอุปธิ ถึง ซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร. คำว่า ศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ อย่าง คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตต- *สิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า อธิปัญญาสิกขา. คำว่า บุคคลพึงศึกษาวิเวก นั่นเทียว คือ พึงศึกษา พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ พึงประพฤติด้วยดี พึงสมาทานประพฤติวิเวก นั่นเทียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๘.

[๒๖๑] คำว่า ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีความว่า พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า เรียกว่า พระอริยเจ้า ทั้งหลาย ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุด ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. [๒๖๒] คำว่า บุคคลไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐด้วยความประพฤติวิเวกนั้น มีความว่า บุคคลไม่พึงทำความกำเริบขึ้น ไม่พึงทำความยกตน ไม่พึงทำความถือตัว ไม่พึงทำ ความกระด้าง ด้วยความประพฤติวิเวกนั้น คือ ไม่ยังความถือตัวให้เกิด ไม่พึงทำความผูกพัน ด้วยความประพฤติวิเวกนั้น ไม่พึงเป็นผู้กระด้าง เย่อหยิ่ง หัวสูง ด้วยความประพฤติวิเวกนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยความประพฤติวิเวกนั้น. [๒๖๓] คำว่า บุคคลนั้นแล ย่อมปฏิบัติในที่ใกล้นิพพาน มีความว่า บุคคลนั้น ย่อมปฏิบัติในที่ใกล้ ในที่ใกล้รอบ ในที่ใกล้เคียง ไม่ห่างไกล ในที่ใกล้ชิด ต่อนิพพาน เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลนั้นแล ย่อมปฏิบัติในที่ใกล้นิพพาน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว เพราะความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอัน สูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย บุคคลไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ ประเสริฐด้วยความประพฤติวิเวกนั้น บุคคลนั้นแล ย่อมปฏิบัติในที่ ใกล้นิพพาน. [๒๖๔] หมู่สัตว์ผู้ยินดีในกามทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อมุนีผู้ประพฤติว่าง ไม่มี อาลัยในกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว. [๒๖๕] คำว่า ต่อมุนีผู้ประพฤติว่าง มีความว่าง ว่า คือ ผู้ว่าง ผู้เปล่า สงัดจาก กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔๙.

กระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. คำว่า มุนี มีความว่า ญาณ เรียกว่าโมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง และ ตัณหาเพียงดังข่าย ดำรงอยู่ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี. คำว่า ผู้ประพฤติ คือ ผู้เที่ยวไป อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา เป็นไป ยังอัตภาพให้เป็นไป เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ต่อมุนีผู้ประพฤติว่าง. [๒๖๖] คำว่า ไม่มีอาลัยในกามทั้งหลาย มีความว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดย หัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ ฯลฯ นี้เรียกว่าวัตถุ ฯลฯ นี้เรียกว่ากิเลสกาม มุนีกำหนดรู้ วัตถุกาม ละ เว้น บรรเทา ทำให้สิ้น ให้ถึงความไม่มีซึ่งกิเลสกาม ชื่อว่าไม่มีอาลัยในกาม ทั้งหลาย คือ สละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนกามเสียแล้ว สละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืน ราคะเสียแล้ว เป็นผู้หมดตัณหา ดับแล้ว เย็นแล้ว เสวยพร้อมเฉพาะซึ่งความสุข มีตนเป็นผู้ ประเสริฐอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่มีอาลัยในกามทั้งหลาย. [๒๖๗] คำว่า หมู่สัตว์ผู้ยินดีในกามคุณทั้งหลายย่อมรักใคร่ ... ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว มี ความว่า ปชา เป็นชื่อของสัตว์. หมู่สัตว์ผู้กำหนัด ปรารถนา ยินดี ติดใจ ลุ่มหลง ข้อง เกี่ยว พัวพันในกามทั้งหลาย หมู่สัตว์เหล่านั้นย่อมอยากได้ ยินดี ปรารถนา รักใคร่ ชอบใจ ต่อมุนี ผู้ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย เป็นไปล่วง ซึ่งกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ และทางแห่งสงสารทั้งปวงแล้ว ผู้ไปสู่ฝั่งถึงฝั่งแล้ว ไปสู่ส่วนสุดถึงส่วนสุดแล้ว ไปสู่ที่สุดถึงที่สุดแล้ว ไปสู่ส่วนสุดรอบถึงส่วนสุดรอบแล้ว ไปสู่ที่จบถึงที่จบแล้ว ไปสู่ที่ต้าน ทานถึงที่ต้านทานแล้ว ไปสู่ที่ลี้ลับถึงที่ลี้ลับแล้ว ไปสู่ที่พึ่งถึงที่พึ่งแล้ว ไปสู่ที่ไม่มีภัยถึงที่ไม่ มีภัยแล้ว ไปสู่ที่ไม่เคลื่อนถึงที่ไม่เคลื่อนแล้ว ไปสู่อมตะถึงอมตะแล้ว ไปสู่นิพพานถึงนิพพาน แล้ว. พวกลูกหนี้ย่อมปรารถนารักใคร่ความเป็นผู้หมดหนี้ ฉันใด พวกที่ป่วยไข้ย่อมปรารถนา รักใคร่ความเป็นผู้หายโรค ฉันใด พวกที่ติดอยู่ในเรือนจำ ย่อมปรารถนารักใคร่ความพ้นจาก เรือนจำ ฉันใด พวกที่เป็นทาส ย่อมปรารถนารักใคร่ความเป็นไท ฉันใด พวกที่เดินทางกันดาร ย่อมปรารถนารักใคร่ภาคพื้นที่เกษม ฉันใด หมู่สัตว์ผู้กำหนัด ปรารถนายินดี ติดใจ ลุ่มหลุ่ง ข้อง เกี่ยว พัวพันในกามทั้งหลาย หมู่สัตว์นั้นย่อมอยากได้ ยินดี ปรารถนารักใคร่ ชอบใจ ต่อมุนีผู้ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย เป็นไปล่วง ซึ่งกามโอฆะ ภวโอฆะ ฯลฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๕๐.

ไปสู่นิพพาน ถึงนิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หมู่สัตว์ผู้ยินดีในกาม ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ ... ผู้ข้ามโอฆะแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หมู่สัตว์ผู้ยินดีในกามทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อมุนีผู้ประพฤติว่าง ไม่มี อาลัยในกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้วดังนี้.
จบ ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ ๗.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๓๐๘๔-๓๕๖๗ หน้าที่ ๑๓๐ - ๑๕๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=3084&Z=3567&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=229&book=29&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=7              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=224              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=29&A=3333              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=29&A=3333              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]