ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑
เรื่องภิกษุผู้ประพฤติตามพระเทวทัตต์
[๖๐๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น พระเทวทัตต์ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักร ภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้ว่า พระเทวทัตต์พูดไม่ถูก ธรรม พูดไม่ถูกวินัย ไฉน พระเทวทัตต์จึงได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้าม ในพุทธจักรเล่า. เมื่อภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้แล้ว พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกะติสสกะ พระขัณฑเทวี. บุตร และพระสมุททัตต์ ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้พูดอย่างนั้น พระ- *เทวทัตต์พูดถูกธรรม พูดถูกวินัย ก็พระเทวทัตต์กล่าวคล้อยตามความพอใจและความเห็นชอบ ของพวกเรา พระเทวทัตต์ทราบความพอใจ และความเห็นชอบของพวกเราจึงกล่าว คำนั้นย่อม ควรแม้แก่พวกเรา. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างพา กันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงได้ประพฤติตาม พูดสนับสนุนพระเทวทัตต์ ผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์เล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า มีพวกภิกษุประพฤติ ตามผู้พูดสนับสนุนเทวทัตต์ผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษ เหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน ภิกษุ โมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้ประพฤติตาม พูดสนับสนุนพระเทวทัตต์ผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์เล่า การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น นั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวก ที่เลื่อมใสแล้ว. ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพวกภิกษุผู้ประพฤติตามผู้พูดสนับสนุนพระเทวทัตต์ โดย อเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคน มักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว ทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตาม พระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๕. ๑๑. อนึ่ง มีภิกษุผู้ประพฤติตาม ผู้พูดเข้ากันของภิกษุนั้นแล ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวคำ อะไรๆ ต่อภิกษุนั่น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมด้วย ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัยด้วย ภิกษุนั่น ถือเอาความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้ากล่าวด้วย เธอทราบความพอใจ และความชอบใจของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอกล่าวนั่น ย่อมควรแม้แก่พวก ข้าพเจ้า ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้ กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกธรรมไม่ด้วย ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกวินัยไม่ ด้วย ความทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบแม้แก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ ผาสุก แลภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรม นั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย- *สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส.
เรื่องภิกษุผู้ประพฤติตามพระเทวทัตต์ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๖๐๑] บทว่า อนึ่ง ... ของภิกษุนั้นแล คือภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น. บทว่า มีภิกษุทั้งหลาย คือมีภิกษุเหล่าอื่น บทว่า ผู้ประพฤติตาม ความว่า ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์เห็นอย่างไร ชอบอย่างไร พอใจ อย่างไร แม้ภิกษุเหล่านั้นก็เห็นอย่างนั้น ชอบอย่างนั้น พอใจอย่างนั้น. บทว่า ผู้พูดเข้ากัน คือผู้ดำรงอยู่ในพวกในฝ่ายของภิกษุนั้น. คำว่า ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ความว่า มีภิกษุ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูป บ้าง ภิกษุเหล่านั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวคำอะไรๆ ต่อภิกษุนั่น ภิกษุนั่น กล่าวถูกธรรมด้วย ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัยด้วย แลภิกษุนั่นกล่าวคล้อยตามความพอใจและความเห็น ชอบของพวกข้าพเจ้า เธอทราบความพอใจและความเห็นชอบของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอ กล่าวนั้น ย่อมควรแม้แก่พวกข้าพเจ้า. [๖๐๒] บทว่า ภิกษุเหล่านั้น ได้แก่ภิกษุผู้ประพฤติตามเหล่านั้น. บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเห็นอยู่ ภิกษุ เหล่าใดได้ยินอยู่ ภิกษุเหล่านั้นควรว่ากล่าวภิกษุผู้ประพฤติตามเหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าได้กล่าว อย่างนั้น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมก็หาไม่ ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัยก็หาไม่ ความทำลายสงฆ์อย่าได้ ชอบใจแม้แก่พวกท่าน ขอใจของพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันมีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก พึงกล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงกล่าวแม้ ครั้งที่สาม หากภิกษุเหล่านั้นสละเสียได้ สละได้อย่างนี้นั่น เป็นการดี หากภิกษุเหล่านั้นไม่สละ เสีย ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายทราบแล้ว ไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุ ทั้งหลายพึงคุมตัวมาแม้สู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วพึงว่ากล่าวว่าพวกท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่น กล่าวถูกธรรมก็หาไม่ ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัยก็หาไม่ ความทำลายสงฆ์อย่าได้พอใจแม้แก่พวกท่าน ขอใจของพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกันไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก พึงกล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงกล่าวแม้ครั้งที่สาม หากภิกษุเหล่านั้น สละเสียได้ สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากภิกษุเหล่านั้น ไม่สละเสียต้องอาบัติทุกกฏ.
วิธีสวดสมนุภาสน์
[๖๐๓] ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์ พึงสวดสมนุภาสน์อย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เป็นผู้ประพฤติตาม เป็นผู้พูดเข้ากัน ของภิกษุผู้มีชื่อนี้ ซึ่งเป็นผู้ตะเกียกตะกายเพื่อ ทำลายสงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เป็นผู้ประพฤติตาม เป็นผู้พูดเข้ากัน ของภิกษุผู้มีชื่อนี้ ซึ่งเป็นผู้ตะเกียกตะกายเพื่อ ทำลายสงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อ นี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย การสวดสมนุภาสน์ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อ นี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้นี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็น ผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุ ทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เป็นผู้ประพฤติตาม เป็นผู้พูดเข้ากัน ของภิกษุ ผู้มีชื่อนี้ ซึ่งเป็นผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วยเพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย การ สวดสมนุภาสน์ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุ ทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เป็นผู้ประพฤติตาม เป็นผู้พูดเข้ากัน ของภิกษุ ผู้มีชื่อนี้ ซึ่งเป็นผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย การสวดสมนุภาสน์ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. [๖๐๔] จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฏเพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสอง ครั้ง ย่อมระงับ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์คราวหนึ่งต่อภิกษุ ๒ รูป ๓ รูปได้ ไม่ควรสวดสมนุภาสน์ ในคราวหนึ่งยิ่งกว่านั้น บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัต เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกันมากมาย ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของอาบัตินิกาย นั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.
บทภาชนีย์
[๖๐๕] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
[๖๐๖] ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ ๑ ภิกษุผู้สละเสียได้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุผู้มี- *จิตฟุ้งซ่าน ๑ ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘๖๐๔ - ๑๘๗๓๔. หน้าที่ ๗๑๗ - ๗๒๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=18604&Z=18734&pagebreak=0              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=54              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=600              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=1&A=8011              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=1&A=8011              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]