พราหมณสังยุตต์
อรหันตวรรคที่ ๑
ธนัญชานีสูตรที่ ๑
[๖๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่
พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ก็โดยสมัยนั้นแล นางพราหมณีชื่อธนัญชานีแห่งพราหมณ์ ผู้ภารทวาช
โคตรคนหนึ่ง เป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ฯ
[๖๒๗] ครั้งนั้นแล นางธนัญชานีพราหมณี กำลังนำภัตเข้าไปเพื่อ
พราหมณ์ภารทวาชโคตร ก้าวเท้าพลาดจึงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ... ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ
เมื่อนางธนัญชานีพราหมณีกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้
กล่าวกะนางธนัญชานีพราหมณีว่า ก็หญิงถ่อยนี้กล่าวคุณของสมณะโล้นอย่างนี้
อย่างนี้ ไม่ว่าที่ไหนๆ แน่ะหญิงถ่อย บัดนี้ เราจักยกวาทะต่อพระศาสดานั้น
ของเจ้า ฯ
นางธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า พราหมณ์ ฉันยังไม่เห็นบุคคลผู้จะพึงยก
ถ้อยคำต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นในโลก พร้อมด้วย
เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมด้วยสมณพราหมณ์เทวดาและ
มนุษย์ ข้าแต่พราหมณ์ เอาเถิด ท่านจงไป แม้ไปแล้วก็จักรู้ ฯ
[๖๒๘] ลำดับนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธขัดใจ เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว
นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พราหมณ์ภารทวาชโคตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะ
พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลฆ่าอะไรได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ ย่อมไม่
เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่าธรรม
อะไรเป็นธรรมอันเอก ฯ
[๖๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลฆ่าความโกรธได้
ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกร
พราหมณ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความ
โกรธ อันมีมูลเป็นพิษ มีที่สุดอันคืนคลาย เพราะว่าบุคคลฆ่า
ความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ฯ
[๖๓๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรง
ประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุ
ย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรมและ
พระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนัก
ของพระโคดมผู้เจริญ ฯ
พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มี
พระภาค ก็ท่านพระภารทวาชอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียวไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอด
เยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึง
อยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระภารทวาชได้เป็นพระอรหันต์
รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๕๑๓๖-๕๑๘๔. หน้าที่ ๒๒๒-๒๒๔.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=5136&Z=5184&pagebreak=0
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=187
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=626
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=15&A=4575
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=15&A=4575
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕
http://84000.org/tipitaka/read/?index_15
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
บันทึกล่าสุด ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com