ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
อนิยตกัณฑ์
ท่านทั้งหลาย อนึ่ง ธรรมคืออนิยต ๒ สิกขาบทเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ.
อนิยต สิกขาบทที่ ๑
เรื่องพระอุทายีกับนางวิสาขา มิคารมาตา
[๖๓๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นท่านพระอุทายีเป็นพระประจำสกุลในพระนครสาวัตถี เข้าไปหาสกุลเป็นอันมาก สมัยนั้น สาวน้อยแห่งสกุลอุปัฏฐากของท่านพระอุทายี เป็นสตรีที่ มารดาบิดายกให้แก่หนุ่มน้อยของสกุลหนึ่ง ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอุทายีครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปหาสกุลนั้น ครั้นแล้วจึงไต่ถามพวกชาวบ้านว่า สาวน้อยผู้มีชื่อนี้อยู่ไหน พวกชาวบ้านตอบอย่างนี้ว่า พวกข้าพเจ้าได้ยกให้แก่หนุ่มน้อยของสกุลโน้นแล้ว เจ้าข้า แม้สกุลนั้นแล ก็เป็นอุปัฏฐากของท่านพระอุทายี จึงท่านพระอุทายีเข้าไปหาสกุลนั้น ครั้นแล้วจึงถามพวกชาวบ้านว่า สตรีผู้มีชื่อนี้ อยู่ไหน? พวกชาวบ้านตอบว่า นางนั่งอยู่ในห้อง เจ้าข้า จึงท่านพระอุทายีเข้าไปหาสาวน้อยนั้น ครั้นแล้วสำเร็จการนั่งในที่ลับคือในอาสนะกำบัง ซึ่งพอจะทำการได้กับสาวน้อยนั้น หนึ่งต่อหนึ่ง เจรจากล่าวธรรมอยู่ ควรแก่เวลา. [๖๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล นางวิสาขา มิคารมาตา เป็นสตรีมีบุตรมาก มีนัดดามาก มีบุตรไม่มีโรค มีนัดดาไม่มีโรค ซึ่งโลกสมมติว่าเป็นมิ่งมงคล พวกชาวบ้านเชิญนางไปให้ รับประทานอาหารก่อนในงานบำเพ็ญกุศล งานมงคล งานมหรสพ ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตา ได้ถูกเชิญไปสู่สกุลนั้น นางได้เห็นพระอุทายี นั่งในที่ลับคือในอาสนะกำบัง ซึ่ง พอจะทำการได้กับหญิงสาวนั้น หนึ่งต่อหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอุทายีว่า ข้าแต่ พระคุณเจ้า การที่พระคุณเจ้าสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง ซึ่งพอจะทำการได้กับ มาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่งเช่นนี้ ไม่เหมาะ ไม่ควร แม้พระคุณเจ้าจะไม่ต้องการด้วยธรรมนั้น ก็จริง ถึงอย่างนั้น พวกชาวบ้านผู้ที่ไม่เลื่อมใส จะบอกให้เชื่อได้โดยยาก ท่านพระอุทายี แม้ถูกนางวิสาขา มิคารมาตา ว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ก็มิได้เชื่อฟัง เมื่อนางวิสาขา มิคารมาตา กลับไปแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายีจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง ซึ่งพอจะทำการได้กับมาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้น แด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่า เธอสำเร็จการนั่ง ในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง ซึ่งพอจะทำการได้กับมาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่ง จริงหรือ? ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธอจึงได้ สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง ซึ่งพอจะทำการได้กับมาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่งเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความ เลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุทายีโดยอเนกปริยาย ดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่ง ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้วทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อ ข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๙๒๑๙-๑๙๒๗๒ หน้าที่ ๗๔๑-๗๔๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=19219&Z=19272&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=58              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=631              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [633-634] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=1&item=633&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3136              The Pali Tipitaka in Roman :- [633-634] https://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=1&item=633&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3136              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ay1/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :