บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๖. อาเนญชสัปปายสูตร (๑๐๖) [๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมชื่อกัมมาสธรรม ของชาวกุรุ ในแคว้นกุรุ สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ [๘๑] พระมีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามไม่เที่ยง เป็น ของว่างเปล่า เลือนหายไปเป็นธรรมดา ลักษณะของกามดังนี้ ได้ทำความล่อลวง เป็นที่บ่นถึงของคนพาล กามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และกามสัญญา ทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นบ่วงแห่งมาร เป็นแดนแห่ง มาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นที่หากินของมาร ในกามนี้ ย่อมมีอกุศลลามกเหล่านี้ เกิดที่ใจคือ อภิชฌาบ้าง พยาบาทบ้าง สารัมภะบ้าง เป็นไป กามนั่นเอง ย่อม เกิดเพื่อเป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ตามศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้ ฯ [๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นในเรื่องกามนั้น ดังนี้ว่า กามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้ง ที่มีในภพหน้า ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นบ่วงแห่งมาร เป็นแดนแห่งมาร เป็นเหยื่อ แห่งมาร เป็นที่หากินของมาร ในกามนี้ ย่อมมีอกุศลลามกเหล่านี้เกิดที่ใจ คืออภิชฌาบ้าง พยาบาทบ้าง สารัมภะบ้าง เป็นไป กามนั่นเอง ย่อมเกิดเพื่อ เป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ตามศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้ ไฉนหนอ เราพึงมี จิตเป็นมหัคคตะอย่างไพบูลย์ อธิษฐานใจครอบโลกอยู่ เพราะเมื่อเรามีจิตเป็น มหัคคตะอย่างไพบูลย์ อธิษฐานใจครอบโลกอยู่ อกุศลลามกเกิดที่ใจ ได้แก่ อภิชฌาบ้าง พยาบาทบ้าง สารัมภะบ้าง นั้นจักไม่มี เพราะละอกุศลเหล่านั้นได้ จิตของเราที่ไม่เล็กน้อยนั่นแหละ จักกลายเป็นจิตหาประมาณมิได้ อันเราอบรม ดีแล้ว เมื่ออริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อม ผ่องใสในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าถึงอาเนญชสมาบัติ หรือจะน้อมใจ ไปในปัญญาได้ ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณอันจะเป็นไปในภพนั้นๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงสภาพหาความหวั่นไหวมิได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติเป็นที่สบายข้อที่ ๑ ฯ [๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อริยสาวกพิจารณาเห็น ดังนี้ซึ่งกามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่ มีในภพหน้า ซึ่งรูปบางชนิดและรูปทั้งหมด คือ มหาภูต ๔ และรูปอาศัยมหาภูต ทั้ง ๔ เมื่ออริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ด้วยประการนี้ เป็นผู้มากด้วยปฏิปทา นั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใสในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าถึงอาเนญชสมาบัติ หรือจะน้อมใจไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณอันจะเป็นไป ในภพนั้นๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงสภาพหาความหวั่นไหวมิได้ นั่นเป็นฐานะที่ มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติเป็นที่สบายข้อ ที่ ๒ ฯ [๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า กามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้าและกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า รูปทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และรูปสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ควร ยินดี ไม่ควรบ่นถึง ไม่ควรติดใจ เมื่ออริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ มากด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใสในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าถึง อาเนญชสมาบัติ หรือจะน้อมใจไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่ วิญญาณอันจะเป็นไปในภพนั้นๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงสภาพหาความหวั่นไหว มิได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติ เป็นที่สบายข้อที่ ๓ ฯ [๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า กามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า รูปทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และรูปสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และอาเนญชสัญญา สัญญาทั้งหมดนี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ใด ที่นั้นคืออากิญจัญญายตนะ อันดี ประณีต เมื่ออริยสาวกปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ มากด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใสในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ หรือจะน้อมใจไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่ วิญญาณอันจะเป็นไปในภพนั้นๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงภพอากิญจัญญายตนะ นั่น เป็นฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอากิญจัญญายตน- *สมาบัติเป็นที่สบายข้อที่ ๑ ฯ [๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อริยสาวกอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า สิ่งนี้ว่างเปล่าจากตน หรือจากความเป็นของตน เมื่ออริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วย ปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใสในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าถึงอากิญ- *จัญญายตนะ หรือจะน้อมใจไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณ อันจะเป็นไปในภพนั้นๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงภพอากิญจัญญายตนะ นั่นเป็น ฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นที่สบายข้อที่ ๒ ฯ [๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า เราไม่มีในที่ไหนๆ สิ่งน้อยหนึ่งของใครๆ หามีในเรานั้นไม่ และ สิ่งน้อยหนึ่งของเราก็หามีในที่ไหนๆ ไม่ ในใครๆ ย่อมไม่มีสิ่งน้อยหนึ่งเลย เมื่ออริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใส ในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ หรือจะน้อมใจ ไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณอันจะเป็นไปในภพนั้นๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงภพอากิญจัญญายตนะ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบายข้อที่ ๓ ฯ [๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า กามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และกามสัญญา ทั้งที่มีใน ภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า รูปทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และรูปสัญญา ทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และอาเนญชสัญญา อากิญจัญญายตนสัญญา สัญญาทั้งหมดนี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ใด ที่นั่นคือเนวสัญญานาสัญญายตนะอันดี ประณีต เมื่ออริยสาวกปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อม ผ่องใสในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ หรือ จะน้อมใจไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณอันจะเป็นไปใน ภพนั้นๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงภพเนวสัญญานาสัญญายตนะ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเป็น ที่สบาย ฯ [๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติ แล้วอย่างนี้ ย่อมได้อุเบกขาโดยเฉพาะด้วยคิดว่า สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา และ จักไม่มีแก่เรา เราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่ และมีมาแล้วนั้นๆ เสีย ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภิกษุนั้นพึงปรินิพพานหรือหนอ หรือว่าไม่พึงปรินิพพาน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุบางรูปพึงปรินิพพานในอัตภาพ นี้ก็มี บางรูปไม่พึงปรินิพพานในอัตภาพนี้ก็มี ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ภิกษุ บางรูปปรินิพพานในอัตภาพนี้ก็มี บางรูปไม่ปรินิพพานในอัตภาพนี้ก็มี ฯ [๙๐] พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อมได้อุเบกขาโดยเฉพาะด้วยคิดว่า สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา และจักไม่มีแก่เรา เราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่ และมีมาแล้วนั้นๆ เสีย เธอยินดี บ่นถึง ติดใจอุเบกขา นั้นอยู่ เมื่อเธอยินดี บ่นถึง ติดใจอุเบกขานั้นอยู่ วิญญาณย่อมเป็นอันอาศัย อุเบกขานั้น ยึดมั่นอุเบกขานั้น ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีความยึดมั่นอยู่ ย่อมปรินิพพาน ไม่ได้ ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุนั้นเมื่อเข้าถือเอา จะเข้าถือเอาที่ไหน ฯ พ. ดูกรอานนท์ ย่อมเข้าถือเอาเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทราบว่า ภิกษุนั้นเมื่อเข้าถือเอา ชื่อว่าย่อมเข้าถือเอาแดนอันประเสริฐสุดที่ควรเข้าถือเอาหรือ ฯ พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุนั้นเมื่อเข้าถือเอา ย่อมเข้าถือเอาแดนอันประเสริฐ สุดที่ควรเข้าถือเอาได้ ก็แดนอันประเสริฐสุดที่ควรเข้าถือเอาได้นี้ คือ เนวสัญญา- *นาสัญญายตนะ ฯ [๙๑] ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อม ได้อุเบกขาโดยเฉพาะด้วยคิดว่า สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา และจักไม่มีแก่เรา เราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่ และมีมาแล้วนั้นๆ เสีย เธอไม่ยินดี ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ อุเบกขานั้นอยู่ เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจอุเบกขานั้นอยู่ วิญญาณก็ ไม่เป็นอันอาศัยอุเบกขานั้น และไม่ยึดมั่นอุเบกขานั้น ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ไม่มี ความยึดมั่น ย่อมปรินิพพานได้ ฯ อา. น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้าข้า ไม่น่าเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อาศัยเหตุนี้ เป็นอันว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอกปฏิปทาเครื่องข้ามพ้นโอฆะแก่ พวกข้าพระองค์แล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิโมกข์ของพระอริยะเป็นไฉน ฯ [๙๒] พ. ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ ซึ่งกามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มี ในภพหน้า ซึ่งรูปทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า และรูปสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ซึ่งอาเนญชสัญญา ซึ่งอากิญจัญญายตนสัญญา ซึ่งเนวสัญญา- *นาสัญญายตนสัญญา ซึ่งสักกายะเท่าที่มีอยู่นี้ ซึ่งอมตะ คือความหลุดพ้นแห่งจิต เพราะไม่ถือมั่น ดูกรอานนท์ ด้วยประการนี้แล เราแสดงปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติ เป็นที่สบายแล้ว เราแสดงปฏิปทามีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบายแล้ว เรา แสดงปฏิปทามีเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบายแล้ว อาศัยเหตุนี้ เป็น อันเราแสดงปฏิปทาเครื่องข้ามพ้นโอฆะ คือวิโมกข์ของพระอริยะแล้ว ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราทำแล้วแก่พวกเธอ ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนใน ภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯจบ อาเนญชสัปปายสูตร ที่ ๖ ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑๔๔๐-๑๕๗๐ หน้าที่ ๖๑-๖๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1440&Z=1570&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=6 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=80 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [80-92] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=80&items=13 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=961 The Pali Tipitaka in Roman :- [80-92] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=14&item=80&items=13 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=961 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i080-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.106.than.html https://suttacentral.net/mn106/en/sujato
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]