ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๙๓.

๑๐. จูฬปุณณมสูตร (๑๑๐)
[๑๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกา วิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มี พระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อม ประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้น เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ฯ [๑๓๑] ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดย ลำดับ จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัต- *บุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษหรือไม่หนอ ฯ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้ เป็นอสัตบุรุษ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษจะพึง รู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษไหมเล่า ฯ ภิ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ นั่นก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ฯ [๑๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของ อสัตบุรุษ ภักดีต่ออสัตบุรุษ มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ มีความรู้อย่างอสัตบุรุษ มี ถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษ มีการงานอย่างอสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษ ย่อม ให้ทานอย่างอสัตบุรุษ ฯ [๑๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของอสัต- *บุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ มีสุตะน้อย เกียจคร้าน มีสติหลงลืม มีปัญญาทราม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้ แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของอสัตบุรุษ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๔.

[๑๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้ภักดีต่ออสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ มีสุตะน้อย เกียจคร้าน มีสติหลงลืม มีปัญญาทราม เป็นมิตร เป็นสหาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ภักดีต่ออสัตบุรุษ ฯ [๑๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ อย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมคิดเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเบียดเบียนผู้ อื่นบ้าง คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่าง นี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ ฯ [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีความรู้อย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมรู้เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่าง นี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้รู้อย่างอสัตบุรุษ ฯ [๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มักพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ เจรจาเพ้อ เจ้อ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษ ฯ [๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีการงานอย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ มักเป็นผู้ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ มิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็น ผู้มีการงานอย่างอสัตบุรุษ ฯ [๑๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษ อย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็น อุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๕.

โลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษ ฯ [๑๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยไม่เคารพ ให้ทานไม่ใช่ด้วยมือของตน ทำ ความไม่อ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างไม่เข้าใจ เป็นผู้มีความเห็นว่าไร้ผล ให้ทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างอสัตบุรุษ ฯ [๑๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษนั่นแหละ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ของอสัตบุรุษอย่างนี้ ภักดีต่ออสัตบุรุษอย่างนี้ มีความคิดอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีความรู้อย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีการงานอย่าง อสัตบุรุษอย่างนี้ มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ ให้ทานอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ แล้ว เมื่อตายไป ย่อมบังเกิดในคติของอสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คติของ อสัตบุรุษคืออะไร คือ นรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ฯ [๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ หรือไม่หนอ ฯ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็น สัตบุรุษ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษไหมเล่า ฯ ภิ. รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้ เป็นอสัตบุรุษ นั่นก็เป็นฐานะที่มีได้ ฯ [๑๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของ สัตบุรุษ ภักดีต่อสัตบุรุษ มีความคิดอย่างสัตบุรุษ มีความรู้อย่างสัตบุรุษ มีถ้อยคำ อย่างสัตบุรุษ มีการงานอย่างสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ย่อมให้ทานอย่าง สัตบุรุษ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๖.

[๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ อย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ ฯ [๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ ฯ [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษ ชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ ฯ [๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ ฯ [๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ ฯ [๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้น จากกาเมสุมิจฉาจาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีการงาน อย่างสัตบุรุษ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๗.

[๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่ บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่า เป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ฯ [๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่าง บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ [๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษนั่นแหละ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ของสัตบุรุษอย่างนี้ ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างนี้ มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีความ รู้อย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ ให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อม บังเกิดในคติของสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คติของสัตบุรุษคืออะไร คือ ความ เป็นผู้มีตนควรบูชาในเทวดา หรือความเป็นผู้มีตนควรบูชาในมนุษย์ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ จูฬปุณณมสูตร ที่ ๑๐
จบ เทวทหวรรค ที่ ๑
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๘.

หัวข้อเรื่องของเทวทหวรรคนั้น ดังนี้
๑. เรื่องเทวทหะ ๒. เรื่องปัญจัตตยะ ๓. เรื่องสำคัญอย่างไร ๔. เรื่องนิครนถ์ ๕. เรื่องพยากรณ์อรหัตตผล ๖. เรื่องแคว้นกุรุ ๗. เรื่อง พราหมณ์คณกะ ๘. เรื่องพราหมณ์โคปกะ ๙. และ ๑๐. เรื่องวันเพ็ญสอง วัน รวมเป็นวรรคสำคัญชื่อเทวทหวรรค ที่ ๑ ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เทวทหสูตร ๒. ปัญจัตตยสูตร ๓. กินติสูตร ๔. สามคามสูตร ๕. สุนักขัตตสูตร ๖. อาเนญชสัปปายสูตร ๗. คณกโมคคัลลานสูตร ๘. โคปกโมคคัลลานสูตร ๙. มหาปุณณมสูตร ๑๐. จูฬปุณณมสูตร
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๒๑๘๗-๒๓๒๓ หน้าที่ ๙๓-๙๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=2187&Z=2323&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=10              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=130              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [130-152] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=130&items=23              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1375              The Pali Tipitaka in Roman :- [130-152] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=14&item=130&items=23              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1375              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i130-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i130-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.110.than.html https://suttacentral.net/mn110/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :