ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๗. สารีปุตตสังยุต
๑. วิเวกสูตร
ว่าด้วยปฐมฌาน
[๕๐๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ- *บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปสู่พระนครสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักกลางวัน ถึงป่าอันธวันแล้ว นั่ง พักกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง. ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระ สารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. อาวุโส เรานั้นไม่ได้คิดอย่างนี้ว่า เรา เข้าปฐมฌานอยู่ หรือว่าเข้าปฐมฌานแล้ว หรือว่าออกจากปฐมฌานแล้ว. แท้จริง ท่านพระสารี- *บุตรถอนทิฏฐิคืออหังการ ตัณหาคือมมังการ และอนุสัยคือมานะออกได้นานแล้ว ฉะนั้น ท่าน พระสารีบุตรจึงไม่คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าปฐมฌานอยู่ หรือว่าเข้าปฐมฌานแล้ว หรือว่าออกจาก ปฐมฌานแล้ว.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. อวิตักกสูตร
ว่าด้วยทุติยฌาน
[๕๐๙] พระนครสาวัตถี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึงกล่าวกะ ท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าทุติยฌานอันมีความผ่องใสแห่ง จิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่. อาวุโส เรานั้นมิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าทุติยฌานอยู่ หรือว่าเข้าทุติยฌานแล้ว หรือว่าออกจากทุติยฌานแล้ว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๒.
๓. ปีติสูตร
ว่าด้วยตติยฌาน
[๕๑๐] พระนครสาวัตถี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึงกล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโสดังเราจะบอก เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็น ผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดังนี้ อยู่. อาวุโส เรานั้นมิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าตติยฌานอยู่ หรือว่าเข้าตติยฌานแล้ว หรือว่าออกจากตติยฌานแล้ว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓.
๔. อุเปกขาสูตร
ว่าด้วยจตุตถฌาน
[๕๑๑] พระนครสาวัตถี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึงกล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. อาวุโส เรามิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าจตุตถฌานอยู่ หรือว่าเข้าจตุตถฌานแล้ว หรือว่าออกจากจตุตถฌาน แล้ว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔.
๕. อากาสสูตร
ว่าด้วยอากาสานัญจายตนฌาน
[๕๑๒] พระนครสาวัตถี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึงกล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าอากาสานัญจายตนฌานด้วย คำนึงว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาเสียได้ เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ เพราะไม่ กระทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวงอยู่. อาวุโส เรามิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้า อากาสานัญจายตนฌานอยู่ หรือว่าเข้าอากาสานัญจายตนฌานแล้ว หรือว่าออกจากอากาสานัญจาย- *ตนฌานแล้ว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕.
๖. วิญญาณสูตร
ว่าด้วยวิญญาณัญจายตนฌาน
[๕๑๓] พระนครสาวัตถี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึง กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าวิญญาณัญจายตนฌานด้วยคำนึง ว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานเสียได้โดยประการทั้งปวงอยู่. อาวุโส เรานั้นมิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าวิญญาณัญจายตนฌานอยู่ หรือว่าเข้าวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว หรือว่าออกจากวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๖.
๗. อากิญจัญญายตนสูตร
ว่าด้วยอากิญจัญญายตนฌาน
[๕๑๔] พระนครสาวัตถี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึงกล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าอากิญจัญญายตนฌานด้วยคำนึงว่า ว่า สิ่งอะไรหน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานเสียได้โดยประการทั้งปวงอยู่. อาวุโส เรานั้นมิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าอากิญจัญญายตนฌานอยู่ หรือว่าเข้าอากิญจัญญายตนฌาน แล้ว หรือว่าออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๗.
๘. เนวสัญญานาสัญญายตนสูตร
ว่าด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
[๕๑๕] พระนครสาวัตถี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึงกล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่าน ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานเสียได้โดยประการทั้งปวงอยู่. อาวุโส เรานั้นมิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ หรือว่าเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว หรือว่าออก จากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๘.
๙. นิโรธสูตร
ว่าด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ
[๕๑๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ถึงป่าอันธวันแล้ว นั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้ แห่งหนึ่ง. ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปยังพระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี. ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรมาแต่ไกล จึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมด จด ผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส ดังเราจะบอก เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะ ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเสียได้โดยประการทั้งปวงอยู่. อาวุโส เรามิได้คิดอย่างนี้ว่า เรา เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ หรือว่าเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว หรือว่าออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว. แท้จริง ท่านพระสารีบุตร ถอนอหังการ มมังการ และมานานุสัยออกได้นานแล้ว ฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงมิได้คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ หรือว่าเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว หรือว่าออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. สูจิมุขีสูตร
ว่าด้วยความแตกต่างการเลี้ยงชีวิตของสมณพราหมณ์
[๕๑๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ พระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไป บิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกในพระนครราชคฤห์แล้ว อาศัยเชิง ฝาแห่งหนึ่งฉันบิณฑบาตนั้น. ครั้งนั้น นางปริพาชิกาชื่อสูจิมุขี เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่ อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ? ท่านพระสารี- *บุตรตอบว่า ดูกรน้องหญิง เรามิได้ก้มหน้าฉัน. สู. ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉันหรือสมณะ? สา. เรามิได้แหงนหน้าฉันหรอกน้องหญิง. สู. ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศใหญ่ฉันหรือสมณะ? สา. เรามิได้มองดูทิศใหญ่ฉันหรอกน้องหญิง. สู. ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศน้อยฉันหรือสมณะ? สา. เรามิได้มองดูทิศน้อยฉันหรอกน้องหญิง. สู. ดิฉันถามว่า ดูกรสมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้ก้มหน้าฉัน หรอกน้องหญิง ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉันหรือสมณะ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้ แหงนหน้าฉันหรอกน้องหญิง ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศใหญ่ฉันหรือสมณะ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้มองดูทิศใหญ่ฉันหรอกน้องหญิง ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดู ทิศน้อยฉันหรือสมณะ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้มองดูทิศน้อยฉันหรอกน้องหญิง ก็บัดนี้ ท่านฉัน อย่างไรเล่าสมณะ? สา. ดูกรน้องหญิง ก็สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุ ดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูพื้นที่ สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า ก้มหน้าฉัน. ดูกรน้องหญิง สมณ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูดาวนักษัตร สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า แหงนหน้าฉัน. ดูกรน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเลี้ยง ชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุประกอบการรับส่งข่าวสาส์น สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า มองดูทิศใหญ่ ฉัน. ดูกรน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองค์อวัยวะ สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า มองดูทิศน้อยฉัน. ดูกรน้องหญิง ส่วน เรานั้นมิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาตรวจพื้นที่ มิได้เลี้ยงชีพด้วย มิจฉาชีพเหตุดิรัจฉานวิชา คือวิชาดูดาวนักษัตร มิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุประกอบการ รับส่งข่าวสาส์น มิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองค์อวัยวะ (แต่) เราแสวงหาภิกษาโดยชอบธรรม ครั้นแล้วจึงฉัน. ครั้งนั้น นางสูจิมุขีปริพาชิกาเข้าไปในนครราชคฤห์ จากถนนหนึ่งไปอีกถนนหนึ่ง จาก ตรอกหนึ่งไปอีกตรอกหนึ่งแล้ว ประกาศอย่างนี้ว่า ท่านสมณศากยบุตรทั้งหลายย่อมฉันอาหาร อันประกอบด้วยธรรม สมณศากยบุตรทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันหาโทษมิได้. ขอเชิญท่านทั้งหลาย ถวายบิณฑบาตแก่สมณศากยบุตรทั้งหลายเถิด.
จบ สูตรที่ ๑๐.
จบ สารีปุตตสังยุต.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในสังยุตนี้ คือ
๑. วิเวกสูตร ๖. วิญญาณสูตร ๒. อวิตักกสูตร ๗. อากิญจัญญายตนสูตร ๓. ปีติสูตร ๘. เนวสัญญานาสัญญายตนสูตร ๔. อุเปกขาสูตร ๙. นิโรธสูตร ๕. อากาสสูตร ๑๐. สูจิมุขีสูตร
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๕๙๗๓-๖๑๒๓ หน้าที่ ๒๖๔-๒๗๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=5973&Z=6123&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=17&siri=265              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=508              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [508-517] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=17&item=508&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=8341              The Pali Tipitaka in Roman :- [508-517] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=17&item=508&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=8341              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i508-e.php# https://suttacentral.net/sn28.1/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :