ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๒
๒. ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๑
เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี
[๓๕๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตรัฐ อาฬวี. ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวรัฐอาฬวีทำนวกรรม ตัดต้นไม้เองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง. แม้ภิกษุชาวรัฐอาฬวีรูปหนึ่งก็ตัดต้นไม้. เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้นั้น ได้กล่าวคำนี้กะภิกษุนั้น ว่า ท่านเจ้าข้า ท่านประสงค์จะทำที่อยู่ของท่าน โปรดอย่าตัดต้นไม้อันเป็นที่อยู่ของข้าพเจ้าเลย. ภิกษุรูปนั้นไม่เชื่อฟังได้ตัดลงจนได้ แลฟันถูกแขนทารกลูกของเทวดานั้น. เทวดาได้คิดขึ้นว่า ถ้ากระไรเราพึงปลงชีวิตภิกษุรูปนี้เสีย ณ ที่นี้แหละ แล้วคิดต่อไปว่า ก็การที่เราจะพึงปลงชีวิต ภิกษุรูปนี้เสีย ณ ที่นี้นั้นไม่สมควรเลย ถ้ากระไรเราควรกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค ดั่งนั้นเทวดานั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงประทานสาธุการว่า ดีแล้วๆ เทวดา ดีนักหนาที่ท่านไม่ปลงชีวิต ภิกษุรูปนั้น ถ้าท่านปลงชีวิตภิกษุรูปนั้นในวันนี้ ตัวท่านจะพึงได้รับบาปเป็นอันมาก ไปเถิด เทวดา ต้นไม้ในโอกาสโน้นว่างแล้ว ท่านจงเข้าไปอยู่ที่ต้นไม้นั้น. ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พวกพระสมณะเชื้อสายพระ- *ศากยบุตรจึงได้ตัดต้นไม้เองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง? พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทั้งหลาย ย่อมเบียดเบียนอินทรีย์ อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ. ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกเขาเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่มักน้อย ... ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พวกภิกษุชาว รัฐอาฬวี จึงได้ตัดต้นไม้เองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอตัดเองบ้าง ให้คนอื่น ตัดบ้าง ซึ่งต้นไม้ จริงหรือ? ภิกษุชาวรัฐอาฬวีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้ ตัดเองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง ซึ่งต้นไม้? เพราะคนทั้งหลายสำคัญในต้นไม้ว่ามีชีวะ การกระทำ ของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใส ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๖๐. ๑. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพรากภูตคาม.
เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๓๕๕] ที่ชื่อว่า ภูตคาม ได้แก่พืช ๕ ชนิด พืชเกิดจากเหง้า ๑ พืชเกิดจากต้น ๑ พืชเกิดจากข้อ ๑ พืชเกิดจากยอด ๑ พืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ครบห้า ๑. ที่ชื่อว่า พืชเกิดจากเหง้า ได้แก่ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู, หรือแม้พืชอย่างอื่นใดซึ่งเกิดที่เหง้า งอกที่เหง้า นั่นชื่อว่า พืชเกิดจากเหง้า. ที่ชื่อว่า พืชเกิดจากต้น ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นดีปลี ต้นมะเดื่อ ต้นเต่าร้าง ต้นมะขวิด, หรือแม้พืชอย่างอื่นใดซึ่งเกิดที่ต้น งอกที่ต้น นั่นชื่อว่า พืชเกิดจากต้น. ที่ชื่อว่า พืชเกิดจากข้อ ได้แก่ อ้อย ไม้ไผ่ ไม้อ้อ หรือแม้พืชอย่างอื่นใดซึ่งเกิด ที่ข้อ งอกที่ข้อ นั่นชื่อว่า พืชเกิดจากข้อ. ที่ชื่อว่า พืชเกิดจากยอด ได้แก่ ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง, หรือแม้พืช อย่างอื่นใดซึ่งเกิดที่ยอด งอกที่ยอด นั่นชื่อว่า พืชเกิดจากยอด. ที่ชื่อว่า พืชเกิดจากเมล็ด ได้แก่ข้าว ถั่ว งา หรือแม้พืชอย่างอื่นใดซึ่งเกิดที่เมล็ด งอกที่เมล็ด นั่นชื่อว่า พืชเกิดจากเมล็ด เป็นที่ครบห้า.
บทภาชนีย์
[๓๕๖] พืช ภิกษุสำคัญว่าพืช ตัดเองก็ดี ให้คนอื่นตัดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้คนอื่น ทำลายก็ดี ต้มเองก็ดี ให้คนอื่นต้มก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์. พืช ภิกษุสงสัย ตัดเองก็ดี ให้คนอื่นตัดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้คนอื่นทำลายก็ดี ต้มเองก็ดี ให้คนอื่นต้มก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ. พืช ภิกษุสำคัญว่า ไม่ใช่พืช ตัดเองก็ดี ให้คนอื่นตัดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้คนอื่น ทำลายก็ดี ต้มเองก็ดี ให้คนอื่นต้มก็ดี ไม่ต้องอาบัติ. ไม่ใช่พืช ภิกษุสำคัญว่าพืช ตัดเองก็ดี ให้คนอื่นตัดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้คนอื่น ทำลายก็ดี ต้มเองก็ดี ให้คนอื่นต้มก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่พืช ภิกษุสงสัย ตัดเองก็ดี ให้คนอื่นตัดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้คนอื่นทำลายก็ดี ต้มเองก็ดี ให้คนอื่นต้มก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่พืช ภิกษุสำคัญว่า ไม่ใช่พืช ตัดเองก็ดี ให้คนอื่นตัดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้ คนอื่นทำลายก็ดี ต้มเองก็ดี ให้คนอื่นต้มก็ดี ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๓๕๗] ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้พืชนี้ ท่านจงให้พืชนี้ ท่านจงนำพืชนี้มา เรามีความ ต้องการด้วยพืชนี้ ท่านจงทำพืชนี้ให้เป็นกัปปิยะดังนี้ ๑ ภิกษุไม่แกล้งพราก ๑ ภิกษุทำเพราะ ไม่มีสติ ๑ ภิกษุไม่รู้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๘๕๔๒-๘๖๐๕ หน้าที่ ๓๔๗-๓๔๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=8542&Z=8605&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=47              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=354              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [354-357] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=354&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6624              The Pali Tipitaka in Roman :- [354-357] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=354&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6624              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc11/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :