บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๑. จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร [๕๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นผู้เชี่ยวชาญ แสดงธรรมีกถา จึงเศรษฐีบุตรผู้หนึ่งเข้าไปหาพระอุปนันทศากยบุตร. ครั้นแล้วอภิวาทท่านพระ- *อุปนันทศากยบุตร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ชี้แจงด้วย ธรรมีกถาให้เศรษฐีบุตรสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงแล้ว. เศรษฐีบุตรนั้น อันท่านพระอุปนันทศากยบุตรชี้แจงด้วยธรรมีกถา ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงแล้ว ได้ปวารณาท่านพระอุปนันทศากยบุตรในทันใดนั้นแลอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าพึงบอกสิ่งที่ต้องประสงค์ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขารอันเป็น ปัจจัยของภิกษุไข้ ซึ่งข้าพเจ้าสามารถจะจัดถวายแด่พระคุณเจ้าได้. ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ได้กล่าวคำนี้กะเศรษฐีบุตรนั้นว่า ถ้าท่านประสงค์จะถวายแก่ อาตมา ก็จงถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งจากผ้าเหล่านี้. เศรษฐีบุตรได้กล่าวขอผลัดว่า ท่านเจ้าข้า กระผมเป็นกุลบุตรจะเดินไปมีผ้าผืนเดียวดูกระไร อยู่ โปรดรออยู่ชั่วเวลาที่กระผมกลับไปบ้าน กระผมไปถึงบ้านแล้ว จักจัดส่งผ้าสาฎกผืนหนึ่งจาก ผ้าเหล่านี้ หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย. แม้ครั้งที่สองแล ท่านพระอุปนันทศากยบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะเศรษฐีบุตรนั้นว่า ถ้าท่าน ประสงค์จะถวายแก่อาตมา ก็จงถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งจากผ้าเหล่านี้. เศรษฐีบุตรได้กล่าวขอผลัดว่า ท่านเจ้าข้า กระผมเป็นกุลบุตรจะเดินไปมีผ้าผืนเดียวดู กระไรอยู่ โปรดรออยู่ชั่วเวลาที่กระผมกลับไปบ้าน กระผมไปถึงบ้านแล้ว จักจัดส่งผ้าสาฎก ผืนหนึ่งจากผ้าเหล่านี้ หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย. แม้ครั้งที่สามแล ท่านพระอุปนันทศากยบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะเศรษฐีบุตรนั้นว่า ถ้าท่าน ประสงค์จะถวายแก่อาตมา ก็จงถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งจากผ้าเหล่านี้. เศรษฐีบุตรได้กล่าวขอผลัดว่า ท่านเจ้าข้า กระผมเป็นกุลบุตรจะเดินไปมีผ้าผืนเดียว ดูกระไรอยู่ โปรดรออยู่ชั่วเวลาที่กระผมกลับไปบ้าน กระผมกลับไปถึงบ้านแล้ว จักจัดส่งผ้า สาฎกผืนหนึ่งจากผ้าเหล่านี้ หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย. ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวพ้อว่า ท่านไม่ประสงค์จะถวายก็จะปวารณาทำไม ท่าน ปวารณาแล้วไม่ถวาย จะมีประโยชน์อะไร ครั้นเศรษฐีบุตรนั้นถูกท่านพระอุปนันทศากยบุตรแคะได้ จึงได้ถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งแล้ว กลับไป. ชาวบ้านพบเศรษฐีบุตรนั้นแล้วถามว่า นาย ทำไมท่านจึงมีผ้าผืนเดียวเดินกลับมา? จึงเศรษฐีบุตรได้เล่าเรื่องนั้นแก่ชาวบ้านเหล่านั้น. ชาวบ้านจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ มักมาก ไม่สันโดษ จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่เขาขอผลัด โดยธรรมสักหน่อยก็ไม่ได้ เมื่อเศรษฐีบุตรกระทำการขอผลัดโดยธรรม ไฉนจึงได้ถือเอาผ้าสาฎก ไปเล่า. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็น ผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้ขอจีวรต่อเศรษฐีบุตรเล่า แล้วกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่าเธอขอจีวร ต่อเศรษฐีบุตรจริงหรือ? ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรอุปนันทะ เขาเป็นญาติของเธอหรือมิใช่ญาติ? อุ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ คนที่มิใช่ญาติ ย่อมไม่รู้การกระทำ อันสมควร หรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนที่ไม่ใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอยังขอ จีวรต่อเศรษฐีบุตรผู้มิใช่ญาติได้ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของ เธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของ ชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.ทรงบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทะ โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๒๕. ๖. อนึ่ง ภิกษุใดขอต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ. พระอนุบัญญัติ เรื่องภิกษุเดินทางถูกแย่งชิงจีวร [๕๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปเดินทางจากเมืองสาเกตสู่พระนครสาวัตถี. พวก โจรในระหว่างทางได้ออกแย่งชิงจีวรภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นรังเกียจอยู่ว่า การขอจีวรต่อพ่อ เจ้าเรือน หรือแม่เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้แล้ว จึงไม่กล้าขอ พากัน เปลือยกายเดินไปถึงพระนครสาวัตถี แล้วกราบไหว้ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพูดกันอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย พวกอาชีวกเหล่านี้ที่กราบไหว้ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ เป็นคนดีจริงๆ ภิกษุผู้เปลือยกายเหล่านั้นตอบว่า พวกกระผมไม่ใช่อาชีวก ขอรับ พวกกระผมเป็นภิกษุ. ภิกษุทั้งหลายได้เรียนท่านพระอุบาลีว่า ข้าแต่ท่านพระอุบาลี โปรดสอบสวนภิกษุ เหล่านี้. ภิกษุผู้เปลือยกายเหล่านั้น ถูกท่านพระอุบาลีสอบสวน ได้แจ้งเรื่องนั้นแล้ว. ครั้นท่านพระอุบาลีสอบสวนภิกษุเหล่านั้นแล้ว ได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย พวกเปลือยกายเหล่านี้เป็นภิกษุ จงให้จีวรแก่ภิกษุเหล่านั้นเถิด. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่าง ก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงได้เปลือยกายเดินมาเล่า ธรรมดาภิกษุ ควรจะต้องปกปิดด้วยหญ้าหรือใบไม้เดินมา แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงอนุญาตให้ขอจีวรได้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ถูก โจรแย่งชิงจีวรไป หรือมีจีวรหาย ขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือน หรือแม่เจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ ได้ เธอเดินไปถึงวัดใดก่อน ถ้าจีวรสำหรับวิหารก็ดี ผ้าลาดเตียงก็ดี ผ้าลาดพื้นก็ดี ผ้าปูที่นอน ก็ดี ของสงฆ์ในวัดนั้นมีอยู่ จะถือเอาผ้าของสงฆ์นั้นไปห่มด้วยคิดว่า ได้จีวรนั้นมาแล้ว จักคืน ไว้ดังกล่าว ดังนี้ก็ควร. ถ้าจีวรสำหรับวิหารก็ดี ผ้าลาดเตียงก็ดี ผ้าลาดพื้นก็ดี ผ้าปูที่นอนก็ดี ของสงฆ์ไม่มี ต้องปกปิดด้วยหญ้าหรือใบไม้เดินมา ไม่พึงเปลือยกายเดินมา ภิกษุใดเปลือย กายเดินมา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๒๕.๖. ก. อนึ่ง ภิกษุใด ขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้- *มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. สมัยในคำนั้นดังนี้: ภิกษุเป็นผู้มี จีวรถูกชิงเอาไปก็ดี มีจีวรฉิบหายก็ดี นี้สมัยในคำนั้น.เรื่องภิกษุเดินทางถูกแย่งชิงจีวร จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๕๕] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด เป็น เถระก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด. บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อม- *เพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนก. ที่ชื่อว่า พ่อเจ้าเรือน ได้แก่บุรุษผู้ครอบครองเรือน. ที่ชื่อว่า แม่เจ้าเรือน ได้แก่สตรีผู้ครอบครองเรือน. ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่จีวร ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าต้อง วิกัปเป็นอย่างต่ำ. บทว่า นอกจากสมัย คือ ยกเว้นสมัย. ที่ชื่อว่า เป็นผู้มีจีวรถูกชิงเอาไป ได้แก่จีวรของภิกษุผู้ถูกชิงเอาไป คือ ถูกพวก ราชาก็ดี พวกโจรก็ดี พวกนักเลงก็ดี หรือคนพวกใดพวกหนึ่ง ชิงเอาไป. ที่ชื่อว่า มีจีวรฉิบหาย คือ จีวรของภิกษุถูกไฟไหม้ก็ดี ถูกน้ำพัดไปก็ดี ถูกหนูหรือ ปลวกกัดก็ดี เก่าเพราะใช้สอยก็ดี. ภิกษุขอ นอกจากสมัย เป็นทุกกฏ ในประโยคที่ขอ เป็นนิสสัคคีย์ด้วย ได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้นอย่างนี้:-วิธีเสียสละ เสียสละแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วต่อพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะ สละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่คณะ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วต่อพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่าน ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่บุคคล ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วต่อพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ นอกจาก สมัย เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่ เสียสละให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.บทภาชนีย์ ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์ [๕๖] พ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ขอจีวร นอกจากสมัยเป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. พ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย ขอจีวร นอกจากสมัยเป็นนิสสัคคีย์ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. พ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ขอจีวร นอกจากสมัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกกฏ พ่อเจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ขอจีวร ... ต้องอาบัติทุกกฏ. พ่อเจ้าเรือน เป็นญาติ ภิกษุสงสัย ขอจีวร ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ พ่อเจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๕๗] ภิกษุขอในสมัย ๑ ภิกษุขอต่อญาติ ๑ ภิกษุขอต่อคนปวารณา ๑ ภิกษุขอ เพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น ๑ ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๙๑๑-๑๐๘๘ หน้าที่ ๓๙-๔๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=911&Z=1088&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=6 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=53 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [53-57] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=53&items=5 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4049 The Pali Tipitaka in Roman :- [53-57] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=53&items=5 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4049 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np6/en/brahmali
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]