ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
             [๓๘๒] 	โคอาชาไนยที่ดี อันเขาเทียมแล้วที่แอกเกวียน ย่อมอาจนำแอกเกวียน
                          ไปได้ ไม่ย่อท้อต่อภาระอันหนัก ไม่ทอดทิ้งเกวียนอันเขาเทียมแล้ว
                          แม้ฉันใด บุคคลเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา เหมือนมหาสมุทรอันเต็ม
                          ด้วยน้ำ บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ฉันนั้น ย่อมเป็นดังอริยธรรม
                          ของสัตว์ทั้งหลาย นรชนผู้ตกอยู่ในอำนาจของเวลา ตกอยู่ในอำนาจของ
                          ภพน้อยภพใหญ่ ย่อมเข้าถึงความทุกข์และต้องเศร้าโศก คนพาลไม่
                          พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ย่อมเดือดร้อนด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
                          มีใจฟูขึ้นเพราะเหตุแห่งสุข ๑ มีใจฟุบลงเพราะเหตุแห่งทุกข์ ๑ ชน
                          เหล่าใดก้าวล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในทุกขเวทนา ในสุขเวทนา และ
                          ในอทุกขมสุขเวทนา ชนเหล่านั้นเป็นผู้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเหมือนเสา
                          เขื่อน เป็นผู้ไม่ฟูขึ้นและไม่ฟุบลง ชนเหล่านั้นย่อมไม่ติดอยู่ในลาภ
                          ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และ
                          ทุกข์ทั้งหมด ดังหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย
                          มีความสุขและได้ชัยชนะในที่ทุกแห่งไป การไม่ได้ลาภโดยชอบธรรมกับ
                          การได้ลาภโดยไม่ชอบธรรมทั้งสองอย่างนี้ การไม่ได้ลาภอันชอบธรรม
                          ประเสริฐกว่า การได้ลาภอันไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร คนไม่มี
                          ความรู้ มียศ กับคนมีความรู้แต่ไม่มียศ คนมีความรู้ไม่มียศประเสริฐ
                          กว่า คนไม่มีความรู้มียศจะประเสริฐอะไร การสรรเสริญจากคนพาลกับ
                          การติเตียนจากนักปราชญ์ การติเตียนจากนักปราชญ์ประเสริฐกว่า การ
                          สรรเสริญจากคนพาลจะประเสริฐอะไร ความสุขอันเกิดจากกามคุณกับ
                          ความทุกข์อันเกิดจากวิเวก ความทุกข์อันเกิดจากวิเวกประเสริฐกว่า
                          ความสุขอันเกิดจากกามคุณจะประเสริฐอะไร ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบ
                          ธรรมกับความตายโดยธรรม ความตายโดยธรรมประเสริฐกว่า ความ
                          เป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร ชนเหล่าใดละกามและความ
                          โกรธได้แล้ว มีจิตสงบระงับเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ติดอยู่ใน
                          โลก ชนเหล่านั้นไม่มีความรักความชัง บุคคลเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕
                          และพละ ๕ แล้วบรรลุถึงความสงบอันยอดเยี่ยม หาอาสวะมิได้ ย่อม
                          ปรินิพพาน.
-----------------------------------------------------
ในจุททสกนิบาตนี้ พระเถระ ๒ รูปผู้มีฤทธิ์มาก คือ พระเรวตเถร ๑ พระโคทัตตเถระ ๑ ได้ภาษิตคาถารูปละ ๑๔ คาถา รวมเป็น ๒๘ คาถา ฉะนี้แล.
จบ จุททสกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา โสฬสกนิบาต
๑. อัญญโกณฑัญญเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
[๓๘๓] ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์ จึงตรัสพระคาถา ที่ ๑ ว่า ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมมีรสอันประเสริฐ จึงเกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ธรรม อันคลายความกำหนัด เพราะไม่ยึดถือมั่นโดยประการทั้งปวง พระผู้เป็น เจ้าได้แสดงแล้ว- ท้าวเธอตรัสชมเชยเทศนาของพระเถระดังนี้แล้ว ทรงนมัสการพระเถระ แล้วเสด็จ กลับไปสู่ที่อยู่ของพระองค์ ภายหลังวันหนึ่ง พระเถระเห็นวาระจิตของปุถุชนบางจำพวก ซึ่งถูก มิจฉาวิตกครอบงำ และระลึกถึงคำสอนอันเป็นปฏิปักษ์ต่อมิจฉาวิตกนั้นแล้ว นึกถึงความที่คน มีใจอันพรากแล้วจากการฟังทั้งปวง จึงได้ภาษิตคาถา ๒ คาถา อันแสดงซึ่งเนื้อความนั้นว่า อารมณ์อันวิจิตรมีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ชะรอยจะย่ำยีบุคคลผู้คิดถึง อารมณ์ว่า งาม อันประกอบด้วยราคะในปฐพีมณฑลนี้ ฝนตกลงมาใน ฤดูฝน พึงระงับธุลีที่ถูกลมพัดไปได้ ฉันใด เมื่อใด พระอริยสาวก พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เมื่อนั้น ความดำริของพระอริยสาวกนั้นย่อม ระงับไปฉันนั้น เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขาร ทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น พระอริยสาวกนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็น ทางแห่งความหมดจด เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้น พระอริยสาวกนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วย ปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นพระอริยสาวกนั้นย่อมหน่าย ในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด พระโกณฑัญญเถระองค์ใดเป็นผู้ ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า ละความเกิด และความตายได้แล้ว เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยพรหมจรรย์อันได้ด้วยยาก พระ โกณฑัญญเถระองค์นั้นได้ตัดบ่วง คือ โอฆะ ตาปูตรึงจิต ๑- อันมั่นคง และภูเขาที่ทำลายได้ยากแล้ว ๒- ข้ามไปถึงฝั่ง คือ นิพพาน เป็นผู้เพ่ง ฌาน หลุดพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร. ภายหลังวันหนึ่ง ท่านพระโกณฑัญญเถระได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่าน เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรทราม มีใจฟุ้งซ่าน มักใหญ่ใฝ่สูง เพราะการคบหาด้วยมิตร ชั่วช้า จึงไปยังที่นั้นด้วยฤทธิ์ แล้วตักเตือนว่า ท่านอย่าทำอย่างนี้ต่อไป ขอท่านจงละมิตรชั่วช้า เสียแล้วคบหากัลยาณมิตรทำสมณธรรมเถิด ภิกษุนั้นไม่เชื่อฟังคำของท่าน ท่านจึงเกิดความ สลดใจ เมื่อจะติเตียนข้อปฏิบัติอันผิด และสรรเสริญการปฏิบัติชอบและการอยู่สงัด ด้วย ถ้อยคำอันเป็นบุคคลาธิษฐาน จึงได้ภาษิตคาถานี้ใจความว่า ภิกษุมีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก คบหาแต่มิตรที่เลวทราม ถูกคลื่นซัดให้ จมอยู่ในห้วงน้ำ คือ สงสาร ส่วนภิกษุมีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญารักษาตัวรอด สำรวมอินทรีย์ คบหากัลยาณมิตร เป็นนักปราชญ์ พึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นรชนผู้ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นดัง เถาหญ้านาง เป็นผู้รู้จักประมาณในข้าวและน้ำ มีใจไม่ย่อท้อ ถูกเหลือบ ยุงทั้งหลายกัดอยู่ในป่าใหญ่ ย่อมเป็นผู้มีสติอดกลั้น ได้อยู่ในป่านั้น เหมือนช้างที่อดทนต่อศาตราวุธในยุทธสงครามฉะนั้น เราไม่ยินดีความ ตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่ เรารอเวลาตาย เหมือนลูกจ้างรอให้ หมดเวลาทำงาน ฉะนั้น เราไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็น อยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะรอเวลาตาย พระศาสดาเราได้คุ้นเคยแล้ว เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว ได้บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรทั้ง หลายออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการแล้ว เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์ อะไรด้วยสัทธิวิหาริก ผู้ว่ายากแก่เรา. @๑. ความสงสัยและความโกรธความไม่พอใจ ๒. ความไม่รู้ในทุกข์เป็นต้น
๒. อุทายีเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอุทายีเถระ
[๓๘๔] เราเคยได้ฟังมาจากพระอรหันต์ทั้งหลายว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมนอบน้อม บุคคลใด ผู้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เอง มีตนอันได้ ฝึกฝนแล้ว มีจิตตั้งมั่น ดำเนินไปในทางของพรหม ยินดีในการสงบ ระงับจิต ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลายก็พากันนอบน้อม บุคคลนั้น เทวดาและมนุษย์ย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ ใด ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ออกจากป่า คือ กิเลสมาสู่นิพพาน ออกจากกามมายินดีในเนกขัมมะ เหมือนทองคำอันพ้นแล้วจากหินฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นแล เป็นนาครุ่งเรือง พ้นโลกนี้ กับทั้งเทวโลก เหมือนขุนเขาหิมวันต์รุ่งเรืองล่วงภูเขาเหล่าอื่นฉะนั้น เราจักแสดงช้างอันประเสริฐ ซึ่งเป็นช้างมีชื่อโดยแท้จริง เป็นเยี่ยมกว่า บรรดาผู้มีชื่อว่าช้างทั้งหมด แก่ท่านทั้งหลาย เพราะผู้ใดไม่ทำบาป ผู้นั้น ชื่อว่า นาค ความสงบเสงี่ยมและการไม่เบียดเบียน ๒ อย่างนี้ เป็น เท้าหน้าทั้งสองของนาค สติสัมปชัญญะเป็นเท้าหลัง ช้างตัวประเสริฐ ควรบูชา มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว มีสติเป็นคอ มี ปัญญาเครื่องพิจารณาค้นคว้าธรรมเป็นศีรษะ มีธรรม คือ สัมมาวาจา เป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง ช้างตัวประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้านั้น เป็น ผู้มีปกติเพ่งฌาน ยินดีในนิพพาน มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในภายใน คือ เมื่อ เดินก็มีจิตตั้งมั่น เมื่อยืนก็มีจิตตั้งมั่น นอนก็มีจิตตั้งมั่น แม้เมื่อนั่งก็มี จิตตั้งมั่น เป็นผู้สำรวมในที่ทั้งปวง อันนี้เป็นคุณสมบัติของช้างผู้ ประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้า ช้างตัวประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้านั้น บริโภคของอันหาโทษมิได้ ไม่บริโภคของที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่อง นุ่งห่มแล้ว ก็ไม่สั่งสมไว้ ตัดเครื่องเกาะเกี่ยวผูกพันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น ไม่มีความห่วงใยเลย เที่ยวไปในที่ทุกแห่ง เปรียบเหมือนดอกบัวขาบ มีกลิ่นหอมหวานชวนให้รื่นรมย์ เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ย่อมไม่ติดอยู่ ด้วยน้ำ ฉันใด พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก อยู่ในโลกไม่ติดอยู่ ด้วยโลก เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉันนั้น ไฟกองใหญ่ลุกโชน เมื่อหมดเชื้อก็ดับไป ก็เมื่อเถ้ายังมีอยู่ เขาก็เรียกว่ากันว่า ไฟดับแล้ว ฉันใด อุปมาอันทำให้รู้เนื้อความแจ่มแจ้งนี้ วิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้ แล้ว ก็ฉันนั้น มหานาคทั้งหลายจักรู้แจ้งนาค อันพระพุทธเจ้าทรงแสดง แล้ว พุทธนาคเป็นผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ และโมหะ หมดอาสวะ เมื่อละสรีระร่างกายนี้แล้ว ก็จักไม่มีอาสวะปรินิพพาน.
-----------------------------------------------------
ในโสฬสกนิบาตนี้ พระเถระผู้มีมหิทธิฤทธิ์ ๒ รูป คือ พระโกณฑัญญ- เถระ กับ พระอุทายีเถระ ได้ภาษิตคาถาไว้องค์ละ ๑๖ คาถา รวมเป็น ๓๒ คาถา ฉะนี้แล.
จบ โสฬสกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา วีสตินิบาต
๑. อธิมุตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอธิมุตตเถระ
[๓๘๕] พระอธิมุตตเถระถูกพวกโจรจับไว้ มิได้มีความกลัวหวาดเสียว มีหน้าผ่องใส เมื่อหัวหน้าโจรเห็นดังนั้น เกิดความอัศจรรย์ใจ จึงได้กล่าวคาถาสรรเสริญ ๒ คาถาว่า เมื่อก่อน เราจะฆ่าสัตว์เหล่าใดเพื่อบูชายัญ หรือเพื่อทรัพย์ ความกลัว ก็ย่อมเกิดแก่สัตว์เหล่านั้นทั้งสิ้น สัตว์เหล่านั้นย่อมพากันหวาดหวั่น และบ่นเพ้อ แต่ความกลัวมิได้มีแก่ท่านเลย สีหน้าของท่านผ่องใสยิ่ง นัก เมื่อภัยใหญ่เห็นปานนี้ปรากฏแล้ว เหตุไรท่านจึงไม่คร่ำครวญเล่า. พระเถระเมื่อจะแสดงธรรม โดยมุ่งการตอบคำถามของนายโจรนั้น จึงได้กล่าวคาถา เหล่านี้ความว่า ดูกรนายโจร ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ห่วงใยในชีวิต ความกลัวทั้ง ปวงอันเราผู้สิ้นสังโยชน์ล่วงพ้นได้แล้ว เมื่อตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพสิ้น ไปแล้ว ความกลัวตายในปัจจุบันมิได้มีด้วยประการใดประการหนึ่งเลย ดุจบุรุษไม่กลัวความหนัก เพราะวางภาระแล้วฉะนั้น พรหมจรรย์เรา ประพฤติดีแล้ว แม้มรรคเราก็อบรมดีแล้ว เราไม่มีความกลัวตายเหมือน บุคคลไม่กลัวโรคเพราะโรคสิ้นไปแล้วฉะนั้น พรหมจรรย์เราประพฤติดี แล้ว แม้มรรคเราก็อบรมดีแล้ว ภพทั้งหลายอันไม่น่ายินดีเราได้เห็นแล้ว เหมือนบุคคลดื่มยาพิษแล้วคายทิ้งฉะนั้น บุคคลผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ไม่มี ความถือมั่น เสร็จกิจแล้ว หมดอาสวะ ย่อมยินดีต่อความสิ้นอายุเหมือน บุคคลพ้นแล้วจากการถูกประหารฉะนั้น บุคคลผู้บรรลุธรรมอันสูงสุด แล้ว ไม่มีความต้องการอะไรในโลกทั้งหมด ย่อมไม่เศร้าโศกในเวลา ตาย ดุจบุคคลออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ฉะนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ ในโลกนี้ก็ดี ภพที่สัตว์ย่อมได้ในโลกนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าแสวงหาคุณ อันใหญ่ยิ่งได้ตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นอิสระ ผู้ใดรู้แจ้งธรรมข้อนั้น เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมไม่ยึดถือภพอะไร ดัง บุคคลผู้ไม่จับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชน ฉะนั้น เราไม่มีความคิดว่า ได้เป็นมาแล้ว จักเป็นต่อไป จะไม่เป็น หรือสังขารจักฉิบหายไป จะ คร่ำครวญไปทำไมในเพราะสังขารนั้นเล่า ดูกรนายโจร ความกลัว ย่อมไม่มีแก่ผู้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิดขึ้นแห่งธรรม อันบริสุทธิ์ และความสืบต่อแห่งสังขารอันบริสุทธิ์ เมื่อใดบุคคล พิจารณาเห็นโลกเสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญา เมื่อนั้น บุคคลนั้น ย่อมไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี เรากลัด กลุ้มด้วยสรีระ ไม่ต้องการด้วยภพ ร่างกายนี้จักแตกไป และจักไม่มี ร่างกายอื่น ถ้าท่านทั้งหลายปรารถนาจะทำกิจใดด้วยร่างกายของเรา ก็จง ทำกิจนั้นเถิด ความขัดเคืองและความรักใคร่ในสรีระนั้น จักไม่มีแก่เรา เพราะเหตุที่ท่านทั้งหลาย ทำกิจตามปรารถนาด้วยร่างกายของเรานั้น. โจรทั้งหลายได้ฟังคำของท่าน อันอัศจรรย์อันทำให้ขนลุกชูชันดังนั้น แล้ว จึงพากันวางศาตราวุธ แล้วกล่าวดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ความ ไม่เศร้าโศกที่ท่านได้นี้ เพราะท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ หรือใครเป็น อาจารย์ของท่าน หรือเพราะอาศัยคำสั่งสอนของใคร? พระเถระได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวตอบว่า พระศาสดาผู้เป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ชนะหมู่มารมีพระกรุณา ใหญ่ผู้รักษาพยาบาลชาวโลกทั้งปวง เป็นอาจารย์ของเรา ธรรมเครื่องให้ ถึงความสิ้นอาสวะอันยอดเยี่ยมนี้ พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว ความไม่ เศร้าโศก เราได้เพราะอาศัยคำสั่งสอนของพระองค์ พวกโจรฟังถ้อยคำ อันเป็นสุภาษิตของพระเถระผู้เป็นฤาษีแล้ว พากันวางศาตราและอาวุธ บางพวกก็งดเว้นจากโจรกรรม บางพวกก็ขอบรรพชา โจรเหล่านั้นครั้นได้ บรรพาในศาสนาของพระสุคตแล้ว ได้เจริญโพชฌงค์และพลธรรมเป็น บัณฑิต มีจิตเฟื่องฟูเบิกบาน มีอินทรีย์อันอบรมดีแล้ว ได้บรรลุสันตบท คือ นิพพานอันหาปัจจัยปรุงแต่งมิได้.
๒. ปาราสริยเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระปาราสริยเถระ
[๓๘๖] ความคิดได้มีแล้วแก่ภิกษุผู้ชื่อว่าปาราสริยะ ผู้เป็นสมณะนั่งอยู่แล้วแต่ ผู้เดียว มีจิตสงบสงัด เพ่งฌาน บุรุษพึงทำอะไรโดยลำดับ พึงประพฤติ วัตรอย่างไร ประพฤติมารยาทอย่างไร จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจของตน และ ชื่อว่าไม่เบียดเบียนใครๆ อินทรีย์ทั้งหลายย่อมมีเพื่อประโยชน์และ ไม่ใช่ประโยชน์ แก่มนุษย์ทั้งหลาย อินทรีย์ที่ไม่รักษา ย่อมไม่เป็นไป เพื่อประโยชน์ อินทรีย์ที่รักษา ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ บุรุษผู้รักษา และคุ้มครองอินทรีย์นั่นแล จึงชื่อว่าเป็นผู้กระทำกิจของตน และชื่อว่า ไม่เบียดเบียนใครๆ ถ้าผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์ อันไปอยู่ในรูปทั้งหลาย ไม่เห็นโทษผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย อนึ่ง ผู้ใดไม่ห้ามโสตินทรีย์ อันเป็นไปอยู่ในเสียงทั้งหลาย ไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้ เลย ถ้าผู้ใดไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออก ซ่องเสพในกลิ่น ผู้นั้นเป็น ผู้หมกมุ่นอยู่ในกลิ่นย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ผู้ใดมัวแต่คำนึงถึงรสเปรี้ยว รสหวานและรสขมเป็นผู้กำหนัดยินดีด้วยตัณหาในรส ไม่รู้สึกถึงความ คิดในใจอันเกิดขึ้นในขณะบรรพชาว่า จักทำที่สุดทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้น ไปจากทุกข์ ผู้ใดมัวนึกถึงโผฏฐัพพะอันสวยงาม ไม่ปฏิกูล ยินดีแล้ว ผู้นั้นย่อมได้ประสบทุกข์มีประการต่างๆ อันมีราคะเป็นเหตุ ก็ผู้ใดไม่ อาจจะรักษาใจจากธรรมเหล่านี้ ทุกข์อันเกิดจากกระแสอารมณ์ทั้ง ๕ นั้น ย่อมติดตามผู้นั้นไป เพราะการไม่รักษาใจนั้น ร่างกายนี้เต็มไปด้วยหนอง เลือดและซากศพเป็นอันมาก เป็นของอันนายช่างผู้ฉลาดทำไว้ เป็นของ เกลี้ยงเกลาวิจิตรงดงามแต่ภายนอก ภายในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มี คูถเป็นต้น ดังสมุคฉะนั้น คนพาลย่อมไม่รู้สึกว่า ร่างกายนี้เป็นของ เผ็ดร้อน มีรสหวานเป็นที่ยินดี เกี่ยวพันด้วยความรัก เป็นทุกข์ เป็น ของฉาบไล้ไว้ด้วยสิ่งที่น่าชื่นใจ เหมือนมีดโกนอันทาแล้วด้วยน้ำผึ้ง ฉะนั้น บุคคลผู้กำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ของหญิง ย่อมต้องประสบทุกข์มีประการต่างๆ กระแสตัณหาในหญิง ทั้งปวงย่อมไหลไปในทวารทั้ง ๕ ของบุรุษ ผู้ใดมีความเพียร อาจทำการ ป้องกันกระแสตัณหาเหล่านั้นได้ ผู้นั้นตั้งอยู่ในอรรถ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นผู้ขยันมีปัญญาเครื่องพิจารณา ก็บุคคลควรเป็นผู้ยินดีทำกิจอันประ- กอบด้วยอรรถและธรรม การประกอบด้วยกามารมณ์ย่อมทำให้จมอยู่ใน โลกบุคคลพึงเว้นกิจอันไร้ประโยชน์เสีย เมื่อรู้ว่า สิ่งนั้นไม่ควรทำแล้ว พึงเป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องในสิ่งนั้น บุคคลพึงยึดเอาแต่กิจที่ ประกอบด้วยประโยชน์ และความยินดีอันประกอบด้วยธรรม แล้วพึง ประพฤติ เพราะว่าความยินดีในธรรมนั้นแล เป็นความยินดีสูงสุด ผู้ใดปรารถนาจะชิงเอาสิ่งของของผู้อื่นด้วยอุบายใหญ่น้อย ฆ่าผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ทำคนอื่นให้เศร้าโศก ฉกชิงเอาสิ่งของของคนอื่น ด้วยความทารุณร้ายกาจ การกระทำของผู้นั้น เป็นการกระทำอาศัยความ ยินดีในการประกอบด้วยความฉิบหาย บุคคลผู้มีกำลัง เมื่อผ่าไม้ ย่อม ตอกลิ่มด้วยลิ่ม ฉันใด ภิกษุผู้ฉลาดย่อมกำจัดอินทรีย์ ด้วยอินทรีย์ ฉันนั้น บุคคลผู้อบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา กำจัด อินทรีย์ ๕ ด้วยอินทรีย์ ๕ แล้ว เป็นพราหมณ์ผู้ไม่มีทุกข์ไป บุคคลนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในอรรถตั้งอยู่ในธรรม ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งปวง โดยประการทั้งปวง ย่อมได้รับความสุข.
๓. เตลุกานิเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระเตลุกานิเถระ.
[๓๘๗] เรามีความเพียรค้นคิดธรรมอยู่นาน ก็ไม่ได้ความสงบใจ จึงได้ถาม สมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า ใครหนอในโลกเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ใครเล่า เป็นผู้ได้บรรลุธรรมอันหยั่งลงสู่อมตะ เราจักปฏิบัติธรรมของใคร ซึ่ง เป็นเครื่องให้รู้แจ้งปรมัตถ์ เราเป็นผู้มีความคด คือ กิเลสอันไปแล้วใน ภายใน เหมือนปลาที่กินเหยื่อฉะนั้น เราถูกผูกด้วยบ่วงใหญ่ คือ กิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติอสูร ถูกผูกด้วยบ่วงของท้าวสักกะฉะนั้น เรากระชาก บ่วง คือ กิเลสนั้นไม่หลุด จึงไม่พ้นไปจากความโศกและความร่ำไร ใครในโลกจะช่วยเราผู้ถูกผูกแล้วให้หลุดพ้น ประกาศทางเป็นเครื่อง ตรัสรู้ให้เรา เราจะรับสมณะหรือพราหมณ์ คนไหนไว้เป็นผู้แสดงธรรม อันกำจัดกิเลสได้จะปฏิบัติธรรมเครื่องนำไป ปราศจากชราและมรณะ ของใคร จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย ประกอบด้วยความ แข่งดีเป็นกำลัง ฉุนเฉียว ถึงความเป็นจิตกระด้างด้วยใจ เป็นเครื่อง รองรับตัณหา สิ่งใดมีธนู คือ ตัณหาเป็นสมุฏฐานมีประเภท ๓๐ เป็น ของมีอยู่ในโลก เป็นของหนัก ทำลายหทัยแล้วตั้งอยู่ ขอท่านจงดูสิ่ง นั้นเถิด การไม่ละทิฏฐิน้อยๆ อันลูกศร คือ ความดำริผิดให้อาจหาญ แล้ว เราถูกยิงด้วยลูกศร คือ ทิฏฐินั้น หวั่นไหวอยู่ เหมือนใบไม้ที่ ถูกลมพัดฉะนั้น กรรมอันลามก ตั้งขึ้นแล้วในภายในของเราย่อมพลัน ให้ผล กายอันเนื่องด้วยสัมผัส ๖ เกิดแล้วในที่ใด ย่อมแล่นไปในที่นั้น ทุกเมื่อ เราไม่เห็นหมอผู้ที่จะถอนลูกศรของเราได้เลย หมอไม่สามารถ จะเยียวยาเรา ด้วยศาตราอย่างอื่นต่างๆ ชนิด ใครไม่ต้องใช้ศาตรา ไม่ทำให้ร่างกายเราเป็นแผล ไม่เบียดเบียนร่างกายเราทั้งหมด จักถอน ลูกศรอันเสียบอยู่ภายในหทัยของเราออกได้ ก็บุคคลผู้นั้นเป็นใหญ่ใน ธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ลอยโทษอันเป็นพิษเสียได้ ช่วยยกเราผู้ตกไป ในห้วงน้ำ คือ สงสารอันลึกขึ้นสู่บกได้ เราเป็นผู้จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ อันเป็นที่สุดแห่งธุลี เป็นห้วงน้ำลาดไปด้วยมายา ริษยา ความแข่งดี และความง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีใครจะนำออกได้ ความดำริทั้งหลาย อันอาศัยซึ่งราคะ เป็นเช่นกับห้วงน้ำใหญ่ มีเมฆ คือ อุทธัจจะเป็น เสียงคำรน มีสังโยชน์เป็นฝน ย่อมนำบุคคลผู้มีความเห็นผิดไปสู่สมุทร คือ อบาย กระแสตัณหาทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหา เพียงดังเถาวัลย์เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ ใครจะพึงกั้นกระแสตัณหาเหล่านั้นได้ ใครเล่าจะตัดตัณหา อันเป็นดังเถาวัลย์นั้นได้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทำฝั่งอันเป็นเครื่องกั้นกระแส ตัณหาเหล่านั้นเถิด อย่าให้กระแสตัณหาอันเกิดแต่ใจ พัดท่านทั้งหลายไปเร็วพลัน ดัง- กระแสน้ำ พัดต้นไม้อันตั้งอยู่ริมฝั่งฉะนั้น พระศาสดาผู้มีอาวุธ คือ ปัญญา ผู้อันหมู่ฤาษีอาศัยแล้วเป็นที่พึ่งแก่เราผู้มีภัยเกิดแล้ว ผู้แสวงหา ฟั่ง คือ นิพพานจากที่มิใช่ฝั่ง พระองค์ได้ทรงประทานบันไดอันนาย ช่างทำดีแล้วบริสุทธิ์ทำด้วยไม้แก่น คือ ธรรม เป็นบันไดมั่นคงแก่เรา ผู้ถูกกระแสตัณหาพัดไปอยู่ และได้ตรัสเตือนเราว่า อย่ากลัวเลย เราได้ขึ้นสู่ปราสาท คือ สติปัฏฐานแล้ว พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้ยินดี ในร่างกายของตน ที่เราได้สำคัญในกาลก่อนโดยเป็นแก่นสาร ก็เมื่อใด เราได้เห็นทางอันเป็นอุบายขึ้นสู่เรือ เมื่อนั้นเราจักไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ได้เห็นท่า คือ อริยมรรคอันอุดม พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทางอันสูง สุดเพื่อไม่ให้บาปธรรมทั้งหลาย มีทิฏฐิและมานะเป็นต้น ซึ่งเป็นดัง ลูกศรเกิดในตน เกิดแต่ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ เป็นไปได้ พระพุทธ- เจ้าทรงกำจัดโทษอันเป็นพิษได้ ทรงบรรเทากิเลสเครื่องร้อยกรองของเรา อันนอนเนื่องอยู่ในสันดานอันตั้งอยู่แล้วในใจของเราตลอดกาลนาน.
๔. รัฏฐปาลเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระรัฏปาลเถระ.
[๓๘๘] เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผลอันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย คนพาลพากันดำริหวังมาก อันไม่มี ความยั่งยืนตั้งมั่น เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตรด้วยแก้วมณีและ กุณฑล หุ้มด้วยหนังมีร่างกระดูกอยู่ภายใน งามพร้อมไปด้วยผ้าต่างๆ มีเท้าทั้งสองอันฉาบทาด้วยครั่งสด มีหน้าอันไล้ทาด้วยฝุ่น สามารถ ทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง ผมทั้งหลาย อันบุคคลตบแต่งเป็นลอนคล้ายกระดานหมากรุก นัยน์ตา ทั้งสองอันหยอดด้วยยาตา สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่ สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง กายอันเปื่อยเน่าอันบุคคลตบแต่ง แล้วเหมือนกล่องยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้ คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง นาย- พรานเนื้อดักบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเนื้อคร่ำครวญอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป บ่วงของนายพรานขาดไปแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเศร้าโศกอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อ แล้วหนีไป เราเห็นหมู่มนุษย์ที่มีทรัพย์ในโลกนี้ ได้ทรัพย์แล้วไม่ให้ทาน เพราะความลุ่มหลง ได้ทรัพย์แล้วทำการสั่งสมไว้ และปรารถนาอยากได้ ยิ่งขึ้นไป พระราชากดขี่ช่วงชิงเอาแผ่นดินครอบครองแผ่นดินอันมีสาคร เป็นที่สุด ตลอดฝั่งสมุทรข้างนี้แล้ว ไม่รู้จักอิ่ม ยังปรารถนาจัก ครอบครองฝั่งสมุทรข้างโน้นอีกต่อไป พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็น อันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหา ย่อมเข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มความ ประสงค์ ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อมไม่มี ในโลกเลย หมู่ญาติพากันสยายผมร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้นั้น และพันว่า ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย ครั้นพวกญาติตายแล้ว ก็ เอาผ้าห่อนำไปเผาเสียที่เชิงตะกอน ผู้ที่ตายไปนั้นถูกเขาแทงด้วยหลาว เผาด้วยไฟ ละโภคะทั้งหลาย มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัวไป เมื่อบุคคลจะตาย ย่อมไม่มีญาติหรือมิตรสหายช่วยต้านทานได้ พวกที่รับมรดกก็มาขนเอา ทรัพย์ของผู้ตายนั้นไป ส่วนสัตว์ที่ตายย่อมไปตามยถากรรม เมื่อตาย ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรๆ คือ พวกบุตร ภริยา ทรัพย์ แว่นแคว้น สิ่งใดๆ จะติดตามไม่ได้เลย บุคคลจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่ จะละ ความแก่ไปแม้เพราะทรัพย์ก็หาไม่ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นแล ว่าเป็นของน้อย ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมี และคนยากจน ย่อมถูกต้องผัสสะเหมือนกัน ทั้งคนพาลและคนฉลาด ก็ต้องถูกผัสสะเหมือนกันทั้งนั้น แต่คนพาลถูกอารมณ์ที่ไม่พอใจ เบียดเบียน ย่อมอยู่เป็นทุกข์เพราะความเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์อัน ผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้นและ ปัญญาจึงจัดว่า ประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน แต่คนพาล ไม่ปรารถนาจะบรรลุ พากันทำกรรมชั่วต่างๆ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เพราะความหลง ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ผู้นั้นจะต้องเวียนตายเวียนเกิด อยู่ในวัฏสงสารร่ำไป บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เมื่อมาเชื่อต่อการทำของ บุคคลผู้ที่ทำความชั่วนั้น ก็จะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ร่ำไปเหมือนกัน โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลางย่อมเดือดร้อน เพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ละไปแล้ว ย่อม เดือดร้อนในปรโลกเพราะกรรมของตน ฉะนั้น กามทั้งหลายงามวิจิตร มีรสอร่อย น่ารื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ ดูกรมหาบพิตร เพราะอาตมภาพได้เห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงออกบวช สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ย่อมตกไปเพราะร่างกายแตก เหมือนผลไม้หล่น ฉะนั้น ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพเห็นความไม่เที่ยงแม้ข้อนี้ จึงออกบวชความ เป็นสมณะอันไม่ผิดนั้นแล ประเสริฐ อาตมภาพออกบวชด้วยศรัทธา เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาของพระชินเจ้า บรรพชาของอาตมภาพ ไม่มีโทษ อาตมภาพไม่เป็นหนี้บริโภคโภชนะ อาตมภาพเห็นกามทั้งหลาย โดยเป็นของอันไฟติดทั่วแล้ว เห็นทองทั้งหลายโดยเป็นศาตรา เห็นทุกข์ จำเดิมแต่ก้าวลงในครรภ์ เห็นภัยใหญ่ในนรก จึงออกบวช อาตมภาพ เห็นโทษอย่างนี้แล้วได้ความสังเวชในกาลนั้น ในกาลนั้นอาตมภาพ เป็นผู้ถูกลูกศร คือ ราคะเป็นต้นแทงแล้ว บัดนี้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะ แล้ว พระศาสดาอันอาตมภาพคุ้นเคยแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อาตมภาพทำสำเร็จแล้ว อาตมภาพได้ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอน- ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ ที่กุลบุตรออกบวช เป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว.
๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระมาลุงกยเถระ.
[๓๘๙] เมื่อบุคคลได้เห็นรูปแล้ว มัวใส่ใจถึงรูปนั้นว่าเป็นนิมิตที่น่ารัก สติก็ ลุ่มหลง เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นย่อมมีจิตกำหนัดเพลิดเพลินอยู่ ทั้งยึด มั่นรูปนั้นด้วย เวทนามิใช่น้อยซึ่งมีรูปเป็นแดนเกิด ย่อมเจริญมากขึ้น แก่ผู้นั้น อภิชฌาและวิหิงสาย่อมเบียดเบียนจิตของผู้นั้นให้เดือดร้อน ความทุกข์ย่อมเป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัวคำนึงถึงรูปอยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสผู้นั้นว่า เป็นผู้ห่างไกลนิพพาน เมื่อบุคคลได้ฟังเสียงแล้ว มัวใส่ใจ ถึงเสียงนั้นว่าเป็นนิมิตที่น่ารัก สติก็ลุ่มหลง เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้นั้น ย่อมมีจิตกำหนัดเพลิดเพลินอยู่ ทั้งยึดมั่นเสียงนั้นด้วย เวทนามิใช่น้อย ซึ่งมีเสียงเป็นแดนเกิด ย่อมเจริญมากขึ้นแก่ผู้นั้น อภิชฌาและวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของผู้นั้นให้เดือดร้อน ความทุกข์ย่อมเป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัวคำนึงถึงเสียงอยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า เป็นผู้ห่างไกล นิพพาน เมื่อบุคคลได้ดมกลิ่นแล้ว มัวใส่ใจถึงกลิ่นนั้นว่าเป็นนิมิตที่ น่ารัก สติก็ลุ่มหลง เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้นั้นย่อมมีจิตกำหนัดเพลิดเพลิน อยู่ ทั้งยึดมั่นกลิ่นนั้น ด้วยเวทนามิใช่น้อยซึ่งมีกลิ่นเป็นแดนเกิด ย่อม เจริญมากขึ้นแก่ผู้นั้น อภิชฌาและวิหิงสาย่อมเบียดเบียนจิตของผู้นั้น ให้เดือดร้อน ความทุกข์ย่อมเป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัวคำนึงถึงกลิ่นอยู่อย่าง นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า เป็นผู้ห่างไกลนิพพาน เมื่อบุคคลใด ลิ้มรสแล้ว มัวใส่ใจถึงรสนั้นว่าเป็นนิมิตที่น่ารัก สติก็ลุ่มหลง เมื่อเป็น เช่นนั้น ผู้นั้นย่อมมีจิตกำหนัดเพลิดเพลินอยู่ ทั้งยึดมั่นรสนั้นด้วย เวทนามิใช่น้อยซึ่งมีรสเป็นแดนเกิด ย่อมเจริญมากขึ้นแก่ผู้นั้น อภิชฌา และวิหิงสาย่อมเบียดเบียนจิตของผู้นั้นให้เดือดร้อน ความทุกข์ย่อม เป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัวคำนึงถึงรสอยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้น ว่า เป็นผู้ห่างไกลนิพพาน เมื่อบุคคลถูกต้องผัสสะแล้ว มัวใส่ใจถึง ผัสสะนั้นว่าเป็นนิมิตที่น่ารัก เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นย่อมมีจิตกำหนัด เพลิดเพลินอยู่ ทั้งยึดมั่นผัสสะนั้นด้วย เวทนามิใช่น้อยซึ่งมีผัสสะ เป็นแดนเกิด ย่อมเจริญมากขึ้นแก่ผู้นั้น อภิชฌาและวิหิงสาย่อมเบียด- เบียนจิตของผู้นั้นให้เดือดร้อน ความทุกข์ย่อมเป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัว คำนึงถึงผัสสะอยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า เป็นผู้ห่างไกล นิพพาน เมื่อบุคคลรู้ธรรมารมณ์แล้ว มัวใส่ใจถึงธรรมารมณ์นั้นว่าเป็น มิตรที่น่ารัก สติก็มีลุ่มหลง เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นย่อมมีจิตกำหนัด เพลิดเพลินอยู่ ทั้งยึดมั่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ เวทนามิใช่น้อยซึ่งมีธรรมา- รมณ์เป็นแดนเกิด ย่อมเจริญขึ้นมากแก่ผู้นั้น อภิชฌาและวิหิงสาย่อม เบียดเบียนจิตของผู้นั้นให้เดือดร้อน ความทุกข์ย่อมเป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัวคำนึงถึงธรรมารมณ์อยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า เป็น ผู้ห่างไกลนิพพาน ส่วนผู้ใดเห็นรูปแล้วเป็นผู้มีสติเฉพาะหน้า ผู้นั้นไม่ กำหนัดยินดีในรูป เป็นผู้มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ทั้งไม่ยึดมั่น รูปนั้น กิเลสชาติมีอภิชฌาเป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปแก่พระโยคี ผู้พิจารณา เห็นรูปโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น หรือแม้กิเลสทั้งปวงของ พระโยคีผู้เสวยเวทนาอยู่ ย่อมสิ้นไป ก่อรากขึ้นไม่ได้ ฉันใด ผู้นั้นมี สติประพฤติอยู่ ก็ฉันนั้น ทุกข์ย่อมไม่เป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้ไม่คำนึงถึง อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า มีในที่ใกล้นิพพาน ผู้ใดได้ฟัง- มีเสียงแล้วเป็นผู้มีสติเฉพาะหน้า ผู้นั้นไม่กำหนัดยินดีในเสียง เป็นผู้ จิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์ ทั้งไม่ยึดมั่นเสียงนั้น กิเลสชาติมีอภิชฌา เป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปแก่พระโยคีผู้ได้ฟังเสียง โดยความเป็นของไม่ เที่ยงเป็นต้น กิเลสทั้งปวงของพระโยคีผู้เสวยเวทนาอยู่ ย่อมสิ้นไป ก่อรากขึ้นไม่ได้ ฉันใด ผู้นั้นเป็นผู้มีสติประพฤติอยู่ ก็ฉันนั้น ทุกข์ ย่อมไม่เป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้ไม่คำนึงถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้น ว่า มีในที่ใกล้นิพพาน ผู้ใดได้ดมกลิ่นแล้ว เป็นผู้มีสติเฉพาะหน้า ผู้นั้นไม่กำหนัดยินดีในกลิ่น เป็นผู้มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ทั้งไม่ยึดมั่นกลิ่นนั้น กิเลสชาติมีอภิชฌาเป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปแก่พระ โยคีผู้ดมกลิ่นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น หรือแม้กิเลสทั้งปวง ของพระโยคีผู้เสวยเวทนาอยู่ย่อมสิ้นไป ก่อรากขึ้นไม่ได้ ฉันใด ผู้นั้น เป็นผู้มีสติประพฤติอยู่ ก็ฉันนั้น ทุกข์ย่อมไม่เป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้ไม่คำนึงถึง อยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า มีในที่ใกล้นิพพาน ผู้ใดได้ ลิ้มรสแล้ว เป็นผู้มีสติเฉพาะหน้า ผู้นั้นไม่กำหนัดยินดีในรส เป็น ผู้มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ทั้งไม่ยึดมั่นรสนั้น กิเลสชาติมี อภิชฌาเป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปแก่พระโยคีผู้ลิ้มรส โดยความเป็นของ ไม่เที่ยงเป็นต้น กิเลสทั้งปวงของพระโยคีผู้เสวยเวทนาอยู่ย่อมสิ้นไป ก่อรากขึ้นไม่ได้ ฉันใด ผู้นั้นเป็นผู้มีสติประพฤติอยู่ ก็ฉันนั้น ทุกข์ย่อม ไม่เป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้ไม่คำนึงถึงอย่างนั้น ผู้ใดถูกต้องผัสสะแล้วเป็น ผู้มีสติเฉพาะหน้า ผู้นั้นไม่กำหนัดยินดีในผัสสะ เป็นผู้มีจิตคลาย กำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ทั้งไม่ยึดมั่นผัสสะนั้น กิเลสชาติมีอภิชฌา เป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปแก่พระโยคีผู้ถูกต้องผัสสะ โดยความเป็นของ ไม่เที่ยงเป็นต้น กิเลสทั้งปวงของพระโยคีผู้เสวยเวทนาอยู่ย่อมสิ้นไปไม่ ก่อรากขึ้นได้ ฉันใด ผู้นั้นเป็นผู้มีสติประพฤติอยู่ ก็ฉันนั้น ทุกข์ย่อม ไม่เป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้ไม่คำนึงถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า มีในที่ใกล้นิพพาน ผู้ใดรู้แจ้งธรรมารมณ์แล้วเป็นผู้มีสติเฉพาะหน้า ผู้นั้นไม่กำหนัดยินดีในธรรมารมณ์ เป็นผู้มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์ อยู่ ทั้งไม่ยึดมั่นธรรมารมณ์นั้น กิเลสชาติมีอภิชฌาเป็นต้น ย่อมไม่ เป็นไปแก่พระโยคีผู้รู้แจ้งธรรมารมณ์ โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น หรือแม้กิเลสทั้งปวง ของพระโยคีผู้เสวยเวทนาอยู่ย่อมสิ้นไป ไม่ก่อราก ขึ้นได้ ฉันใด ผู้นั้นเป็นผู้มีสติประพฤติอยู่ ก็ฉันนั้น ทุกข์ย่อมไม่เป็น ไปแก่ผู้นั้น ผู้ไม่คำนึงถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสผู้นั้นว่า มีในที่ ใกล้นิพพาน.
๖. เสลเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระเสลเถระ
[๓๙๐] พระเสลเถระเมื่อครั้งยังเป็นพราหมณ์ได้กล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ๖ คาถา ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ผู้ทรงมีพระวิริยภาพ มีพระสรีระกาย สมบูรณ์ มีพระรัศมีงดงามชวนให้น่าดูยิ่งนัก พระฉวีวรรณก็เปล่งปลั่ง ดังทองคำ พระเขี้ยวแก้วทั้งซ้ายขวาก็สุกใส ด้วยว่าลักษณะแห่งมหาบุรุษ เหล่าใด ย่อมมีปรากฏแก่พระอริยเจ้า หรือพระบรมจักรพรรดิ ผู้เป็น นระเกิดแล้วโดยชอบ ลักษณะแห่งมหาบุรุษเหล่านั้น ย่อมมีปรากฏใน พระกายของพระองค์ครบทุกสิ่ง พระองค์มีดวงพระเนตรแจ่มใส พระ พักตร์ผุดผ่อง พระวรกายทั้งสูงทั้งกว้างและตั้งตรง มีพระเดชรุ่งโรจน์ อยู่ในท่ามกลางแห่งหมู่พระสมณะ ปานดังดวงอาทิตย์ฉะนั้น พระองค์ ทรงเป็นภิกษุที่มีคุณสมบัติงดงามน่าชม มีพระฉวีวรรณผุดผ่องงดงามดัง ทองคำ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระวรรณะและพระลักษณะอันอุดมถึง อย่างนี้ จะมัวมาเป็นสมณะอยู่ทำไมกัน พระองค์ควรจะเป็นพระราชา หรือไม่ก็จักรพรรดิราชันย์ผู้ประเสริฐ ทรงปราบปรามไพรีชนะแล้วเสด็จ ผ่านพิภพ เป็นบรมเอกราชในสากลชมพูทวีป มีสมุทรสาครสี่เป็นขอบ เขต ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นผ่านราชสมบัติ เป็นองค์ ราชาธิราชจอมมนุษย์นิกรทั้งหลาย ตามพระราชประเพณีของกษัตราธิราช โดยพระชาติที่ได้เสวยราชย์ อันมีหมู่เสวกามาตย์โดยเสด็จตามพระองค์ มาเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว คือ เป็นธรรมราชายอด เยี่ยม เรายังจักรอันใครๆ ให้เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปโดยธรรม. เสลพราหมณ์ได้กราบทูลด้วยคาถา ๒ คาถาว่า ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญาณว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ทั้งยังได้ตรัสยืนยันว่า จะทรงยังจักรให้เป็น ไปโดยธรรม ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ เป็นสาวกผู้ประพฤติ ตามพระองค์ผู้เป็นศาสดา ใครจะประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงประกาศ แล้วให้เป็นไปตามได้. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรเสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้อนุชาตบุตรของตถาคต จะประกาศธรรม- จักรอันยอดเยี่ยมที่เราประกาศแล้ว ดูกรพราหมณ์ เรารู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ ยิ่งแล้ว เจริญธรรมที่ควรเจริญแล้ว ละธรรมที่ควรละแล้ว เหตุนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงนำความเคลือบแคลงในเรา ออกเสีย จงน้อมใจเชื่อเถิด เพราะการเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนืองๆ ที่ปรากฏขึ้นในโลก เป็นการหาได้ยาก ดูกรพราหมณ์ เราเป็นพระพุทธเจ้า เป็นหมอผ่าตัดลูกศร คือ กิเลสชั้นเยี่ยม เราเป็นผู้ประเสริฐดังพรหม ไม่มีผู้เสมอเหมือน เป็นผู้ย่ำยีมารและเสนามาร ทำให้หมู่สัตว์ผู้มิใช่ มิตรทุกๆ จำพวกไว้ในอำนาจได้ เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เบิกบานอยู่. เสลพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์ทรงสดับคำของข้าพระองค์นี้ก่อน พระตถาคตผู้มีพระจักษุเป็นแพทย์ผ่าตัดลูกศร ทรงมีความเพียรยิ่งใหญ่ ได้ตรัสพระวาจาเหมือนราชสีห์บันลือสีหนาทในป่า ใครได้เห็นพระองค์ ผู้ประเสริฐดังพรหม ไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงย่ำยีมารและเสนามาร ได้แล้ว จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า แม้คนที่เกิดในเหล่ากอคนดำ ก็ย่อม เลื่อมใส ผู้ใดปรารถนาจะตามฉันมา ก็เชิญตามมา หรือไม่ปรารถนา ก็จงกลับไปเถิด แต่ตัวฉันจะบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญา อย่างประเสริฐนี้ละ. พอเสลพราหมณ์ผู้อาจารย์พูดจบลง ทันใดนั้นเอง มาณพอันเตวาสิก ๓๐๐ คนเป็นผู้ มุ่งจะบวชเหมือนกัน จึงกล่าวคาถาว่า ถ้าท่านอาจารย์ชอบใจคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ แม้ข้าพเจ้า ทั้งหลายก็จะพากันบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาอย่าง ประเสริฐ. เสลพราหมณ์กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้ พากันประนมอัญชลีทูลขอ บรรพชาว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระ องค์ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด พรหมจรรย์เรากล่าวดีแล้ว อันผู้บรรลุจะ พึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เพราะการบวชในศาสนานี้ ไม่ไร้ผล แก่บุคคลผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่. ครั้นพระเสลเถระได้บรรลุอรหัตแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจะประกาศ อรหัตผลที่ตนได้บรรลุ จึงกล่าวคาถา ๔ คาถา ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ นับแต่วันที่ข้าพระองค์ทั้งหลายถึง สรณคมน์ล่วงไปแล้วได้ ๗ วัน ครบ ๘ วันเข้าวันนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นผู้มีอินทรีย์อันฝึกแล้ว ในศาสนาของพระองค์ พระองค์เป็นผู้ตื่น แล้วและยังทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นได้อีกด้วย พระองค์เป็นครูผู้สั่งสอนแก่ ทวยเทพแลมนุษย์ทั้งหลาย เป็นจอมปราชญ์ ทรงครอบงำมารและ เสนามาร ทรงตัดอนุสัยได้แล้ว ทรงข้ามห้วงแห่งสังสารวัฏได้แล้ว ทรง ยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามห้วงแห่งสังสารวัฏได้ด้วย ทรงก้าวล่วงอุปธิได้แล้ว ทรงทำลายอาสวะทั้งหลายได้แล้ว ทรงเป็นผู้ไม่มีความยึดมั่น ทรงละ ความขลาดกลัวต่อภัยได้แล้ว เหมือนสีหราชผู้ไม่ครั่นคร้ามต่อหมู่เนื้อ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ภิกษุ ๓๐๐ รูปเหล่านี้ พากันมายืน ประนมอัญชลีอยู่พร้อมหน้า ขอพระองค์โปรดทรงเหยียดฝ่าพระบาททั้ง สองมาเถิด ภิกษุผู้ประเสริฐทั้งหลายจะขอถวายบังคมพระองค์ผู้เป็น ศาสดา.
๗. ภัททิยกาลิโคธาปุตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระภัททิยเถระ
[๓๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์จะไปไหนก็ขึ้นคอช้างไป แม้ จะนุ่งห่มผ้า ก็นุ่งห่มแต่ผ้าที่ส่งมาจากแคว้นกาสีมีเนื้ออันละเอียด แม้ จะบริโภค ก็บริโภคแต่อาหารล้วนเป็นข้าวสาลี พร้อมด้วยเนื้ออัน สะอาดมีโอชารส ถึงกระนั้น ความสุขนั้นก็หาได้ทำจิตของข้าพระองค์ ให้ยินดีเหมือนความสุขในวิเวกในบัดนี้ไม่ แต่เดี๋ยวนี้ ข้าพระองค์ผู้มี นามว่าภัททิยะเป็นโอรสของพระนางกาลิโคธา เป็นผู้เจริญ ประกอบด้วย ความเพียร ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ถือมั่นใน สิ่งใดๆ เพ่งฌานอยู่ บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้ชื่อว่าภัททิยะ เป็นโอรสของ พระนางกาลิโคธาถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ประกอบด้วยความ เพียร ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการบิณฑบาต ไม่ถือมั่นในสิ่งใดๆ เพ่งฌานอยู่ บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ประกอบ ด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ใช้แต่ผ้าไตรจีวรเป็นวัตร ประกอบ ด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการเที่ยวบิณฑบาต ไปตามลำดับ ตรอกเป็นวัตร ประกอบความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการนั่งฉันบน อาสนะแห่งเดียวเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ ถือการฉันอาหารเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการฉันอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร ประกอบ ด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ประกอบด้วย ความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ประกอบด้วย ความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ประกอบด้วย ความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่แต่ในป่าช้าเป็นวัตร ประกอบ ด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัด ให้ อย่างไรเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือ การไม่นอนเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการ เป็นผู้มักน้อยเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ถือ การเป็นผู้สันโดษเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์ ถือการเป็นผู้ชอบสงัดเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้า- พระองค์ถือการไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ... บัดนี้ ข้าพระองค์นามว่าภัททิยะเป็นโอรสของพระนางกาลิโคธา เป็น ผู้ปรารภความเพียร ประกอบด้วยความเพียร ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วย การเที่ยวบิณฑบาต ไม่ถือมั่นในสิ่งใดๆ เพ่งฌานอยู่ ข้าพระองค์ละทิ้ง เครื่องราชูปโภค คือ จานทองคำอันมีราคา ๑๐๐ ตำลึง ซึ่งประกอบ ไปด้วยลวดลายอย่างงดงาม วิจิตรไปด้วยภาพทั้งภายในและภายนอกนับ ได้ตั้ง ๑๐๐ มาใช้บาตรดินใบนี้ นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่สอง แต่ก่อน ข้าพระองค์มีหมู่ทหารถือดาบรักษาบนป้อมและกำแพง ที่ล้อมรอบซึ่งอาจ มองเห็นได้ไกล และที่ซุ้มประตูพระนครอย่างแน่นหนา ก็ยังมีความ หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้มีชื่อว่าภัททิยะ เป็นโอรส ของพระนางกาลิโคธาเป็นผู้เจริญ ไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ละความ ขลาด กลัวภัยได้แล้ว มาหยั่งลงสู่ป่า เพ่งฌานอยู่ ข้าพระองค์ตั้งมั่นอยู่ ในศีลขันธ์ เจริญสติปัญญา ได้บรรลุถึงความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง โดยลำดับ.
๘. องคุลิมาลเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระองคุลิมาลเถระ
[๓๙๒] พระองคุลิมาลเถระ สมัยเมื่อยังเป็นโจร ได้กล่าวคาถากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ดูกรสมณะ ท่านสิกำลังเดินอยู่ กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้ว ส่วน ข้าพเจ้าหยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวว่าไม่หยุด ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าขอถาม ความข้อนี้กะท่าน ท่านกำลังเดินอยู่เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวว่าหยุดแล้ว ข้าพเจ้าสิหยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวว่าไม่หยุด? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรองคุลิมาล เราวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ส่วนท่านสิยังไม่สำรวม ในสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว ส่วนท่านชื่อว่ายังไม่หยุด. องคุลิมาลโจรกราบทูลว่า พระองค์เป็นสมณะที่ชาวโลกกับทั้งเทวโลกบูชาด้วยเครื่องบูชามากมาย ผู้ ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพิ่งจะเสด็จมาถึงป่าใหญ่เพื่อโปรดข้าพระองค์ โดยกาลนานหนอ ข้าพระองค์ได้สดับพระคาถา ซึ่งประกอบด้วยเหตุผล ของพระองค์แล้ว จักละเลิกบาปกรรมตั้งพันเสีย. พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวคาถาไว้ ๒ คาถา ความว่า ครั้นองคุลิมาลโจรกราบทูลดังนี้แล้ว ก็โยนดาบและอาวุธทั้งหมดทิ้งลง ในหนองน้ำ บ่อน้ำและในเหว ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระสุคต- เจ้า แล้วทูลขอบรรพชากะพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นเอง ทันใดนั้นแล พระพุทธเจ้าประกอบไปด้วยพระมหากรุณา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของโลกกับทั้งเทวโลก ได้ตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด เท่านี้ ความเป็นภิกษุได้มีแก่องคุลิมาลโจรนั้น ในขณะนั้นทีเดียว. เมื่อท่านพระองคุลิมาลได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้บรรลุอรหัตแล้วเสวยวิมุตติสุขอยู่ เกิดปีติโสมนัส ได้กล่าวคาถาด้วยสามารถอุทานนี้ ความว่า ผู้ใดเคยประมาทในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น บาปกรรมที่ ทำไว้แล้ว อันผู้ใดย่อมปิดกั้นไว้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่าง ไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น ภิกษุใดแล แม้จะ ยังหนุ่ม ประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น ย่อมทำ โลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น ก็ผู้ที่ เป็นข้าศึกต่อเรา ขอจงฟังธรรมกถาที่เราได้ฟังแล้วในสำนักของพระ ศาสดา ขอจงประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา ขอจงคบหา กับมนุษย์ผู้เป็นสัตบุรุษ ซึ่งถือมั่นแต่ธรรมอย่างเดียว ก็ผู้ที่เป็นข้าศึกต่อ เรา ขอเชิญฟังธรรมของท่านผู้กล่าวสรรเสริญความอดทน ผู้มีปกติ สรรเสริญความไม่พิโรธ ตามเวลาอันสมควร และขอจงปฏิบัติตาม ธรรมอันสมควรแก่ธรรมนั้นเถิด ขออย่าเบียดเบียนเราและชาวประชา หรือว่าสัตว์อื่นใดเลย พึงบรรลุความสงบอย่างเยี่ยม และพึงรักษาสัตว์ ทั้งปวงให้เป็นเหมือนบุตรที่รักเถิด ก็ชาวนาที่ต้องการน้ำย่อมไขน้ำไป ช่างศรย่อมดัดลูกศร ช่างไม้ย่อมถากไม้ บัณฑิตย่อมฝึกตน คนบางพวก ฝึกช้างและม้าเป็นต้น ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแซ่บ้าง ส่วน เราเป็นผู้อันพระศาสดาผู้คงที่ทรงฝึกแล้ว โดยไม่ได้ทรงใช้อาญาและ ศาตรา เมื่อก่อนเรามีชื่อว่า อหิงสกะ ผู้ไม่เบียดเบียน แต่เรายัง เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ วันนี้เราเป็นผู้มีชื่อจริง ไม่เบียดเบียนใคร แต่ก่อน เราเป็นโจรลือชาทั่วไปว่า องคุลิมาล ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดไปจนได้มาพบ พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งเข้า ครั้งก่อน เรามีมือเปื้อนด้วยโลหิตลือชื่อไป ทุกทิศว่า องคุลิมาล แต่บัดนี้ องคุลิมาลได้มาพบพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่ พึ่งเข้าแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ขึ้นได้แล้ว เราได้ ทำกรรมเช่นนั้นอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมาก จึงต้องมารับผล กรรมที่ทำไว้ แต่บัดนี้เราบริโภคโภชนะโดยไม่เป็นหนี้ คนพาลผู้มี ปัญญาทราม ย่อมประกอบตามความประมาท ส่วนนักปราชญ์ ย่อม รักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุด ฉะนั้น ท่าน ทั้งหลายอย่าประกอบตามความประมาท อย่าประกอบความสนิทสนม ด้วยความยินดีในกาม เพราะว่าผู้ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่ ย่อมถึงความสุข อันไพบูลย์ การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดาเป็นการมาดีแล้ว มิใช่ว่า เป็นการมาไม่ดี การที่เราคิดจะบวชในสำนักของพระศาสดานี้ ก็ไม่ใช่ เป็นความคิดที่เลวเลย เพราะเป็นการเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ ในธรรม ทั้งหลายที่พระศาสดาทรงจำแนกดีแล้ว การที่เรามาสู่สำนักของพระ- ศาสดานี้ เป็นการมาดีแล้ว มิใช่ว่าเป็นการมาไม่ดี การที่เราคิดจะมาบวช ในสำนักของพระศาสดานี้ ก็ไม่ใช่เป็นความคิดที่เลวเลย เพราะเราได้ บรรลุวิชชา ๓ ตามลำดับ ได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว แต่ก่อนเราอยู่ในป่า โคนไม้ ภูเขา หรือในถ้ำทุกๆ แห่ง มีใจหวาด เสียวอยู่เป็นนิตย์ เราผู้อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้วไม่ไปในบ่วง มาร จะยืนเดินนั่งนอนก็เป็นสุข เมื่อก่อนเรามีเชื้อชาติเป็นพราหมณ์ มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย บัดนี้ เราเป็นโอรสของ พระสุคตศาสดา ผู้เป็นธรรมราชา เราเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่ถือ มั่น คุ้มครองทวารสำรวมดีแล้ว เราตัดรากเหง้าของทุกข์ได้แล้ว บรรลุ ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดา ทำคำสอนของ พระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำ ไปสู่ภพขึ้นแล้ว.
๙. อนุรุทธเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอนุรุทธเถระ
[๓๙๓] พระอนุรุทธะละพระชนกชนนี พระประยูรญาติ ละเบญจกามคุณได้แล้ว เพ่งฌานอยู่ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้อง มีดนตรีบรรเลง ปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า ก็ไม่บรรลุถึงความบริสุทธิ์ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้องนั้นได้ เพราะยังเป็นผู้ยินดีในกามคุณอันเป็นวิสัยแห่งมาร พระ- อนุรุทธะก้าวล่วงเบญจกามคุณนั้นเสียแล้ว ยินดีในพระพุทธศาสนา ก้าวล่วงโอฆะทั้งปวงแล้ว เพ่งฌานอยู่ พระอนุรุทธะได้ก้าวล่วงกามคุณ เหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจแล้ว เพ่งฌานอยู่ พระอนุรุทธะเป็นนักปราชญ์ หาอาสวะมิได้ผู้เดียว ไม่มี เพื่อนสอง กลับจากบิณฑบาตแล้วเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลอยู่ พระ- อนุรุทธะเป็นนักปราชญ์มีปรีชา หาอาสวะมิได้ เที่ยวเลือกหาเอาแต่ผ้าบัง- สุกุล ครั้นได้มาแล้ว ก็มาซักย้อมเอาเองแล้วนุ่งห่ม บาปธรรมอันเศร้า หมอง เหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้มักมาก ไม่สันโดษ ระคนด้วยหมู่ มีจิตฟุ้ง ซ่าน อนึ่ง ภิกษุใดเป็นผู้มีสติ มักน้อย สันโดษ ไม่มีความขัดเคือง ยินดีในวิเวก ชอบสงัด ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ กุศลธรรมซึ่งเป็นฝ่าย ให้ตรัสรู้เหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุนั้น ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวง หาคุณอันยิ่งใหญ่ ก็ตรัสสรรเสริญภิกษุนั้นว่า เป็นผู้หมดอาสวะ พระ- ศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของเราแล้ว เสด็จมาหาเรา ด้วยมโนมยิทธิทางกาย เมื่อใด ความดำริได้มีแก่เรา เมื่อนั้น พระ- พุทธเจ้าทรงทราบความดำริของเราแล้ว ได้เสด็จเข้ามาหาเราด้วยพระฤทธิ์ แล้วทรงแสดงธรรมอันยิ่งแก่เรา พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมเครื่อง ไม่เนิ่นช้า ได้ทรงแสดงธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้าแก่เรา เรารู้ทั่วถึงพระธรรม เทศนาของพระองค์แล้ว เป็นผู้ยินดีในพระศาสนา ปฏิบัติตามคำพร่ำ สอนอยู่ เราบรรลุวิชชา ๓ โดยลำดับ ได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เสร็จแล้ว เราถือการไม่นอนเป็นวัตรมาเป็นเวลา ๕๕ ปี เรากำจัดความ ง่วงเหงาหาวนอนมาแล้วเป็นเวลา ๒๕ ปี ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายถามเราว่า พระผู้มีพระภาค ปรินิพพานแล้วหรือยัง เราได้ตอบว่า ลมหายใจออกและหายใจเข้ามิได้ มีแก่พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่ แต่พระองค์ยังไม่ ปรินิพพานก่อน พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ผู้ไม่มีตัณหาเป็นเครื่องทำ ใจให้หวั่นไหว ทรงทำนิพพานให้เป็นอารมณ์คือ เสด็จออกจากจตุตถ- ฌาน แล้วจึงจะเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคทรงอดกลั้นเวทนา ด้วย พระหฤทัยอันเบิกบาน ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้เป็นดวงประทีปของชาว โลกกับทั้งเทวโลก เสด็จดับขันธปรินิพพาน ความพ้นพิเศษแห่งพระ- หฤทัยได้มีขึ้นแล้ว บัดนี้ธรรมเหล่านี้อันมีสัมผัสเป็นที่ ๕ ของพระมหา มุนีได้สิ้นสุดลงแล้ว ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีกต่อไป ดูกรเทวดา บัดนี้ การอยู่อีกต่อไปด้วยอำนาจการอุบัติในเทพนิกาย ย่อม ไม่มี ชาติสงสารสิ้นไปแล้ว บัดนี้ การเกิดในภพใหม่มิได้มี ภิกษุใด รู้แจ้งมนุษยโลก เทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลกอันมีประเภทตั้งพัน ได้ ในเวลาครู่เดียว ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณ คือ อิทธิฤทธิ์ และในจุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ตาม ความประสงค์ เมื่อก่อนเรามีนามว่าอันนภาระเป็นคนยากจน เที่ยวหารับ จ้างเลี้ยงชีพ ได้ถวายอาหารแด่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นสมณะ เรืองยศ เพราะบุญกรรมที่ได้ทำมาแล้ว เราจึงได้มาเกิดในศากยตระกูล พระประยูรญาติขนานนามให้เราว่า อนุรุทธะ เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วย การฟ้อนรำและขับร้อง มีเครื่องดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำ เช้า ต่อมา เราได้เห็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีภัย แต่ ที่ไหนๆ ได้ยังจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ท่านแล้ว ออกบวชเป็นบรรพ- ชิต เราระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ เราได้เคยเป็นท้าวสักกรินทร์เทวราชอยู่ ในดาวดึงส์เทพพิภพมาแล้ว เราได้ปราบปรามไพรีพ่ายแพ้แล้ว ขึ้นผ่าน สมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์นิกร ในชมพูทวีปมีสมุทรสาคร ทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ๗ ครั้ง ได้ปกครองปวงประชานิการโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาหรือศาตราใดๆ เราระลึกชาติหนหลังในคราวที่อยู่ ในมนุษยโลกได้ดังนี้ คือ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ เป็นพระอินทร์ ๗ ชาติ รวมการท่องเที่ยวอยู่เป็น ๑๔ ชาติด้วยกัน ในเมื่อสมาธิอัน ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นธรรมอันเอกปรากฏขึ้น ที่เราได้เพราะความสงบ ระงับกิเลส ทิพยจักษุของเราจึงบริสุทธิ์เราดำรงอยู่ในฌานอันประกอบ ด้วยองค์ ๕ ประการ รู้จุติและอุบัติ การมา การไป ความเป็นอย่างนี้และ ความเป็นอย่างอื่น ของสัตว์ทั้งหลาย เรามีความคุ้นเคยกับพระบรม ศาสดามาแล้วเป็นอย่างดี เราได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภายใต้พุ่ม กอไม้ไผ่ใกล้บ้านเวฬุวคามแห่งแคว้นวัชชี.
๑๐. ปาราสริยเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระปาราสริยเถระ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๗๒๔๔-๗๙๐๐ หน้าที่ ๓๑๓-๓๔๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=7244&Z=7900&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=382              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=382              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [382-394] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=26&item=382&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=6198              The Pali Tipitaka in Roman :- [382-394] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=26&item=382&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=6198              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.14.02.than.html https://suttacentral.net/thag14.2/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :