ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
เสลเถราปทานที่ ๒ (๓๙๒)
ว่าด้วยการประพฤติธรรม
[๓๙๔] ข้าพระองค์เป็นเจ้าของถนนอยู่ในนครหงสวดี ได้ประชุมบรรดาญาติของ ข้าพระองค์แล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก เป็นบุญเขตอันสูงสุด พระองค์เป็นผู้สมควรรับเครื่องบูชาของโลกทั้งปวง กษัตริย์ก็ดี ชาวนิคมก็ดี พราหมณ์มหาศาลก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๗๙.

ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก คนครึ่ง ชาติ (ลูกกษัตริย์แม่เป็นศูทร) ก็ดี ราชบุตรก็ดี พ่อค้าก็ดี พราหมณ์ ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก พ่อ ครัวก็ดี คนรับจ้างก็ดี คนรับใช้อาบน้ำก็ดี ช่างกรองดอกไม้ก็ดี ล้วน มีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก ช่างย้อมก็ดี ช่างหูกก็ดี ช่างเย็บผ้าก็ดี ช่างกัลบกก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้ พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก ช่างศรก็ดี ช่างกลึงก็ดี ช่างหนังก็ดี ช่างถากก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอัน มาก ช่างเหล็กก็ดี ช่างทองก็ดี ช่างดีบุกและช่างทองแดงก็ดี ล้วนมี จิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก ลูกจ้างก็ดี ช่าง ซักรีดก็ดี ทาสและกรรมกรก็ดี เป็นอันมากได้พากันประพฤติธรรมตาม กำลังของตนๆ คนตักน้ำขายก็ดี คนขนไม้ก็ดี ชาวนาก็ดี คนเกี่ยวหญ้าก็ดี ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ คนขายดอกไม้ คนขายพวง มาลัย คนขายใบไม้ และคนขายผลไม้ ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลัง ของตนๆ หญิงแพศยา นางกุมภทาสี คนขายขนม และคนขายปลา ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ เราทั้งหมดนี้มาประชุมร่วมเป็น พวกเดียวกันแล้ว จักทำบุญกุศล ในพระพุทธเจ้าผู้เป็นเขตบุญอย่างยอด เยี่ยม ญาติเหล่านั้นฟังคำของข้าพระองค์แล้ว ร่วมกันเป็นคณะในขณะนั้น กล่าวว่า พวกเราควรให้สร้างโรงฉันอันทำอย่างสวยงามถวายแด่ภิกษุสงฆ์ ข้าพระองค์ให้สร้างโรงฉันนั้นสำเร็จแล้ว มีใจเบิกบานยินดี แวดล้อม ด้วยญาติทั้งหมดนั้น เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมพุทธ- เจ้าผู้เป็นนาถะของโลก ผู้ประเสริฐกว่านระ ถวายบังคมแทบพระบาทของ พระศาสดาแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระวีรมุนี บุรุษประมาณ ๓๐๐ คนนี้ ร่วมกันเป็นคณะ ขอมอบถวายโรงฉันอันสร้างอย่างสวยงาม แด่พระองค์ ขอพระองค์ผู้มีจักษุ ผู้เป็นประธานของภิกษุสงฆ์ โปรดทรง รับเถิด พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ต่อหน้าบุรุษ ๓๐๐ คน ว่า บุรุษทั้ง ๓๐๐ คนและผู้เป็นหัวหน้า ร่วมกันประพฤติ ท่านทั้งปวง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๐.

พากันทำแล้ว จักได้เสวยสมบัติ เมื่อถึงภพหลังสุด ท่านทั้งหลายจัก เห็นนิพพาน อันเป็นภาวะเย็นยอดเยี่ยม ไม่แก่ไม่ตาย เป็นแดน เกษม พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่าผู้รู้ธรรมทั้งปวง ทรงพยากรณ์อย่างนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว ได้เสวยโสมนัส ข้าพระองค์รื่นรมย์ อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป เป็นใหญ่กว่าเทวดา เสวยรัชสมบัติ อยู่ในเทวโลก ๕๐๐ กัลป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑๐๐๐ ครั้ง ได้ เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้ ในรัชสมบัติในมนุษย์ นี้ มีพวกญาติเป็นบริษัท ในภพอันเป็นที่สุดที่ถึงนี้ ข้าพระองค์เป็นบุตร พราหมณ์ชื่อว่าวาเสฏฐะ ผู้สั่งสมสมบัติไว้ประมาณ ๘๐ โกฏิ ข้าพระองค์ มีชื่อว่าเสละ ถึงที่สุดในองค์ ๖ แวดล้อมด้วยพวกศิษย์ของตน เดิน เที่ยวไปสู่วิหารได้เห็นดาบสชื่อเกนิยะ ผู้เต็มไปด้วยภาระคือชฏา จัดแจง เครื่องบูชา จึงได้ถามดังนี้ว่า ท่านจักทำอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรือ ท่านเชื้อเชิญพระราชา. เกนิยดาบสตอบว่า เราใคร่จะบวงสรวงเครื่องบูชา ในพราหมณ์ที่สมมติกันว่าประเสริฐ เรา ไม่ได้เชื้อเชิญพระราชา ไม่มีการบวงสรวง อาวาหมงคลของเราไม่มี และ วิวาหมงคลของเราไม่มี พระพุทธเจ้าผู้ให้เกิดความยินดีแก่ศากยะทั้งหลาย ประเสริฐที่สุดในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ทรงทำประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก ทั้งปวง นำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์ วันนี้ เรานิมนต์พระองค์ เราจัดแจง เครื่องบูชานี้เพื่อพระองค์ พระพุทธเจ้ามีพระรัศมีดุจสีมะพลับ มีพระคุณ หาประมาณมิได้ ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป เรานิมนต์เพื่อ เสวย ณ วันพรุ่งนี้และพระองค์มีพระพักตร์ร่าเริงดังปากเบ้า สุกใสเช่น กับถ่านเพลิงไม้ตะเคียน เปรียบด้วยสายฟ้า เป็นมหาวีระ เป็นนาถะ ของโลก เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เปรียบเหมือนไฟ บนยอดภูเขา ดังพระจันทร์วันเพ็ญ เช่นกับสีแห่งไฟไหม้อ้อ เรานิมนต์ แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงครั่นคร้ามล่วงภัยได้แล้ว ทรง ทำให้เป็นผู้เจริญ เป็นมุนีเปรียบด้วยสีหะ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๑.

พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงฉลาดในธรรมของผู้ตรัสรู้ ผู้อื่นข่มขี่ไม่ได้ เปรียบด้วยช้างตัวประเสริฐ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงฉลาดในฝั่งคือ สัทธรรม เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเปรียบ เปรียบด้วยโคอุสภราช เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีวรรณะไม่สุด มียศนับมิได้ มีลักษณะทั้งปวง วิจิตร เปรียบด้วยท้าวสักกะ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธ- เจ้าพระองค์นั้น ทรงมีความชำนาญ เป็นผู้นำหมู่ มีตบะ มีเดชคร่าได้ ยาก เปรียบด้วยพรหม เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระ- องค์นั้น มีธรรมเลิศน่าบูชา เป็นพระทศพล ถึงที่สุด กำลังล่วงกำลัง เปรียบด้วยแผ่นดิน เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น. ทรงเกลื่อนกล่นด้วยศีลและปัญญา มากด้วยการทรงรู้แจ้งธรรม เปรียบ ด้วยทะเล เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ยากที่จะคร่าไปได้ ยากที่จะข่มขี่ไม่ทรงหวั่นไหว เลิศกว่าพรหม เปรียบ ด้วยเขาสุเมรุ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีญาณไม่สิ้นสุด ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เทียบเท่า ถึงความเป็นยอด เปรียบ ด้วยท้องฟ้า เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว.
จบ ภาณวารที่ ๑๕.
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นที่พึ่งของบรรดาผู้กลัวภัย เป็นที่ต้านทาน ของบรรดาผู้ถึงสรณะ เป็นที่เบาใจ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระ- พุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นที่อาศัยแห่งมนต์คือความรู้ เป็นบุญเขตของผู้ แสวงหาสุข เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ให้เบาใจ เป็นผู้ทำให้ประเสริฐ เป็นผู้ ประทานสามัญผลเปรียบด้วยเมฆ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระ-

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๒.

พุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นวีระที่เขายกย่องในโลก เป็นผู้บรรเทาความมืด ทั้งปวง เปรียบด้วยพระอาทิตย์ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงแสดงสภาพในอารมณ์และวิมุติ เป็นมุนี เปรียบ ด้วยพระจันทร์ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสรู้แล้ว เขายกย่องในโลกประดับด้วยลักษณะทั้งหลาย หาประมาณ มิได้ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระญาณ หาประมาณมิได้ มีศีลไม่มีเครื่องเปรียบ มีวิมุติ ไม่มีอะไรเทียมทัน เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีธิติไม่มีอะไรเหมือน มีกำลัง อันไม่ควรคิด มีความบากบั่นอันประเสริฐสุด เรานิมนต์แล้ว พระ- พุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงถอนราคะ โทสะ โมหะ และยาพิษทั้งปวง แล้ว เปรียบด้วยยา เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว พระพุทธเจ้าพระ- องค์นั้น ทรงบรรเทาพยาธิคือกิเลสและทุกข์เป็นอันมาก เปรียบเหมือน โอสถ เปรียบด้วยสายฟ้า เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว เกนิยพราหมณ์ กล่าวประกาศว่า พุทโธ เสียงประกาศนั้นข้าพระองค์ได้แสนยาก เพราะ ได้ฟังเสียงประกาศว่า พุทโธ ปีติย่อมเกิดแก่ข้าพระองค์ ปีติของข้า- พระองค์ไม่จับอยู่เฉพาะภายใน แผ่ซ่านออกภายนอก ข้าพระองค์มีใจ ปิติ ได้กล่าวดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นเชษฐบุรุษของ โลก ประเสริฐกว่านระ ประทับอยู่ที่ไหน เราจักไปนมัสการพระองค์ผู้ ประทานสามัญผล ณ ที่นั้น ขอท่านผู้เกิดโสมนัสประนมกรอัญชลี โปรด ยกหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้บอกพระธรรมราชาผู้บรรเทาลูกศร คือความโศกเศร้า แก่ข้าพเจ้าเถิด. ท่านย่อมเห็นป่าใหญ่อันเขียวขจี ดังมหาเมฆที่ขึ้นลอยอยู่เสมอด้วยดอก อัญชัน ปรากฏดุจสาคร พระพุทธเจ้าผู้ฝึกบุคคลที่ยังมิได้ฝึก เป็น มุนี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ ให้ตรัสรู้ในโพธิปักขิยธรรม พระองค์นั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๓.

ประทับอยู่ที่นั่น ข้าพระองค์ค้นหาพระชินเจ้า เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำ หาน้ำ เช่นดังคนหิวข้าวหาข้าว ปานดังแม่โครักลูกค้นหาลูก ฉะนั้น ข้าพระองค์ผู้รู้อาจาระและอุปจาระ สำรวมตามสมควรแก่ธรรม ให้พวก ศิษย์ของตนผู้จะไปยังสำนักพระชินเจ้าศึกษาว่า พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ใครๆ คร่าไปได้ยาก เสด็จเที่ยวอยู่พระองค์เดียว เปรียบเหมือน ราชสีห์ ท่านมาณพทั้งหลายควรเดินเรียงลำดับกันมา พระพุทธเจ้าทั้ง หลาย ยากที่ใครๆ จะคร่าไป เปรียบเหมือนอสรพิษร้าย ดุจไกรสร- มฤคราช ดังช้างกุญชรที่ฝึกแล้วตกมัน ฉะนั้น ท่านมาณพทั้งหลาย จงอย่าจาม และอย่าไอ เดินเรียงลำดับกันเข้าไปสู่สำนักของพระพุทธเจ้า เถิด พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นผู้หนักในการอยู่ในที่เร้น ชอบเงียบ เสียง ยากที่จะคร่าไปได้ ยากที่จะเข้าเฝ้า เป็นครูในมนุษยโลกพร้อมทั้ง เทวโลก เราทูลถามปัญหาใด หรือได้ปราศรัยโต้ตอบอยู่ ขณะนั้น ท่าน ทั้งหลายจงเงียบเสียงหยุดนิ่งอยู่ พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรม อันเป็น แดนเกษมเพื่อบรรลุนิพพาน ท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรม นั้น เพราะการฟังสัทธรรมเป็นความงาม ข้าพระองค์ได้เข้าไปเฝ้าพระสัม- พุทธเจ้าได้ปราศรัยกับพระมุนี ครั้นผ่านการปราศรัยไปแล้ว จึงตรวจดู พระลักษณะทั้งหลาย ไม่เห็นพระลักษณะ ๒ ประการ เห็นแต่พระลักษณะ ๓๐ ประการ พระมุนีทรงแสดงพระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝักด้วยฤทธิ์ และพระชินเจ้าทรงแสดงพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณและพระนาสิก ทรงแผ่พระชิวหาปกปิดถึงที่สุดพระนลาฏทั้งสิ้น ข้าพระองค์ได้เห็น พระลักษณะของพระองค์ บริบูรณ์พร้อมด้วยพยัญชนะ จึงลงความสันนิษ- ฐานว่าเป็นพระพุทธเจ้าแน่ แล้วบวชพร้อมด้วยพวกศิษย์ ข้าพระองค์ พร้อมด้วยศิษย์ ๓๐๐ คนออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลาย บวชแล้วยังไม่ถึงกึ่งเดือน ได้บรรลุถึงความดับทุกข์ทั้งหมด ข้าพระองค์ ทั้งหลายร่วมกันทำกรรม ในบุญเขตอันยอดเยี่ยม ท่องเที่ยวไปร่วมกัน คลายกิเลสได้ร่วมกัน เพราะได้ถวายไม้กลอนทั้งหลาย ข้าพระองค์จึงอยู่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๔.

ในธรรมเป็นอันมาก เพราะกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ย่อมได้ เหตุ ๘ ประการ คือ ข้าพระองค์เป็นผู้อันเขาบูชาในทิศทั้งหลาย ๑ โภค- สมบัติของข้าพระองค์นับไม่ถ้วน ๑ ข้าพระองค์เป็นที่พึ่งของคนทั้งปวง ๑ ความสะดุ้งหวาดเสียวไม่มีแก่ข้าพระองค์ ๑ ความป่วยไข้ไม่มีแก่ข้าพระ องค์ ๑ ข้าพระองค์ย่อมรักษาอายุยืนนาน ๑ ข้าพระองค์เป็นผู้มีผิวพรรณ ละเอียดอ่อน เมื่ออยู่ในที่ฝนตก ๑ เพราะได้ถวายไม้กลอน ๘ อัน ข้าพระองค์จึงได้อยู่ในหมวดธรรมอีกข้อหนึ่ง คือ ปฏิสัมภิทาและอรหัต นี้เป็นข้อที่ ๘ ของข้าพระองค์ ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์มีธรรม เครื่องอยู่อันอยู่จบหมดแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นบุตรของ พระองค์ชื่อว่าอัฏฐโคปานสี เพราะได้ถวายเสา ๕ ต้น ข้าพระองค์ จึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ ย่อมได้เหตุ ๕ ประการ คือ ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่หวั่นไหวด้วยเมตตา ๑ มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง ๑ มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ ดังข้าพระองค์ ไม่จำกัด ๑ จิตของข้าพระองค์ไม่หวาดกลัว ๑ ข้าพระองค์ไม่เป็นเสี้ยน หนามต่อใครๆ ๑ ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจาก มลทินในศาสนา ข้าแต่พระมุนีมหาวีรเจ้า ภิกษุสาวกของพระองค์มีความ เคารพ มีความยำเกรงได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์ได้ทำบัลลังก์อันทำอย่างสวยงามแล้ว จัดตั้งไว้ในศาลาด้วยกุศล กรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ย่อมได้เหตุ ๕ ประการ คือ ย่อมเกิดใน สกุลสูง ๑ เป็นผู้มีโภคสมบัติมาก ๑ เป็นผู้มีสมบัติทั้งปวง ๑ ไม่มีความ ตระหนี่ ๑ เมื่อข้าพระองค์ปรารถนาจะไป บัลลังก์ย่อมสั้งรออยู่ ๑ ย่อม ไปสู่ที่ปรารถนาพร้อมด้วยบัลลังก์อันประเสริฐ ๑ เพราะการถวายบัลลังก์ นั้น ข้าพระองค์กำจัดความมืดได้หมด ข้าแต่พระมหามุนี พระเถระผู้ บรรลุอภิญญาและพละทั้งปวงถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์ทำกิจทั้งปวง อันเป็นกิจของผู้อื่นและของตนสำเร็จแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๕.

ข้าพระองค์ได้เข้าไปสู่บุรีอันไม่มีภัย ข้าพระองค์ได้ถวายเครื่องบริโภคใน ศาลาที่สร้างสำเร็จแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้เข้า ถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ผู้ฝึกเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก ผู้ฝึกเหล่านั้นย่อม ฝึกช้างและม้า ย่อมให้ทำเหตุต่างๆ นานา แล้วฝึกด้วยความทารุณ ข้าแต่ พระมหาวีรเจ้า พระองค์หาได้ฝึกชายและหญิงเหมือนอย่างนั้นไม่ พระองค์ ทรงฝึกในวิธีฝึกอันสูงสุด ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ใช้ศาตรา พระมุนีทรง สรรเสริญคุณแห่งทาน ทรงฉลาดในเทศนา และพระมุนีตรัสปัญหาข้อ เดียวยังคน ๓๐๐ คน ให้ตรัสรู้ได้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย อันพระองค์ผู้เป็น สารถีฝึกแล้ว พ้นวิเศษแล้ว ไม่มีอาสวะ บรรลุอภิญญาและพละทั้งปวง ดับแล้วในธรรม เป็นที่สิ้นอุปธิ ในกัลปที่แสนแต่กัลปนี้ ข้าพระองค์ ได้ถวายทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น ภัยทั้งปวงล่วงพ้นไปแล้ว นี้เป็น ผลแห่งการถวายศาลา การที่ข้าพระองค์ได้มาในสำนักพระพุทธเจ้านี้เป็น การมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพระองค์บรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนา ข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลาย ถอนภพขึ้นได้ทั้ง หมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระ องค์ทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระเสลเถระพร้อมด้วยบริษัทได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักของพระผู้มี พระภาค ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ เสลเถราปทาน.
สรรพกิตติกเถราปทานที่ ๓ (๓๙๓)
ว่าด้วยผลแห่งการสรรเสริญธรรม
[๓๙๕] เราเป็นพราหมณ์ผู้ทรงชฏาและหนังสัตว์ เป็นผู้ซื่อตรง มีตบะ ได้เห็นพระ พุทธเจ้าผู้นายกของโลก ทรงรุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์ โชติช่วงดังดวงไฟ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๖.

รุ่งโรจน์ดังดาวประกายพฤกษ์ เปรียบเหมือนสายฟ้าในอากาศ ไม่ทรงครั่น คร้าม ไม่ทรงสะดุ้งกลัว ดังพระยาไกรสรราชสีห์ ทรงประกาศแสงสว่าง แห่งพระญาณ ทรงย่ำยีพวกเดียรถีย์ ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกนี้ ทรงตัด ความสงสัยทั้งปวง ไม่ทรงหวาดหวั่นดังพระยาเนื้อ จึงถือเอาผ้าเปลือกไม้ กรองลาดลง ณ ที่ใกล้พระบาท หยิบเอากระลำพักมาชโลมทาพระตถาคต ครั้นชโลมทาพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ชมเชยพระองค์ผู้เป็นนายกของโลก ว่า ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ทรงข้ามพ้นโอฆะแล้ว ทรงยังโลกนี้ให้ข้าม พ้น โชติช่วงด้วยแสงสว่างแห่งพระญาณ พระญาณประเสริฐสุด ทรง ประกาศธรรมจักร ทรงย่ำยีเดียรถีย์อื่น ทรงเป็นผู้กล้าหาญ ทรงชนะ สงครามแล้ว ยังแผ่นดินให้หวั่นไหว คลื่นในมหาสมุทรย่อมแตกในที่สุด ฝั่ง ฉันใด ทิฏฐิทั้งปวงย่อมแตกทำลายในเพราะพระญาณของพระองค์ ฉันนั้น ข่ายตาเล็กๆ ที่เขาเหวี่ยงลงไปในสระแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ ภายในข่าย เป็นผู้ถูกบีบคั้นในขณะนั้น ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเดียรถีย์ในโลกเป็นผู้หลงงมงายไม่อาศัยสัจจะ ย่อมเป็นไปภายในพระ ญาณอันประเสริฐของพระองค์ ฉันนั้น พระองค์เท่านั้นเป็นที่พึ่งของผู้ที่ ว่ายอยู่ในห้วงน้ำ เป็นนาถะของผู้ไม่มีเผ่าพันธุ์ เป็นสรณะของผู้ที่ตั้งอยู่ ในภัย เป็นผู้นำหน้าของผู้ต้องการความพ้น เสด็จเที่ยวไปผู้เดียว ไม่มี ใครเหมือน ทรงประกอบด้วยพระเมตตากรุณา ทรงมีปัญญา ประกอบการ สละ มีความชำนาญ คงที่ เป็นที่อยู่แห่งคุณ เป็นนักปราชญ์ ปราศจาก ความหลง ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่มีความสงสัย เป็นผู้พอพระทัย มีโทสะ อันคายแล้ว ไม่มีมลทิน ทรงสำรวม มีความสะอาด ล่วงธรรมเครื่อง ข้อง มีความเมาไปปราศแล้ว ได้วิชชา ๓ ถึงความเจริญ ทรงถึงเขตแดน เป็นผู้หนักในธรรม มีประโยชน์อันถึงแล้ว ทรงหว่านประโยชน์ ทรงยัง สัตว์ให้ข้ามเปรียบเหมือนเรือ ทรงมีขุมทรัพย์ ทรงทำความเบาใจ ไม่ทรง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๗.

ครั่นคร้ามดังราชสีห์ เหมือนพระยาคชสารอันฝึกแล้ว ในกาลนั้น ครั้น เราสรรเสริญพระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตระด้วยคาถา ๑๐ คาถา ถวาย บังคมพระบาทพระศาสดาแล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่ พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตระ ผู้รู้แจ้งโลก สมควรรับเครื่องบูชา ประทับอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัส พระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดสรรเสริญศีล ปัญญา และธรรมของเรา เราจัก พยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ตลอด ๖ หมื่นกัลป จักเสวยความเป็นอิสระครอบงำเทวดาเหล่าอื่น ภายหลัง อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว เขาจักออกบวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาค มีพระนามว่าโคดม ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมด้วยกาย กำหนดรู้อาสวะ ทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ นิพพาน เมฆครางกระหึ่ม ย่อมยังพื้นดินนี้ ให้อิ่ม ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ทรงยังข้าพระองค์ ให้อิ่ม ด้วยธรรม ฉันนั้น ครั้นเราเชยชมศีล ปัญญา ธรรม และพระนายกของ โลกแล้ว ได้บรรลุนิพพานอันเป็นธรรมระงับอย่างยิ่ง เป็นบทไม่เคลื่อน โอหนอ พระผู้มีพระภาคผู้มีจักษุพระองค์นั้น พึงดำรงอยู่นานแน่ เราก็พึงรู้ แจ้งธรรมที่ยังไม่รู้แจ้ง พึงเห็นอมตบท ชาตินี้เป็นชาติที่สุดของเรา เรา ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ อยู่ ในกัลปที่แสนแต่กัลปนี้ เราได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าใด ด้วยกรรม นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ เราเผากิเลสทั้งหลาย แล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นรอบแล้ว บัดนี้ ภพ ใหม่ไม่มี การที่เราได้มาในสำนักพระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการมาดีแล้ว หนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำ ให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระสรรพกิตติกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สรรพกิตติกเถราปทาน.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๘.

มธุทายกเถราทานที่ ๔ (๓๙๔)
ว่าด้วยอานิสงส์การถวายน้ำผึ้งและลาดหญ้า
[๓๙๖] เราได้สร้างอาศรมอย่างสวยงามไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำสินธุ เราบอกคัมภีร์อิติหาสะ พร้อมทั้งตำราทายลักษณะ กะพวกศิษย์ที่อาศรมนั้น ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้ ใคร่ธรรม เราแนะนำดี เป็นผู้ใคร่ฟังคำสั่งสอนดี ถึงที่สุดในองค์ ๖ ประการ อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสินธู เป็นผู้ฉลาดในการทำนายการมาเกิด และในลักษณะ ทั้งหลาย แสวงหาประโยชน์อันสูงสุดอยู่ในป่าใหญ่ ในกาลนั้น ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ผู้ทรงแนะ นำให้วิเศษ จะทรงอนุเคราะห์พวกเรา จึงเสด็จเข้ามา เราได้เห็นมหาวีระ พระนามว่าสุเมธ ผู้เป็นนายกของโลก เสด็จเข้ามา จึงได้เอาหญ้าลาด ถวายแด่พระองค์ผู้เป็นเชษฐบุรุษของโลก เราถือเอาน้ำผึ้งจากป่าใหญ่ มา ถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด พระสัมพุทธเจ้าเสวยแล้ว ได้ตรัส พระดำรัสนี้ว่า ผู้ใดมีความเลื่อมใส ได้ถวายน้ำผึ้งแก่เราด้วยมือทั้งสอง ของตน เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ด้วยการถวาย น้ำผึ้ง และด้วยการลาดหญ้าถวายนี้ ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป ใน ๓ หมื่นกัลป พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ทรง สมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นั้นจักเป็นทายาท ในธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จัก กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะนิพพาน เมื่อเราจากเทวโลก มาในมนุษยโลกนี้ เข้าอยู่ในครรภ์มารดา เมล็ดฝนน้ำผึ้งได้ตกปกปิด แผ่นดินด้วยน้ำผึ้ง แม้ในขณะเมื่อเราพอออกจากครรภ์นั้น ฝนน้ำผึ้งก็ตก ให้แก่เรา เต็มเปี่ยมหม้อตลอดกาลเป็นนิตย์ เมื่อเราออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตแล้ว ย่อมได้ข้าวและน้ำ นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำผึ้ง เรา เกิดในเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยกามทั้งปวง ได้บรรลุความสิ้น อาสวะ เพราะการถวายน้ำผึ้งนั้นแล.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๙.

เมื่อฝนตกแล้ว หญ้างอกยาว ๔ นิ้ว เมื่อต้นไม้ในแถวฝั่งน้ำมี ดอกบานสะพรั่ง เราผู้ไม่มีอาสวะเป็นสุขอยู่เป็นนิตย์ ในเรือน ว่างเปล่า ที่มณฑปและโคนไม้ เราก้าวล่วงภพเหล่าใด ภพเหล่านั้นของเราพึงมีในท่ามกลาง อาสวะทั้งหลาย ของเราสิ้นไปแล้วในวันนี้ บัดนี้ ภพใหม่มิได้มีอีก ใน ๓ หมื่นกัลป (แต่ กัลปนี้) เราได้ถวายทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำผึ้ง เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ ทั้งหมดแล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นรอบแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี การที่เราได้ มาในสำนักพระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เรา บรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระมธุทายกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ มธุทายกเถราปทาน.
ปทุมกูฏาคาริกเถราปทานที่ ๕ (๓๙๕)
ว่าด้วยผลแห่งการทำพุทธบูชา
[๓๙๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี ผู้สยัมภู เป็นนายกของโลก ตรัสรู้แล้ว เอง ทรงใคร่ในวิเวก ฉลาดในสมาธิ เป็นมุนี พระมหามุนีพระนามว่า ปิยทัสสี ผู้อุดมบุรุษ เสด็จไปสู่ไพรสณฑ์ ทรงลาดผ้าบังสุกุลแล้วประทับนั่ง อยู่ ในกาลก่อน เราเป็นพรานเนื้ออยู่ในป่าใหญ่ในกาลนั้น เราเที่ยวแสวง หาเนื้อฟานอยู่ในป่านั้น เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้ข้ามโอฆะแล้ว ไม่มี อาสวะ เปรียบเหมือนพระยารังมีดอกบาน เหมือนพระอาทิตย์อุทัย ครั้น เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสีผู้มียศมากแล้ว เราจึงลงไปสู่สระบัว นำเอาดอกปทุมมาในขณะนั้น ครั้นนำเอาดอกปทุมอันเป็นที่รื่นรมย์ใจมา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๙๐.

แล้ว จึงสร้างเรือนมียอด (ปราสาท) แล้วมุงบังด้วยดอกปทุม พระพุทธ ชินเจ้าพระนามว่าปิยทัสสีเป็นมหามุนี ผู้ทรงอนุเคราะห์ประกอบด้วยพระ กรุณา ประทับอยู่ในกูฏาคาร ๗ คืน ๗ วัน เราเอาดอกปทุมที่เก่าๆ ทิ้งเสีย แล้ว มุงบังด้วยดอกปทุมใหม่ ขณะนั้นเราได้ยืนประนมกรอัญชลีอยู่ พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี รู้เป็นนายกของโลก เสด็จออกจากสมาธิ แล้วประทับนั่งเหลียวแลดูทิศอยู่ ในกาลนั้น พระเถระผู้อุปัฏฐากนามว่า สุทัสสนะ มีฤทธิ์มาก รู้พระดำริของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสีผู้ ศาสดา อันภิกษุ ๘ หมื่นแวดล้อมแล้ว เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายก ของโลก ซึ่งประทับนั่งทรงพระสำราญอยู่ที่ชายป่า และในกาลนั้น เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ในไพรสณฑ์ประมาณเท่าใด เทวดาเหล่านั้นทราบพระพุทธดำริ แล้ว พากันมาประชุมทั้งหมด เมื่อพวกยักษ์ กุมภัณฑ์ พร้อมทั้งผีเสื้อน้ำ มาพร้อมกัน และเมื่อภิกษุสงฆ์มาถึงพร้อมแล้ว พระชินเจ้าได้ตรัสพระคาถา ว่า ผู้ใดบูชาเราตลอด ๗ วัน และได้สร้างอาวาสถวายเรา เราจักพยากรณ์ ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว เราจักพยากรณ์สิ่งที่เห็นได้ยากนัก ละเอียดนัก ลึกซึ้ง ปรากฏดีด้วยญาณ ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้น จักได้เสวยราชสมบัติในเทวโลกตลอด ๑๔ กัลป เทวดาทั้งหลายจักทรง กูฏาคาร อันประเสริฐที่มุงบังด้วยดอกปทุมไว้แก่ผู้นั้นในอากาศ นี้เป็นผล แห่งบุรพกรรม เขาจักท่องเที่ยวสับสนอยู่ตลอด ๑๔๐๐ กัลป ใน ๑๔๐๐ กัลปนั้น วิมานดอกไม้จักทรงอยู่ในอากาศ น้ำย่อมไม่ติดในใบบัว ฉันใด กิเลสก็ไม่ติดอยู่ในญาณของผู้นั้น ฉันนั้น ผู้นี้หมุนกลับนิวรณ์ ๕ ออกไป ด้วยใจ ยังจิตให้เกิดในเนกขัมมะแล้ว จักออกบวช ในกาลนั้น วิมาน ดอกไม้อันทรงอยู่ก็จักออกไปด้วย เมื่อผู้นั้นผู้มีปัญญา มีสติ อยู่ที่โคนไม้ ที่โคนไม้นั้น วิมานดอกไม้จักทรงอยู่เหนือศีรษะผู้นั้น จักถวายจีวร บิณฑบาตคิลานปัจจัย ที่นอนและที่นั่งแก่ภิกษุสงฆ์แล้ว จักไม่มีอาสวะ นิพพาน เมื่อผู้นั้นเที่ยวไปพร้อมด้วยกูฏาคารออกบวชแล้ว กูฏาคารย่อม ทรงผู้นั้นแม้อยู่ที่โคนไม้ เจตนาในจีวรและบิณฑบาตย่อมไม่มีแก่เรา เรา ประกอบด้วยบุญกรรม จึงได้จีวรและบิณฑบาตที่สำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๙๑.

ผู้เป็นนายกของโลกล่วงเราไปเปล่าๆ พ้นไปแล้วด้วยดีตลอดโกฏิกัลป เป็นอันมากโดยจะนับจะประมาณมิได้ ในกัลปที่ ๑๘๐๐ แต่กัลปนี้ เราจึงได้ เฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี ผู้แนะนำให้วิเศษ แล้วจึงเข้าถึง กำเนิดนี้ เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมะ ผู้มีจักษุ ได้เข้า เฝ้าพระองค์แล้ว บวชเป็นบรรพชิต พระพุทธชินเจ้าผู้ทรงทำที่สุดทุกข์ได้ ทรงแสดงพระสัทธรรม เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ได้บรรลุบทอัน ไม่หวั่นไหว เรายังพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยบุตรให้ทรงโปรด กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ในกัลปที่ ๑๘๐๐ แต่ กัลปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าใด ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว อาสวะทั้งปวงของเราสิ้นรอบแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี การที่เราได้มาใน สำนักพระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว โดยลำดับ พระพุทธศาสนาเราได้ทำสำเร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้ชัดแจ้งแล้ว พระ พุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระปทุมกูฏาคาริกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๘๒๘๘-๘๖๑๒ หน้าที่ ๓๗๘-๓๙๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=8288&Z=8612&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=394              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=394              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [394-397] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=32&item=394&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5330              The Pali Tipitaka in Roman :- [394-397] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=32&item=394&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5330              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap394/en/walters

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :