ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์
             [๖๗๐] ธรรมอันโสดาปัตติมรรคประหาณ เป็นไฉน?
             สัญโญชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส.
             [๖๗๑] บรรดาสัญโญชน์ ๓ นั้น สักกายทิฏฐิ เป็นไฉน?
             ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไร้การศึกษา ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า
ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้เห็นสัตบุรุษไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกฝน
ในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปเป็นตน หรือเห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป
ย่อมเห็นเวทนาเป็นตน หรือเห็นตนมีเวทนา เห็นเวทนาในตน เห็นตนในเวทนา ย่อมเห็น
สัญญาเป็นตน หรือเห็นตนมีสัญญา เห็นสัญญาในตน เห็นตนในสัญญา ย่อมเห็นสังขารเป็น-
*ตน หรือเห็นตนมีสังขาร เห็นสังขารในตน เห็นตนในสังขาร ย่อมเห็นวิญญาณเป็นตน หรือ
เห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน เห็นตนในวิญญาณ ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏ
คือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์
คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิ
เป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า สักกายทิฏฐิ.
             [๖๗๒] วิจิกิจฉา เป็นไฉน?
             ปุถุชนเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในส่วน
อดีต ในส่วนอนาคต ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปปาทธรรมที่ว่า เพราะธรรม
นี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความ
คิดเห็นไปต่างๆ นานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเหมือนทาง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๔.

แพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ อันใด นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา. [๖๗๓] สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน? ความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลพรตของสมณพราหมณ์ ในภายนอกแต่ศาสนานี้ ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความ ยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส อันมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส. [๖๗๔] สัญโญชน์ ๓ นี้ และกิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันกับสัญโญชน์ ๓ นั้น, เวทนา- *ขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วยสัญโญชน์ ๓ นั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันมีสัญโญชน์ ๓ นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมอันโสดาปัตติมรรคประหาณ. ธรรมอันมรรคเบื้องสูง ๓ ประหาณ เป็นไฉน? โลภะ โทสะ โมหะ ที่เหลือ และกิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันกับโลภะ โทสะ โมหะ นั้น, เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วยโลภะ โทสะ โมหะ นั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันมีโลภะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมอันมรรคเบื้องสูง ๓ ประหาณ ธรรมอันโสดาปัตติมรรค และมรรคเบื้องสูง ๓ ไม่ประหาณ เป็นไฉน? กุศลธรรมและอัพยากตธรรม ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรม- *อันโสดาปัตติมรรค และมรรคเบื้องสูง ๓ ไม่ประหาณ. [๖๗๕] ธรรมมีสัมปยุตตเหตุ อันโสดาปัตติมรรคประหาณ เป็นไฉน? สัญโญชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส บรรดาสัญโญชน์ ๓ นั้น สักกายทิฏฐิ เป็นไฉน ฯลฯ นี้เรียกว่า สักกายทิฏฐิ. วิจิกิจฉา เป็นไฉน ฯลฯ นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน ฯลฯ นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๕.

สัญโญชน์ ๓ นี้ และกิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันกับสัญโญชน์ ๓ นั้น, เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วยสัญโญชน์ ๓ นั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันมี สัญโญชน์ ๓ นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีสัมปยุตตเหตุอันโสดาปัตติมรรค- *ประหาณ. สัญโญชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมอันโสดาปัตติมรรคประหาณ, โลภะ โทสะ โมหะ ที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันกับสัญโญชน์ ๓ นั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า สัมปยุตตเหตุอันโสดาปัตติมรรคประหาณ ส่วนกิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียว กันกับ โลภะ โทสะ โมหะ นั้น เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วย โลภะ โทสะ โมหะ นั้น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันมี โลภะ โทสะ โมหะ นั้น เป็น สมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีสัมปยุตตเหตุอันโสดาปัตติมรรคประหาณ. ธรรมมีสัมปยุตตเหตุอันมรรคเบื้องสูง ๓ ประหาณ เป็นไฉน? โลภะ โทสะ โมหะ ที่เหลือ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีสัมปยุตตเหตุอันมรรค เบื้องบน ๓ ประหาณ, กิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันกับ โลภะ โทสะ โมหะ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วย โลภะ โทสะ โมหะ นั้น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันมี โลภะ โทสะ โมหะ นั้น เป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีสัมปยุตตเหตุ อันมรรคเบื้องสูง ๓ ประหาณ. ธรรมไม่มีสัมปยุตตเหตุอันโสดาปัตติมรรคและมรรคเบื้องสูง ๓ จะประหาณ เป็นไฉน? เว้นธรรมนั้น กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรมที่เหลือ ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่มีสัมปยุตตเหตุอันโสดาปัตติมรรค และมรรคเบื้องสูง ๓ จะประหาณ. [๖๗๖] ธรรมเป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ เป็นไฉน? กุศลธรรมและอกุศลธรรม ประเภทที่ยังมีอาสวะ ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร คือเวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๖.

ธรรมเป็นเหตุให้ถึงนิพพาน เป็นไฉน? มรรค ๔ ที่เป็นโลกุตตระ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุให้ถึงนิพพาน. ธรรมไม่เป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ และไม่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน เป็นไฉน? วิบากแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เป็น กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์, ธรรมเป็นกิริยา ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่ กรรมวิบาก, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ และไม่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน. [๖๗๗] ธรรมเป็นของเสกขบุคคล เป็นไฉน? มรรคที่เป็นโลกุตตระทั้ง ๔ และสามัญญผลเบื้องต่ำ ๓ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรม เป็นของเสกขบุคคล. ธรรมเป็นของอเสกขบุคคล เป็นไฉน? อรหัตตผลเบื้องสูง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นของอเสกขบุคคล. ธรรมไม่เป็นของเสกขบุคคล และไม่เป็นของอเสกขบุคคล เป็นไฉน? เว้นธรรมคือมรรค ๔ ผล ๔ เหล่านั้นเสีย กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ที่เหลือ ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร คือเวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวะธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นของเสกขบุคคลและไม่เป็นของอเสกข- *บุคคล. [๖๗๘] ธรรมเป็นปริตตะ เป็นไฉน? กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ที่เป็นกามาวจรทั้งหมด คือ รูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นปริตตะ. ธรรมเป็นมหัคคตะ เป็นไฉน? กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรมที่เป็นรูปาวจร อรูปาวจร คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นมหัคคตะ. ธรรมเป็นอัปปมาณะ เป็นไฉน? มรรคและผลของมรรคที่เป็นโลกุตตระ และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรม เป็นอัปปมาณะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๗.

[๖๗๙] ธรรมมีอารมณ์เป็นปริตตะ เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภปริตตธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นปริตตะ. ธรรมมีอารมณ์เป็นมหัคคตะ เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภมหัคคตธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นมหัคคตะ. ธรรมมีอารมณ์เป็นอัปปมาณะ เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภอัปปมาณธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นอัปปมาณะ. [๖๘๐] ธรรมทราม เป็นไฉน? อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันกับ โลภะ โทสะ โมหะนั้น, เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์อันสัมปยุตด้วยโลภะ โทสะ โมหะนั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันมีโลภะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมทราม. ธรรมปานกลาง เป็นไฉน? กุศลธรรมและอัพยากตธรรม ประเภทที่ยังมีอาสวะ ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร คือ รูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมปานกลาง. ธรรมประณีต เป็นไฉน? มรรคและผลของมรรคที่เป็นโลกุตตระ และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมประณีต. [๖๘๑] ธรรมเป็นมิจฉาสภาวะและให้ผลแน่นอน เป็นไฉน? อนันตริยกรรม ๕ และนิยตมิจฉาทิฏฐิ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นมิจฉาสภาวะ และให้ผลแน่นอน. ธรรมเป็นสัมมาสภาวะและให้ผลแน่นอน เป็นไฉน? มรรคที่เป็นโลกุตตระทั้ง ๔ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นสัมมาสภาวะและให้ผล แน่นอน.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๘.

ธรรมให้ผลไม่แน่นอน เป็นไฉน? เว้นธรรมเหล่านั้นเสีย กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรมที่เหลือที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์, รูปทั้งหมด และ อสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมให้ผลไม่แน่นอน. [๖๘๒] ธรรมมีมรรคเป็นอารมณ์ เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภอริยมรรคเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรม มีมรรคเป็นอารมณ์. ธรรมมีเหตุคือมรรค เป็นไฉน? เว้นองค์แห่งมรรคเสีย เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วยองค์แห่งมรรค นั้น ของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีเหตุคือมรรค. สัมมาทิฏฐิของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เป็นมรรคด้วย เป็นเหตุด้วย, เว้นสัมมา- *ทิฏฐิเสีย เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วยสัมมาทิฏฐินั้น สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมมีเหตุคือมรรค. อโลภะ อโทสะ อโมหะ ของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า เหตุคือมรรค, เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์อันสัมปยุตด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ นั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีเหตุคือมรรค. ธรรมมีมรรคเป็นอธิบดี เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ทำอริยมรรคให้เป็นอธิบดีเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมมีมรรคเป็นอธิบดี. เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคที่กำลังเจริญมรรค มีวิมังสาเป็นอธิบดี อันสัมปยุตด้วยวิมังสานั้น เว้นวิมังสาเสีย สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรม มีมรรคเป็นอธิบดี. [๖๘๓] ธรรมเกิดขึ้นแล้ว เป็นไฉน? ธรรมเหล่าใด เกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว เกิดขึ้นแล้ว สงเคราะห์ด้วยส่วนที่เกิดขึ้นแล้ว คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเกิดขึ้นแล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๙.

ธรรมยังไม่เกิดขึ้น เป็นไฉน? ธรรมเหล่าใด ยังไม่เกิดแล้ว ยังไม่เป็นแล้ว ยังไม่เกิดพร้อมแล้ว ยังไม่บังเกิดแล้ว ยังไม่บังเกิดเฉพาะแล้ว ยังไม่ปรากฏแล้ว ยังไม่เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ยังไม่ ตั้งขึ้นแล้ว ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว ยังไม่เกิดขึ้นแล้ว สงเคราะห์ด้วยส่วนที่ยังไม่เกิดขึ้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมยังไม่เกิดขึ้น. ธรรมจักเกิดขึ้น เป็นไฉน? วิบากแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่ยังไม่ให้ผล เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ และรูปซึ่งจักเกิดขึ้นเพราะกรรมแต่ง สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่า ธรรมจักเกิดขึ้น. [๖๘๔] ธรรมเป็นอดีต เป็นไฉน? ธรรมเหล่าใด ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว ปราศไปแล้ว แปรไปแล้ว อัสดงคตแล้ว ถึงความดับสูญแล้ว เกิดขึ้นแล้วปราศไป ล่วงไป สงเคราะห์ด้วยส่วนที่ล่วงไปแล้ว คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอดีต. ธรรมเป็นอนาคต เป็นไฉน? ธรรมเหล่าใด ยังไม่เกิดแล้ว ยังไม่เป็นแล้ว ยังไม่เกิดพร้อมแล้ว ยังไม่บังเกิดแล้ว ยังไม่บังเกิดเฉพาะแล้ว ยังไม่ปรากฏแล้ว ยังไม่เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ยังไม่ ตั้งขึ้นแล้ว ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว ยังไม่มาถึง สงเคราะห์ด้วยส่วนที่ยังไม่มาถึง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอนาคต. ธรรมเป็นปัจจุบัน เป็นไฉน? ธรรมเหล่าใด ซึ่งเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว เกิดขึ้นเฉพาะแล้ว สงเคราะห์ด้วยส่วนที่เกิดขึ้นเฉพาะแล้ว คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นปัจจุบัน. [๖๘๕] ธรรมมีอารมณ์เป็นอดีต เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภอดีตธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรม มีอารมณ์เป็นอดีต.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๐.

ธรรมมีอารมณ์เป็นอนาคต เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภอนาคตธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นอนาคต. ธรรมมีอารมณ์เป็นปัจจุบัน เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภปัจจุบันธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นปัจจุบัน. [๖๘๖] ธรรมเป็นภายใน เป็นไฉน? ธรรมเหล่าใด เป็นภายใน เป็นเฉพาะตน เกิดแก่ตน เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล เป็นอุปาทินนะ ของสัตว์นั้นๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นภายใน. ธรรมเป็นภายนอก เป็นไฉน? ธรรมเหล่าใด เป็นภายใน เป็นเฉพาะตน เกิดแก่ตน เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล เป็นอุปาทินนะ ของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นนั้นๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นภายนอก. ธรรมเป็นภายในและเป็นภายนอก เป็นไฉน? ธรรมทั้ง ๒ ประเภทนั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นภายในและเป็นภายนอก. [๖๘๗] ธรรมมีอารมณ์เป็นภายใน เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภธรรมเป็นภายในเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นภายใน. ธรรมมีอารมณ์เป็นภายนอก เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภธรรมเป็นภายนอกเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นภายนอก. ธรรมมีอารมณ์เป็นภายในและเป็นภายนอก เป็นไฉน? ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภธรรมเป็นภายใน ธรรมเป็นภายนอกเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นภายในและเป็นภายนอก. [๖๘๘] ธรรมที่เห็นได้และกระทบได้ เป็นไฉน?

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๑.

รูปายตนะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมที่เห็นได้และกระทบได้. ธรรมที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ เป็นไฉน? จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้. ธรรมที่เห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้ เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์, รูปที่เห็นไม่ได้กระทบไม่ได้ ซึ่ง นับเนื่องในธัมมายตนะ และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมที่เห็นไม่ได้และกระทบ ไม่ได้.
ติกะ จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ บรรทัดที่ ๕๘๓๒-๖๐๔๑ หน้าที่ ๒๓๓-๒๔๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=34&A=5832&Z=6041&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=34&siri=54              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=34&i=663              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [670-688] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=34&item=670&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=10016              The Pali Tipitaka in Roman :- [670-688] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=34&item=670&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=10016              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_34              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ds2.3.1/en/caf_rhysdavids

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :