ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
เรื่องสีหเสนาบดี
ดำริเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
[๗๘] ก็โดยสมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนก ปริยาย และเวลานั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็น ความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้จึงได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณโดยอเนกปริยาย ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วจึงได้เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงสำนัก ครั้นแล้วให้นิครนถ์นาฏบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งและได้แจ้งความ ประสงค์นี้ แก่นิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม.
อกิริยวาทกถา
นิครนถ์นาฏบุตรพูดค้านว่า ท่านสีหะ ก็ท่านเป็นคนกล่าวการทำ ไฉนจึงจักไปเฝ้า พระสมณโคดมผู้เป็นคนกล่าวการไม่ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้กล่าวการไม่ทำ ทรงแสดง ธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น. ขณะนั้น ความตระเตรียมในอันจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคของสีหเสนาบดีได้เลิกล้มไป. แม้ครั้งที่สอง .... แม้ครั้งที่สาม เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้อง พระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนกปริยาย ท่านสีหเสนาบดีก็ได้คิดเป็นครั้งที่สามว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคน รู้จักเหล่านี้ จึงได้มานั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนกปริยาย ก็พวกนิครนถ์ เราจะบอกหรือไม่บอกจักทำอะไร แก่เรา ผิฉะนั้น เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นเลยทีเดียว จึงเวลาบ่าย สีหเสนาบดีออกจากพระนครเวสาลีพร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคไปด้วยยวดยานตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะผ่านไปได้ แล้วลงจากยวดยานเดิน เข้าไปถึงพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สีหเสนาบดี นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดง ธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น บุคคลจำพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระ สมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้นั้น ได้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง กล่าวอ้างเหตุสมควรแก่เหตุ และถ้อยคำที่สมควรพูดบางอย่างที่มีเหตุผล จะไม่มาถึงฐานะที่ วิญญูชนจะพึงติเตียนบ้างหรือ เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธดำรัสตอบ
[๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณ- *โคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดม กล่าวการทำแสดงธรรมเพื่อ การทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดง ธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อ ความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความ กำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อ ความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อ ความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ ก็เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการ ไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะ เรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และ แนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำแสดงธรรมเพื่อ การทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะ เพราะเรากล่าวการทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าวการทำสิ่งที่เป็นอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำ แสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรม เพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสถานะที่เป็น บาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญแสดง ธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อ ความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสถานะที่เป็นบาป อกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความ กำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะ เราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสถานะที่เป็นบาปอกุศล หลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่าพระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรม เพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะเพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรม ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าว ผู้นั้นว่า เป็นคนช่างเผาผลาญ ดูกรสีหะ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็น ธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความ เผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อ ความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ผุดเกิด ดูกรสีหะ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไป เป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความ ไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะเราเบาใจ ด้วยธรรมที่ให้เกิดความโล่งใจอย่างสูงและแสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และ แนะนำสาวกตามแนวนั้น นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.
แสดงตนเป็นอุบาสก
[๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านสีหเสนาบดี ได้กราบทูลคำนี้แด่ พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของ ที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรด ทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ภ. ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อน แล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ. สี. พระพุทธเจ้าข้า โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดี พอใจยิ่งกว่าคาด หมายไว้ เพราะพระองค์ตรัสอย่างนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำเป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ ความจริง พวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พึงยกธงเที่ยวประกาศทั่วพระนครเวสาลี ว่า สีหเสนาบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพวกเราแล้ว แต่ส่วนพระองค์สิ มาตรัสอย่างนี้ กะข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สอง ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้า. ภ. นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอได้เป็นสถานที่รับรองพวกนิครนถ์มา ด้วยเหตุนั้น เธอพึงสำคัญเห็นบิณฑบาตว่าเป็นของควรให้นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงแล้ว. สี. โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดีพอใจยิ่งกว่าคาดหมายไว้ เพราะ พระองค์ตรัสอย่างนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอได้เป็นสถานที่รับรอง พวกนิครนถ์มา ด้วยเหตุนั้น เธอพึงสำคัญบิณฑบาตว่าเป็นของควรให้นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง แล้ว ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระสมณะโคดมรับสั่งอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราผู้เดียว ไม่ควรให้ทานแก่คนพวกอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของ ศาสดาอื่น เพราะทานที่ให้แก่เราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่คนพวกอื่นไม่มีผลมาก ทาน ที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก แต่ส่วน พระองค์ทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้า ในการให้แม้ในพวกนิครนถ์ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจักรู้กาลใน ข้อนี้เอง ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ ครั้งที่สาม ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิม แต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าข้า.
สีหเสนาบดีได้ธรรมจักษุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่สีหเสนาบดี คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และ อานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า สีหเสนาบดีมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่สีหเสนาบดี ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. ครั้นสีหเสนาบดีเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรม แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ ต้องเชื่อผู้อื่น ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศล และปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดย ดุษณีภาพ ครั้นสีหเสนาบดีทราบอาการที่ทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้วได้ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ต่อมาสีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า พนาย เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสดที่เขาขาย แล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตโดย ผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้มหาดเล็กไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนิน ไปทางนิเวศน์ของสีหเสนาบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมกับ ภิกษุสงฆ์. ก็โดยสมัยนั้นแล พวกนิครนถ์เป็นอันมาก พากันประคองแขน คร่ำครวญไปตามถนน หนทางสี่แยก สามแยกทั่วทุกสายในพระนครเวสาลีว่า วันนี้ สีหเสนาบดีล้มสัตว์ของเลี้ยงตัว อ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณะโคดม พระสมณะโคดมทรงทราบอยู่ยังเสวยเนื้อนั้นซึ่งเขาทำ เฉพาะเจาะจงตน ขณะนั้น มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าสีหเสนาบดีทูลกระซิบว่า ขอเดชะ ฝ่าพระบาทพึงทราบว่านิครนถ์มากมายเหล่านั้น พากันประคองแขนคร่ำครวญไปตามถนนหนทาง สี่แยกสามแยกทั่วทุกสายในพระนครเวสาลีว่า วันนี้สีหเสนาบดี ล้มสัตว์ของเลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบอยู่ ยังเสวยเนื้อนั้น ซึ่งเขาทำเฉพาะ เจาะจงตน. สีหเสนาบดีตอบว่า ช่างเถิดเจ้า ท่านเหล่านั้นมุ่งติเตียนพระพุทธเจ้ามุ่งติเตียนพระธรรม มุ่งติเตียนพระสงฆ์มานานแล้ว แต่ก็กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นด้วยถ้อยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่จริง ยังไม่หนำใจ ส่วนพวกเราไม่ตั้งใจปลงสัตว์จากชีวิต แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเลย. ครั้งนั้น สีหเสนาบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตรแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีผู้นั่ง เฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุก จากที่ประทับเสด็จกลับไป.
เรื่องสีหเสนาบดี จบ.
-----------------------------------------------------
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิด นั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ปลา เนื้อ ที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๑๙๒๔-๒๑๐๐ หน้าที่ ๗๘-๘๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=1924&Z=2100&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=21              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=78              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [78-80] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=78&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4045              The Pali Tipitaka in Roman :- [78-80] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=78&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4045              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:31.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#BD.4.318

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :