บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
เรื่องพระอาพาธโรคท้องร่วง [๑๖๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตรกองคูถ ของตนอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนิน ไปตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุรูปนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้น นอน จมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุรูปนั้น แล้วตรัสถามว่า เธออาพาธ เป็นโรคอะไรภิกษุ? ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าอาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า. พ. เธอมีผู้พยาบาลไหมเล่า ภิกษุ? ภิ. ไม่มี พระพุทธเจ้า. พ. เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ? ภิ. เพราะข้าพระพุทธเจ้ามิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายจึงไม่ พยาบาลข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า. จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอไปตักน้ำมา เราจักสรงน้ำ ภิกษุรูปนี้. ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้แล้ว ตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาคทรงรดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงยกศีรษะ ท่านพระอานนท์ยกเท้าแล้ววางบนเตียง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ในวิหารหลังโน้น มีภิกษุอาพาธหรือ ภิกษุ ทั้งหลาย? ภิ. มี พระพุทธเจ้าข้า พ. ภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นโรคอะไร ภิกษุทั้งหลาย? ภิ. ท่านรูปนั้น อาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า. พ. ภิกษุรูปนั้น มีผู้พยาบาลไหมเล่า ภิกษุทั้งหลาย? ภิ. ไม่มี พระพุทธเจ้า พ. เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ? ภิ. เพราะท่านรูปนั้นมิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาล ท่านรูปนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะ หาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาล จนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาล จนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอด ชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วม อุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ.องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ยาก ๕ อย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้พยาบาลได้ยาก คือ ไม่ทำ ความสบาย ๑ ไม่รู้ประมาณในความสบาย ๑ ไม่ฉันยา ๑ ไม่บอกอาการไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาล ที่มุ่งประโยชน์ คือ ไม่บอกอาการไข้ที่กำเริบว่า กำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรง อยู่ว่าทรงอยู่ ๑ มีนิสัยเป็นคนไม่อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดปรากฏในร่างกาย อันกล้าแข็ง รุนแรง ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อันจะพร่าชีวิตเสีย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบ ด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้พยาบาลได้ยาก.องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ง่าย ๕ อย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย คือทำความ สบาย ๑ รู้ประมาณในความสบาย ๑ ฉันยา ๑ บอกอาการป่วยไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาลที่มุ่ง ประโยชน์ คือบอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบอาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่ ๑ มีนิสัยเป็นคนอดทนต่อทุกขเวทนา อันกล้าแข็ง รุนแรง ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อัน จะพร่าชีวิตเสีย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้พยาบาล ได้ง่าย.องค์ของภิกษุผู้ไม่เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลไข้ คือเป็นผู้ ไม่สามารถเพื่อประกอบ ๑ ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงเข้าไปให้ กันของ ไม่แสลงออกเสีย ๑ พยาบาลไข้เห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา ๑ เป็นผู้เกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ หรือของที่อาเจียนออกไป ๑ เป็นผู้ไม่สามารถจะชี้แจงให้คนไข้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาในกาลทุกเมื่อ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ นี้แล ไม่ควรพยาบาลไข้.องค์ของภิกษุผู้เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาลไข้ คือเป็นผู้ สามารถประกอบยา ๑ รู้จักของแสลง และไม่แสลง คือกันของแสลงออก นำของไม่แสลง เข้าไปให้ ๑ มีจิตเมตตาพยาบาลไข้ ไม่เห็นแก่อามิส ๑ เป็นผู้ไม่เกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ หรือของที่อาเจียนออกไปเสีย ๑ เป็นผู้สามารถที่จะชี้แจงให้คนไข้ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ในกาลทุกเมื่อ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพยาบาลไข้ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรพยาบาลไข้.เรื่องให้บาตรจีวรของผู้ถึงมรณะภาพแก่คิลานุปัฏฐาก [๑๖๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปในโกศลชนบทได้เข้าไปอยู่อาวาส แห่งหนึ่ง บรรดาภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งอาพาธ จึงภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษาตกลงกันดังนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการพยาบาลภิกษุอาพาธ ผิฉะนั้น พวกเราจง พยาบาลภิกษุรูปนี้เถิด แล้วพากันพยาบาลภิกษุอาพาธนั้น เธออันภิกษุเหล่านั้นพยาบาลอยู่ได้ถึง มรณภาพ จึงภิกษุเหล่านั้นถือบาตรจีวรของเธอไปพระนครสาวัตถี แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร แต่ภิกษุ ผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตร แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้.วิธีให้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของท่าน ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้ไตรจีวรและบาตร ของเธอ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรนี้ แก่ภิกษุผู้ พยาบาลไข้ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้ไตรจีวรและบาตร ของเธอ สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ การให้ไตรจีวรและบาตรนี้ แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงพูด. สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.สามเณรถึงมรณภาพ สมัยต่อมา สามเณรรูปหนึ่งถึงมรณภาพ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสามเณรถึงมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้.วิธีให้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้จีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า สามเณรชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของเธอ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-กรรมวาจาให้จีวรและบาตร ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตร ของเธอ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรและบาตรนี้แก่ผู้พยาบาลไข้ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตร ของเธอ สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้ แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ การให้จีวรและบาตรนี้ แก่ ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงพูด. สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.ภิกษุและสามเณรช่วยกันพยาบาลไข้ สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่ง ช่วยกันพยาบาลภิกษุอาพาธ เธออันภิกษุ และสามเณรนั้นพยาบาลอยู่ ได้ถึงมรณภาพ จึงภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น ได้มีความปริวิตกว่า เรา พึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้อย่างไรหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี- *พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนแก่สามเณร ผู้พยาบาลไข้เท่าๆ กัน. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งมีของใช้มาก มีบริขารมาก ได้ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุถึง มรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบ ไตรจีวรและบาตรให้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นลหุภัณฑ์ ลหุบริขาร สิ่งนั้นเราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันแบ่ง บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร สิ่งนั้นเป็นของสงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา ไม่ควรแบ่ง ไม่ควรแจก.เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๔๓๕๗-๔๔๗๔ หน้าที่ ๑๗๘-๑๘๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=4357&Z=4474&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=45 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=166 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [166-167] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=166&items=2 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=5014 The Pali Tipitaka in Roman :- [166-167] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=166&items=2 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=5014 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:26.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#BD.4.431
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]