ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๘. ฐานสูตร
[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ไม่พึงได้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่า ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าแก่ ๑ ขอสิ่งที่มีความ เจ็บไข้เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าเจ็บไข้ ๑ ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าตาย ๑ ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าสิ้นไป ๑ ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าฉิบหาย ๑ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความ แก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาย่อมไม่เห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็น ธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้น แก่ไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของ สัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น ส่วน เราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึง เศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวก มิตรพึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาย่อม เศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้ สดับ ถูกลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ของปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ... สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อม สิ้นไป ... สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นฉิบหายไป โดย ที่แท้ สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหาย ไปเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรพึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่ง ที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นแก่ไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดา ของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไป ทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่ หลงงมงาย นี้เรียกว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษ เป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มี ความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อม เจ็บไข้ ... สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มี ความฉิบหายเป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มี ความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นฉิบหายไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็น ธรรมดาฉิบหายไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลง งมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่าอริยสาวก ผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษ อันเป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชนผู้ ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศกปราศจากลูกศร ย่อม ดับความทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้แล อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ฯ ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้ อันใครๆ ย่อมไม่ได้เพราะ การเศร้าโศก เพราะการคร่ำครวญ พวกอมิตรทราบว่าเขา เศร้าโศก เป็นทุกข์ ย่อมดีใจ ก็คราวใด บัณฑิตผู้พิจารณา รู้เนื้อความ ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหมด คราวนั้น พวก อมิตรเห็นหน้าอันไม่ผิดปรกติของบัณฑิตนั้น ยิ้มแย้มตามเคย ย่อมเป็นทุกข์ บัณฑิตพึงได้ประโยชน์ในที่ใดๆ ด้วยประการ ใดๆ เพราะการสรรเสริญ เพราะความรู้ เพราะกล่าวคำ สุภาษิต เพราะการบำเพ็ญทาน หรือเพราะประเพณีของตน ก็พึงบากบั่นในที่นั้นๆ ด้วยประการนั้นๆ ถ้าพึงทราบว่า ความต้องการอย่างนี้อันเราหรือผู้อื่นไม่พึงได้ไซร้ ก็ไม่ควร เศร้าโศก ควรตั้งใจทำงานโดยเด็ดขาดว่า บัดนี้เราทำ อะไรอยู่ ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๘
โกสลสูตร
[๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้า ปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทแล้ว ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พระนางมัลลิกาเทวีได้ทิวงคต ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ใกล้พระกรรณว่า ขอเดชะ พระนางมัลลิกาเทวีได้ทิวงคตแล้ว ครั้นเขากราบทูลดังนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงมีทุกข์โทมนัส ประทับนั่งเหงาหงอย ก้มพระพักตร์ เศร้าสลด อัดอั้น ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบดังนั้นแล้ว จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ดูกรมหาบพิตร ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ ใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่า ขอสิ่ง ที่มีความแก่เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าแก่ ๑ ฯลฯ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. นารทสูตร
[๕๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระนารทะอยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้พระนคร ปาตลีบุตร ก็สมัยนั้น พระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัย แห่งพระราชาพระนามว่ามุณฑะ ได้ทิวงคต เมื่อพระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัย ทิวงคตไปแล้ว พระราชาก็ไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพพระนาง ตลอดคืนตลอดวัน ครั้งนั้น พระราชาได้ตรัสสั่งมหาอำมาตย์ชื่อว่าโสการักขะผู้ เป็นที่รักว่า ท่านโสการักขะผู้เป็นที่รัก ท่านจงยกพระศพพระนางภัททาราชเทวี ลงในรางเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมัน แล้วปิดด้วยรางเหล็กอันอื่นอีก เพื่อให้เราได้เห็น พระศพพระนางนานได้เท่าไรยิ่งดี โสการักขะมหาอำมาตย์รับสนองพระบรมราช โองการแล้ว ก็ได้จัดการยกพระศพพระนางลงในรางเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมัน แล้วปิด ด้วยรางเหล็กอันอื่นอีก ครั้งนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์จึงคิดว่า เมื่อพระนาง ภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก ที่พอพระทัย แห่งพระเจ้ามุณฑะนี้ ได้ทิวงคตไปแล้ว พระราชาไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราช- *กรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพพระนางตลอดคืน ตลอดวัน พระราชาพึงเสด็จ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์รูปใดหนอ ได้ทรงสดับธรรมแล้ว จะพึงทรงละ ลูกศร คือความโศกได้ ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์จึงคิดว่า ท่าน พระนารทะรูปนี้ อยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระนารทะขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม เป็นวุฑฒบุคคล และเป็นพระอรหันต์ จึงควรที่ พระเจ้ามุณฑะจะเสด็จเข้าไปหา เพื่อบางทีได้ทรงสดับธรรมของท่านแล้ว พึงทรง ละลูกศร คือ ความโศกได้ ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์จึงเข้าไปเฝ้า พระเจ้ามุณฑะ แล้วกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านพระนารทะรูปนี้ อยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระนารทะขจรไปแล้วอย่างนี้ ว่า เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำอันวิจิตร มีปฏิภาณ ดีงาม เป็นวุฑฒบุคคล และเป็นพระอรหันต์ ก็ถ้าพระองค์จะพึงเสด็จเข้าไปหา ท่านแล้วไซร้ บางทีได้ทรงสดับธรรมของท่านแล้ว พึงทรงละลูกศร คือ ความ โศกได้ พระเจ้ามุณฑะจึงตรัสสั่งว่า ท่านโสการักขะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปบอก ท่านพระนารทะให้ทราบ เพราะกษัตริย์เช่นเราพึงเข้าใจว่า สมณะหรือพราหมณ์ที่ อยู่ในราชอาณาจักร ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อนจะพึงเข้าไปหาได้อย่างไร โสกา- *รักขะมหาอำมาตย์รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระนารทะ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รัก ที่พอพระทัยแห่งพระเจ้ามุณฑะนี้ ได้ทิวงคตแล้ว เมื่อพระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รัก ที่พอพระทัย ได้ทิวงคตไปแล้ว พระราชา ก็ไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพแห่งพระนางภัททาราชเทวี ตลอดคืน ตลอดวัน ขอท่าน พระนารทะจงแสดงธรรมแก่พระราชา โดยให้พระราชาพึงทรงละลูกศร คือ ความโศกได้ เพราะได้ทรงสดับธรรมของท่านพระนารทะ ท่านพระนารทะจึง กล่าวว่า ดูกรมหาอำมาตย์ ขอให้พระราชาทรงทราบเวลาที่ควร ณ บัดนี้ ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์ลุกจากที่นั่ง อภิวาทท่านพระนารทะ ทำประทักษิณเสร็จ แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามุณฑะแล้ว กราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านพระนารทะได้ เปิดโอกาสให้เสด็จไปหาได้แล้ว บัดนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเวลาที่ควรเถิด พระเจ้าข้า พระเจ้ามุณฑะตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้พนักงานเทียมพาหนะที่ ดีๆ ไว้ โสการักขะมหาอำมาตย์ รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ได้ให้ พนักงานเทียมพระราชพาหนะที่ดีๆ ไว้เสร็จแล้ว จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้า พระพุทธเจ้าได้ให้พนักงานเทียมพระราชพาหนะที่ดีๆ ไว้เสร็จแล้ว ขอพระองค์ จงทรงทราบเวลาที่ควรเถิดพระเจ้าข้า ลำดับนั้น พระเจ้ามุณฑะ เสด็จขึ้นทรง พระราชพาหนะที่ดีๆ ไปสู่กุกกุฏาราม เพื่อพบปะกับท่านพระนารทะ ด้วยพระ ราชานุภาพอย่างใหญ่ยิ่ง เสด็จไปเท่าที่พระราชพาหนะจะไปได้ เสด็จลง จากพระราชพาหนะแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปสู่อาราม เข้าไปหา ท่านพระนารทะ ทรงอภิวาทแล้ว ประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระนารทะได้กล่าวกะพระเจ้ามุณฑะว่า ขอถวายพระพร ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ไม่พึงได้ ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่า ขอสิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าแก่ ๑ ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าเจ็บไข้ ๑ ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าตาย ๑ ขอสิ่งที่มี ความสิ้นไปเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าสิ้นไป ๑ ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็น ธรรมดา [ของเรา] อย่าฉิบหายไป ๑ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ไม่พึงได้ ขอถวายพระพร สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของเราผู้เดียว เท่านั้นแก่ไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลง งมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร คือ ความ โศกที่มีพิษเสียบแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ขอถวายพระพร อีก ประการหนึ่ง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อม เจ็บไข้ ... สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มี ความฉิบหายเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มี ความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่ง ที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้น ฉิบหายไป โดยที่แท้ สิ่งที่มี ความฉิบหายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงาน ก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มี ความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร คือ ความโศก ที่มีพิษเสียบแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ขอถวายพระพร ส่วนว่า สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความ แก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มี ความแก่เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นแก่ไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็น ธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไป ทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่ หลงงมงาย นี้เรียกว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษ อันเป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มี ความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อม เจ็บไข้ ... สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มี ความฉิบหายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มี ความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นฉิบหายไป โดย ที่แท้ สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การ จุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหาย เป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลง งมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้ การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า อริยสาวก ผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความเศร้าโศกที่มีพิษ ซึ่งเสียบแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อน ได้ด้วยตนเอง ขอถวายพระพร ฐานะ ๕ ประการนี้แล อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกนี้ไม่พึงได้ ฯ ท่านพระนารทะ ครั้นกล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้ อันใครๆ ย่อมไม่ได้เพราะ การเศร้าโศก เพราะการคร่ำครวญ พวกอมิตรทราบว่าเขา เศร้าโศก เป็นทุกข์ ย่อมดีใจ ก็คราวใด บัณฑิตพิจารณา รู้เนื้อความ ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คราวนั้น พวก อมิตรเห็นหน้าอันไม่ผิดปกติของบัณฑิตนั้น ยิ้มแย้มตามเคย ย่อมเป็นทุกข์ บัณฑิตพึงได้ประโยชน์ในที่ใดๆ ด้วย ประการ ใดๆ เพราะการสรรเสริญ เพราะความรู้ เพราะ กล่าวคำสุภาษิต เพราะการบำเพ็ญทาน หรือเพราะประเพณี ของตน ก็พึงบากบั่นในที่นั้นๆ ด้วยประการนั้นๆ ถ้าพึง ทราบว่า ความต้องการอย่างนี้อันเราหรือผู้อื่นไม่พึงได้ไซร้ ก็ไม่ควรเศร้าโศก ควรตั้งใจทำงานโดยเด็ดขาดว่า บัดนี้เรา ทำอะไรอยู่ ดังนี้ ฯ เมื่อท่านพระนารทะกล่าวจบแล้วอย่างนี้ พระเจ้ามุณฑะได้ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร ท่านพระนารทะตอบว่า ขอถวาย พระพร ธรรมปริยายนี้ชื่อโสกสัลลหรณะ พระเจ้ามุณฑะตรัสชมว่า ท่านผู้เจริญ โสกสัลลหรณธรรมปริยายดีนัก โสกสัลลหรณธรรมปริยายดีนัก ท่านผู้เจริญ เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ข้าพเจ้าจึงละลูกศร คือ ความโศกได้ ครั้งนั้น พระเจ้ามุณฑะได้ตรัสสั่งโสการักขะมหาอำมาตย์ว่า ท่านจงถวายพระเพลิงพระศพ พระนางภัททาราชเทวี แล้วจึงทำเป็นสถูปไว้ ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักอาบน้ำ แต่งตัว บริโภคอาหาร และประกอบการงาน ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบมุณฑราชวรรคที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาทิยสูตร ๒. สัปปุริสสูตร ๓. อิฏฐสูตร ๔. มนาปทายีสูตร ๕. อภิสันทสูตร ๖. สัมปทาสูตร ๗. ธนสูตร ๘. ฐานสูตร ๙. โกสลสูตร ๑๐. นารทสูตร
-----------------------------------------------------
ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ทุติยปัณณาสก์
นิวรณวรรคที่ ๑
๑. อาวรณสูตร
[๕๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มี พระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่อง กางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการเป็นไฉน นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น ไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้ แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำ ที่ไหลลงจากภูเขา ไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่จะพัดไปได้ บุรุษพึง เปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลาง แห่งแม่น้ำนั้น ก็ซัด ส่าย ไหลผิดทาง ไม่พึงไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแส เชี่ยว ไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอ ไม่ละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่ง ญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพล แล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจาก ภูเขาไปสู่ที่ไกล พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ บุรุษพึงปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้ง สองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็จักไม่ซัด ไม่ส่าย ไหลไม่ผิดทาง พึงไหลไปสู่ที่ไกลได้ มีกระแสเชี่ยว และพัดในสิ่งที่พอพัดไป ได้ ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอ ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถ กระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็น ฐานะที่จะมีได้ ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. ราสิสูตร
[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อกล่าวว่า กองอกุศล ดังนี้ จะกล่าว ให้ถูกพึงกล่าวนิวรณ์ ๕ และกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ คือ นิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เป็น ไฉน คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อกล่าวว่า กองอกุศล ดังนี้ จะ กล่าวให้ถูก พึงกล่าวนิวรณ์ ๕ และกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ คือ นิวรณ์ ๕ ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. อังคสูตร
[๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญา ตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้ ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วย ไฟธาตุที่เผาอาหารให้ย่อยสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควร แก่การบำเพ็ญเพียร ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นผู้เปิดเผยตนตาม เป็นจริง ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยัง กุศลธรรมให้ถึงพร้อมอยู่ เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระใน กุศลธรรม ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา ที่ให้หยั่งถึง ความเกิดขึ้นและดับไป อันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดย ชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. สมยสูตร
[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นคนแก่ ถูกชราครอบงำ นี้เป็น สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๑ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้อาพาธ ถูกพยาธิครอบงำ นี้เป็นสมัยที่ไม่ควร บำเพ็ญเพียรข้อที่ ๒ อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีข้าวแพง ข้าวเสียหาย มีบิณฑบาตหาได้ยาก ไม่สะดวกที่จะยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ด้วยการแสวงหาบิณฑบาต นี้เป็นสมัยที่ไม่ ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๓ ฯ อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัย มีความกำเริบในป่าดง ชาวชนบทพากัน ขึ้นยานพาหนะอพยพไป นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๔ อีกประการหนึ่ง สมัยที่สงฆ์แตกกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์ แตกกันแล้ว ย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน มีการใส่ร้ายกันและกัน มีการทอดทิ้งกันและกัน คนผู้ไม่เลื่อมใสในสงฆ์หมู่นั้นย่อมไม่เลื่อมใส และคน บางพวกที่เลื่อมใสย่อมเป็นอย่างอื่นไป นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท ประกอบด้วย ความเป็นหนุ่ม ตั้งอยู่ในปฐมวัย นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๑ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วย ไฟธาตุที่เผาอาหารให้ย่อยสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควร แก่การบำเพ็ญเพียร นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๒ ฯ อีกประการหนึ่ง สมัยที่ข้าวถูก ข้าวดี มีบิณฑบาตหาได้ง่าย สะดวกที่ จะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาบิณฑบาต นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ข้อที่ ๓ ฯ อีกประการหนึ่ง สมัยที่พวกมนุษย์พร้อมเพรียงกัน [สามัคคีกัน] ยินดี ต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยจักษุที่ ประกอบด้วยความรัก นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๔ ฯ อีกประการหนึ่ง สมัยที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศร่วมกัน ย่อมอยู่เป็นผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์สมัครสมานกัน ย่อมไม่มีการด่ากันและกัน ไม่บริภาษกันและกัน ไม่มีการใส่ร้ายกันและกัน ไม่ มีการทอดทิ้งกันและกัน คนผู้ไม่เลื่อมใสในสงฆ์หมู่นั้น ย่อมเลื่อมใส และคน ที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้นไป นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. มาตุปุตติกสูตร
[๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล มารดาและบุตร สองคน คือ ภิกษุและภิกษุณี เข้าจำพรรษา ในพระนครสาวัตถี คนทั้งสองนั้น เป็นผู้ใคร่เห็นกันและกันเนืองๆ แม้มารดาก็เป็นผู้ใคร่เห็นบุตรเนืองๆ แม้บุตร ก็เป็นผู้ใคร่เห็นมารดาเนืองๆ เพราะการเห็นกันเนืองๆ แห่งคนทั้งสองนั้น จึงมี ความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีการวิสาสะคุ้นเคยกัน เมื่อมีการ วิสาสะกัน จึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้ง ซึ่งความทุรพล ได้เสพเมถุนธรรม ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มารดาและบุตรสองคน คือ ภิกษุและภิกษุณี เข้าจำพรรษาในพระนครสาวัตถีนี้ คนสองคนนั้นเป็นผู้ใคร่เห็นกันและกันเนืองๆ แม้มารดาก็เป็นผู้ใคร่เห็นบุตรเนืองๆ แม้บุตรก็เป็นผู้ใคร่เห็นมารดาเนืองๆ เพราะ การเห็นกันเนืองๆ แห่งคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีการวิสาสะกัน เมื่อมีการวิสาสะกัน จึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่ บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล ได้เสพเมถุนธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้นย่อมสำคัญหรือหนอว่า มารดาย่อมไม่กำหนัดในบุตร ก็หรือบุตรย่อมไม่กำหนัดในมารดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปอื่น แม้รูปเดียว ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่ง ความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตรายแก่ การบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนรูปหญิงนี้เลย สัตว์ ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพัน ในรูปหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจรูปหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเสียงอื่น แม้เสียงเดียว ... กลิ่นอื่นแม้กลิ่นเดียว ... รสอื่นแม้รสเดียว ... โผฏฐัพพะอื่นแม้ อย่างเดียว ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่ง ความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตราย แก่การบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนโผฏฐัพพะ แห่งหญิงนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพัน ใน โผฏฐัพพะแห่งหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจโผฏฐัพพะแห่งหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอด กาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย หญิงเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี นอนหลับแล้วก็ดี หัวเราะก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี บวมขึ้นก็ดี ตายแล้วก็ดี ย่อมครอบงำจิตของบุรุษได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวสิ่งใดๆ พึงกล่าวโดยชอบว่า บ่วงรวบรัดแห่งมาร ก็พึงกล่าวมาตุคามนั่นแหละว่า เป็น บ่วงรวบรัดแห่งมาร โดยชอบได้ ฯ บุคคลพึงสนทนาด้วยเพชฌฆาตก็ดี ด้วยปีศาจก็ดี พึงถูกต้อง อสรพิษที่กัดตายก็ดี ก็ไม่ร้ายแรงเหมือนสนทนาสองต่อสอง ด้วยมาตุคามเลย พวกหญิงย่อมผูกพันชายผู้ลุ่มหลงด้วยการ มองดู การหัวเราะ การนุ่งห่มลับล่อ และการพูดอ่อนหวาน มาตุคามนี้ มิใช่ผูกพันเพียงเท่านี้ แม้บวมขึ้น ตายไปแล้ว ก็ยังผูกพันชายได้ กามคุณ ๕ นี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมปรากฏในรูปหญิง เหล่าชนผู้ถูกห้วงกามพัด ไม่กำหนดรู้กาม มุ่งคติในกาล และภพน้อย ภพใหญ่ในสงสาร ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้กาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เที่ยวไป ชนเหล่านั้นบรรลุถึงความสิ้น อาสวะ ย่อมข้ามฝั่งสงสารในโลกได้ ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. อุปัชฌายสูตร
[๕๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาอุปัชฌาย์ของตนถึงที่อยู่ ครั้น แล้ว ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อม ไม่ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิต ของผม ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ครั้งนั้น ภิกษุนั้นพาภิกษุสัทธิวิหาริกนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิต ของผม ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ การที่กายของเธอหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ ปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่เธอ เธอไม่ยินดีประพฤติ พรหมจรรย์ และเธอมีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่คุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่อง ตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งหลายทุกวัน ทุกคืน ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิ- *ปักขิยธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดังนี้ ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ลุกขึ้น จากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ภิกษุนั้นหลีกออก จากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่ ไม่นานเท่าไร ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ก็แลภิกษุนั้นได้เป็นพระอรหันต์ รูปหนึ่ง ในจำนวน พระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้น ภิกษุนั้น ได้บรรลุอรหัตแล้ว จึงเข้าไปหาอุปัชฌาย์ ของตนถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายผมไม่หนักขึ้น ทิศ ทั้งหลายย่อมปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะย่อมไม่ ครอบงำจิตของผม ผมยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมไม่มีความสงสัยในธรรม ทั้งหลาย ครั้งนั้น ภิกษุนั้น พาภิกษุผู้สัทธิวิหาริกนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายของผมไม่ หนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่ผม ถิ่น- *มิทธะย่อมไม่ครอบงำจิตของผม ผมยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมไม่มีความ สงสัยในธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ การที่กายของเธอไม่ หนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่เธอ ถิ่น- *มิทธะย่อมไม่ครอบงำจิตของเธอ เธอยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และเธอไม่มี ความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีได้แก่ภิกษุผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรม ทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจัก เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความ เพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิปักขิย- *ธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. ฐานสูตร
[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความแก่ไปได้ ๑ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑ เราจะต้องพลัดพรากจาก ของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑ เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรม เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่ว ก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความแก่ไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวมีอยู่แก่สัตว์ ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขา พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้โดย สิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามี ความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วง พ้นความเจ็บไข้ไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความไม่มีโรคมีอยู่แก่ สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้นได้โดย สิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามี ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความตายไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่ง เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะ นั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลง ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความตายไปได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของ ชอบใจทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความรักใคร่ในของรักมีอยู่แก่สัตว์ ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขา พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความพอใจ ความรักใคร่นั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้อง พลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่ง กรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัย อำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณา เนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจัก เป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ ผู้เดียวเท่านั้นที่มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ โดยที่แท้ สัตว์ ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรค ย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวก นั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีความเจ็บไข้เป็น ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ ไปได้ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวก นั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรค นั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตาย ไปได้ โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วน มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะ นั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่ง มรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียว เท่านั้นที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวง บรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนจะต้องพลัดพรากจากของรักของ ชอบใจทั้งสิ้น เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้ มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาท แห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดา ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่ง กรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะ นั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่ง มรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา สัตว์ทั้งหลายย่อม เป็นไปตามธรรมดา พวกปุถุชนย่อมเกลียด ถ้าเราพึงเกลียด ธรรมนั้น ในพวกสัตว์ผู้มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ข้อนั้นไม่ สมควรแก่เราผู้เป็นอยู่อย่างนี้ เรานั้นเป็นอยู่อย่างนี้ ทราบ ธรรมที่หาอุปธิมิได้ เห็นการออกบวชโดยเป็นธรรมเกษม ครอบงำความมัวเมาทั้งปวงในความไม่มีโรค ในความเป็น หนุ่มสาว และในชีวิต ความอุตสาหะได้มีแล้ว แก่เราผู้ เห็นเฉพาะซึ่งนิพพาน บัดนี้ เราไม่ควรเพื่อเสพกามทั้งหลาย จักเป็นผู้ประพฤติไม่ถอยหลัง ตั้งหน้าประพฤติพรหมจรรย์ ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. กุมารลิจฉวีสูตร
[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปสู่เมืองเวสาลี เพื่อบิณฑบาต ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต แล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่โคน ต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีกุมารหลายคนถือธนูที่ขึ้นสาย มีฝูงสุนัข แวดล้อม เดินเที่ยวไปในป่ามหาวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ที่โคน ต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วจึงวางธนูที่ขึ้นสาย ปล่อยฝูงสุนัขไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ต่างนั่งนิ่งประนม อัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่ามหานามะ เดินพักผ่อน อยู่ในป่ามหาวัน ได้เห็นเจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านั้นผู้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้ พระผู้มีพระภาค แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เปล่งอุทานว่า เจ้าวัชชีจักเจริญๆ พระผู้มี พระภาคตรัสถามว่า ดูกรมหานามะ ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจ้าวัชชีจักเจริญๆ ฯ ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ เป็นผู้ดุร้าย หยาบคาย กระด้าง ของขวัญต่างๆ ที่ส่งไปในตระกูลทั้งหลาย คือ อ้อย พุทรา ขนม ขนมต้ม หรือขนมแดกงา เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ย่อมแย่งชิงกิน ย่อมเตะหลัง หญิงแห่งตระกูลบ้าง เตะหลังกุมารีแห่งตระกูลบ้าง แต่บัดนี้ เจ้าลิจฉวีกุมาร เหล่านี้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ฯ พ. ดูกรมหานามะ ธรรม ๕ ประการมีอยู่แก่กุลบุตรคนใดคนหนึ่ง เป็น ขัตติยราช ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ตาม ผู้ปกครองรัฐ ซึ่งรับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัครเสนาบดีก็ตาม เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านก็ตาม หัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็น ใหญ่เฉพาะตระกูลก็ตาม กุลบุตรนั้นพึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรมหานามะ กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา มารดาบิดา ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลัง แขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม มารดาบิดา ผู้ได้รับการสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วย น้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันมารดาบิดาอนุเคราะห์ แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ฯ อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร และคนใช้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดย ชอบธรรม บุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้ ผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิต ยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันบุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้ อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ฯ อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เพื่อนชาวนา และคนที่ร่วมงาน ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้น ด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อนชาวนา และคนที่ร่วมงานผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อม อนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันเพื่อนชาวนา และคนที่ร่วมงานอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความ เจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ฯ อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เทวดาผู้รับ พลีกรรม ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลัง แขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เทวดาผู้รับ พลีกรรม ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันเทวดาอนุเคราะห์ แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ฯ อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์ ด้วยโภคทรัพย์ที่หาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม สมณพราหมณ์ผู้ได้รับ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรอันสมณพราหมณ์อนุเคราะห์แล้ว พึง หวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ดูกรมหานามะ ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมมีอยู่แก่กุลบุตรคนใดคนหนึ่ง เป็นขัตติยราช ผู้ได้รับมูรธาภิเษกก็ตาม ผู้ปกครอง รัฐซึ่งได้รับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัครเสนาบดีก็ตาม ผู้ปกครองหมู่บ้านก็ตาม หัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็นใหญ่เฉพาะตระกูลก็ตาม พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ฯ กุลบุตรผู้โอบอ้อมอารี มีศีล ย่อมทำการงานแทนมารดาบิดา บำเพ็ญประโยชน์แก่บุตร ภริยา แก่ชนภายในครอบครัว แก่ผู้อาศัยเลี้ยงชีพ แก่ชนทั้งสองประเภท กุลบุตรผู้เป็น บัณฑิต เมื่ออยู่ครองเรือนโดยธรรม ย่อมยังความยินดีให้ เกิดขึ้นแก่ญาติทั้งที่ล่วงลับไปทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันแก่ สมณพราหมณ์ เทวดา กุลบุตรนั้นครั้นบำเพ็ญกัลยาณธรรม แล้ว เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ บัณฑิตทั้งหลายย่อม สรรเสริญเขาในโลกนี้ เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจ ในสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๘
๙. ทุลลภสูตรที่ ๑
[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวชเมื่อแก่ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ หาได้ยาก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวช เมื่อแก่ เป็นคนละเอียดหาได้ยาก เป็นผู้มีมรรยาทสมบูรณ์หาได้ยาก เป็นพหูสูตร หาได้ยาก เป็นธรรมกถึกหาได้ยาก เป็นวินัยธรหาได้ยาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวชเมื่อแก่ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล หาได้ยาก ฯ
จบสูตรที่ ๙

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๑๒๓๒-๑๘๑๙ หน้าที่ ๕๓-๗๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=1232&Z=1819&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=48&items=12              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=48&items=12&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=48&items=12              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=48&items=12              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=48              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]