ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
๔. มหาสุทัสสนสูตร (๑๗)
-----------------------
[๑๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- ในสมัยใกล้เสด็จปรินิพพานคราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับในระหว่าง ไม้สาละ ในสาลวัน อันเป็นที่แวะพักของเหล่ามัลละกษัตริย์ เขตกรุงกุสินารา ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า แล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จ ปรินิพพาน ในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่น มีอยู่คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ที่เลื่อมใสพระตถาคตอย่างยิ่ง มีอยู่มากใน เมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้นจักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง ดังนี้เลย ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษก เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง ดูกรอานนท์ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดย ยาวด้านทิศบูรพาและทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ ๗ โยชน์ ดูกรอานนท์ กุสาวดี ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่นและมีภิกษาหาได้ง่าย ดูกรอานนท์ เมืองอาลกมันทาราชธานี แห่ง เทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษา หาได้ง่าย แม้ฉันใด เมืองกุสาวดีราชธานีก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย ดูกรอานนท์ กุสาวดี ราชธานี มิได้เงียบจากเสียง ๑๐ ประการ ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า ท่านทั้งหลาย จงบริโภค จงดื่ม จงเคี้ยวกิน ดูกรอานนท์ กุสาวดีราชธานี แวดล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น คือ กำแพงแล้วด้วย ทองชั้น ๑ แล้วด้วยเงินชั้น ๑ แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ชั้น ๑ แล้วด้วยแก้วผลึกชั้น ๑ แล้วด้วยแก้วโกเมนชั้น ๑ แล้วด้วยบุษราคัมชั้น ๑ แล้วด้วยรัตนะทุกอย่างชั้น ๑ ดูกรอานนท์ เมืองกุสาวดีราชธานี มีประตูสำหรับวรรณะทั้ง ๔ คือ ประตู ๑ แล้วด้วยทอง ประตู ๑ แล้วด้วยเงิน ประตู ๑ แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ประตู ๑ แล้วด้วยแก้วผลึก ในประตู ๑ๆ มีเสาระเนียดปักไว้ประตูละ ๗ เสา ปักลึก ๓ ชั่วบุรุษ โดยส่วนสูง ๑๒ ชั่วบุรุษ เสาระเนียดต้นหนึ่งแล้วด้วยทอง ต้นหนึ่ง แล้วด้วยเงิน ต้นหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ต้นหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก ต้นหนึ่ง แล้วด้วยแก้วโกเมน ต้นหนึ่งแล้วด้วยบุษราคัม ต้นหนึ่งแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ดูกรอานนท์ กุสาวดีราชธานีแวดล้อมด้วยต้นตาล ๗ แถว ต้นตาลแถวหนึ่งแล้ว ด้วยทอง แถวหนึ่งแล้วด้วยเงิน แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ แถวหนึ่งแล้ว ด้วยแก้วผลึก แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วโกเมน แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วบุษราคัม แถวหนึ่งแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ต้นตาลที่แล้วด้วยทอง ลำต้นแล้วด้วยทอง ใบ และผลแล้วด้วยเงิน ต้นตาลที่แล้วด้วยเงิน ลำต้นแล้วด้วยเงิน ใบและผลแล้ว ด้วยทอง ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ลำต้นแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ใบและผล แล้วด้วยแก้วผลึก ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วผลึก ลำต้นแล้วด้วยแก้วผลึก ใบและ ผลแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วโกเมน ลำต้นแล้วด้วยแก้วโกเมน ใบและผลแล้วด้วยแก้วบุษราคัม ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วบุษราคัม ลำต้นแล้วด้วย แก้วบุษราคัม ใบและผลแล้วด้วยแก้วโกเมน ต้นตาลที่แล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ลำต้นแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ดูกรอานนท์ แถวต้นตาลเหล่านั้น เมื่อต้องลมพัดแล้ว มีเสียงไพเราะยวนใจ ชวนให้ฟังและ ให้เคลิบเคลิ้ม ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ ที่บุคคลปรับ ดีแล้ว ประโคมดีแล้ว บรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ เสียงย่อมไพเราะยวนใจ ชวนให้ ฟังและให้เคลิบเคลิ้มฉันใด เสียงแห่งแถวต้นตาลเหล่านั้น ที่ต้องลมพัดแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไพเราะ ยวนใจ ชวนให้ฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม ดูกรอานนท์ ก็สมัยนั้น ในกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่ม พวกเขาบำเรอกัน ด้วยเสียงแห่งแถวต้นตาลที่ต้องลมเหล่านั้น ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๓๙๑๖-๓๙๖๙ หน้าที่ ๑๖๐-๑๖๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=3916&Z=3969&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=163&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=163&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=10&item=163&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=10&item=163&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=163              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]