ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
             [๒๓๔] ก. ถ้าอย่างนั้น ขอท่านมหาโควินท์จงรออยู่สัก ๗ ปีก่อน
พอล่วง ๗ ปี แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่งคติ
อันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ
             ม. ขอเดชะ ๗ ปี ช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์ อยู่ได้ถึง
๗ ปี ใครจะรู้ชีวิต สัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วย
ปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี
ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น
อันบุคคลผู้ครองเรือน ไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต ฯ
             ก. ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์จงรออยู่สัก ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ... ๓ ปี
... ๒ ปี ... ๑ ปี พอล่วง ๑ ปีแล้ว แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ
             ม. ขอเดชะ ๑ ปีช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์อยู่ได้ถึง ๑ ปี
ใครจะรู้ชีวิต สัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วยปัญญา พึง
ทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี ด้วยว่าข้า
พระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคล
ผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิต ฯ
             ก. ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์จงรออยู่ ๗ เดือนก่อน พอล่วง ๗ เดือน
แล้ว แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของ
ท่าน คตินั้นจักเป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ
             ม. ขอเดชะ ๗ เดือนช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์ได้ถึง ๗
เดือน ใครจะรู้ชีวิต สัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วย
ปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี
ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น
อันบุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ
             ก. ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์ จงรออยู่สัก ๖ เดือน ... ๕ เดือน ... ๔
เดือน ... ๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... ครึ่งเดือน พอล่วงครึ่งเดือนแม้ข้าพเจ้า
ทั้งหลายก็จักออกเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจัก
เป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ
             ม. ขอเดชะ ครึ่งเดือนช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์ได้ถึง
ครึ่งเดือน ใครจะรู้ชีวิต สัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วย
ปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี ด้วย
ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อัน
บุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต ฯ
             ก. ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์จงรออยู่สัก ๗ วัน พอให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย
สั่งสอนบุตรและพี่น้องชายของตนๆ ในราชกิจเสียก่อน พอล่วง ๗ วัน แม้ข้าพเจ้า
ทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่านคตินั้นจัก
เป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ
             ม. ขอเดชะ ๗ วัน ไม่นาน ข้าพระพุทธเจ้าจักรอพระองค์ทั้งหลาย
๗ วัน ฯ
             ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ เข้าไปหาพราหมณ์มหาศาล ๗ คน และ
เหล่าข้าราชบริพาร ๗๐๐ ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า บัดนี้ท่านทั้งหลายจงแสวงหา
อาจารย์อื่น ซึ่งจักสอนมนต์แก่ท่านทั้งหลายเถิด เราปรารถนาจะออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิต ด้วยว่าเราได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น
อันบุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย เราจึงจักออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ฯ
             พราหมณ์และเหล่าข้าราชบริพารเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านโควินท์อย่าออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเลย บรรพชิตมีศักดิ์น้อย มีลาภน้อย ความเป็น
พราหมณ์มีศักดิ์มาก มีลาภมาก ฯ
             ม. ท่านทั้งหลายอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านทั้งหลายอย่าได้พูดอย่างนี้ว่า
บรรพชามีศักดิ์น้อย มีลาภน้อย ความเป็นพราหมณ์มีศักดิ์มาก มีลาภมาก ดูกร
ท่านทั้งหลาย ใครอื่นจะมีศักดิ์มาก มีลาภมากกว่าเรา บัดนี้เราเป็นเหมือนพระราชา
ของพระราชาสามัญทั้งหลาย เป็นดังพรหมของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นดุจเทวดา
ของคฤหบดีทั้งหลาย เราจักละสิ่งทั้งปวงนั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยว่า
เราได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคลผู้อยู่ครอง
เรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย เราจึงจักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ
             พ. ถ้าท่านโควินท์จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของ
ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ
             ครั้งนั้น มหาโควินท์พราหมณ์ เข้าไปหาภรรยา ๔๐ คน ผู้เสมอกัน
ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า เธอคนใดปรารถนาจะไปยังสกุลญาติของตน ก็จงไป หรือ
ปรารถนาจะแสวงหาสามีอื่น ก็จงแสวงหา ฉันปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยว่าฉันได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อัน
บุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ฉันจักออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ฯ
             ภ. ท่านนั่นแล เป็นญาติของดิฉันทั้งหลายผู้ต้องการญาติ เป็นสามีของ
ดิฉันทั้งหลายผู้ต้องการสามี ถ้าท่านโควินท์จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้
ดิฉันทั้งหลาย ก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน
คตินั้นจักเป็นของดิฉันทั้งหลายด้วย ฯ
             ครั้งนั้น พอล่วง ๗ วันนั้นไป มหาโควินทพราหมณ์ปลงผมและหนวด
นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต และเมื่อมหาโควินทพราหมณ์
บวชแล้ว พระราชาผู้กษัตริย์ซึ่งได้มูรธาภิเษก ๗ พระองค์ พราหมณ์มหาศาล ๗ คน
เหล่าข้าราชบริพาร ๗๐๐ คน ภรรยา ๔๐ คน เจ้าหลายพัน พราหมณ์หลายพัน
คฤหบดีหลายพัน และนางสนมหลายพัน ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตตามมหาโควินทพราหมณ์ ฯ
             ข่าวว่า มหาโควินทพราหมณ์ แวดล้อมด้วยบริษัทนั้นเที่ยวจาริกไปใน
บ้าน นิคม และราชธานีทั้งหลาย สมัยนั้น มหาโควินทพราหมณ์เข้าไปยังบ้าน
หรือนิคมใด ในบ้านและนิคมนั้น ท่านเป็นดังพระราชาของพระราชาทั้งหลาย
เป็นดังพรหมของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นดังเทวดาของคฤหบดีทั้งหลาย ฯ
             สมัยนั้น มนุษย์เหล่าใดพลาดพลั้งหรือล้ม มนุษย์เหล่านั้น กล่าวอย่าง
นี้ว่า ขอนอบน้อมแด่ท่านมหาโควินทพราหมณ์ ขอนอบน้อมแด่ท่านปุโรหิตของ
พระราชา ๗ พระองค์ มหาโควินทพราหมณ์มีใจสหรคตด้วยเมตตา ไม่มีเวร ไม่
พยาบาท แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน
ด้วยประการฉะนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในที่ทุกสถาน มีใจสหรคต
ด้วยเมตตา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยาบาท
แผ่ไปทั่วโลก โดยประการทั้งปวงอยู่ มีใจสหรคตด้วยกรุณา อันไพบูลย์ เป็น
มหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่ไปทั่วโลก โดยประการ
ทั้งปวงอยู่ มีใจสหรคตด้วยมุทิตา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ
ไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่ไปทั่วโลก โดยประการทั้งปวงอยู่ มีใจสหรคตด้วย
อุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่
ไปทั่วโลกโดยประการทั้งปวงอยู่ และแสดงหนทางแห่งความเป็นสหายกับพรหม
ในพรหมโลก แก่สาวกทั้งหลาย สมัยนั้น บรรดาสาวกของมหาโควินทพราหมณ์
ซึ่งรู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติ พรหม-
*โลก ผู้ที่ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก บางพวกเข้า
ถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกเข้าถึงความเป็นสหาย
ของเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดุสิต บาง
พวกเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายของ
เทวดาชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิก ผู้ที่
บำเพ็ญกายต่ำกว่าเขาทั้งหมด ก็ยังกายคนธรรพ์ ให้บริบูรณ์ได้ ด้วยประการฉะนี้แล
บรรพชาของกุลบุตรเหล่านั้น ทั้งหมด ไม่เปล่า ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ฯ
             ป. พระผู้มีพระภาคยังทรงระลึกถึงข้อนั้นได้อยู่หรือ ฯ
             ภ. ดูกรปัญจสิขะ เรายังระลึกได้อยู่ สมัยนั้น เราเป็นมหาโควินท-
*พราหมณ์ เราแสดงพรหมจรรย์นั้นว่า เป็นหนทางแห่งความเป็นสหายของพรหม
ในพรหมโลก แก่สาวกทั้งหลาย ปัญจสิขะ แต่ว่าพรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อ
นิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพานะ ย่อมเป็นไป
เพียงเพื่อบังเกิดในพรหมโลก ดูกรปัญจสิขะ ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ ย่อม
เป็นไปเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เพื่อวิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา
สัมโพธะ นิพพานะ พรหมจรรย์เป็นไปเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เพื่อวิราคะ
นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพานะ นั้นเป็นไฉน คืออัฏฐังคิก-
*มรรค เป็นอริยะนี้เอง คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัม-
*มันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ดูกรปัญจสิขะ
พรหมจรรย์นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เพื่อวิราคะ นิโรธะ
อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพานะ ดูกรปัญจสิขะ ก็บรรดาสาวกของเรา
ที่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ
มิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
บรรดาสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นโอปปาติกสัตว์ เพราะสิ้น
โอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
ก็มี บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ
และโมหะเบาบาง กลับมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ก็มี
บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีความไม่ตกต่ำเป็น
ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้าก็มี ฯ
             ดูกรปัญจสิขะ ด้วยประการฉะนี้แล บรรพชาของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมด
เทียว ไม่เปล่า ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ฯ
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ปัญจสิขะคันธรรพบุตร
ยินดี ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง ฉะนี้แล ฯ
จบมหาโควินทสูตร ที่ ๖
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๕๔๐๙-๕๕๓๙ หน้าที่ ๒๒๑-๒๒๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=5409&Z=5539&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=234&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=234&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=10&item=234&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=10&item=234&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=234              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]