ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
อกุศลกรรมบถ ๑๐
[๔๘๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่ เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม ทางกาย มี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติ- *ธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด พอใจในการประหารและการฆ่าไม่มีความละอาย ไม่ถึงความเอ็นดูในสัตว์ ทั้งปวง. เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่น ที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย. เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดา รักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวง ห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นไว้) ดูกรพราหมณ์และ คฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็น อย่างนี้แล. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติ ธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าวเท็จคือ ไปในที่ประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลาง ราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอก เรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง. เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้ แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตก กันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตก กันเป็นพวก. เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่น อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต. เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็น ประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติ ไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่างเป็นอย่างนี้แล. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติ ธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความโลภมาก คือ เพ่งเล็ง ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูก ทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง ดังนี้. เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วไม่มีผลแห่งการบูชา ไม่มี ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้า ไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอน ให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่ในโลก ดังนี้ ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต และนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือไม่ประพฤติธรรม อย่างนี้แล.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๘๙๐๔-๘๙๕๐ หน้าที่ ๓๖๕-๓๖๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=8904&Z=8950&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=484&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=484&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=12&item=484&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=12&item=484&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=484              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]