ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
             [๗๔๓] ดูกรภารทวาชะ อุปมาข้อที่ ๓ อีกข้อหนึ่งอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาใน
กาลก่อน มาปรากฏกะเรา. เปรียบเหมือนไม้แห้งเกราะ ทั้งตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ. ถ้าบุรุษพึงมา
ด้วยหวังว่า จะเอาไม้นั้นมาสีไฟ จักให้ไฟเกิด จักทำไฟให้ปรากฏ ดังนี้. ดูกรภารทวาชะ
ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้แห้งเกราะ ทั้งตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ มาสีไฟ
จะพึงให้ไฟเกิด พึงทำไฟให้ปรากฏได้บ้างหรือหนอ?
             สคารวมาณพกราบทูลว่า อย่างนั้นท่านพระโคดม ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร เพราะไม้นั้น
แห้งเกราะ ทั้งตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ.
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภารทวาชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกาม. ทั้งความพอใจในกาม ความเสน่หาในกาม ความ
หมกมุ่นในกาม ความระหายในกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม อันตนละได้ด้วยดี ให้สงบระงับ
ด้วยดีแล้วในภายใน. ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน
ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงแม้จะไม่ได้เสวยก็ดี ก็สมควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็นซึ่งปัญญา
เครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรภารทวาชะ อุปมาข้อที่ ๓ นี้แลอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคย
ได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏกะเรา.
ทำทุกกรกิริยา
[๗๔๔] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงกดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น ให้เร่าร้อนเถิด ดังนี้. เราจึงกดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น ให้เร่าร้อนอยู่. เมื่อเรากดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น ให้เร่าร้อนอยู่. เมื่อเรากดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง. ดูกรภารทวาชะ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วกดบีบ ไว้แน่น ให้ร้อนจัด ฉันใด เมื่อเรากดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้แน่น ให้ร้อนจัด ก็ฉันนั้น เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง. ถึงเช่นนั้น เราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติมั่นไว้ ไม่ฟั่นเฟือน แต่ว่ากายที่ปรารภความเพียรของเราอันความเพียร ที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๕] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก. เมื่อเรา กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปากและทางจมูก ก็มีเสียงออกทางช่องหูทั้งสองดังเหลือ ประมาณ. เสียงลมในลำสูบของนายช่างทองที่กำลังสูบอยู่ ดังเหลือประมาณ ฉันใด เมื่อเรา กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก ก็มีเสียงลมออกทางช่องหูทั้งสองดังเหลือ- *ประมาณ ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้น เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่ว่ากายที่ปรารภความเพียรของเราอันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๖] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมก็เสียดแทงศีรษะ เหลือทน. บุรุษมีกำลังพึงเชือดกระหม่อมด้วยมีดโกนอันคม ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ลมก็เสียดแทงศีรษะเหลือทน ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้น เราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่ว่ากายที่ปรารภความเพียร ของเราอันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๗] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็ให้ปวดศีรษะเหลือทน. บุรุษมีกำลัง พึงเอาเส้นเชือกเกลียวเขม็งรัดที่ศีรษะ ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ก็ให้ปวดศีรษะเหลือทน ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้นเราก็ปรารภ ความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่กายที่ปรารภความเพียรของเรา อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๘] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมก็เสียดแทงพื้นท้อง เหลือประมาณ. นายโคฆาต หรือลูกมือนายโคฆาตผู้ขยันพึงเชือดพื้นท้องด้วยมีดสำหรับเชือด เนื้อโค ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมก็ เสียดแทงพื้นท้องเหลือประมาณ ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้น เราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่กายที่ปรารภความเพียรของเราอันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแล เสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๙] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ก็มีความร้อนในกาย เหลือทน. บุรุษมีกำลังสองคน จับบุรุษที่มีกำลังน้อยกว่าคนละแขน ย่างรมไว้ในหลุม ถ่านเพลิง ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ก็มีความร้อนในกายเหลือทน ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้น เราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติ ไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่กายที่ปรารภความเพียรของเราอันความเพียรที่ตนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. ดูกรภารทวาชะ โอ เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วพากันกล่าว อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทำกาละแล้ว. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมยังไม่ทำ กาละ แต่กำลังทำกาละ. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม แม้กำลังทำกาละก็หา มิได้ พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ความอยู่เห็นปานนี้นั้น เป็นวิหารธรรมของพระอรหันต์. [๗๕๐] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงปฏิบัติเพื่ออด อาหารโดยประการทั้งปวงเถิด. ทันใดนั้น เทวดาเหล่านั้นได้เข้ามาหาเรา แล้วกล่าวว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าปฏิบัติเพื่ออดอาหารโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติเพื่ออดอาหาร โดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกทิพโอชาลงตามขุมขนของท่าน ท่านจักได้เยียวยา ชีวิตไว้ด้วยทิพโอชานั้น. เรานั้นมีความคิดเห็นว่า เราเองปฏิญาณการไม่บริโภคอาหารโดย ประการทั้งปวง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกทิพโอชาลงตามขุมขนของเรา ทั้งเราก็จักเยียวยาชีวิต ไว้ได้ด้วยทิพโอชานั้น ข้อนั้นพึงเป็นมุสาแก่เรา ดังนี้. เราบอกเลิกแก่เทวดาเหล่านั้น จึงกล่าว ว่า อย่าเลย. [๗๕๑] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารผ่อนลง วันละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้างเถิด. เราจึงกินอาหารผ่อนลงทีละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อ ถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง. เมื่อเรากินอาหารผ่อน ลงทีละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง กายก็ถึงความซูบผอมลงเหลือเกิน. เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้นเอง อวัยวะน้อยใหญ่ของเราเป็นเหมือนเถาวัลย์มีข้อมาก หรือเถาวัลย์มีข้อดำ ฉะนั้น. ตะโพกของ เราเป็นเหมือนดังเท้าอูฐ กระดูกสันหลังของเราผุดระกะ เปรียบเหมือนเถาวัลย์ชื่อวัฏฏนาวฬี ฉะนั้น. ซี่โครงของเราขึ้นนูนเป็นร่องดังกลอนศาลาเก่ามีเครื่องมุงอันหล่นโทรมอยู่ฉะนั้น. ดวงตา ของเราถล่มลึกเข้าไปในเบ้าตา ปรากฏเหมือนดวงดาวในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น. ผิวศีรษะของเรา ที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง ราวกับผลน้ำเต้าที่เขาตัดมาแต่ยังสด ถูกลมและแดดแผดเผา ก็เหี่ยว แห้งไปฉะนั้น. เราคิดว่าจักลูบผิวหนังท้อง ก็จับถูกกระดูกสันหลังด้วย คิดว่าจักลูบกระดูก สันหลัง ก็จับถูกผิวหนังท้องด้วย ผิวหนังท้องของเรากับกระดูกสันหลังติดถึงกัน. เรานั้นคิดว่า จักถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็เซซวนล้มลง ณ ที่นั้นเอง. เรานั้นเมื่อจะให้กายนี้แลสบาย จึง เอาฝ่ามือลูบตัว เมื่อเราเอาฝ่ามือลูบตัว ขนอันมีรากเน่าก็ร่วงตกจากกาย. มนุษย์ทั้งหลายเห็น เราแล้วพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมดำไป. บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ไม่ดำเป็นแต่คล้ำไป. บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า จะว่าพระสมณโคดมดำไปก็ไม่ใช่ จะว่าคล้ำไปก็ ไม่ใช่ เป็นแต่พร้อยไป. ดูกรภารทวาชะ ผิวพรรณอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของเรา ถูกกำจัดเสียแล้ว เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง. [๗๕๒] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งในอดีต ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียง เท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคต จักเสวยทุกขเวทนา อันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้. ถึงสมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในบัดนี้ ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้. ถึงเช่นนั้น เราก็ไม่ได้บรรลุญาณทัศนะอันวิเศษของพระ อริยะอย่างสามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นเพื่อ ความตรัสรู้กระมังหนอ. เรามีความคิดเห็นว่า ก็เราจำได้อยู่ ในงานของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้ามีเงาอันเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้กระมังหนอ จะพึงเป็นทางเพื่อความตรัสรู้. เราได้ มีวิญญาณอันแล่นไปตามสติว่า ทางนี้แหละเป็นทางเพื่อความตรัสรู้. เรามีความคิดเห็นว่า เรา กลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมนั้นหรือ? จึงมีความคิดเห็นว่า เราไม่กลัวต่อสุข อันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม. [๗๕๓] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า อันบุคคลผู้มีกายอันถึงความซูบผอม เหลือทนอย่างนี้ จะบรรลุถึงความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาสเถิด. เราจึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส. สมัยนั้น ภิกษุ (ปัญจวัคคีย์) ๕ รูป บำรุงเราอยู่ด้วยหวังใจว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใด จักบอกธรรม นั้นแก่เราทั้งหลาย. แต่เมื่อเรากินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุกและขนมกุมมาส. พวกภิกษุ (ปัญจ- *วัคคีย์) ๕ รูปนั้น เบื่อหน่ายเราหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมาก คลาย ความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก.
ฌาน ๔
[๗๕๔] ดูกรภารทวาชะ ครั้นเรากินอาหารหยาบมีกำลังดีแล้วจึงสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌานมีความ ผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เรามีอุมีเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข เราบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
ญาณ ๓
[๗๕๕] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. ดูกรภารทวาชะ นี้เป็นวิชชา ข้อที่ ๑ เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความ มืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่. [๗๕๖] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย. เราเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรม ดูกรภารทวาชะ นี้เป็นวิชชาข้อที่ ๒ เราบรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่. [๗๕๗] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. เรา นั้นได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ. เมื่อเรา นั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตหลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิต หลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรภารทวาชะ นี้เป็นวิชชาข้อ ที่ ๓ เราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืด เรากำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่. [๗๕๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สคารวมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ความเพียรอันไม่หยุดหย่อนได้มีแล้วแก่ท่านพระโคดมหนอ ความเพียรของสัตบุรุษได้มีแล้ว แก่ท่านพระโคดมหนอ สมควรเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าแต่ท่านพระโคดม เทวดา มีหรือหนอแล? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภารทวาชะ ก็ข้อที่ว่าเทวดามีนั้น รู้ได้โดย ฐานะ. ส. ข้าแต่ท่านพระโคดม พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า เทวดามีหรือหนอ ดังนี้ ตรัส ตอบว่า ดูกรภารทวาชะ ก็ข้อที่ว่าเทวดามีนั้น รู้ได้โดยฐานะ ดังนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้อยคำของ พระองค์เป็นถ้อยคำเปล่า เป็นมุสามิใช่หรือ? พ. ดูกรภารทวาชะ ผู้ใดเมื่อถูกถามว่า เทวดามีอยู่หรือ พึงกล่าวว่าข้อที่ว่า เทวดามีอยู่ เป็นอันรู้กันได้โดยฐานะ ก็เท่ากับกล่าวว่า เรารู้จักเทวดา เมื่อเป็นเช่นนั้น วิญญูชนพึงถึง ความตกลงในเรื่องนี้ว่า เทวดามีอยู่ดังนี้ ได้โดยส่วนเดียวแท้. ส. ก็ทำไม ท่านพระโคดมจึงไม่ทรงพยากรณ์แก่ข้าพเจ้าเสียด้วยคำแรกเล่า? พ. ดูกรภารทวาชะ ข้อที่ว่าเทวดามีอยู่ดังนี้นั้น เขาสมมติกันในโลกด้วยศัพท์อันสูง.
สคารวมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
[๗๕๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สคารวมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะได้เห็นรูป ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ ท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบ สคารวสูตร ที่ ๑๐.
จบ พราหมณวรรค ที่ ๕.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. พรหมายุสูตร ๒. เสลสูตร ๓. อัสสลายนสูตร ๔. โฆฏมุขสูตร ๕. จังกีสูตร ๖. เอสุการีสูตร ๗. ธนัญชานิสูตร ๘. วาเสฏฐสูตร ๙. สุภสูตร ๑๐. สคารวสูตร
จบ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๑๑๗๐๒-๑๑๘๗๗ หน้าที่ ๕๑๐-๕๑๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=11702&Z=11877&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=743&items=17              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=743&items=17&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=13&item=743&items=17              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=13&item=743&items=17              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=743              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]