ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
สัลลัตถสูตร
[๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนา บ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อม เสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความ งมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ ฯ [๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วย ลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวย เวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๑.

นั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะ ทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจาก ทุกขเวทนานอกจากกามสุข และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะ สุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบาย เป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตาม ความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุข เวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็น ผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา เป็น ผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้ สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์ ฯ [๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูก ต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความ งมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ฯ [๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูพึงยิงบุรุษด้วย ลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อม เสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็ฉัน นั้นเหมือนกัน ผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ ได้เสวยเวทนาทางใจ อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนตามเธอผู้ไม่มีความขัดเคืองเพราะ ทุกขเวทนา เธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออก

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๒.

จากทุกขเวทนา นอกจากกามสุข เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัยเพราะ สุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และ อุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเธอรู้ชัดซึ่ง เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง ถ้าเธอ เสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อม เป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่องกระทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ [๓๗๓] อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่ เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา นี้แล เป็นความ แปลกกันระหว่างธีรชนผู้ฉลาดกับปุถุชน ธรรมส่วนที่ น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรม อันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูตเห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้า อยู่ ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์ อนึ่ง เวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดี และไม่ยินร้าย อริยสาวกนั้นรู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลี และหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพรู้โดยชอบ ฯ
จบสูตรที่ ๖

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๕๕๗๒-๕๖๓๔ หน้าที่ ๒๔๐-๒๔๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=5572&Z=5634&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=369&items=5&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=369&items=5&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=18&item=369&items=5&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=18&item=369&items=5&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=369              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]