ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
             [๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
ปฏิสังขานพละ ๑ ภาวนาพละ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิสังขานพละเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า วิบากของกายทุจริตแล ชั่วช้าทั้งใน
ชาตินี้และในภพเบื้องหน้า วิบากของวจีทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพหน้า
วิบากของมโนทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพหน้า ครั้นเขาพิจารณาดังนี้แล้ว
ย่อมละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ย่อมละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ย่อมละ
มโนทุจริต เจริญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า
ปฏิสังขานพละ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาวนาพละเป็นไฉน ในพละ ๒ อย่างนั้น ภาวนา-
พละนี้เป็นพละของพระเสขะ ก็บุคคลนั้นอาศัยพละที่เป็นของพระเสขะ ย่อมละ
ราคะ ละโทสะ ละโมหะเสียได้เด็ดขาด ครั้นละราคะ ละโทสะ ละโมหะได้
เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมไม่เสพกรรมที่เป็นบาป ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาวนาพละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้แล ฯ
             [๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
ปฏิสังขานพละ ๑ ภาวนาพละ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิสังขานพละเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า วิบากของกายทุจริตแล ชั่วช้าทั้งใน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๑.

ชาตินี้และในภพเบื้องหน้า วิบากของมโนทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพ เบื้องหน้า ครั้นเขาพิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ย่อมละ วจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ย่อมละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต บริหารตนให้ บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิสังขานพละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาวนาพละเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญปีติ- *สัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาวนาพละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้แล ฯ [๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ปฏิสังขานพละ ๑ ภาวนาพละ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสังขานพละเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า วิบากของกายทุจริต ชั่วช้าทั้งใน ชาตินี้และในภพเบื้องหน้า วิบากของวจีทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพ เบื้องหน้า วิบากของมโนทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพเบื้องหน้า ครั้นเขา พิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ย่อมละวจีทุจริต เจริญ วจีสุจริต ย่อมละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิสังขานพละ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาวนาพละเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัด จากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่ วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีความ ผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุ ตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๒.

เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับ โสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาวนาพละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้แล ฯ [๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสดงธรรมของพระตถาคต ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ โดยย่อ ๑ โดยพิสดาร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสดง ธรรมของพระตถาคต ๒ อย่างนี้แล ฯ [๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอธิกรณ์ใด ที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุ ผู้เป็นโจทก์ ยังมิได้พิจารณาตนด้วยตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้น พึงหวังได้ว่า จักเป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อการมีวาจาหยาบคาย เพื่อความร้ายกาจ และภิกษุ ทั้งหลายจักอยู่ไม่ผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนในอธิกรณ์ใด ที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติ และภิกษุผู้เป็นโจทก์ พิจารณาตนด้วยตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้น พึงหวังได้ว่า จักไม่เป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ จักไม่เป็นไปเพื่อการมีวาจาหยาบ จักไม่เป็นไป เพื่อความร้ายกาจ และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ต้อง อาบัติ ย่อมพิจารณาตนด้วยตนเองให้ดีอย่างไร คือ ภิกษุผู้ต้องอาบัติในธรรมวินัยนี้ ย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า เราแลต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกายแล้ว ฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงได้เห็นเราผู้ต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย ถ้าเราจะไม่พึงต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย ภิกษุนั้นก็จะไม่ พึงเห็นเราผู้ต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย ก็เพราะเหตุที่เรา ต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย ภิกษุนั้นจึงได้เห็นเราผู้ต้องอาบัติ อันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย ก็แหละภิกษุนั้นครั้นเห็นเราผู้ต้องอาบัติ อันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกายแล้ว เป็นผู้ไม่ชอบใจ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ ชอบใจ ได้ว่ากล่าวเราผู้มีวาจาไม่ชอบใจ เราผู้มีวาจาไม่ชอบใจถูกภิกษุนั้นว่ากล่าว แล้ว ย่อมไม่ชอบใจ เมื่อไม่ชอบใจ ได้บอกแก่ผู้อื่นว่า ด้วยเหตุนี้ โทษใน เหตุนี้จึงครอบงำ แต่เฉพาะเราคนเดียวเท่านั้น เหมือนกับในเรื่องสินค้า โทษ ครอบงำ ผู้จำต้องเสียภาษี ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ต้องอาบัติย่อม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๓.

พิจารณาตนด้วยตนเองให้ดีด้วยประการฉะนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้เป็น โจทก์ ย่อมพิจารณาตนด้วยตนเองให้ดีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็น โจทก์ในธรรมวินัยนี้ ย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า ภิกษุนี้แลต้องอาบัติอันเป็นอกุศล อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกายแล้ว ฉะนั้น เราจึงได้เห็นภิกษุนี้ต้องอาบัติอันเป็นอกุศล อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย ถ้าภิกษุนี้จะไม่พึงต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใด อย่างหนึ่งด้วยกาย เราจะไม่พึงเห็นภิกษุนี้ต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยกาย แต่เพราะเหตุภิกษุนี้ต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย เราจึงได้เห็นภิกษุนี้ต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกาย ก็แหละเรา ครั้นได้เห็นภิกษุนี้ต้องอาบัติอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกายแล้ว เป็นผู้ไม่ ชอบใจ เราเมื่อเป็นผู้ไม่ชอบใจ ได้ว่ากล่าวภิกษุนี้ผู้มีวาจาไม่ชอบใจ ภิกษุนี้มี วาจาไม่ชอบใจ เมื่อถูกเราว่ากล่าวอยู่เป็นผู้ไม่ชอบใจ เมื่อเป็นผู้ไม่ชอบใจ ได้ บอกแก่ผู้อื่นว่า ด้วยเหตุนี้ โทษในเหตุนี้จึงครอบงำแต่เฉพาะเราคนเดียวเท่านั้น เหมือนกับในเรื่องสินค้า โทษครอบงำผู้จำต้องเสียภาษี ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ย่อมพิจารณาตนด้วยตนเองให้ดีด้วยประการฉะนี้แล ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ในอธิกรณ์ใด ที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์ ยังไม่ได้พิจารณา ตนด้วยตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้น พึงหวังได้ว่าจักเป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อ ความมีวาจาหยาบคาย เพื่อความร้ายกาจ และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ไม่ผาสุก ส่วน ในอธิกรณ์ใด ที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์ พิจารณาตนด้วยตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้น พึงหวังได้ว่าจักไม่เป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ จักไม่เป็นไปเพื่อความ มีวาจาหยาบคาย จักไม่เป็นไปเพื่อความร้ายกาจ และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ผาสุก ฯ [๒๖๒] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อ แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พระผู้มีพระภาคตรัส

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๔.

ตอบว่า ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ประพฤติ เป็นอธรรม สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ พ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บาง พวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ ภ. ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุแห่งการประพฤติสม่ำเสมอ คือ ประพฤติ เป็นธรรม สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ พ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ ธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอ ท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วัน นี้เป็นต้นไป ฯ [๒๖๓] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชานุสโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อ แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พระผู้มีพระภาคตรัส ตอบว่า ดูกรพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำด้วย สัตว์บางพวกใน โลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บาง พวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำด้วย สัตว์บาง พวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๕.

ชา. ข้าพระองค์ย่อม ไม่รู้ทั่วถึง เนื้อความแห่งภาษิต ที่ท่านพระโคดมตรัส แล้วโดยย่อได้โดยพิสดาร ขอประทานพระวโรกาส ขอท่านพระโคดมจงทรงแสดง ธรรม โดยที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตที่ท่านพระโคดมตรัสแล้ว โดยย่อได้โดยพิสดารเถิด ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว พราหมณ์ชานุสโสณีได้ทูลสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสพระพุทธวจนะดังนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมทำแต่กายทุจริต มิได้ทำกายสุจริต ย่อมทำแต่วจีทุจริต มิได้ทำวจีสุจริต ย่อมทำแต่มโนทุจริต มิได้ทำมโนสุจริต ดูกรพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะ ไม่กระทำด้วย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรพราหมณ์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมทำแต่ กายสุจริต มิได้ทำกายทุจริต ย่อมทำแต่วจีสุจริต มิได้ทำวจีทุจริต ย่อมทำแต่ มโนสุจริต มิได้ทำมโนทุจริต ดูกรพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำ ด้วย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ ธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก ทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอ ท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ฯ [๒๖๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว ท่านพระอานนท์ทูลถาม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๖.

ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว โทษอะไรอันผู้นั้นพึง หวังได้ ฯ พ. ดูกรอานนท์ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรา กล่าวว่าเป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว โทษอย่างนี้ อันผู้นั้นพึงหวังได้ คือ ๑. แม้ตนก็ติเตียนตนเองได้ ๒. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียนได้ ๓. กิตติศัพท์ ชั่วย่อมกระฉ่อนไป ๔. เป็นคนหลงทำกาละ ๕. เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ ดูกรอานนท์ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรากล่าวว่า เป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว โทษอย่างนี้อันผู้นั้นพึงหวังได้ ดูกรอานนท์ เรา กล่าวกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ว่าเป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต มโน- *สุจริต ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว อานิสงส์อะไรอัน ผู้นั้นพึงหวังได้ ฯ พ. ดูกรอานนท์ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรา กล่าวว่าเป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว อานิสงส์อย่างนี้ อันผู้นั้นพึงหวังได้ คือ ๑. แม้ตนก็ติเตียนตนเองไม่ได้ ๒. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ ๓. กิตติศัพท์ อันดีย่อมกระฉ่อนไป ๔. ไม่เป็นคนหลงทำกาละ ๕. เมื่อแตกกายตายไป ย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ ดูกรอานนท์ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรากล่าว ว่าเป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว อานิสงส์อย่างนี้อันผู้นั้นพึงหวังได้ ฯ [๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล อกุศลอันบุคคล อาจละได้ ถ้าบุคคลไม่อาจละอกุศลได้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะอกุศลอันบุคคลอาจละ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๗.

ได้ ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอกุศลนี้อันบุคคลละได้แล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็น ประโยชน์ เพื่อทุกข์ไซร้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายจงละอกุศล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะอกุศลอันบุคคลละได้แล้ว ย่อม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศล ให้เกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลอันบุคคลอาจให้เกิดได้ ถ้าบุคคลไม่อาจให้เกิดได้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะกุศลอันบุคคลอาจให้เกิดได้ ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุศลนี้อัน บุคคลให้เกิดแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ไซร้ เราไม่พึง กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็เพราะกุศลอันบุคคลให้เกิดแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ ความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศล ให้เกิด ฯ [๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฟั่นเฟือนเลือนหายแห่งสัทธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ บทพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ๑ อรรถที่นำมาไม่ดี ๑ แม้เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ก็ย่อมเป็นอันนำมา ไม่ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือน เลือนหายแห่งสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ ความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งสัทธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ บทพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี ๑ อรรถที่นำมาดี ๑ แม้เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ ดีแล้ว ก็ย่อมเป็นอันนำมาดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แล ย่อมเป็น ไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ
จบอธิกรณวรรคที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๑๓๗๔-๑๕๖๓ หน้าที่ ๖๐-๖๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=1374&Z=1563&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=257&items=10&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=257&items=10&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=20&item=257&items=10&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=20&item=257&items=10&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=257              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 https://84000.org/tipitaka/english/?index_20

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]