ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
วัสสการสูตร
[๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ ของพระเจ้ากรุงมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอเป็นเครื่องให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ- *โคดมผู้เจริญ เราย่อมบัญญัติผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นมหาบุรุษ ผู้มีปัญญาใหญ่ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้สดับเรื่องที่สดับแล้วนั้นๆ มาก ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นอรรถ แห่งภาษิตนี้ นี้เป็นอรรถแห่งภาษิตนี้ ๑ เป็นผู้มีสติ ระลึก ตามระลึกซึ่งสิ่งที่ กระทำคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ ๑ เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกรณียกิจอันเป็น ของคฤหัสถ์ ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นทางดำเนินใน กรณียกิจนั้น สามารถเพื่อจะทำ สามารถจะจัดแจงได้ ๑ เราย่อมบัญญัติ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ว่าเป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญาใหญ่ ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์พึงอนุโมทนา ขอท่านพระโคดมทรงอนุโมทนา แก่ข้าพระองค์ แต่ถ้าข้าพระองค์พึงคัดค้าน ขอท่านพระโคดมทรงคัดค้านแก่ข้า พระองค์ ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เราไม่อนุโมทนาแก่ท่านเลย เราไม่คัดค้านเลย ดูกรพราหมณ์ เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการแล ว่าเป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญาใหญ่ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร พราหมณ์ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อ สุขแก่ชนหมู่มาก ยังประชุมชนมากให้ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรรู้ เป็นอริยะ ได้แก่ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ๑ บุคคลนั้นย่อมจำนงเพื่อ ตรึกวิตกใด ย่อมตรึกวิตกนั้น ย่อมไม่จำนงเพื่อตรึกวิตกใด ย่อมไม่ตรึกวิตกนั้น ย่อมจำนงเพื่อดำริเหตุที่พึงดำริใด ย่อมดำริเหตุที่พึงดำรินั้นได้ ย่อมไม่จำนงเพื่อ ดำริเหตุที่พึงดำริใด ย่อมไม่ดำริเหตุที่พึงดำรินั้น เป็นผู้ถึงความชำนาญแห่งใจ ในคลองแห่งวิตกทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ ๑ เป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขใน ปัจจุบัน ๑ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรพราหมณ์ เราไม่อนุโมทนาและไม่คัดค้านแก่ท่านเลย เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วย ธรรม ๔ ประการนี้แล ว่าเป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญาใหญ่ ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่เคย มีมาแล้ว พระโคดมผู้เจริญตรัสคำนี้ดีแล้ว ข้าพระองค์จะจำไว้ซึ่งพระโคดม ผู้เจริญ ว่าประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ แท้จริง พระโคดมผู้เจริญ ทรง ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก ทรงยังประชุม ชนหมู่มากให้ตั้งอยู่ในญายธรรมอันประเสริฐ คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความ เป็นผู้มีกุศลธรรม แท้จริง พระโคดมผู้เจริญ ทรงจำนงเพื่อตรึกวิตกใด ย่อม ทรงตรึกวิตกนั้นได้ ไม่ทรงจำนงเพื่อตรึกวิตกใด ย่อมไม่ทรงตรึกวิตกนั้นได้ ทรงจำนงเพื่อดำริสิ่งที่พึงดำริใด ย่อมทรงดำริสิ่งที่พึงดำรินั้นได้ ไม่ทรงจำนงเพื่อ ดำริสิ่งที่พึงดำริใด ย่อมไม่ทรงดำริสิ่งที่พึงดำรินั้นได้ แท้จริง พระโคดมผู้เจริญ ทรงถึงความชำนาญแห่งใจในคลองแห่งวิตกทั้งหลาย แท้จริง พระโคดมผู้เจริญ ทรงมีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีใน จิตยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แท้จริง พระโคดมผู้เจริญ ทรง กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านกล่าววาจารับสมอ้างแน่แท้แล และเราจัก พยากรณ์แก่ท่าน แท้จริง เราเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก ยังประชุมชนหมู่มากให้ตั้งอยู่ในญายธรรมอันประเสริฐ คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม แท้จริง เราย่อมจำนงเพื่อ ตรึกวิตกใด ย่อมตรึกวิตกนั้นได้ ไม่จำนงเพื่อตรึกวิตกใด ย่อมไม่ตรึกวิตกนั้น ได้ ย่อมจำนงเพื่อดำริสิ่งที่พึงดำริใด ย่อมดำริสิ่งที่พึงดำรินั้นได้ ไม่จำนงเพื่อ ดำริสิ่งที่พึงดำริใด ย่อมไม่ดำริสิ่งที่พึงดำรินั้นได้ แท้จริง เราเป็นผู้ถึงความชำนาญ แห่งใจในคลองแห่งวิตกทั้งหลาย แท้จริง เราเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน แท้จริง เรากระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ บุคคลใด รู้แจ้งหนทางอันจะปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวงเสียจาก บ่วงแห่งมัจจุ ประกาศไญยธรรมอันเกื้อกูลแก่เทวดาและ มนุษย์ อนึ่ง ชนเป็นอันมากย่อมเลื่อมใสเพราะเห็นหรือสดับ บุคคลใด เราเรียกบุคคลนั้นซึ่งเป็นผู้ฉลาดต่อธรรมอันเป็น ทางและมิใช่ทาง ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ เป็นผู้รู้ แล้ว มีสรีระในภพเป็นที่สุดว่า เป็นมหาบุรุษ ฯ
จบสูตรที่ ๕

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๙๔๕-๑๐๐๘ หน้าที่ ๔๑-๔๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=945&Z=1008&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=35&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=35&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=21&item=35&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=21&item=35&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=35              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]