ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
             [๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี
ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่าน
พระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถามท่านพระภัททชิว่า ดูกรอาวุโสภัททชิ
บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทั้งหลาย
การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด บรรดา
สัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็น
ยอด ฯ
             ท่านพระภัททชิตอบว่า ดูกรอาวุโส พรหมผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครครอบงำ
ได้ เห็นสิ่งทั้งปวง ยังผู้อื่นให้เป็นไปในอำนาจ มีอยู่ ผู้ใดเห็นพรหมนั้น การเห็น
ของผู้นั้นเป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย เทพเหล่าอาภัสสระผู้เพรียบพร้อมด้วยความ
สุขมีอยู่ เทพเหล่านั้นย่อมเปล่งอุทานในการบางครั้งบางคราวว่า สุขหนอๆ ผู้ใด
ได้ยินเสียงนั้น การได้ยินเสียงของผู้นั้นเป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย เทพเหล่า
สุภกิณหะมีอยู่ เทพเหล่านั้นยินดีเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ ย่อมเสวยสุข การเสวยสุขนี้
เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย พวกเทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพมีอยู่ การเข้า
ถึงอากิญจัญญายตนภพนี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย พวกเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานา
สัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพนี้เป็นยอดของภพทั้ง
หลาย ฯ
             อา. คำพูดของท่านภัททชินี้ย่อมสมกับชนเป็นอันมาก ฯ
             ภ. ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต ขอความข้อนั้นจงแจ่มแจ้งเฉพาะท่าน
พระอานนท์เทียว ฯ
             อา. ดูกรอาวุโสภัททชิ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ท่านพระภัททชิรับคำท่านพระอานนท์ว่า อย่างนั้น อาวุโส ท่านพระอานนท์ได้
กล่าวว่า ดูกรอาวุโส ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคล
ผู้เห็นตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้ยินตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย
ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้รับความสุขตามเป็น
จริง นี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีใน
ลำดับแห่งบุคคลผู้มีสัญญาตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย ความสิ้นไป
แห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เป็นอยู่แล้วตามเป็นจริง นี้เป็น
ยอดของภพทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบอาฆาตวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาฆาตวินยสูตรที่ ๑ ๒. อาฆาตวินยสูตรที่ ๒ ๓. สากัจฉาสูตร ๔. สาชีวสูตร ๕. ปัญหาปุจฉาสูตร ๖. นิโรธสูตร ๗. โจทนาสูตร ๘. สีลสูตร ๙. นิสันติสูตร ๑๐. ภัททชิสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
อุปาสกวรรคที่ ๓
๑. สารัชชสูตร
[๑๗๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มี- *พระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มี- *พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้หยั่งลงสู่ความครั่นคร้าม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ เป็นผู้ลักทรัพย์ ๑ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๑ เป็นผู้กล่าวคำเท็จ ๑ เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้หยั่ง ลงสู่ความครั่นคร้าม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ แกล้วกล้า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ๑ เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน ๑ เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ๑ เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท ๑ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. วิสารทสูตร
[๑๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม เป็นผู้ไม่แกล้วกล้าครองเรือน ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่า- *สัตว์ ฯลฯ เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่แกล้วกล้า ครองเรือน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีความ แกล้วกล้าครองเรือน ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจาก ปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าครองเรือน ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. นิรยสูตร
[๑๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือน ถูกนำมาวางไว้ในนรก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เหมือนถูกนำมาวางไว้ในนรก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือนถูกเชิญ มาอยู่ในสวรรค์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณา- *ติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เหมือน ถูกเชิญมาอยู่ในสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. เวรสูตร
[๑๗๔] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ไม่ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียก ว่าผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย ฯ ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อม เข้าถึงสุคติด้วย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ ฯลฯ การดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อมเข้าถึงสุคติด้วย ฯ ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบันทั้ง ในสัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสใดแม้ทางจิตเพราะเหตุฆ่าสัตว์ อุบาสกผู้ งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสนั้นแม้ทางจิต ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมสงบระงับด้วยประการฉะนี้ อุบาสกผู้ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดในกาม ... พูดคำเท็จ ... ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประ- *สบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสใดแม้ทาง จิต เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อุบาสกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ ย่อมไม่เสวยทุกข- *โทมนัสนั้นแม้ทางจิต ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมสงบระงับด้วยประการฉะนี้ ฯ นรชนใดย่อมฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก คบชู้ภรรยาของผู้อื่น กล่าวคำเท็จ และประกอบการดื่มสุรา เมรัยเนืองๆ นรชนนั้นไม่ละเวร ๕ ประการแล้ว เราเรียกว่า เป็นผู้ทุศีล มีปัญญาทราม ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงนรก นรชน ใดไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก ไม่ คบชู้ภรรยาของผู้อื่น ไม่กล่าวคำเท็จ และไม่ประกอบการ ดื่มสุราและเมรัย นรชนนั้นละเวร ๕ ประการแล้ว เราเรียก ว่าเป็นผู้มีศีล มีปัญญา เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. จัณฑาลสูตร
[๑๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ เป็นผู้ทุศีล ๑ เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๑ แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา ๑ ทำการสนับสนุนในที่นอก ศาสนานั้น ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็น อุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา ๑ ทำการสนับสนุนใน ศาสนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็น อุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. ปีติสูตร
[๑๗๖] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แวดล้อมด้วยอุบาสก ประมาณ ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ท่าน ทั้งหลายได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัช- *บริขาร ท่านทั้งหลายไม่ควรทำความยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า เราได้บำรุงภิกษุสงฆ์ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า พวกเราพึงเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ตามกาล อันสมควร ด้วยอุบายเช่นไร ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว ตามที่ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านทั้งหลายได้บำรุงภิกษุสงฆ์ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า พวกเราพึงเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ตามกาล อันสมควร ด้วยอุบายเช่นไร ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕ ประการ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น คือ สมัยนั้น ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วย กาม ๑ สุข โสมนัสอันประกอบด้วยกาม ๑ ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วย อกุศล ๑ สุข โสมนัสอันประกอบด้วยอกุศล ๑ ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วย กุศล ๑ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยใด อริยสาวกย่อม เข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕ ประการนี้ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวก นั้น ฯ พ. ดีละๆ สารีบุตร สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวก อยู่ ... ดูกรสารีบุตร สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕ ประการนี้ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. วณิชชสูตร
[๑๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึง กระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ การค้าขายศาตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การ ค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. ราชสูตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๔๖๘๖-๔๘๔๔ หน้าที่ ๒๐๔-๒๑๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=4686&Z=4844&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=170&items=8&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=170&items=8              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=170&items=8&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=170&items=8&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=170              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]