ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
             [๑๗๙] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแวดล้อมด้วยอุบาสก
ประมาณ ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกรสารีบุตร ท่านทั้งหลายพึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่มผ้าขาว มีการ
งานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดย
ไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการ
และคฤหัสถ์ผู้นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรก
สิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เป็น
พระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า
คฤหัสถ์ย่อมเป็นผู้มีการงานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรสารี
บุตร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑
กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความประมาท ๑ คฤหัสถ์เป็นผู้มีการงานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการนี้ ฯ
             คฤหัสถ์เป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรสารีบุตร
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน
พระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขใน
ปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว เพื่อความหมดจด
แห่งจิตที่ยังไม่หมดจด เพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว ฯ
             อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่
หวั่นไหวในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ... อันวิญญูชนจะพึงรู้
เฉพาะตน นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๒ ...
             อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่
หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ...
เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๓ ...
             อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่แล้ว
ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๔ อัน
อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งจิตที่ยังไม่หมดจด เพื่อความ
ผ่องแผ้วแห่งจิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว คฤหัสถ์ผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดย
ไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการนี้
ดูกรสารีบุตร เธอทั้งหลายพึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่มผ้าข้าว มีการงาน
สำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการนี้
และคฤหัสถ์นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้น
แล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว
เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็น
เบื้องหน้า ฯ
                          บัณฑิตเห็นภัยในนรกแล้ว พึงเว้นบาปเสีย สมาทาน
                          อริยธรรมแล้ว พึงเว้นบาปเสีย ไม่พึงเบียดเบียนสัตว์
                          ทั้งหลาย ในเมื่อความพยายามมีอยู่ ไม่พึงกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้
                          ไม่พึงแตะต้องของที่เจ้าของไม่ให้ ยินดีด้วยภริยาของตน
                          ไม่พึงยินดีภริยาผู้อื่น และไม่พึงดื่มสุราเมรัยเครื่องยังจิต
                          ให้หลงใหล พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเสมอ และพึงตรึก
                          ถึงพระธรรมเสมอ พึงอบรมจิตให้ปราศจากพยาบาท อันเป็น
                          ประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวโลก ทักษิณาทานที่ผู้ต้องการบุญ
                          แสวงหาบุญให้แล้ว ในสัตบุรุษก่อน ในเมื่อไทยธรรมเกิด
                          ขึ้นแล้ว ย่อมเป็นทักษิณามีผลไพบูลย์ ดูกรสารีบุตร เราจัก
                          บอกสัตบุรุษให้ จงฟังคำของเรา ในบรรดาโคดำ ขาว
                          แดง หมอก พร้อย หม่น หรือแดงอ่อน ชนิดใดชนิดหนึ่ง
                          โคที่ฝึกแล้วย่อมเกิดเป็นโคหัวหน้าหมู่ใด หัวหน้าหมู่ตัวนั้น
                          เป็นโคที่นำธุระไปได้ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เดินได้เรียบร้อย
                          และเร็ว คนทั้งหลายย่อมเทียมโคตัวนั้นในการขนภาระ
                          ไม่คำนึงถึงสีของมัน ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
                          ในชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์
                          ศูทร จัณฑาล ปุกกุสะ บรรดามนุษย์เหล่านั้นทุกๆ ชาติ
                          คนผู้ที่ฝึกแล้ว ย่อมเกิดเป็นผู้มีวัตรดี ตั้งอยู่ในธรรม
                          สมบูรณ์ด้วยศีล กล่าวคำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติ
                          และมรณะได้แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ปลงภาระลงแล้ว
                          ไม่ประกอบด้วยกิเลส ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
                          เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น
                          ก็ทักษิณาที่บำเพ็ญในผู้นั้น ผู้ปราศจากความกำหนัด เป็น
                          บุญเขต ย่อมมีผลไพบูลย์ ส่วนคนพาลผู้ไม่รู้แจ้ง มีปัญญา
                          ทราม ไม่ได้สดับ ย่อมให้ทานในภายนอก ไม่คบหา
                          สัตบุรุษ ส่วนชนเหล่าใด ย่อมคบหาสัตบุรุษผู้มีปัญญาดี
                          ได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเหล่านั้นตั้งศรัทธาไว้ใน
                          พระสุคตเป็นเค้ามูลแล้ว ย่อมไปสู่เทวโลก หรือพึงเกิดใน
                          ตระกูลสูงในโลกนี้ ชนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต ย่อมบรรลุ
                          นิพพานโดยลำดับ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
๑๐. ภเวสิสูตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๔๙๒๓-๔๙๙๕ หน้าที่ ๒๑๔-๒๑๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=4923&Z=4995&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=179&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=179&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=179&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=179&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=179              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]