ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๙. คิหิสูตร
[๑๗๙] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแวดล้อมด้วยอุบาสก ประมาณ ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร ท่านทั้งหลายพึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่มผ้าขาว มีการ งานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดย ไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการ และคฤหัสถ์ผู้นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรก สิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เป็น พระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า คฤหัสถ์ย่อมเป็นผู้มีการงานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรสารี บุตร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท ๑ คฤหัสถ์เป็นผู้มีการงานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการนี้ ฯ คฤหัสถ์เป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรสารีบุตร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน พระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขใน ปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว เพื่อความหมดจด แห่งจิตที่ยังไม่หมดจด เพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว ฯ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่ หวั่นไหวในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ... อันวิญญูชนจะพึงรู้ เฉพาะตน นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๒ ... อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่ หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ... เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๓ ... อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ เป็นไปเพื่อ สมาธิ นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๔ อัน อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งจิตที่ยังไม่หมดจด เพื่อความ ผ่องแผ้วแห่งจิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว คฤหัสถ์ผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดย ไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการนี้ ดูกรสารีบุตร เธอทั้งหลายพึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่มผ้าข้าว มีการงาน สำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการนี้ และคฤหัสถ์นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้น แล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็น เบื้องหน้า ฯ บัณฑิตเห็นภัยในนรกแล้ว พึงเว้นบาปเสีย สมาทาน อริยธรรมแล้ว พึงเว้นบาปเสีย ไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ ทั้งหลาย ในเมื่อความพยายามมีอยู่ ไม่พึงกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้ ไม่พึงแตะต้องของที่เจ้าของไม่ให้ ยินดีด้วยภริยาของตน ไม่พึงยินดีภริยาผู้อื่น และไม่พึงดื่มสุราเมรัยเครื่องยังจิต ให้หลงใหล พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเสมอ และพึงตรึก ถึงพระธรรมเสมอ พึงอบรมจิตให้ปราศจากพยาบาท อันเป็น ประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวโลก ทักษิณาทานที่ผู้ต้องการบุญ แสวงหาบุญให้แล้ว ในสัตบุรุษก่อน ในเมื่อไทยธรรมเกิด ขึ้นแล้ว ย่อมเป็นทักษิณามีผลไพบูลย์ ดูกรสารีบุตร เราจัก บอกสัตบุรุษให้ จงฟังคำของเรา ในบรรดาโคดำ ขาว แดง หมอก พร้อย หม่น หรือแดงอ่อน ชนิดใดชนิดหนึ่ง โคที่ฝึกแล้วย่อมเกิดเป็นโคหัวหน้าหมู่ใด หัวหน้าหมู่ตัวนั้น เป็นโคที่นำธุระไปได้ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เดินได้เรียบร้อย และเร็ว คนทั้งหลายย่อมเทียมโคตัวนั้นในการขนภาระ ไม่คำนึงถึงสีของมัน ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล ปุกกุสะ บรรดามนุษย์เหล่านั้นทุกๆ ชาติ คนผู้ที่ฝึกแล้ว ย่อมเกิดเป็นผู้มีวัตรดี ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล กล่าวคำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติ และมรณะได้แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ปลงภาระลงแล้ว ไม่ประกอบด้วยกิเลส ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ก็ทักษิณาที่บำเพ็ญในผู้นั้น ผู้ปราศจากความกำหนัด เป็น บุญเขต ย่อมมีผลไพบูลย์ ส่วนคนพาลผู้ไม่รู้แจ้ง มีปัญญา ทราม ไม่ได้สดับ ย่อมให้ทานในภายนอก ไม่คบหา สัตบุรุษ ส่วนชนเหล่าใด ย่อมคบหาสัตบุรุษผู้มีปัญญาดี ได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเหล่านั้นตั้งศรัทธาไว้ใน พระสุคตเป็นเค้ามูลแล้ว ย่อมไปสู่เทวโลก หรือพึงเกิดใน ตระกูลสูงในโลกนี้ ชนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต ย่อมบรรลุ นิพพานโดยลำดับ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
๑๐. ภเวสิสูตร
[๑๘๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ขณะที่เสด็จดำเนินไปตามหนทางไกล ได้ทอด พระเนตรเห็นสาละป่าใหญ่ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง จึงทรงแวะลงจากหนทางเสด็จ เข้าไปสู่ป่าสาละ นั้นครั้นเสด็จถึงแล้วจึงทรงทำการแย้มให้ปรากฏ ณ ที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาค ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ พระตถาคตย่อมไม่ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏด้วย ไม่มีเหตุ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงกระทำการ แย้มให้ปรากฏ พระตถาคตย่อมไม่ทรงทำการแย้มให้ปรากฏด้วยไม่มีเหตุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เรื่องเคยได้มีมาแล้ว คือ ณ ประเทศนี้ ได้เป็นเมืองมั่งคั่ง กว้างขวาง มีชนมาก มีมนุษย์หนาแน่น ก็พระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอาศัยอยู่ในพระนครนั้น ก็อุบาสก นามว่าภเวสี ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในศีล อุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน เป็นผู้อันภเวสีอุบาสก ชี้แจงชักชวน ก็ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน เหล่านี้ และเราก็เป็นผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่า นี้ ก็เป็นผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ต่างคนต่างก็เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควรปฏิบัติให้ยิ่งกว่า ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้เข้าไปหาอุบาสก ประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านทั้งหลายจงจำเราไว้ ว่าเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ครั้งนั้น อุบาสก ประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้คิดว่า ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ก็ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้าจักเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ ในศีล ก็ไฉนเราทั้งหลายจะทำให้บริบูรณ์ในศีลไม่ได้เล่า ครั้งนั้น อุบาสก ประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้เข้าไปหาภเวสีอุบาสกแล้วกล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้าจงจำอุบาสก ๕๐๐ แม้เหล่านี้ ว่าเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ ในศีล ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราแลเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ และเราก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ต่างคนต่างก็ เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควรปฏิบัติให้ยิ่งกว่า ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้เข้าไปหาอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านทั้งหลายจงจำเราไว้ว่า เป็นผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้นได้คิดว่า ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีอุปการะ มาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้าจักประพฤติ พรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ก็ไฉนเรา ทั้งหลายจักเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุนอันเป็นธรรมของ ชาวบ้านไม่ได้เล่า ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้เข้าไปหา ภเวสีอุบาสกแล้วกล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จงจำ อุบาสก ๕๐๐ แม้เหล่านี้ว่า เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราแลเป็นผู้มี อุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ และเราก็เป็น ผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้กระทำให้ บริบูรณ์ในศีล และเราก็เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุนอัน เป็นธรรมของชาวบ้าน แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ต่างคนต่างก็ เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควรปฏิบัติให้ยิ่งกว่า ครั้งนั้น ภเวสี อุบาสกได้เข้าไปหาอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านทั้งหลายจงจำเราไว้ว่าเป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ครั้งนั้น ประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้คิดว่า ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มี อุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ภเวสีอุบาสก อุบาสกผู้เป็นเจ้า จักเป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดเว้น การบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ก็ไฉนเราทั้งหลายจักเป็นผู้บริโภคมื้อเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลไม่ได้เล่า ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้เข้าไปหาภเวสีอุบาสกแล้วกล่าวว่า ตั้งแต่ วันนี้ไป ขอภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จงจำอุบาสก ๕๐๐ แม้เหล่านี้ว่า เป็นผู้บริโภค อาหารมื้อเดียว งดการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราแลเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวน อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ และเราก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสก ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล และเราเป็นผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน แม้อุบาสก ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจาก เมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน และเราเป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว งดการ บริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว งดการบริโภคในราตรี งดเว้นการ บริโภคอาหารในเวลาวิกาล ต่างคนต่างก็เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควรปฏิบัติให้ยิ่งกว่า ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ภเวสีอุบาสก ได้บรรพชาอุปสมบท แล้วในสำนัก พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ภเวสีภิกษุอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียวไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่ง ที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดย ชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก มิได้มี ก็แลภเวสีภิกษุได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้คิดว่าภเวสีอุบาสก ผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ก็ภเวสีอุบาสก ผู้เป็นเจ้าจักปลงผมหนวดครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต ไฉนเราทั้งหลาย จักปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตไม่ได้เล่า ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายพึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ครั้งนั้น ภเวสีภิกษุได้คิดว่า เราแลเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งวิมุตติสุขอันเป็น ธรรมชั้นเยี่ยมนี้ โอหนอ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ แม้เหล่านี้ ก็พึงเป็นผู้ได้ตามความ ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งวิมุตติสุขอันเป็นธรรมชั้นเยี่ยมนี้ ครั้งนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ต่างเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ภิกษุประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น มีภเวสีภิกษุเป็นประมุข พยายามบำเพ็ญธรรม ที่สูงๆ ขึ้นไป ประณีตขึ้นไป ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติอันเป็นธรรมชั้นเยี่ยม ด้วย ประการฉะนี้ ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักพยายามบำเพ็ญธรรมที่สูงๆ ขึ้นไป ประณีตขึ้นไป จักทำให้แจ้งซึ่ง วิมุตติอันเป็นธรรมชั้นเยี่ยม ดูกรอานนท์ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบอุปาสกวรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สารัชชสูตร ๒. วิสารทสูตร ๓. นิรยสูตร ๔. เวรสูตร ๕. จัณฑาลสูตร ๖. ปีติสูตร ๗. วณิชชสูตร ๘. ราชสูตร ๙. คิหิสูตร ๑๐. ภเวสิสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
อรัญญวรรคที่ ๔
๑. อารัญญกสูตร
[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย ๑ มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ถืออยู่ป่า เป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะรู้ว่าเป็นวัตรอัน พระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความ สงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่า เป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความ ปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้อง การด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใส เกิดจากเนยใส หัวเนยใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอดในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้น ฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความ สงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นเลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้น เหมือนกัน ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. ปังสุกูลิกสูตร
[๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๕ จำพวก- *นี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. รุกขมูลิกสูตร
[๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. โสสานิกสูตร
[๑๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. อัพโภกาสิกสูตร
[๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ๕ จำพวก- *นี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. เนสัชชิกสูตร
[๑๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๖

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๔๙๒๒-๕๑๔๑ หน้าที่ ๒๑๔-๒๒๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=4922&Z=5141&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=179&items=8              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=179&items=8&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=179&items=8              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=179&items=8              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=179              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]