ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๔. อาสวสูตร
[๓๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อม เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควร กระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๖ ประการ เป็นไฉน คือ อาสวะเหล่าใด อันภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงละด้วยการสำรวม อาสวะเหล่านั้นเป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการสำรวม ๑ อาสวะเหล่าใดอันภิกษุ พึงละด้วยการซ่องเสพ อาสวะเหล่านั้นเป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการซ่อง เสพ ๑ อาสวะเหล่าใดอันภิกษุพึงละด้วยการอดทน อาสวะเหล่านั้น เป็นอัน ภิกษุละได้แล้วด้วยการอดทน ๑ อาสวะเหล่าใดอันภิกษุพึงละด้วยการหลีกเลี่ยง อาสวะเหล่านั้นเป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการหลีกเลี่ยง ๑ อาสวะเหล่าใดอันภิกษุ พึงละด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่านั้นเป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการบรรเทา ๑ อาสวะเหล่าใด อันภิกษุพึงละด้วยภาวนา อาสวะเหล่านั้นเป็นอันภิกษุละได้แล้ว ด้วยภาวนา ๑ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการสำรวม ที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้วด้วยการสำรวมเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบ คายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยการสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวม พึงเป็น เหตุให้อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่อาสวะ เหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมด้วยการสำรวมโสตินทรีย์ ... ฆานินทรีย์ ... ชิวหินทรีย์ ... กายินทรีย์ ... ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม ด้วยการสำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวม พึงเป็นเหตุให้อาสวะที่ทำความ คับแค้นและความเร่าร้อนเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความ คับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่สำรวมอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อ เธอสำรวมอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าอันภิกษุพึงละด้วยการสำรวม ที่ เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการสำรวม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการซ่องเสพ ที่เป็นอัน ภิกษุละได้แล้วด้วยการซ่องเสพเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดย แยบคายแล้ว ย่อมเสพจีวรเพียงเพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่น่าละอาย พิจารณาโดย แยบคายแล้ว ย่อมเสพบิณฑบาต มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อ ประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อความดำรงอยู่ เพื่อความเป็นไปแห่งกายนี้ เพื่อบรรเทาความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า เราจะบรรเทาเวทนา เก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งร่างกายจักมีแก่เรา ความ ไม่มีโทษ และความอยู่สบายจักมีแก่เรา ด้วยการเสพบิณฑบาตนี้ พิจารณาโดย แยบคายแล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ เพียงเพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิดจาก ฤดู และยินดีในการหลีกออกเร้น พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเสพคิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขาร เพียงเพื่อบรรเทาเวทนาที่เกิดจากอาพาธต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่มีความเจ็บไข้เป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่เสพอยู่ อาสวะที่ ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเสพอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำ ความคับแค้นและความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยการซ่องเสพ ที่เป็นอัน ภิกษุละได้แล้วด้วยการซ่องเสพ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยความอดกลั้นที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้วด้วยความอดกลั้นเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดย แยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน ย่อมเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ คำเสียด สี ย่อมเป็นผู้อดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้นแล้ว กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ สามารถปลิดชีพไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ ภิกษุไม่อดทนอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอ อดทนอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึง ละด้วยการอดทนที่เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการอดทน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะที่ภิกษุพึงละด้วยการหลีกเลี่ยงที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้วด้วยการหลีกเลี่ยงเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดย แยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงช้างดุ ม้าดุ โคดุ สุนัขดุ งู หลักตอ ที่มีหนาม หลุม ตลิ่งชัน บ่อโสโครก ท่อโสโครก พวกวิญญูชนที่เป็นพรหมจารี พึง ลงความเห็นเธอผู้นั่งในที่ไม่ควรนั่ง เที่ยวไปในที่ไม่ควรเที่ยวไป คบปาปมิตร เช่นใด ในฐานะที่เป็นบาป เธอพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงที่ไม่ ควรนั่ง ที่ไม่ควรเที่ยวไป และปาปมิตรเช่นนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอไม่ หลีกเลี่ยงฐานะดังกล่าวแล้วอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนพึงเกิด ขึ้น เมื่อเธอหลีกเลี่ยงอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรา กล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยการหลีกเลี่ยง ที่เป็นอันภิกษุละได้ด้วยการหลีก เลี่ยง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการบรรเทา ที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้วด้วยการบรรเทาเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบ คายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้สิ้นไป ย่อมทำให้ หมดไป ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้สิ้นไป ย่อมทำให้หมดไป ซึ่งพยาบาทวิตกที่ เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งธรรมที่เป็นบาป อกุศลที่เกิด ขึ้นแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้นและ ความเร่าร้อน พึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้น และความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ เหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยการบรรเทา ที่เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วย การบรรเทา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุพึงละได้ด้วยภาวนา ที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้วด้วยภาวนาเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย แล้ว ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเจริญธรรมวิจย- *สัมโพชฌงค์ ... วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... สมาธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่เจริญโพชฌงค์ อยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญโพชฌงค์ อยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการ อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยภาวนา ที่เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยภาวนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำ บุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
จบสูตร ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๙๑๐๙-๙๒๐๐ หน้าที่ ๓๙๗-๔๐๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=9109&Z=9200&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=329&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=329&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=329&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=329&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=329              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]