นันทสูตร
[๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง พึงเรียกว่า
กุลบุตร ว่าผู้มีกำลัง ผู้ก่อให้เกิดความเลื่อมใส ผู้มีราคะกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อความนี้ย่อมมีเพราะเหตุไร เพราะว่า นันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่เสมอ ประกอบด้วย
สติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้แลย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุ
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากนันทภิกษุพึงเหลียวไป
ทางทิศบูรพาไซร้ นันทภิกษุก็ย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวดูทิศบูรพา ด้วยคิดว่า
เมื่อเราเหลียวดูทิศบูรพาอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำจิตเราได้ เธอย่อมเป็นผู้รู้สึกตัวในการเหลียวดูนั้นด้วยประการฉะนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้
ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน พึงเหลียวแลไปตามทิศน้อยทั้งหลายไซร้ นันทภิกษุย่อม
สำรวมจิตทั้งปวงเหลียวไปทางทิศน้อย ด้วยคิดว่า เมื่อเราเหลียวแลไปตามทิศน้อย
อย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาแลโทมนัส จักไม่ครอบงำจิตเราได้
เธอย่อมรู้สึกตัวในการเหลียวแลนั้นด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล
ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ
เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ นันทภิกษุ
พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงบริโภคอาหาร ไม่ใช่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อ
มัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตบแต่ง บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อเยียวยา
อัตตภาพ เพื่อขจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า
เราจักขจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความคล่องแคล่ว ความหา
โทษมิได้ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เราได้ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ
เป็นผู้รู้จักประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัย
นี้ ในตอนกลางวัน นันทภิกษุย่อมชำระจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วย
การจงกรม ด้วยการนั่งตอนต้นปฐมยามแห่งราตรี ชำระจิตให้สะอาดจากธรรม
เครื่องกั้นจิตด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ในมัชฌิมยามแห่งราตรี สำเร็จสีห-
*ไสยาสโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กระทำความหมาย
ในอันลุกขึ้นไว้ในใจ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ทำจิตให้สะอาดจาก
ธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อม
มีได้ เพราะนันทภิกษุหมั่นประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ
มีสติสัมปชัญญะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้นันทภิกษุทราบเวทนาที่เกิดขึ้น
ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป นันทภิกษุทราบสัญญาที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับ
ไป นันทภิกษุทราบวิตกที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุมีสติสัมปชัญญะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อความ
นี้ย่อมมีเพราะเหตุไร เพราะนันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จัก
ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ ประกอบด้วย
สติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์
บริบูรณ์ได้ ฯ
จบสูตรที่ ๙
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๓๔๐๕-๓๔๔๘ หน้าที่ ๑๔๗-๑๔๙.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=3405&Z=3448&pagebreak=0
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=23&item=99&items=1
อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=23&item=99&items=1&mode=bracket
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=23&item=99&items=1
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :-
http://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=23&item=99&items=1
ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=99
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓
http://84000.org/tipitaka/read/?index_23
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com