ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

หน้าที่ ๓๕๔.

เถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต
๑. มหากัสสปเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระมหากัสสปเถระ
[๓๙๘] ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะเป็นเหตุทำใจให้ ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบาก ดังนี้ จึงไม่ชอบใจหมู่คณะ นักปราชญ์ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูล ทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก ผู้ที่เกี่ยวข้อง กับตระกูลนั้น ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติด รสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้ นักปราชญ์ ได้กล่าวการกราบไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย ว่าเป็นเปือกตม และเป็นลูกศรที่ละเอียดถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ ยากยิ่ง เราลงจากเสนาสนะแล้วก็เข้าไปบิณฑบาตยังนคร เราได้เข้าไป หาบุรุษโรคเรื้อน ผู้กำลังบริโภคอาหารด้วยความอ่อนน้อม บุรุษโรคเรื้อน นั้น ได้น้อมเข้าซึ่งคำข้าวด้วยมือโรคเรื้อน เมื่อเขาใส่คำข้าวลง นิ้วมือ ของเขาก็ขาดตกลงในบาตรของเรานี้ เราอาศัยชายคาเรือน ฉันข้าวนั้น อยู่ ในเวลาที่กำลังฉันและฉันเสร็จแล้ว เรามิได้มีความเกลียดชังเลย ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้งสี่ คือ อาหารบิณฑบาตที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ ๑ บังสุกุลจีวร ๑ เสนาสนะคือโคนไม้ ๑ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑ ภิกษุ นั้นแล สามารถจะอยู่ในจาตุรทิศได้ในเวลาแก่ ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นเขา ย่อมลำบาก แต่พระมหากัสสปะผู้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ แม้ในเวลาแก่เป็นผู้แข็งแรงด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ย่อมขึ้นไปได้ ตามสบาย พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่ พระมหากัสสปะผู้หมด อุปาทานเมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ เป็นผู้ดับไฟได้แล้ว กลับจาก

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๕.

บิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่ พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌาน อยู่ ภูมิภาคอันประกอบด้วยระเบียบแห่งต้นกุ่มทั้งหลาย น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำให้เรา ยินดี ภูเขามีสีเขียวดุจเมฆงดงาม มีธารน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษไป ด้วยหญ้ามีสี เหมือนแมลงทับทิมทอง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขา อันสูงตระหง่านแทบจดเมฆเขียวชะอุ่ม เปรียบปานดังปราสาท กึกก้อง ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์นัก ย่อมยังเราให้ยินดี ภูเขาที่ฝนตกรด แล้ว มีพื้นน่ารื่นรมย์ เป็นที่อาศัยของเหล่าฤาษี เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ สถานที่เหล่านั้นเหมาะสำหรับเราผู้ยินดีในการเพ่ง ฌาน มีใจเด็ดเดี่ยว มีสติ เหมาะสำหรับเราผู้ใคร่ประโยชน์ รักษาตน ดีแล้ว ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาความผาสุก มีใจเด็ดเดี่ยว เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนา ประกอบความเพียร มีใจ แน่วแน่ ศึกษาอยู่ ภูเขาที่มีสีดังดอกผักตบ ปกคลุมด้วยหมู่เมฆบน ท้องฟ้า เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาอัน ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน มีแต่หมู่เนื้ออาศัย ดารดาษด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาที่มีน้ำใสสะอาด มีแผ่นหินเป็นแท่งทึบ เกลื่อนกล่นด้วยค่างและมฤคชาติ ดารดาษไปด้วยสาหร่าย ย่อมยังเรา ให้รื่นรมย์ เราผู้มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ ย่อมไม่มี ความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนั้น ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นคนผู้มิใช่กัลยาณมิตรเสีย ไม่ควรขวนขวายในลาภผล ท่านผู้ ปฏิบัติเช่นนั้น ย่อมจะต้องขวนขวายและติดในรสอาหาร ย่อมละทิ้ง ประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้ ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย เมื่อภิกษุขวนขวายในการงานมาก ก็จะต้องเยียวยาร่างกายลำบาก ผู้มีร่างกายลำบากนั้น ย่อมไม่ได้ ประสบความสงบใจ ภิกษุไม่รู้สึกตนด้วยเหตุสักว่าการท่องบ่นพุทธ วจนะ ย่อมท่องเที่ยวชูคอ สำคัญตนประเสริฐกว่าผู้อื่น ผู้ใด

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๖.

บิณฑบาตไม่ประเสริฐ เป็นพาล แต่สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขาเสมอเขา นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้มีใจกระด้างเลย ผู้ใด ไม่หวั่นไหวเพราะมานะ ๓ อย่าง คือ ว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑ นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญผู้นั้นแหละ ว่า เป็นผู้มีปัญญา มีวาจาจริง ตั้งมั่นดีแล้วในศีลทั้งหลาย และว่าประกอบ ด้วยความสงบใจ ภิกษุใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น ภิกษุเหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้ชอบทุกเมื่อ มีพรหมจรรย์อัน งอกงาม ภิกษุเหล่านั้นมีภพใหม่สิ้นแล้ว ภิกษุผู้ยังมีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก ถึงจะนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ภิกษุนั้นย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น เหมือน กับวานรคลุมด้วยหนังราชสีห์ ฉะนั้น ส่วนภิกษุผู้มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ กลับกลอก มีปัญญา เครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ ย่อมงดงามเพราะ ผ้าบังสุกุล ดังราชสีห์ในถ้ำ ฉะนั้น เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์ มีเกียรติยศเป็นอันมาก ประมาณหมื่นและพรหมทั้งปวง ได้พากันมายืนประนมอัญชลี นอบน้อม ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฌานใหญ่ มีใจตั้งมั่น เปล่งวาจาว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าแต่ ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ท่านย่อมเข้าฌานอยู่ เพราะ อาศัยอารมณ์ใด ข้าพเจ้าทั้งหลาย ย่อมรู้ไม่ถึงอารมณ์เหล่านั้นของท่าน น่าอัศจรรย์จริงหนอ วิสัยของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ลึกซึ้งยิ่งนัก ข้าพเจ้า ทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ นับว่าเป็นผู้เฉียบแหลม ดุจนายขมังธนู ก็ยังรู้ไม่ถึง ความยิ้มแย้มได้ปรากฏมีแด่ท่านพระกัปปินเถระ เพราะ ได้เห็นท่านพระสารีบุตร ผู้ควรแก่สักการะบูชา อันหมู่ทวยเทพบูชาอยู่ เช่นนั้น ในเวลานั้น ตลอดทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นแต่สมเด็จพระ มหามุนีองค์เดียวเท่านั้น เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในทางธุดงคคุณ ไม่มี ใครเทียบเท่าเลย เราเป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา เราทำคำสอนของ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๗.

พระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำ ไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว พระสมณโคดมผู้ทรงพระคุณหาปริมาณมิได้ มีพระทัย น้อมไปในเนกขัมมะ ทรงสลัดภพทั้ง ๓ ออกได้แล้ว ย่อมไม่ทรง ติดอยู่ด้วยจีวรบิณฑบาตและเสนาสนะ เปรียบเหมือนบัวไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉะนั้น พระองค์ทรงเป็นจอมนักปราชญ์ มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ มีศรัทธาเป็นพระอรหัตถ์ มีปัญญาเป็นพระเศียร ทรงพระปรีชามาก ทรงดับเสียแล้วซึ่งกิเลสแลกองทุกข์ตลอดกาลทุกเมื่อ.
-----------------------------------------------------
ในจัตตาฬีสนิบาตนี้ มีพระมหากัสสปเถระองค์เดียวเท่านั้น ได้ภาษิต คาถาไว้ ๔๐ คาถา.
จัตตาฬีสนิบาตจบบริบูรณ์.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๘๒๑๕-๘๓๐๒ หน้าที่ ๓๕๔-๓๕๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=8215&Z=8302&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=26&item=398&items=1&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=26&item=398&items=1&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=26&item=398&items=1&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=26&item=398&items=1&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=398              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26 https://84000.org/tipitaka/english/?index_26

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]