บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
๒. มหาหังสชาดก หงส์ชื่อสุมุขะ ไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง [๑๙๙] หงส์เหล่านั้นถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมบินหนีไป ดูกรสุมุขะ ผู้มีขน เหลือง มีผิวพรรณดังทอง ท่านจงบินหนีไปตามความปรารถนาเถิด หมู่ญาติละทิ้งเราซึ่งตกอยู่ในอำนาจบ่วงตัวเดียว บินหนีไปไม่เหลียว หลังเลย ท่านจะอยู่ผู้เดียวทำไม ดูกรสุมุขะผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย ท่านจงกลับไปเสียเถิด ความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงย่อมไม่มี ท่าน อย่าคลายความเพียรเพื่อความไม่มีทุกข์ จงหนีไปเสียตามความปรารถนา เถิด. [๒๐๐] ข้าแต่พระยาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์แม้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ก็จะ ไม่ละทิ้งพระองค์เลย ความเป็นอยู่หรือความตายของข้าพระองค์จักมี พร้อมกับพระองค์ ข้าแต่พระยาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์ แม้มีความ ทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็จะไม่ละทิ้งพระองค์เลย พระองค์ไม่ควรจะชักชวน ข้าพระองค์ให้ประกอบในกรรมอันประกอบด้วยความเป็นคนไม่ประเสริฐ เลย ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์เป็น สหายสหชาติของพระองค์ เป็นผู้ดำรงอยู่ในจิตของพระองค์ ใครๆ ก็รู้--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๕.
ว่าข้าพระองค์เป็นเสนาบดีของพระองค์ ข้าพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะ กล่าวอวดอ้างในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ กว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะกล่าวกะ ฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร ข้าพระองค์จักยอมสละชีวิตไว้ในที่นี้ ไม่ สามารถจะทำกิจของคนผู้ไม่ประเสริฐได้. [๒๐๑] ดูกรสุมุขะ ท่านไม่อาจจะละทิ้งเราผู้เป็นทั้งนายทั้งสหายชื่อว่าตั้งอยู่ใน ทางอันประเสริฐ นี้แลเป็นธรรมเนียมของโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย จริงอยู่ เมื่อเรายังเห็นท่าน ความกลัวย่อมไม่เกิดขึ้นเลย ท่านจักให้เรา ผู้เป็นอยู่อย่างนี้รอดชีวิตได้. [๒๐๒] เมื่อสุวรรณหงส์ทั้งสองผู้ประเสริฐ ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ กำลัง โต้ตอบกันด้วยประการฉะนี้ นายพรานถือท่อนไม้กระชับแน่นรีบเดิน เข้ามา สุมุขหงส์เห็นนายพรานนั้นกำลังเดินมา จึงได้ร้องเสียงดังยืนอยู่ ข้างหน้าพระยาหงส์ปลอบพระยาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจด้วยคำว่าข้าแต่ พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย อย่าทรงกลัวเลย ด้วยว่า บุคคลทั้ง หลายเช่นกับพระองค์ย่อมไม่กลัว ข้าพระองค์จะประกอบความเพียรอัน สมควร ประกอบด้วยธรรม พระองค์จะพ้นจากบ่วงด้วยความเพียรอัน ผ่องแผ้วนั้นได้โดยพลัน. [๒๐๓] นายพรานได้ฟังคำสุภาษิตของสุมุขหงส์นั้น แล้วขนลุกชูชันนอบน้อม อัญชลีแก่สุมุขหงส์แล้วถามว่า เราไม่เคยได้ฟังหรือไม่เคยได้เห็นนกพูด ภาษามนุษย์ได้ ท่านแม้จะเป็นนกก็พูดภาษาอันประเสริฐ เปล่งวาจา ภาษามนุษย์ได้ พระยาหงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับท่านหรือ ท่านพ้นแล้วทำไม จึงเฝ้าหงส์ผู้ติดบ่วงอยู่ หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งไปหมด เพราะเหตุใด ท่านจึงยังอยู่ผู้เดียว. [๒๐๔] ดูกรนายพรานผู้เป็นศัตรูของนก พระยาหงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า ทรง ตั้งข้าพเจ้าให้เป็นเสนาบดี ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์ผู้เป็น อธิบดีของหงส์ ในคราวมีอันตรายได้ พระยาหงส์นี้เป็นนายของหมู่หงส์--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๖.
เป็นอันมากและของข้าพเจ้า อย่าให้พระองค์ผู้เดียวพึงถึงความพินาศ เสียเลย ดูกรนายพรานผู้สหาย เพราะเหตุที่พระยาหงส์นี้เป็นนายของ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยินดีรื่นรมย์อยู่. [๒๐๕] ดูกรหงส์ ท่านย่อมนอบน้อมก้อนอาหาร ชื่อว่ามีประพฤติธรรมอัน ประเสริฐ ข้าพเจ้าจะปล่อยนายของท่าน ท่านทั้งสองจงไปตามสบายเถิด. [๒๐๖] ดูกรสหาย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลายด้วยประโยชน์ของตน ข้าพเจ้าจะขอรับทักษิณาอภัยของท่านนี้ ดูกรนายพราน ถ้าท่านไม่ได้ดัก หงส์และนกทั้งหลายด้วยประโยชน์ของตนท่านไม่มีอิสระ ถ้าท่านปล่อย เราทั้งสองเสีย ท่านก็ชื่อว่ากระทำความเป็นขโมย. [๒๐๗] ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาพระองค์ใด จงนำข้าพเจ้าไปให้ถึงพระ- ราชาพระองค์นั้น ตามปรารถนาเถิด พระเจ้าสัญญมนะจักทรงกระทำตาม พระประสงค์ในพระราชนิเวศน์นั้น. [๒๐๘] นายพรานอันสุมุขหงส์กล่าวด้วยประการอย่างนี้แล้ว จึงเอามือทั้งสอง ประคองพระยาหงส์ทองผู้มีสีดังทองคำ ค่อยๆ วางลงในกรง นายพราน พาพระยาหงส์ทั้งสองผู้มีผิวพรรณอันผุดผ่อง คือสุมุขหงส์และพระยาหงส์ ธตรฐซึ่งอยู่ในกรงหลีกไป. [๒๐๙] พระยาหงส์ธตรฐอันนายพรานนำไปอยู่ได้กล่าวกะสุมุขหงส์ว่าดูกรสุมุขะ เรากลัวนัก ด้วยนางหงส์ผู้มีผิวพรรณดังทองคำมีขาได้ลักษณะ นาง รู้ว่าเราถูกฆ่า ก็จักฆ่าตนเสียโดยแท้ ดูกรสุมุขะ ก็ราชธิดาของพระยา ปากหงส์ นามว่าสุเหมามีผิวงามดังทองคำจักร่ำไห้อยู่ เหมือนนางนก กระเรียนผู้กำพร้าร่ำไห้อยู่ที่ริมฝั่งสมุทรฉะนั้นเป็นแน่. [๒๑๐] การที่พระองค์เป็นใหญ่กว่าโลกคือ หงส์ ใครๆ ไม่สามารถจะประมาณ คุณได้ เป็นครูของหมู่คณะใหญ่ พึงตามเศร้าโศกถึงหญิงคนเดียวอย่าง นี้ เหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา ลมย่อมพัดพานทั้งกลิ่นหอมและกลิ่น เหม็น เด็กอ่อนย่อมเก็บผลไม้ทั้งดิบทั้งสุก คนตาบอดผู้โลภในรสย่อม ถือเอาอาหาร ฉันใด ธรรมดาหญิงก็ฉันนั้น พระองค์ไม่รู้จักตัดสินในเหตุ ทั้งหลายปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนคนเขลา พระองค์จะถึงมรณกาล--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๗.
แล้ว ยังไม่ทรงทราบกิจที่ควรและไม่ควร พระองค์เห็นจะเป็นกึ่งคนบ้า บ่นเพ้อไปต่างๆ ทรงสำคัญหญิงว่าเป็นผู้ประเสริฐ แท้จริงหญิงเหล่านี้ เป็นของทั่วไปแก่คนเป็นอันมาก เหมือนโรงสุราเป็นสถานที่ทั่วไปแก่ พวกนักเลงสุรา ฉะนั้น อนึ่ง หญิงเหล่านี้มีมารยาเหมือนพยับแดด เป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก เป็นเหตุเกิดโรคและอันตราย อนึ่ง หญิง เหล่านี้เป็นคนหยาบคาย เป็นเครื่องผูกมัด เป็นบ่วง เป็นถ้ำที่อยู่ของ มัจจุราช บุรุษใดพึงหลงระเริงใจในหญิงเหล่านั้น บุรุษนั้นชื่อว่าเป็น คนเลวทรามในหมู่นระ. [๒๑๑] วัตถุใด อันท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้จักดีแล้ว ใครควรจะติเตียนวัตถุนั้นเล่า ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายมีบุญมาก เกิดแล้วในโลก ความคะนองอันบุคคล ตั้งไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น ความยินดีอันบุคคลตั้งเฉพาะไว้แล้วในหญิง เหล่านั้น พืชทั้งหลาย (มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระ- อริยสาวกและพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น) ย่อมงอกขึ้นในหญิงเหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นพึงเจริญ บุรุษไรมาเกี่ยวข้องชีวิตหญิงด้วยชีวิตของตนแล้ว พึงเบื่อหน่ายในหญิงเหล่านั้น ดูกรสุมุขะ ท่านนั่นแหละ ไม่ต้องคนอื่น ละก็ประกอบในประโยชน์ของหญิงทั้งหลาย เมื่อภัยเกิดขึ้นแก่ท่านใน วันนี้ความคิดจึงเกิดขึ้นเพราะความกลัว จริงอยู่ บุคคลทั้งปวงผู้ถึงความ สงสัยในชีวิต มีความหวาดกลัว ย่อมอดกลั้นความกลัวไว้ได้ เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้ดำรงอยู่ในฐานะอันใหญ่ ย่อมประกอบในประโยชน์ อันมากที่จะประกอบได้ พระราชาทั้งหลาย ย่อมทรงปรารถนาความ กล้าหาญของมนตรีทั้งหลาย เพื่อทรงประสงค์ที่จะได้ความกล้าหาญนั้น ป้องกันอันตรายและสามารถป้องกันพระองค์เองด้วย วันนี้ ท่านจงกระทำ ด้วยประการที่พวกพนักงานเครื่องต้นของพระราชา อย่าเชือดเฉือนเรา ทั้งสองในโรงครัวใหญ่เถิด จริงอย่างนั้น สีแห่งขนปีกทั้งหลายจะฆ่า ท่านเสียเหมือนขุยไม้ไผ่ ฉะนั้น ท่านแม้นายพรานจะปล่อยแล้ว--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๘.
ไม่ปรารถนาจะบินหนีไป ยังเข้ามาใกล้บ่วงเองอีกเล่า วันนี้ ท่านถึงความ สงสัยในชีวิตแล้ว จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่ายื่นปากออกไปเลย. [๒๑๒] ท่านนั้นจงประกอบความเพียร ที่สมควรอันประกอบด้วยธรรม จง ประพฤติการแสวงหาทางที่จะช่วยให้เรารอดชีวิต ด้วยความเพียรอัน ผ่องแผ้วของท่านเถิด. [๒๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย อย่าทรงกลัวเลยผู้ที่สมบูรณ์ ด้วยญาณวิริยะเช่นพระองค์ย่อมไม่กลัวเลย ข้าพระองค์จักประกอบความ เพียรที่สมควร อันประกอบด้วยธรรม พระองค์จะหลุดพ้นจากบ่วง ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของข้าพระองค์ โดยเร็วพลัน. [๒๑๔] นายพรานนั้น เข้าไปยังประตูพระราชวังพร้อมด้วยหาบหงส์แล้ว จึงสั่ง นายประตูว่า ท่านจงไปกราบทูลถึงเราแด่พระราชาว่า พระยาหงส์ธตรฐ นี้มาแล้ว. [๒๑๕] ได้ยินว่า พระเจ้าสัญญมนะทอดพระเนตรเห็นหงส์ทองทั้งสอง ตัวผู้ รุ่งเรืองด้วยบุญ หมายรู้ด้วยลักษณะ แล้วตรัสรับสั่งกะพวกอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และเครื่องบริโภค แก่นายพราน เงิน เป็นสิ่งกระทำความปรารถนาแก่เขา เขาปรารถนาประมาณเท่าใด ท่าน ทั้งหลายจงให้แก่เขาประมาณเท่านั้น. [๒๑๖] พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีความผ่องใส แล้วจึงตรัสว่า ดูกรเขมกะผู้สหาย ก็สระโบกขรณีนี้เต็มไปด้วยฝูงหงส์ ตั้งอยู่ (น้ำ เต็มเปี่ยม) อย่างไรท่านจึงถือบ่วงเดินเข้าไปใกล้พระยาหงส์ผู้อยู่ในท่าม กลางฝูงหงส์ ที่น่าชอบใจเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงหงส์ผู้เป็นญาติ ซึ่งมิใช่ หงส์ชั้นกลางได้และจับเอามาได้อย่างไร. [๒๑๗] วันนี้ เป็นราตรีที่ ๗ ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท แอบ อยู่ในตุ่ม คอยติดตามรอยเท้าของพระยาหงส์นี้ ซึ่งกำลังเข้าไปยังที่ถือ เอาเหยื่อ ลำดับนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นรอยเท้าของพระยาหงส์นั้น ผู้ กำลังเที่ยวแสวงหาเหยื่อ จึงดักบ่วงลงในที่นั้น ข้าพระองค์จับ พระยาหงส์นั้นมาได้ด้วยอุบายอย่างนี้ พระเจ้าข้า.--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๙.
[๒๑๘] ดูกรนายพราน หงส์นี้มีอยู่สองตัว ไฉนท่านจึงกล่าวว่ามีตัวเดียว จิต ของท่านวิปริตไปแล้วหรือ หรือว่าท่านคิดจะหาประโยชน์อะไร. [๒๑๙] หงส์ตัวที่มีพื้นแดง มีสีงดงามดุจทองคำกำลังหลอม รอบๆ คอจรด ทรวงอกนั้น เข้ามาติดบ่วงของข้าพระองค์ แต่หงส์ตัวที่ผุดผ่องนี้มิได้ ติดบ่วง เมื่อจะกล่าวถ้อยคำเป็นภาษามนุษย์ ได้ยืนกล่าวถ้อยคำ อันประเสริฐกะพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง ผู้กระสับกระส่ายอยู่ [๒๒๐] ดูกรสุมุขหงส์ เหตุไรหนอท่านจึงยืนขบคางอยู่ในบัดนี้ หรือว่าท่านมาถึง บริษัทของเราแล้วกลัวภัย จึงไม่พูด. [๒๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชนชาวกาสี ข้าพระองค์เข้ามาสู่บริษัทของ พระองค์แล้ว จะกลัวภัยก็หาไม่ ข้าพระองค์จักไม่พูดเพราะกลัวภัยก็หา ไม่ แต่เมื่อประโยชน์เช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ข้าพระองค์จึงจักพูด. [๒๒๒] เราไม่เห็นบริษัทผู้ยิ่งใหญ่ พลรถ พลเดินเท้า เกราะ โล่ห์และนาย ขมังธนูผู้สวมเกราะของท่านเลย ดูกรสุมุขหงส์ ท่านอาศัยสิ่งใดหรือว่า เข้าไปในสถานที่ใดแล้วไม่กลัวสิ่งที่จะพึงกลัว เราไม่เห็นสิ่งนั้น หรือ สถานที่นั้นแม้เป็นเงิน ทองหรือนครที่สร้างไว้อย่างดีซึ่งมีคูรายรอบ ยากที่จะไปได้ มีหอรบและเชิงเทินอันมั่นคงเลย. [๒๒๓] ข้าพระองค์ไม่ต้องการด้วยบริษัทผู้ยิ่งใหญ่หรือนครหรือทรัพย์ เพราะข้า พระองค์ไปสู่ทางโดยสถานที่มิใช่ทาง ข้าพระองค์เป็นผู้เที่ยวไปในอากาศ ก็พระองค์ทรงสดับข่าวว่า ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต และเป็นผู้ละเอียดคิด ข้ออรรถ ถ้าพระองค์ทรงดำรงมั่นอยู่ในความสัตย์ไซร้ ข้าพระองค์จะพึง กล่าววาจาอันมีอรรถ ด้วยว่า คำที่ข้าพระองค์กล่าวแม้จะเป็นสุภาษิต ก็ จักทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้ ผู้ไม่ประเสริฐ มักตรัสคำเท็จ ผู้หยาบช้า. [๒๒๔] พระองค์ได้รับสั่งให้ขุดสระชื่อว่าเขมะนี้ ตามถ้อยคำของพวกพราหมณ์ และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทั่วสิบทิศ หงส์เหล่านั้นจึงได้พากัน บินลงสู่สระโบกขรณี อันมีน้ำใสสะอาด ในสระโบกขรณีนั้นมีอาหาร อย่างเพียงพอ และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายเลย พวกข้าพระองค์--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๐.
ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว จึงพากันบินมาในสระของพระองค์ พวก ข้าพระองค์นั้นๆ ก็ถูกบ่วงรัดไว้ นี่เป็นคำตรัสเท็จของพระองค์ บุคคล กระทำมุสาวาท และความโลภคือความอยากได้อันลามกเป็นเบื้องหน้า แล้ว ก้าวล่วงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษย์โลกทั้งสอง ย่อมเข้าถึง นรกอันไม่น่าเพลิดเพลิน. [๒๒๕] ดูกรสุมุขหงส์ เรามิได้ทำผิด ทั้งมิได้จับท่านมาด้วยความโลภ ก็เราได้ สดับมาว่า ท่านทั้งหลายเป็นบัณฑิต เป็นผู้ละเอียด และคิดข้ออรรถ ทำไฉนท่านทั้งหลาย จึงจะมากล่าววาจาอันอาศัยอรรถในที่นี้ ดูกร สุมุขหงส์ผู้สหาย นายพรานผู้นี้เราส่งไป จึงไปจับเอาท่านมาด้วยความ ประสงค์นั้น. [๒๒๖] ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวกาสี เมื่อชีวิตน้อมเข้าไปใกล้ความตายแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงมรณกาลแล้ว จะไม่พึงกล่าววาจาอันมีเหตุเลย ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ ฆ่านกด้วยนกต่อ หรือดักผู้เลื่องลือด้วยเสียงที่ เลื่องลือ จะมีอะไรเป็นความเลวทรามยิ่งกว่าความเลวทรามของผู้นั้น ก็ ผู้ใดพึงกล่าววาจาอันประเสริฐแต่ประพฤติธรรมไม่ประเสริฐ ผู้นั้นย่อม พลาดจากโลกทั้งสองคือ โลกนี้และโลกหน้า บุคคลได้รับยศแล้วไม่พึง มัวเมา ถึงความทุกข์อันเป็นเหตุสงสัยในชีวิตแล้วไม่พึงเดือดร้อน พึง พยายามในกิจทั้งหลายร่ำไป และพึงปิดช่องทั้งหลาย ชนเหล่าใดเป็น ผู้เจริญ ถึงเวลาใกล้ตายไม่ล่วงเลยประโยชน์อย่างยิ่งประพฤติธรรมใน โลกนี้ ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่ไตรทิพย์ด้วยประการอย่างนี้ ข้าแต่พระจอม แห่งชนชาวกาสี พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้วขอจงทรงรักษาธรรมใน พระองค์ และได้ทรงโปรดปล่อยพระยาหงส์ธตรฐ ผู้ประเสริฐสุดกว่า หงส์ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า. [๒๒๗] ชาวพนักงานทั้งหลาย จงนำน้ำ น้ำมันทาเท้าและอาสนะอันมีค่ามากมา เถิด เราจะปล่อยพระยาหงส์ธตรฐ ผู้เรืองยศออกจากกรง และสุมุขหงส์ เสนาบดีผู้มีปัญญา เป็นผู้ละเอียดคิดอรรถที่ยากได้ง่าย ผู้ใดเมื่อพระราชา มีสุขก็สุขด้วย เมื่อพระราชามีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ผู้เช่นนี้แลย่อมสมควร--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๑.
เพื่อจะบริโภคก้อนข้าวของนายได้ เหมือนสุมุขหงส์เป็นราชสหายทั่วไป แก่สัตว์มีชีวิต ฉะนั้น. [๒๒๘] พระยาหงส์ธตรฐเข้าไปเกาะตั่ง อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำมี ๘ เท้า น่า รื่นรมม์ใจ เกลี้ยงเกลา ลาดด้วยผ้าแคว้นกาสี สุมุขหงส์เข้าไปเกาะ เก้าอี้อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง ในลำดับแห่ง พระยาหงส์ธตรฐ ชนชาวกาสีเป็นอันมาก ต่างถือเอาโภชนะอันเลิศที่เขา ส่งไปถวายพระราชา นำเข้าไปให้แก่พระยาหงส์ทั้งสองนั้น ด้วยภาชนะ ทองคำ. [๒๒๙] พระยาหงส์ธตรฐผู้ฉลาด เห็นโภชนะอันเลิศที่เขานำมาให้ อันพระเจ้ากาสี ประทานส่งไป จึงได้ถามธรรมเนียมเครื่องปฏิสันถารในกาลเป็นลำดับ นั้นว่า พระองค์ไม่มีโรคาพาธแลหรือ ทรงสำราญดีอยู่หรือ ทรง ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ. [๒๓๐] ดูกรพระยาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ อนึ่ง เรามีความสำราญดี และเราก็ ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม. [๒๓๑] โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ และอำมาตย์เหล่า นั้น ไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์แลหรือ. [๒๓๒] โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัย ชีวิตในประโยชน์ของเรา. [๒๓๓] พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟังมีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรง ประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ เป็นไปตามพระ ราชอัธยาศัยของพระองค์แลหรือ. [๒๓๔] พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟังมีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรง ประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศเป็นไปตาม อัธยาศัยของเรา. [๒๓๕] พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ทรงปกครองให้ปราศจาก อันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความเกรี้ยวกราดโดยธรรม โดยความ สม่ำเสมอแลหรือ.--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๒.
[๒๓๖] เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ. [๒๓๗] พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษแลหรือ พระองค์ไม่ทรง ละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมแลหรือ. [๒๓๘] เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรมละทิ้งอธรรม. [๒๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุ อันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้ง แห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ. [๒๔๐] ดูกรพระยาหงส์ เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศล ธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความ อดทนและความไม่พิโรธ แต่นั้นปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อย ย่อมเกิด แก่เรา ก็สุมุขหงส์นี้ไม่ทันคิดถึงคุณสมบัติของเรา ไม่ทราบความประทุษ ร้ายแห่งจิต จึงเปล่งวาจาอันหยาบคาย ย่อมกล่าวถึงโทษที่ไม่มีอยู่ในเรา คำของสุมุขหงส์นี้ ย่อมไม่เป็นเหมือนคำของคนมีปัญญา. [๒๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ ความพลั้งพลาดนั้นมีแก่ข้าพระองค์ โดยความรีบร้อน ก็เมื่อพระยาหงส์ธตรฐติดบ่วง ข้าพระองค์มีความทุกข์ มากมาย ขอพระองค์ได้ทรงโปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ เหมือนบิดา เป็นที่พึ่งของบุตร และดุจแผ่นดินเป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ฉะนั้นเถิด ข้า แต่พระองค์ผู้เป็นราชกุญชร ขอพระองค์ได้ทรงโปรดงดโทษแก่ข้าพระองค์ ผู้ถูกความผิดครอบงำเถิด. [๒๔๒] เราย่อมอนุโมทนาแก่ท่านด้วยอาการอย่างนี้ เพราะท่านไม่ปกปิดความ ในใจ ดูกรหงส์ ท่านเป็นผู้ซื่อตรง จงทำลายความข้องใจเสียเถิด. [๒๔๓] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในนิเวศน์ของเรา ผู้เป็น พระเจ้ากาสี คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์อันมากมาย--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๓.
แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์แดง และเหล็กอีกมาก เราขอให้ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดนี้แก่ท่าน และขอละความเป็นใหญ่ให้แก่ท่าน. [๒๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระองค์ทั้งสองผู้อันพระองค์ทรงยำเกรง และทรงสักการะโดยแท้ ขอพระองค์ทรงเป็น พระอาจารย์ ของข้าพระองค์ ทั้งสอง ผู้ประพฤติอยู่ในธรรมทั้งหลายเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอาจารย์ ผู้ปราบปรามข้าศึก ข้าพระองค์ทั้งสองอันพระองค์ทรงยอมอนุญาตแล้ว จักกระทำประทักษิณพระองค์แล้ว จักกลับไปหาหมู่ญาติ. [๒๔๕] พระเจ้ากาสีทรงดำริ และทรงปรึกษาข้อความตามที่ได้กล่าวมาตลอดราตรี ทั้งปวง แล้วทรงอนุญาตพระยาหงส์ทั้งสองผู้ประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้ง หลาย. [๒๔๖] เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคต เมื่อราตรีสว่างจ้า พระยาหงส์ทั้งสองก็พากันบิน ไปจากพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากาสี. [๒๔๗] หงส์เหล่านั้น เห็นพระยาหงส์ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีโรคกลับมาถึง จึง พากันส่งเสียงว่า เกเก ได้เกิดเสียงอื้ออึงขึ้น หงส์ผู้มีความเคารพนาย เหล่านั้นได้ปัจจัยมีปีติโสมนัส เพราะนายหลุดพ้นกลับมา พากัน กระโดดโลดเต้นเข้าไปห้อมล้อมโดยรอบ. [๒๔๘] ประโยชน์ทั้งปวง ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตรย่อมให้สำเร็จ ความสุขความเจริญเหมือนพระยาหงส์ธตรฐและสุมุขหงส์ สมบูรณ์ด้วย กัลยาณมิตร เกิดประโยชน์ ให้สำเร็จความเจริญกลับมายังหมู่ญาติ ฉะนั้น.จบ มหาหังสชาดกที่ ๒ เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๑๓๔๙-๑๕๙๗ หน้าที่ ๕๔-๖๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=1349&Z=1597&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=199&items=50&pagebreak=1 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=199&items=50&pagebreak=1&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=28&item=199&items=50&pagebreak=1 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=28&item=199&items=50&pagebreak=1 ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=199 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28 https://84000.org/tipitaka/english/?index_28
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]