ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
             [๗๖๒] 	พระพรหมผู้สร้างโลก ท้าววรุณ ท้าวกุเวร ท้าวโสมะ พระยายม
                          พระจันทร์ พระวายุ พระอาทิตย์ แม้ท่านเหล่านี้ ก็ล้วนบูชายัญมามาก
                          แล้ว และบูชาสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างแก่พราหมณ์ผู้ทรงเวทย์  ท้าวอรชุน
                          และท้าวภีมเสน มีกำลังมาก มีแขนนับพัน ไม่มีใครเสมอในแผ่นดิน
                          ยกธนูได้ ๕๐๐ คัน  ก็ได้บูชาไฟมาแต่ก่อน.
             [๗๖๓] 	ดูกรพี่สุโภคะ ผู้ใดเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลายมานานด้วยข้าว  และน้ำตาม
                          กำลัง ผู้นั้นมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง.
             [๗๖๔] 	พระเจ้ามุจลินท์สามารถบูชาเทวดาคือไฟ ผู้กินมาก มีสีไม่ทราม ให้
                          อิ่มหนำด้วยเนยใส ทรงบูชายัญวิธีแก่เทวดา คือไฟผู้ประเสริฐแล้วได้
                          ไปบังเกิดในทิพยคติ.
             [๗๖๕] 	พระเจ้าทุทีป มีอานุภาพมาก มีอายุยืน ๑๐๐๐ ปี  มีพระรูปงามน่าดูยิ่ง
                          นัก  ทรงละแว่นแคว้นอันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนาเสด็จออกผนวชแล้ว
                          ได้เสด็จสู่สวรรค์.
             [๗๖๖] 	ข้าแต่พี่สุโภคะ พระเจ้าสาครราช  ทรงปราบแผ่นดินอันมีสาครเป็น
                          ที่สุด รับสั่งให้ตั้งเสายัญอันงานยิ่ง ล้วนแล้วด้วยทอง  ทรงบูชาไฟ
                          แล้วได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง แม่น้ำคงคา และมหาสมุทร เป็นที่สั่ง
                          สมนมส้ม  ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด ผู้นั้น คือ พระเจ้า-
                          อังคโลมบาท  ทรงบำเรอไฟแล้วเสด็จไปเกิดในพระนครของท้าว
                          สหัสสนัยน์.
             [๗๖๗] 	เทวดาผู้ประเสริฐมีฤทธิ์มาก  มียศ  เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะใน
                          ไตรทิพย์ กำจัดมลทินด้วยโสมยาควิธี (บูชาด้วยการดื่มน้ำโสม) ได้
                          เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง.
             [๗๖๘] 	เทวดาผู้ประเสริฐ มีฤทธิ์ เรืองยศ สร้างโลกนี้โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี
                          ขุนเขาหิมวันต์และเขาวิชฌะ ได้บูชาไฟมาก่อน ภูเขามาลาคิริ ขุนเขา
                          หิมวันต์  ภูเขาวิชฌะ ภูเขาสุทัศนะ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ
                          ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่นๆ กล่าวกันว่าพวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้
                          ก่อสร้างทำไว้.
             [๗๖๙] 	ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ผู้ทรงเวทย์ ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์  ผู้มีตบะ
                          ในโลกนี้ว่า ผู้ประกอบในการขอ มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น ผู้
                          กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งมหาสมุทร เพราะเหตุนั้น น้ำในมหาสมุทร
                          จึงดื่มไม่ได้.
             [๗๗๐] 	วัตถุที่ควรบูชา  คือพวกพราหมณ์เป็นอันมากมีอยู่ในแผ่นดินของ
                          ท้าววาสวะ  พราหมณ์ทั้งหลายมีอยู่ในทิศบูรพา ทิศปัศจิมทิศ ทักษิณ
                          และทิศอุดร ย่อมยังปีติและโสมนัสให้เกิด.
             [๗๗๑] 	ดูกรพ่ออริฏฐะ ความกาลีคือความปราชัยของนักปราชญ์ทั้งหลาย กลับ
                          เป็นความมีชัยของคนโง่เขลาผู้ทรงเวทย์ ไตรเพทเป็นเหมือนอาการของ
                          พยับแดด เพราะเป็นของไม่เห็นเสมอไป มีคุณทางหลอกลวง พาเอา
                          คนมีปัญญาไปไม่ได้ ไตรเพทมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้
                          ล้างผลาญความเจริญเหมือนไฟที่คนบำเรอแล้ว ย่อมป้องกันคนโทสจริต
                          ทำกรรมชั่วไม่ได้ ถ้าคนทั้งหลายจะเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด พร้อม
                          ทั้งทรัพย์สมบัติของตน คลุกกับหญ้าให้ไฟเผา  ไฟอันมีเดชไม่มีใคร
                          เทียมเผาสิ่งนั้นหมดก็ไม่อิ่ม  ใครจะพึงทำให้ไฟซึ่งรู้รสสองอย่างให้อิ่มได้
                          นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดา คือ แปรเป็นนมส้ม  แล้วเป็นเนยข้น
                          ฉันใด ไฟก็มีความแปรเป็นธรรมดา ฉันนั้น ไฟประกอบด้วยความเพียร
                          (ในการสีไฟ) จึงจะเกิดได้ ไม่เคยได้เห็นไฟเข้าไปอยู่ในไม้แห้ง และ
                          ไม้สด คนสีไฟไม่สี ไฟก็ไม่เกิด ไฟย่อมไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด
                          ถ้าแหละไฟพึงอยู่ภายในไม้แห้งและไม้สด ป่าทั้งหมดในโลกก็จะพึงแห้ง
                          ไป และไม้แห้งก็จะพึงลุกโพลง ถ้าคนทำบุญได้โดยเอาไม้และหญ้าให้
                          ไฟกิน คนเผาถ่าน คนหุงเกลือ พ่อครัว และคนเผาศพ ก็พึงทำบุญได้
                          ถ้าแม้พราหมณ์เหล่านี้ทำบุญได้เพราะการเลี้ยงไฟ  เพราะเรียนมนต์
                          เพราะเลี้ยงไฟให้อิ่มหนำ ในโลกนี้ใครๆ ผู้เอาของให้ไฟกินจะไม่ชื่อว่า
                          ได้ทำบุญอย่างไรเล่า เพราะเหตุอย่างไรเล่า เพราะไฟเป็นผู้อันโลกยำเกรง
                          รู้รสสองอย่าง  พึงกินได้มากทั้งของไม่มีกลิ่นอันไม่น่าฟูใจ คนเป็น
                          อันมากไม่ชอบ พวกมนุษย์ละเว้น และเป็นของไม่ประเสริฐ คน
                          บางพวกนับถือไฟเป็นเทวดา ส่วนพวกมิลักขุนับถือน้ำเป็นเทวดา
                          ทั้งหมดนี้พูดผิด ไฟและน้ำไม่ใช่เทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง โลกบำเรอไฟ
                          ซึ่งไม่มีอินทรีย์ ไม่มีกายที่จะรู้สึกได้ ส่องแสงสว่าง เป็นเครื่องทำการ
                          งานของประชาชน  เมื่อยังทำบาปกรรมอยู่ จะพึงไปสุคติได้อย่างไร
                          พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตในโลกนี้กล่าวว่า  พระพรหมครอบงำ
                          ได้ทั้งหมด และว่าพระพรหมบำเรอไฟ พระพรหมมีอานุภาพกว่าทุกสิ่ง
                          และมีอำนาจไม่มีใครสร้าง กลับไปไหว้ไฟที่ตนสร้างเพื่อประโยชน์อะไร
                          คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ ไม่ควรแก่การเพ่งเล็ง ไม่เป็นความ
                          จริง  พวกพราหมณ์ในปางก่อนก่อขึ้นไว้ เพราะเหตุแห่งสักการะ
                          พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อลาภและสักการะเกิดขึ้น จึงร้อยกรองยัญพิธีว่า
                          เป็นธรรมสงบระงับ ด้วยการฆ่าสัตว์บูชายัญ พวกพราหมณ์ถือการทรง
                          ไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ยึดการไถนา และ
                          พวกศูทรยึดการบำเรอ วรรณะทั้ง ๔ นี้  เข้าถึงการงานตามที่อ้างมา
                          เฉพาะอย่าง ๆ นั้น กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจจัดไว้ถ้าคำนี้พึง
                          เป็นคำจริงเหมือนดังที่พวกพราหมณ์กล่าวไว้ คนที่ไม่ใช่กษัตริย์ไม่พึงได้
                          ราชสมบัติ  ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่พึงศึกษามนต์ คนนอกจากแพศย์ไม่
                          พึงทำการไถเลย  และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น เพราะคำนี้
                          เป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ พวกคนหาเลี้ยงท้องกล่าวไว้ คนไม่มีปัญญา
                          หลงเชื่อ บัณฑิตทั้งหลายย่อมเห็นด้วยตนเอง  เพราะพวกกษัตริย์
                          ย่อมเก็บส่วนจากพวกแพศย์ พวกพราหมณ์ถือศาตราเที่ยวฆ่าสัตว์ เพราะ
                          เหตุไร พระพรหมจึงไม่ทำโลกอันแตกต่างกันเช่นนั้นให้ตรงเสีย  ถ้า
                          แหละพระพรหมเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของ
                          หมู่สัตว์ ทำไมจึงจัดโลกทั้งปวงให้มีความทุกข์ ทำไมจึงไม่ทำโลกทั้งปวง
                          ให้มีความสุข ถ้าแหละพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง
                          เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ เหตุไรจึงทำโลกโดยไม่เป็นธรรม คือ มารยา
                          และเจรจาคำเท็จ มัวเมา ถ้าแหละพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญ
                          ในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตอยุติธรรม
                          เมื่อธรรมมีอยู่ พรหมนั้นก็จัดโลกไม่เที่ยงธรรม ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู
                          แมลงภู่ หนอน และแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์ ธรรมเหล่านี้
                          ไม่ใช่ของพระอริยะ เป็นธรรมผิดๆ ของชาวกัมโพชรัฐเป็นอันมาก.
             [๗๗๒] 	ถ้าแหละคนฆ่าเขาแล้วย่อมบริสุทธิ์ และผู้ถูกฆ่าย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์
                          พวกพราหมณ์ก็พึงฆ่าพวกพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ หรือพึงฆ่าพวกที่หลง
                          เชื่อถ้อยคำ ของพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ พวกเนื้อ ปศุสัตว์และโคตัว
                          ไหนๆ ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเลย  ล้วนแต่ดิ้นรนต้องการมีชีวิตอยู่
                          ในโลกนี้ ชนทั้งหลายย่อมนำเอาสัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกที่เสายัญ พวก
                          คนพาลย่อมยื่นหน้าเข้าไปที่เสาบูชายัญเป็นที่ผูกสัตว์ ด้วยการพรรณนา
                          ต่างๆ ว่า เสายัญนี้จะให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่านในโลกหน้า จะเป็นของ
                          ยั่งยืนในสัมปรายภพ ถ้าว่าบุคคลพึงได้แก้วมณี สังข์ มุกดา ข้าวเปลือก
                          ทรัพย์ เงิน ทองที่เสายัญ ในไม้แห้งและไม้สดไซร้ อนึ่ง เสายัญ
                          จะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ได้ พราหมณ์เท่านั้นพึงบูชายัญ
                          ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ก็จะไม่พึงให้พราหมณ์บูชายัญอะไรๆ เลย  แก้วมณี
                          สังข์ มุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง จักมีที่เสายัญ  ที่ไม้แห้ง
                          ที่ไม้สดที่ไหน  เสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ที่ไหน
                          พราหมณ์เหล่านี้เป็นคนโอ้อวด หยาบช้า โง่เขลา โลภจัด ยื่นหน้า
                          เข้าไปด้วยการพรรณนาต่างๆ ว่า จงถือเอาไฟมา และจงให้ทรัพย์แก่
                          เรา แต่นั้นท่านให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงแล้ว จักมีความสุข พวกที่โกนผม
                          โกนหนวดและตัดเล็บพาพระราชา หรือมหาอำมาตย์เข้าไปยังโรงบูชาไฟ
                          ยื่นหน้าเข้าไปด้วยการพรรณนาต่างๆ ย่อมถือเอาทรัพย์ด้วยเวท พวก
                          พราหมณ์ผู้โกหก พอหลอกลวงได้คนหนึ่ง ก็มาประชุมกินกันเป็นอัน
                          มากเหมือนฝูงกาตอมนกเค้า หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้ว เก็บไว้ที่บริเวณ
                          บูชายัญ พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็พากันมาเป็น
                          อันมาก ใช้ความพยายามล่อหลอกพรรณนา ด้วยสิ่งที่ไม่แลเห็นปล้น
                          เอาทรัพย์ที่แลเห็นไป เหมือนพวกราชบุรุษ ที่พระราชาสอนให้เก็บส่วย
                          เก็บเอาทรัพย์ของพระราชาไป ฉะนั้น ดูกรอริฏฐะ พราหมณ์เช่นนั้น
                          เป็นเหมือนโจร ไม่ใช่สัตบุรุษเป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก
                          พวกพราหมณ์กล่าวว่า ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์ จึงตัด
                          เอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้ ถ้าคำนั้นเป็นคำจริง พระอินทร์ก็แขนขาด
                          ทำไมพระอินทร์จึงชนะพวกอสูรด้วยกำลังแขนนั้นได้ คำนั้นเป็นคำเท็จ
                          พระอินทร์ยังมีแขนพร้อม เป็นเทวดาชั้นดีเลิศ ไม่มีใครฆ่าได้ กำจัด
                          อสูรได้  มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เหลวเปล่า หลอกลวงกันให้เห็น
                          ได้เฉพาะในโลกนี้ ภูเขามาลาคิรี ขุนเขาหิมวันต์ ภูเขาวิชฌะ ภูเขา-
                          สุทัศน์ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่นๆ
                          ที่กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้ ที่กล่าวกันว่าพวก
                          พราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา อิฐเช่นนั้นก็ไม่ใช่ธรรม-
                          ชาติของภูเขา ภูเขาเป็นอย่างอื่น ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัดๆ ว่าเป็นหิน
                          ไม่ใช่อิฐเป็นหินมานมนาน เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐ ที่พวก
                          พราหมณ์สรรเสริญยัญกล่าวไว้ว่า ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้ ชนทั้งหลายเรียก
                          พราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า ผู้ประกอบ
                          ในการขอ  มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้นผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่ง
                          มหาสมุทร เพราะเหตุนั้น  น้ำในมหาสมุทรจึงดื่มไม่ได้ แม่น้ำพัดเอา
                          พราหมณ์ผู้เรียนเวท ทรงมนต์ ไปเกินกว่าพัน เหตุไรน้ำในแม่น้ำจึงมี
                          รสไม่เสีย มหาสมุทรเท่านั้นดื่มไม่ได้ บ่อน้ำทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ที่
                          เขาขุดไว้เกิดเป็นน้ำเค็มก็มี  แต่ไม่ใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย  น้ำ
                          ในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ เป็นน้ำรู้รสสองอย่าง ครั้นครั้งดึกดำบรรพ์ตั้งแต่
                          ปฐมกัป ใครเป็นภรรยาใคร ใครได้ให้มนุษย์เกิดขึ้นก่อน โดยธรรม
                          แม้นั้นใครๆ ไม่เลวไปกว่าใคร ท่านกล่าวจำแนกส่วนไว้อย่างนี้ แม้
                          ลูกคนจัณฑาลก็พึงเรียนเวท สวดมนต์ได้ (ถ้า) เป็นคนฉลาดมีความคิด
                          หัวของเขาก็ไม่พึงแตกเจ็ดเสี่ยง มนต์เหล่านี้พวกพรหมสร้างไว้เพื่อฆ่า
                          ตน เป็นการสร้างแต่ปาก เป็นการสร้างยึดถือไว้ด้วยความโลภ เปลื้อง
                          ได้ยาก เข้าถึงคลองด้วยคำของพวกพราหมณ์ผู้แต่งกาพย์กลอน จิตของ
                          พวกคนโง่ ยังหลงในทางลุ่มๆ ดอนๆ คนไม่มีปัญญาเชื่อเอาจริงจัง
                          ราชสีห์  เสือโคร่ง เสือเหลือง มีกำลังอย่างลูกผู้ชาย พราหมณ์ไม่มี
                          กำลังเช่นนั้นเลย ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้น พึงเห็นเหมือน
                          ของโค  ชาติของพราหมณ์เหล่านั้นเท่านั้นไม่มีใครเสมอ สิ่งอื่นๆ
                          เสมอกันหมด ถ้าแหละพระราชาทรงชำนะหมู่ศัตรูได้โดยลำพังพระองค์
                          เอง  ประชาราษฎร์ของพระราชานั้นพึงมีสุขอยู่เสมอ มนต์ของกษัตริย์
                          และไตรเพทเหล่านี้ มีความหมายเสมอกัน ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์
                          และไตรเพทนั้นก็ไม่รู้เหมือนทางที่น้ำท่วม  มนต์ของกษัตริย์และไตรเพท
                          เหล่านี้มีความหมายเสมอกัน ลาภ ไม่มีลาภ ยศ และไม่มียศ ทั้งหมด
                          เทียว เป็นธรรมดาของวรรณทั้ง ๔ นั้น พวกคฤหบดีใช้คนจำนวนมาก
                          ให้ทำการงานในแผ่นดิน เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือก ฉันใด
                          แม้พวกพราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทก็ฉันนั้น ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้
                          ทำการงานในแผ่นดิน ในวันนี้ พราหมณ์เหล่านั้นเสมอกันกับคฤหบดี
                          มีความขวนขวายประกอบในกามคุณเป็นนิตย์  ใช้คนเป็นจำนวนมากให้
                          ทำการงานในแผ่นดินเหมือนกัน พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้รู้รสสองอย่าง
                          หาปัญญามิได้.
             [๗๗๓] 	กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหรทึกของใคร มา
                          ข้างหน้า ทำให้พระราชาจอมทัพทรงหรรษา ใครมีสีหน้าสุกใสด้วยแผ่น
                          ทองคำอันหนา มีพรรณดังสายฟ้า ชันษายังหนุ่มแน่น สอดสวมแล่งธนู
                          รุ่งเรืองด้วยสิริมาอยู่นั่นเป็นใคร ใครมีพักตร์ผ่องใสเพียงดังทอง เหมือน
                          ถ่านไฟไม้ตะเคียนซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า รุ่งเรืองด้วยสิริมาอยู่ ใครนั่น
                          มีฉัตรทองชมพูนุทมีซี่น่ารื่นรมย์ใจสำหรับกันรัศมีพระอาทิตย์  รุ่งเรือง
                          ด้วยสิริมาอยู่ ใครนั่นมีปัญญาประเสริฐ มีพัดวาลวิชนีอย่างดีเยี่ยม อัน
                          คนใช้ประคอง ณ เบื้องบนเศียรทั้งสองข้าง คนทั้งหลายถือกำหางนกยูง
                          อันวิจิตรอ่อนสลวย  มีด้ามล้วนแล้วด้วยทองและแก้วมณี จรลีมาทั้ง
                          สองข้าง  ข้างหน้าของใคร กุณฑลอันกลมเกลี้ยง มีรัศมีดังสีถ่านไม้
                          ตะเคียนซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า งดงามอยู่ทั้งสองข้าง ข้างหน้าของใคร
                          เส้นผมของใครต้องลมอยู่ไหวๆ ปลายสนิท ละเอียดดำ งามจดนลาต
                          ดังสายฟ้าพุ่งขึ้นจากท้องฟ้า ใครมีเนตรซ้ายขวากว้างและใหญ่ งาม มี
                          พักตร์ผ่องใส ดังคันฉ่องทอง ใครมีโอฐสะอาดเหมือนสังข์อันขาวผ่อง
                          เมื่อเจรจา (แลเห็น) ฟันขาวสะอาดงามดังดอกมณฑารพตูม ใครมีมือ
                          และเท้าทั้งสองมีสีเสมอด้วยน้ำครั่ง ตั้งอยู่ในที่สบาย มีริมฝีปากเปล่ง-
                          ปลั่งดั่งผลมะพลับ งามดังดวงอาทิตย์ ใครนั่นมีเครื่องปกคลุมขาวสะอาด
                          ดังหนึ่งต้นสาละใหญ่ดอกสะพรั่งข้างเขาหิมวันต์ในฤดูหิมะตก งามปาน
                          ดังพระอินทร์อันได้ชัยชนะ ใครนั่นนั่งอยู่ท่ามกลางบริษัท คล้องพระ-
                          แสงขรรค์คร่ำทองวิจิตรด้วยด้ามแก้วมณีที่อังสา  ใครนั่นสวมสุวรรณ
                          ปาทุกาอันวิจิตร เย็นเรียบร้อย สำเร็จเป็นอันดี ข้าพเจ้าขอนอบน้อม
                          ต่อผู้แสวงหาคุณอันใหญ่.
             [๗๗๔] 	ผู้ที่มาเหล่านี้  เป็นนาคที่มีฤทธิ์ เรืองยศ เป็นลูกแห่งท้าวธตรฐ  เกิด
                          แต่นางสมุททชา นาคเหล่านี้มีฤทธิ์มาก.
จบ ภูริทัตชาดกที่ ๖
-----------------------------------------------------
๗. จันทกุมาร
พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๔๕๘๕-๔๗๖๒ หน้าที่ ๑๗๖-๑๘๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=4585&Z=4762&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=762&items=13&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=762&items=13              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=28&item=762&items=13&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=28&item=762&items=13&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=762              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28 https://84000.org/tipitaka/english/?index_28

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]