ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๓
ว่าด้วยเดียรถีย์กับมุนี
[๗๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่ว ย่อมติเตียนโดยแท้ แม้ชนเหล่าอื่นเข้าใจว่า จริง ก็ติเตียนตาม แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนที่เกิดแล้ว เพราะ เหตุนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิต จึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๖.

[๗๑] คำว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่ว ย่อมติเตียนโดยแท้ มีความว่า เดียรถีย์เหล่านั้น มีหัวใจชั่ว คือ มีใจอันโทษประทุษร้าย มีใจผิด มีใจผิดเฉพาะ มีใจอันโทสะมากระทบ มีใจ อันโทสะมากระทบเฉพาะ มีใจอาฆาต มีใจอาฆาตเฉพาะแล้ว ย่อมติเตียน คือ เข้าไปติเตียน พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ ด้วยคำไม่จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่ว ย่อมติเตียนโดยแท้. [๗๒] คำว่า แม้ชนเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็ติเตียนตาม มีความว่า ชนเหล่าใด เชื่อถือ กำหนดอยู่ น้อมใจเชื่อต่อเดียรถีย์เหล่านั้น เข้าใจว่าจริง มีความสำคัญว่าจริง เข้าใจ ว่าแท้ มีความสำคัญว่าแท้ เข้าใจว่าแน่ มีความสำคัญว่าแน่ เข้าใจว่าเป็นจริง มีความสำคัญ ว่าเป็นจริง เข้าใจว่าไม่วิปริต มีความสำคัญว่าไม่วิปริต ชนเหล่านั้นก็ติเตียน คือเข้าไปติเตียน พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ด้วยคำไม่จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้ชนเหล่าอื่นเข้าใจว่า จริง ก็ติเตียนตาม. [๗๓] คำว่า แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนที่เกิดแล้ว มีความว่า วาทะนั้นเป็น วาทะเกิดแล้ว เป็นวาทะเกิดพร้อม เกิดแล้ว เกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว คือ เสียงประกาศแต่บุคคลอื่น คำด่า คำเข้าไปติเตียนพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ ด้วยคำอัน ไม่จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วาทะติเตียนที่เกิดแล้ว. คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีย่อมไม่เข้าถึง มีความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้น ธรรม ความเห็นชอบ บุคคลประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือผู้ถึงญาณที่ชื่อว่าโมนะ ฯลฯ บุคคลใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษและธรรมของสัตบุรุษในโลกทั้งปวง ทั้งภายในภายนอก ก้าวล่วง ธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังว่าข่าย ดำรงอยู่ เป็นผู้อันเทวดา และมนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี. บุคคลใดจะเข้าถึงวาทะติเตียน บุคคลนั้น ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เป็นผู้กระทำ ย่อมเข้าถึงวาทะ ติเตียนด้วยความเป็นผู้กระทำ (ผู้กล่าวหา) ๑ เป็นผู้ถูกเขาว่า เขาติเตียน ย่อมโกรธ ขัดเคือง โต้ตอบ ทำความโกรธ ความเคือง ความชัง ให้ปรากฏว่า เราไม่เป็นผู้กระทำ ๑. บุคคลใดจะเข้าถึงวาทะติเตียน บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงวาทะ ติเตียนด้วยเหตุ ๒ ประการนี้. มุนีไม่เข้าถึงวาทะติเตียนด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เป็นผู้ไม่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๗.

กระทำ ย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนด้วยความเป็นผู้ไม่กระทำ ๑ เป็นผู้ถูกเขาว่า เขาติเตียน ย่อม ไม่โกรธ ไม่เคือง ไม่ได้ตอบ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความชังให้ปรากฏว่า เราไม่เป็น ผู้กระทำ ๑. มุนีย่อมไม่เข้าถึง ไม่เข้าไปถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นวาทะติเตียนด้วยเหตุ ๒ ประการนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนที่เกิดแล้ว.
ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิต ๓
[๗๔] คำว่า เพราะเหตุนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิตจึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ มีความว่า คำว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะเหตุนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น ความเป็นผู้มีจิตอันโทสะมากระทบก็ดี ความเป็นผู้มีกิเลสเครื่องตรึงจิต เกิดขึ้นก็ดี ย่อมไม่มีแก่มุนี. กิเลสเครื่องตรึงจิต ๕ อย่างก็ดี กิเลสเครื่องตรึงจิต ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ดี ย่อมไม่มี คือย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ คือ กิเลสนั้นๆ เป็นกิเลสอันมุนีละเสียแล้ว ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำให้ไม่ ควรเกิดขึ้นได้ เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ. คำว่า ในที่ไหนๆ คือในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่ง ทุกๆ แห่งในภายใน ในภายนอก หรือทั้งภายในทั้งภายนอก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะ ฉะนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิต จึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่ว ย่อมติเตียนโดยแท้ แม้ชนเหล่าอื่นเข้าใจว่า จริง ก็ติเตียนตาม แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนที่เกิดแล้ว เพราะ เหตุนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิต จึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ. [๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๘.

บุคคลผู้ไปตามความพอใจ ตั้งมั่นแล้วในความชอบใจ พึงล่วงทิฏฐิของ ตนได้อย่างไรเล่า แต่บุคคลเมื่อกระทำให้เต็มด้วยตนเอง รู้อย่างใด ก็ พึงกล่าวอย่างนั้น.
ว่าด้วยทิฏฐิ
[๗๖] คำว่า พึงล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า มีความว่า เดียรถีย์เหล่าใด มีทิฏฐิ อย่างนี้ มีความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์อย่างนี้ว่า พวกเราฆ่านาง ปริพาชิกาชื่อสุนทรีเสียแล้ว ประกาศโทษของพวกสมณศากยบุตรแล้ว จักนำคืนมาซึ่งลาภยศ สักการะสัมมานะนั้นโดยอุบายอย่างนี้ เดียรถีย์เหล่านั้น ไม่อาจล่วงทิฏฐิ ความพอใจ ความ ชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของตนได้. โดยที่แท้ ความเสื่อมยศนั่นแหละ ก็กลับ ย้อนมาถึงพวกเดียรถีย์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลพึงล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า แม้ ด้วยประการอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดมีวาทะอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า บุคคลนั้นพึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี ล่วงเลยทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของตนได้อย่างไร. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร. เพราะเหตุว่า ทิฏฐินั้น อันบุคคลนั้นสมาทาน ถือเอา ยึดถือ ถือมั่น ติดใจ น้อมใจ ให้บริบูรณ์อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลพึงล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า แม้ด้วยประการอย่างนี้. บุคคลใดมีวาทะอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพก็อันนั้นสรีระก็อันนั้น ... ชีพเป็นอื่นสรีระ ก็เป็นอื่น ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม เป็นอีกก็หามิได้ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า บุคคลนั้นพึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี ล่วงเลยทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของตน ได้อย่างไร. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร. เพราะเหตุว่า ทิฏฐินั้นอันบุคคลนั้นสมาทาน ถือเอา ยึดถือ ถือมั่น ติดใจ น้อมใจ ให้บริบูรณ์อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลพึงล่วงทิฏฐิ ของตนได้อย่างไรเล่า แม้ด้วยประการอย่างนี้.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๙.

[๗๗] คำว่า บุคคลผู้ไปตามความพอใจ ตั้งมั่นแล้วในความชอบใจ มีความว่า ผู้ไป ตามความพอใจ คือบุคคลนั้น ย่อมไป ออกไป ลอยไป เคลื่อนไป ตามทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิของตน เหมือนบุคคล ย่อมไป ออกไป เลื่อนไป เคลื่อนไป ด้วยยานช้าง ยานรถ ยานม้า ยานโค ยานแพะ ยานแกะ ยานอูฐ ยานลา ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ไปตามความพอใจ. คำว่า น้อมใจไป ในทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิของตน เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้ไปตามความพอใจ ตั้งมั่นแล้วในความชอบใจ. [๗๘] คำว่า บุคคลเมื่อกระทำให้เต็มด้วยตนเอง มีความว่า บุคคลกระทำให้เต็ม ให้ บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง ให้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธาน อุดม บวร คือยังทิฏฐินั้นให้ เกิด ให้เกิดพร้อม ให้บังเกิด ให้บังเกิดเฉพาะด้วยตนเองว่า พระศาสดานี้เป็นพระสัพพัญญู พระธรรมนี้อันพระศาสดาตรัสดีแล้ว คณะสงฆ์นี้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐินี้เจริญ ปฏิปทานี้อันพระ ศาสดาทรงบัญญัติดีแล้ว มรรคนี้เป็นเครื่องนำออก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเมื่อกระทำให้ เต็มด้วยตนเอง. [๗๙] คำว่า รู้อย่างใดก็พึงกล่าวอย่างนั้น มีความว่า บุคคลรู้อย่างใดก็พึงกล่าว บอก พูด แสดง แถลงอย่างนั้น. คือรู้อย่างใดว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ก็พึงกล่าว บอก พูด แสดง แถลงอย่างนั้น. รู้อย่างใดว่า โลกไม่เที่ยง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ก็พึงกล่าว บอก พูด แสดง แถลง อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้อย่างใดก็พึงกล่าวอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลผู้ไปตามความพอใจ ตั้งมั่นแล้วในความชอบใจ พึงล่วงทิฏฐิ ของตนได้อย่างไรเล่า แต่บุคคลเมื่อกระทำให้เต็มด้วยตนเอง รู้อย่างใด ก็พึงกล่าวอย่างนั้น. [๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๐.

ชนใดไม่มีใครถาม ย่อมบอกศีลและวัตรของตนแก่ชนเหล่าอื่น ผู้ฉลาด ทั้งหลายกล่าวชนนั้นว่าไม่มีอริยธรรม อนึ่ง ชนใดย่อมบอกตนเอง ผู้ฉลาดทั้งหลายก็กล่าวชนนั้นว่า ไม่มีอริยธรรม. [๘๑] คำว่า ชนใด ... ย่อมบอกศีลและวัตรของตน มีความว่า คำว่า ใด คือเช่นใด ประกอบอย่างใด ชนิดอย่างใด มีประการอย่างใดถึงฐานะใด ประกอบด้วยธรรมใด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็นมนุษย์. คำว่า ศีลและวัตร มีความว่า บางแห่งเป็นศีลและเป็นวัตร บางแห่งเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล.
ว่าด้วยศีลและวัตร
เป็นศีลและเป็นวัตรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยความ สำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณ น้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความระวัง ความไม่ก้าวล่วง ใน สิกขาบททั้งหลายนั้น นี้เป็นศีล. ความสมาทานชื่อว่าเป็นวัตร. เพราะอรรถว่าสำรวม จึงชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่า สมาทานจึงชื่อว่าวัตร นี้เรียกว่าเป็นศีลและเป็นวัตร. เป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีลเป็นไฉน? ธุดงค์ (องค์ของภิกษุผู้กำจัดกิเลส) ๘ คือ อารัญญิ- *กังคธุดงค์ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ปังสุกูลิกังคธุดงค์ เตจีวริกังคธุดงค์ สปทานจาริกังคธุดงค์ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ เนสัชชิกังคธุดงค์ ยถาสันถติกังคธุดงค์ นี้เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล. แม้การสมาทานความเพียร ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล กล่าวคือพระมหาสัตว์ทรงประคองตั้ง พระทัยว่า จงเหลืออยู่แต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด อิฐผลใดอันจะพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วย ความบากบั่นของบุรุษ การไม่บรรลุผลนั้นแล้ว หยุดความเพียรจักไม่มี ดังนี้ แม้การสมาทาน ความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล. พระมหาสัตว์ทรงประคองตั้งพระทัยว่า จิตของเราจักยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๑.

(ความนั่งเนื่องด้วยขาที่คู้เข้าโดยรอบ) นี้เพียงนั้น แม้การสมาทานความเพียร เห็นปานนี้ ก็ เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า เมื่อลูกศรคือตัณหาอันเรายังถอนไม่ได้แล้ว เราจักไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออก จากวิหาร ทั้งจักไม่เอนข้าง ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้ง จิตว่า จิตของเราจักยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น เพียงใด เราจักไม่ลุก ขึ้นจากอาสนะนี้เพียงนั้น ... จักไม่ลงจากที่จงกรม ... จักไม่ออกจากวิหาร ... จักไม่ออกจากเรือน มีหลังคาแถบเดียว ... จักไม่ออกจากปราสาท ... จักไม่ออกจากเรือนโล้น ... จักไม่ออกจากถ้ำ ... จักไม่ออกจากถ้ำภูเขา ... จักไม่ออกจากกุฏิ ... จักไม่ออกจากเรือนยอด ... จักไม่ออกจากป้อม ... จักไม่ออกจากโรงกลม ... จักไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น ... จักไม่ออกจากศาลาที่บำรุง ...จัก ไม่ออกจากมณฑป ... จักไม่ออกจากโคนต้นไม้ เพียงนั้น ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็น ปานนี้ ก็เรียกว่า เป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า ในเช้าวันนี้แหละ เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง ซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็น ปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า ในเที่ยงวันนี้แหละ ... ในเย็นนี้ แหละ ... ในกาลก่อนภัตนี้แหละ ... ในกาลภายหลังภัตนี้แหละ ... ในยามต้นนี้แหละ ... ใน ยามกลางนี้แหละ ... ในยามหลังนี้แหละ ... ในข้างแรมนี้แหละ ... ในข้างขึ้นนี้แหละ ... ใน ฤดูฝนนี้แหละ ... ในฤดูหนาวนี้แหละ ... ในฤดูร้อนนี้แหละ ... ในตอนวัยต้นนี้แหละ ... ใน ตอนวัยกลางนี้แหละ ... ในตอนวัยหลังนี้แหละ เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ ถูกต้อง ทำให้ แจ้ง ซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล. คำว่า ชน คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนใด ... ย่อมบอกศีลและวัตรของตน. [๘๒] คำว่า ไม่มีใครถาม ย่อมบอก ... แก่ชนเหล่าอื่น มีความว่า ชนเหล่าอื่น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์. คำว่าไม่มีใครถาม คือ อันใครๆ ไม่ถาม ไม่ไต่ถาม ไม่ขอร้อง ไม่เชิญ ไม่เชื้อเชิญ. คำว่า ย่อมบอก คือ ย่อม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๒.

อวดอ้างศีลบ้าง วัตรบ้าง ศีลและวัตรบ้างของตน. (อธิบายว่า) ย่อมอวดอ้าง บอก พูด แสดง แถลงว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยศีลและ วัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมด้วยโคตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุลบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีรูปร่างงามบ้าง ถึงพร้อมด้วยทรัพย์บ้าง ถึงพร้อมด้วยการเชื้อเชิญบ้าง ถึงพร้อมด้วยหน้าที่การงานบ้าง ถึงพร้อมด้วยหลักแหล่งศิลปศาสตร์บ้าง ถึงพร้อมด้วยวิทยฐานะ บ้าง ถึงพร้อมด้วยการศึกษาบ้าง ถึงพร้อมด้วยปฏิภาณบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง บ้าง ออกบวชจากสกุลสูงบ้าง ออกบวชจากสกุลใหญ่บ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติมาก บ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติใหญ่บ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าพวกคฤหัสถ์และบรรพชิต บ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระ สูตรบ้าง เป็นผู้ทรงพระวินัยบ้าง เป็นธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือ บิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือไม่ฉันภัตหนหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถืออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็น ผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญ- *จัญญายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่มี ใครถาม ย่อมบอก ... แก่ชนเหล่าอื่น. [๘๓] คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวชนนั้นว่าไม่มีอริยธรรม มีความว่าฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาด ในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ผู้ ฉลาดเหล่านั้นกล่าว บอก พูด แสดง แถลงอย่างนี้ว่า ธรรมนั้นของพวกอนารยชน ธรรมนั้น ไม่ใช่ของพวกอริยชน ธรรมนั้นของพวกคนพาล ธรรมนั้นไม่ใช่ของพวกบัณฑิต ธรรมนั้นของ พวกอสัตบุรุษ ธรรมนั้นไม่ใช่ของพวกสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวชนนั้น ว่าไม่มีอริยธรรม.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๓.

[๘๔] คำว่า ชนใดย่อมบอกตนเอง มีความว่า อัตตาเรียกว่าตน. คำว่า ย่อมบอกเอง คือ ย่อมอวดอ้างซึ่งตนเอง คือ ย่อมอวดอ้าง บอก พูด แสดง แถลงว่า ข้าพเจ้าเป็น ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมด้วยโคตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุลบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีรูป งามบ้าง ถึงพร้อมด้วยทรัพย์บ้าง ถึงพร้อมด้วยการเชื้อเชิญบ้าง ถึงพร้อมด้วยหน้าที่การงานบ้าง ถึงพร้อมด้วยหลักแหล่งแห่งศิลปศาสตร์บ้าง ถึงพร้อมด้วยวิทยฐานะบ้าง ถึงพร้อมด้วยการศึกษา บ้าง ถึงพร้อมด้วยปฏิภาณบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ออกบวชจากสกุลสูงบ้าง ออกบวชจากสกุลใหญ่บ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติมากบ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภค สมบัติใหญ่บ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าพวกคฤหัสถ์และบรรพชิตบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงพระวินัยบ้าง เป็นธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรง ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับ ตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือไม่ฉันภัตหนหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ ถืออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้ วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานา- *สัญญายตนสมาบัติบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนใดย่อมบอกตนเอง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสว่า ชนใดไม่มีใครถาม ย่อมบอกศีลและวัตรของตนแก่ชนเหล่าอื่น ผู้ฉลาด ทั้งหลายกล่าวชนนั้นว่าไม่มีอริยธรรม อนึ่ง ชนใดย่อมบอกตนเอง ผู้ ฉลาดทั้งหลายก็กล่าวชนนั้นว่าไม่มีอริยธรรม. [๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แต่ว่าภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสในตนแล้วไม่อวดในศีลทั้งหลายว่าเราเป็น ดังนี้ ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม อนึ่ง กิเลสเป็นเหตุ ฟูขึ้นมิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก ผู้ฉลาดทั้งหลายก็กล่าว ภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๔.

ผู้ได้ชื่อว่าภิกษุ
[๘๖] คำว่า แต่ว่าภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสในตนแล้ว มีความว่า ชื่อว่าผู้สงบ เพราะ เป็นผู้สงบ คือระงับ เข้าไประงับ เผา ดับ ปราศจาก ความสงบระงับ ความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อน ทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขารคือ อกุศลธรรมทั้งปวง จึงชื่อว่าเป็นผู้สงบ เข้าไป สงบ ดับ สงบระงับแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้สงบ. คำว่า ภิกษุ มีความว่า เพราะเป็นผู้ ทำลายธรรม ๗ ประการ จึงชื่อว่าภิกษุ คือ ทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะและมานะ. ภิกษุนั้นทำลายแล้วซึ่งอกุศลธรรมอันลามก อันเป็นปัจจัยแห่ง ความมัวหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสภิยะ ผู้ใดควรแก่การชมเชยเหล่านี้ว่าถึงปรินิพพานแล้ว ด้วย ธรรมเป็นหนทางอันตนให้เจริญ ข้ามความสงสัยเสียแล้ว ละแล้วซึ่ง ความเสื่อมและความเจริญ อยู่จบแล้วและเป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว ผู้ นั้นชื่อว่าภิกษุ. อนึ่ง ผู้สงบ ชื่อว่าภิกษุ. คำว่า ผู้ดับกิเลสในตนแล้ว มีความว่า เพราะเป็นผู้ดับความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขารคืออกุศลธรรมทั้งปวง จึงชื่อว่า ผู้ดับกิเลสในตนแล้ว เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า แต่ว่าภิกษุผู้สงบแล้ว ดับกิเลสในตนแล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๕.

[๘๗] คำว่า ไม่อวดในศีลทั้งหลายว่าเราเป็นดังนี้ มีความว่า ศัพท์ว่า อิติหํ (เรา เป็นดังนี้) นั้น เป็นศัพท์ต่อบท เกี่ยวข้องแห่งบท บริบูรณ์แห่งบท เป็นที่ประชุมอักษร เป็น ความสละสลวยแห่งพยัญชนะ ศัพท์ว่า อิติหํ นั้น เป็นไปตามลำดับบท. คำว่าไม่อวดในศีล ทั้งหลาย มีความว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อวด เป็นผู้โอ้อวด คือย่อมอวด ย่อม โอ้อวดว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร บ้าง ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมด้วยโคตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุลบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง ฯลฯ เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง. ภิกษุนี้ ย่อมไม่อวด ไม่โอ้อวดอย่างนั้น คือ เป็นผู้งด เว้น เว้นขาด ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่ เกี่ยวข้องด้วยความอวด เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่อวดในศีลทั้งหลายว่าเราเป็นดังนี้.
ว่าด้วยผู้มีอริยธรรม
[๘๘] คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม มีความว่า ผู้ฉลาด ได้แก่ ผู้ฉลาดเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คือ ผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดใน ปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้น ย่อมกล่าว คือกล่าวบอก พูด แสดง แถลงอย่างนี้ว่า ธรรมนั้นของพวกอารยชน ธรรมนั้น มิใช่ของพวกอนารยชน ธรรมนั้นของบัณฑิต ธรรมนั้นมิใช่ของคนพาล ธรรมนั้นของพวก สัตบุรุษ ธรรมนั้นมิใช่ของพวกอสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุนั้น ว่ามีอริยธรรม. [๘๙] คำว่า กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้นมิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก มีความว่า ภิกษุใด คือ พระอรหันต์ผู้มีอาสวะสิ้นไปแล้ว. คำว่า กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้น คือ กิเลสเป็น เหตุฟูขึ้น ๗ ประการ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และกรรม. กิเลสเป็น เหตุฟูขึ้นเหล่านี้ มิได้มี คือไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ คือ เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นละ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๖.

เสียแล้ว ตัดขาด สงบ ระงับ ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้นได้ เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ. คำว่า ไปที่ไหนๆ คือ ในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่ง ทุกๆ แห่ง ในภายใน ในภายนอก หรือทั้ง ภายในทั้งภายนอก. คำว่า ในโลก คือในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้นมิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า แต่ว่าภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสในตนแล้ว ไม่อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็น ดังนี้ ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุนั้นว่า มีอริยธรรม อนึ่ง กิเลสเป็น เหตุฟูขึ้นมิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก ผู้ฉลาดทั้งหลายก็กล่าว ภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม.
ว่าด้วยทิฏฐิธรรม
[๙๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคลนั้น กำหนด แล้ว ที่ปัจจัยปรุงแต่งกระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่และ บุคคลนั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์ที่เห็นอยู่ ในตนและอาศัยสันติที่กำเริบที่ อาศัยกันเกิดขึ้น เขาพึงยกตนหรือข่มผู้อื่น. [๙๑] คำว่า ทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคลนั้น กำหนดแล้ว ที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีความว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ความกำหนด ๒ อย่าง คือความกำหนดด้วย ตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความ กำหนดด้วยทิฏฐิ. คำว่า ที่ปัจจัยปรุงแต่ง คือ อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ปรุงแต่งวิเศษแล้ว ปรุง แต่งเฉพาะแล้ว ให้ตั้งลงพร้อมแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่ปัจจัยปรุงแต่ง อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ที่ปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ที่ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เป็นธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้น ไป มีความเสื่อมไป มีความสำรอก มีความดับเป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่ปัจจัย ปรุงแต่ง. คำว่า ใด คือ แห่งเจ้าทิฏฐิ ทิฏฐิ ๖๒ ประการ เรียกว่า ทิฏฐิธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคลนั้นกำหนดแล้ว ที่ปัจจัยปรุง แต่ง.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๗.

[๙๒] คำว่า กระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่ มีความว่า คำว่า กระทำ ไว้ในเบื้องหน้า ได้แก่การกระทำไว้ในเบื้องหน้าสองอย่างคือ การกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วย ตัณหา ๑ การกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วย ตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า การกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ. บุคคลนั้น ไม่ละการกระทำไว้ใน เบื้องหน้าด้วยตัณหา ไม่สละคืนการกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ไม่ละการกระทำ ไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา เพราะเป็นผู้ไม่สละคืนการกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ บุคคล นั้นชื่อว่า เที่ยวทำตัณหาบ้าง ทิฏฐิบ้าง ไว้ในเบื้องหน้า คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีตัณหาเป็นธงชัย มีตัณหาเป็นธงยอด มีตัณหาเป็นใหญ่ มีทิฏฐิเป็นธงชัย มีทิฏฐิเป็นธงยอด มีทิฏฐิเป็นใหญ่ เป็นผู้อันตัณหาบ้าง ทิฏฐิบ้างแวดล้อมเที่ยวไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระทำไว้ในเบื้องหน้า. คำว่า มีอยู่ คือย่อมมี ย่อมปรากฏ ย่อมเข้าไปได้. คำว่า ไม่ขาวสะอาด คือไม่ขาวสะอาด ไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ คือเศร้าหมอง มัวหมอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่. [๙๓] คำว่า อานิสงส์ที่เห็นอยู่ในตน มีความว่า ศัพท์ว่า ยทตฺตนิ ตัดบทเป็น ยํ อตฺตนิ. ทิฏฐิเรียกว่า ตน. บุคคลนั้น ย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง แห่งทิฏฐิของตน คือ อานิสงส์มีในชาตินี้ ๑ อานิสงส์มีในชาติหน้า ๑. อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาตินี้เป็นไฉน? ศาสดาเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างใด พวกสาวกเป็น ผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น พวกสาวกย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ศาสดา ผู้มีทิฏฐิ อย่างนั้น และย่อมได้ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่มีศาสดานั้น เป็นเหตุ นี้ชื่อว่า อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาตินี้. อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาติหน้าเป็นไฉน? บุคคลนั้นย่อมหวังผลในอนาคตว่า ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความเป็นนาค เป็นครุฑ เป็นยักษ์ เป็นอสูร เป็นคนธรรพ์ เป็นมหาราช เป็น พระอินทร์ เป็นพรหม หรือเป็นเทวดา ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความหมดจด หมดจดวิเศษ บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป ด้วยทิฏฐินี้ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป ด้วยทิฏฐินี้ เราจักหมดจด หมดจดวิเศษ บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป ด้วยทิฏฐินี้ดังนี้ นี้ชื่อว่า อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาติหน้า.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๘.

บุคคลนั้นย่อมเห็น แลเห็น เหลียวเห็น เล็งเห็น พิจารณาเห็น ซึ่งอานิสงส์แห่ง ทิฏฐิของตน ๒ ประการนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อานิสงส์ ที่เห็นอยู่ในตน.
ว่าด้วยสันติ ๓
[๙๔] คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์และอาศัยสันติ ที่กำเริบ ที่อาศัยกันเกิดขึ้น มีความว่า สันติมี ๓ ประการ คือ สันติโดยส่วนเดียว ๑ สันติโดยองค์นั้นๆ ๑ สันติโดย สมมติ ๑. สันติโดยส่วนเดียวเป็นไฉน? อมตนิพพาน คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความ สละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหา เรียกว่า สันติโดยส่วนเดียว นี้ชื่อว่า สันติโดยส่วนเดียว. สันติโดยองค์นั้นๆ เป็นไฉน? บุคคลผู้บรรลุปฐมฌาน มีนิวรณ์สงบไป. ผู้บรรลุ ทุติยฌานมีวิตกและวิจารณ์สงบไป. ผู้บรรลุตติยฌานมีปีติสงบไป. ผู้บรรลุจตุตถฌานมีสุขและ ทุกข์สงบไป. ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน มีรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา สงบไป. ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน มีอากาสานัญจายตนสัญญาสงบไป. ผู้บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน มีวิญญาณัญจายตนสัญญาสงบไป. ผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีอากิญจัญญายตนสัญญา สงบไป. นี้ชื่อว่า สันติโดยองค์นั้นๆ . สันติโดยสมมติเป็นไฉน? ทิฏฐิ ๖๒ เป็นทิฏฐิสงบไป เรียกว่า สันติโดยสมมติ. อนึ่ง สันติโดยสมมติ พระผู้มีพระภาคประสงค์เอาว่า สันติ ในคาถานี้. คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์และอาศัยสันติที่กำเริบ ที่อาศัยกันเกิดขึ้น มีความว่า คำว่า อาศัย คือพัวพัน ติดพัน ติดใจ น้อมใจถึง (อานิสงส์นั้น) และถึงสันติ อันกำเริบได้ คือกำเริบทั่ว เอนไป เอียงไป หวั่นไหว กระทบกระทั่ง อันตนกำหนดแล้ว อันตนกำหนดทั่วแล้ว ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป สำรอกไป ดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลนั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์ และอาศัย สันติอันกำเริบที่อาศัยกันเกิดขึ้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๙.

ทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคลนั้นกำหนดแล้ว ที่ปัจจัยปรุงแต่ง กระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่ และบุคคล นั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์ที่เห็นอยู่ในตน และอาศัยสันติที่กำเริบ อันอาศัย กันเกิดขึ้น เขาพึงยกตนหรือข่มผู้อื่น.
ว่าด้วยการถือมั่น
[๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่ายเลย การถึง ความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น ก็ไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชนย่อมสละธรรมบ้าง ยึดถือ ธรรมบ้าง. [๙๖] คำว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่ายเลย มีความว่า คำว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ คือ ความถือมั่น ยึดถือมั่นว่าโลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า หรือความยึดมั่น ถือมั่นว่า โลกไม่เที่ยงสิ่งนี้เท่านั้นจริงสิ่งอื่นเปล่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้น ... ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมเป็นอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่ง อื่นเปล่า ดังนี้ ชื่อว่าความถือมั่นด้วยทิฏฐิ. คำว่า ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย คือ ย่อม เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยยาก ข้ามโดยยาก ก้าวล่วงโดยยาก ประพฤติล่วงโดยยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย. [๙๗] คำว่า การถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น มีความว่า คำว่า ในธรรม ทั้งหลาย คือในทิฏฐิ ๖๒. คำว่า ถึงความตกลง มีความว่า ตัดสินแล้ว ชี้ขาด ค้นหา แสวงหา เทียบเคียง ตรวจตรา สอบสวน ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำให้เห็นแจ้งแล้ว จึงจับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือ ความถือ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความน้อมใจเชื่อ ว่าสิ่งนี้จริง แท้ แน่ เป็นสภาพจริง เป็นตามจริง มิได้วิปริต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า การถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๐.

[๙๘] คำว่า เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชน ... มีความว่า คำว่า เพราะ ฉะนั้น คือ เพราะฉะนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น. คำว่า นรชน คือสัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ในความถือมั่นเหล่านั้น คือ ในความถือมั่นด้วยทิฏฐิทั้งหลายนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชน.
ว่าด้วยการสละ ๒ อย่าง
[๙๙] คำว่า ย่อมสละธรรมบ้าง ยึดถือธรรมบ้าง มีความว่า คำว่า ย่อมสละ คือ ย่อมสละด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ สละด้วยความตัดสินของผู้อื่น ๑ ไม่สำเร็จประโยชน์เองจึง สละ ๑. นรชนย่อมสละด้วยความตัดสินของผู้อื่นอย่างไร? ผู้อื่นย่อมตัดสินว่า ศาสดานั้นไม่ ใช่สัพพัญญู ธรรมแห่งศาสดานั้นไม่เป็นธรรมอันศาสดากล่าวดีแล้ว หมู่คณะไม่เป็นผู้ปฏิบัติดี ทิฏฐิไม่เป็นทิฏฐิอันเจริญ ปฏิปทาไม่เป็นปฏิปทาอันศาสดาบัญญัติดีแล้ว มรรคไม่เป็นทางนำ ออกจากทุกข์ ความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความบริสุทธิ์ ความพ้น ความพ้นวิเศษ หรือความพ้นรอบ มิได้มีในลัทธินี้ ประชาชน ไม่หมดจดไม่หมดจดวิเศษ ไม่หมดจดรอบ ไม่พ้น ไม่พ้นวิเศษ หรือไม่พ้นรอบเพราะลัทธินั้น ลัทธินั้นเลวทราม ต่ำช้า ลามก สกปรก ต่ำต้อย. ผู้อื่นย่อมตัดสินอย่างนี้ เมื่อถูกผู้อื่นตัดสินให้อย่างนี้ ย่อมสละศาสดา สละธรรมที่ศาสดานั้นบอก สละหมู่คณะ สละทิฏฐิ สละปฏิปทา สละมรรค. นรชน ย่อมสละด้วยความตัดสินของผู้อื่น อย่างนี้. นรชนไม่สำเร็จประโยชน์เองจึงสละอย่างไร? นรชนไม่ยังศีลให้สำเร็จประโยชน์ ย่อม สละศีล ไม่ยังวัตรให้สำเร็จประโยชน์ ย่อมสละวัตรไม่ยังศีลและวัตรให้สำเร็จประโยชน์ ย่อม สละศีล และวัตร. นรชนไม่สำเร็จประโยชน์เองจึงสละอย่างนี้. คำว่า ย่อมยึดถือธรรมบ้าง คือ นรชนย่อมถือ ย่อมยึดมั่น ย่อมถือมั่นซึ่งศาสดา ธรรมที่ศาสดานั้นบอก หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมสละธรรม บ้าง. ยึดถือธรรมบ้าง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๑.

ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย การถึงความ ตกลงในธรรม ทั้งหลายแล้วถือมั่น ก็ไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย เพราะฉะนั้น ในการถือมั่นเหล่านั้น นรชนย่อมสละธรรมบ้าง ยึดถือ ธรรมบ้าง. [๑๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทิฏฐิ ที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มี ปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก เพราะบุคคลผู้มีปัญญาละมารยาและมานะ ได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง จะพึงไปด้วยกิเลสอะไรเล่า.
ว่าด้วยผู้มีปัญญา
[๑๐๑] คำว่า ทิฏฐิที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีปัญญา ในที่ไหนๆ ในโลก มีความว่า ปัญญา เรียกว่าโธนา ได้แก่ความรู้ ความรู้ทั่ว ความเลือกเฟ้น ความเลือกเฟ้นทั่ว ความเลือกเฟ้นธรรม ความกำหนดความดี ความเข้าไปกำหนด ความเข้า ไปกำหนดเฉพาะ ความเป็นบัณฑิต ความเป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้มีปัญญารักษาตน ปัญญา เครื่องจำแนก ปัญญาเครื่องคิด ปัญญาเครื่องเข้าไปเห็น ปัญญาอันกว้างขวางดุจแผ่นดิน ปัญญา เครื่องทำลายกิเลส ปัญญาอันนำไปรอบ ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้สึกตัว ปัญญาเครื่องเจาะแทง ปัญญาเครื่องเห็นชัด ปัญญาเป็นใหญ่ ปัญญาเป็นกำลัง ปัญญาเป็นศาตรา ปัญญาเพียงดังปราสาท ปัญญาอันสว่าง ปัญญาอันแจ่มแจ้ง ปัญญาอันรุ่งเรือง ปัญญาเป็นดังแก้ว ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ. เพราะเหตุไร ปัญญาจึงเรียกว่าโธนา. เพราะปัญญานั้น เป็นเครื่องกำจัดล้าง ชำระ ซักฟอก ซึ่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อน ทั้งปวง อภิสังขารคืออกุศลธรรมทั้งปวง. เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงเรียกว่า โธนา. อีกอย่างหนึ่ง สัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องกำจัด ล้างชำระ ซักฟอกมิจฉาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ... ซึ่งมิจฉาสังกัปปะ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๒.

สัมมาวาจา ... ซึ่งมิจฉาวาจา สัมมากัมมันตะ ... ซึ่งมิจฉากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ... ซึ่งมิจฉาอาชีวะ สัมมาวายามะ ... ซึ่งมิจฉาวายามะ สัมมาสติ ... ซึ่งมิจฉาสติ สัมมาสมาธิ ... ซึ่งมิจฉาสมาธิ สัมมาญาณะ ... ซึ่งมิจฉาญาณะ สัมมาวิมุตติเป็นเครื่องกำจัด ล้างชำระ ซักฟอก ซึ่งมิจฉาวิมุตติ. อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ กำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอก กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขารคืออกุศลธรรม ทั้งปวง พระอรหันต์เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้าชิด เข้าชิดพร้อม ประกอบ แล้วด้วยธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำจัดเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงชื่อว่า ผู้มีปัญญา. พระอรหันต์นั้น กำจัดราคะ บาป กิเลส ความเร่าร้อนเสียแล้ว ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปัญญา. คำว่า ในที่ไหนๆ คือในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่ง ทุกๆ แห่ง ในภายใน ในภายนอก หรือทั้ง ภายในทั้งภายนอก. คำว่าในโลก คือ ในอบายโลก ฯลฯ ในอายตนโลก. คำว่า กำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ ความกำหนดด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ. คำว่า ในภพน้อยและในภพใหญ่ ได้แก่ในภาพน้อยและภาพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏ และวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่อง เกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในความ เกิดบ่อยๆ ในความไปบ่อยๆ ในความเข้าถึงบ่อยๆ ในปฏิสนธิบ่อยๆ ในอันบังเกิดขึ้น แห่งอัตภาพบ่อยๆ. คำว่าทิฏฐิที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีปัญญา ในที่ไหนๆ ในโลก คือ ทิฏฐิที่กำหนด กำหนดทั่ว ปรุงแต่ง ตั้งมั่น ในภพน้อยและภพใหญ่ทั้งหลาย ย่อมไม่มี มิได้มีไม่ปรากฏไม่เข้าไปได้ แก่บุคคลผู้มีปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก คือ ย่อมเป็นทิฏฐิ อันบุคคลผู้มีปัญญานั้นละเสียแล้ว ตัดขาด สงบ ระงับ ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้นได้ เผาเสียแล้ว ด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐิที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้มีปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก.
ว่าด้วยมารยาและมานะ
[๑๐๒] คำว่า บุคคลผู้มีปัญญาละมารยาและมานะได้แล้ว มีความว่าความประพฤติลวง เรียกว่ามารยา. บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๓.

ประพฤติทุจริตด้วยใจแล้ว ย่อมตั้งความปรารถนาอันลามก เพราะเหตุจะปกปิดทุจริตนั้น คือย่อม ปรารถนาว่า ใครๆ อย่ารู้เรา (ว่าเราประพฤติทุจริต) ดำริว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา ย่อมกล่าว วาจาว่า ใครๆ อย่ารู้เรา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ใครๆ อย่ารู้เรา. ความลวง ความเป็น ผู้มีความลวง ความไม่นึกถึง ความอำพราง ความปิด ความปิดบัง ความหลีกเลี่ยง ความซ่อน ความซ่อนเร้น ความปิด ความปกปิด ความไม่ทำให้ตื้น ความไม่เปิดเผย ความปิดด้วยดี ความกระทำชั่วเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความลวง. คำว่า มานะ ได้แก่ความถือตัวอย่าง ๑ คือความที่จิตใฝ่สูง. ความถือตัว ๒ อย่างคือ ความยกตน ๑ ความข่มผู้อื่น ๑. ความถือตัว ๓ อย่าง คือความถือตัวว่า เราดีกว่าเขา ๑ เราเสมอเขา ๑ เราเลวกว่าเขา ๑. ความถือตัว ๔ อย่าง คือบุคคลยังความถือตัวให้เกิดเพราะลาภ ๑ ยังความถือตัวให้ เกิดเพราะยศ ๑ ยังความถือตัวให้เกิดเพราะความสรรเสริญ ๑ ยังความถือตัวให้เกิดเพราะความ สุข ๑. ความถือตัว ๕ อย่างคือ บุคคลยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้รูปที่ชอบใจ ๑ ยังความ ถือตัวให้เกิด ว่าเราได้เสียงที่ชอบใจ ๑ ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้กลิ่นที่ชอบใจ ๑ ยังความ ถือตัวให้เกิดว่า เราได้รสที่ชอบใจ ๑ ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ๑. ความ ถือตัว ๖ อย่าง คือบุคคลยังความถือตัวให้เกิดด้วยความถึงพร้อมแห่งจักษุ ... ความถึงพร้อมแห่ง หู ... ความถึงพร้อมแห่งจมูก ... ความถึงพร้อมแห่งลิ้น ... ความถึงพร้อมแห่งกาย ความถึงพร้อม แห่งใจ. ความถือตัว ๗ อย่างคือ ความถือตัว ๑ ความถือตัวจัด ๑ ความถือตัวและความถือตัวจัด ๑ ความถือตัวเลว ๑ ความถือตัวยิ่ง ๑ ความถือตัวว่าเรามั่งมี ๑ ความถือตัวผิด ๑ ความถือตัว ๘ อย่าง คือบุคคลยังความถือตัวให้เกิด เพราะลาภ ๑ ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะความเสื่อมลาภ ๑ ยัง ความถือตัวให้เกิดเพราะยศ ๑ ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะความเสื่อมยศ ๑ ยังความถือตัวให้ เกิดเพราะสรรเสริญ ๑ ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะนินทา ๑ ยังความถือตัวให้เกิดเพราะสุข ๑ ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะทุกข์ ๑ ความถือตัว ๙ อย่าง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นผู้ดีกว่าคนดี ๑ ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนดี ๑ ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนดี ๑ ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนชั้นเดียวกัน ๑ ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนชั้นเดียวกัน ๑ ความถือตัวว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๔.

เราเป็นผู้เลวกว่าคนชั้นเดียวกัน ๑ ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนเลว ๑ ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ เสมอกับคนเลว ๑ ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนเลว ๑. ความถือตัว ๑๐ อย่าง คือ บุคคล บางคนในโลกนี้ยังความถือตัวให้เกิดเพราะชาติ ๑ เพราะโคตร ๑ เพราะความเป็นบุตรแห่งสกุล ๑ เพราะความเป็นผู้มีรูปงาม ๑ เพราะทรัพย์ ๑ เพราะการเชื้อเชิญ ๑ เพราะหน้าที่การงาน ๑ เพราะ หลักแหล่งศิลปศาสตร์ ๑ เพราะวิทยฐานะ ๑ เพราะการศึกษา ๑ เพราะปฏิภาณ ๑ เพราะวัตถุ อย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ (เกิดเป็น ๑๒) ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความที่จิตถือตัว ความใฝ่สูง ความฟูขึ้น ความทนงตัว ความยกตัว ความที่จิตใคร่สูงดุจธง นี้เรียกว่า ความถือตัว. คำว่า บุคคลผู้มีปัญญาละมารยาและมานะได้แล้ว คือบุคคลผู้มีปัญญา ละ เว้น บรรเทา ทำให้หมด ทำให้ไม่มีซึ่งมารยาและมานะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า บุคคลผู้มีปัญญาละมารยาและมานะ ได้แล้ว.
ว่าด้วยกิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง
[๑๐๓] คำว่า (บุคคลผู้มีปัญญานั้น) เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง จะพึงไปด้วยกิเลส อะไรเล่า มีความว่า กิเลสเครื่องเข้าถึง ได้แก่กิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง คือ กิเลสเครื่องเข้าถึง คือตัณหา ๑ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่องเข้าถึงตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลส เครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ บุคคลผู้มีปัญญานั้นละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา สละคืนกิเลสเครื่อง เข้าถึงคือทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ จึงชื่อ ว่า ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง. บุคคลผู้มีปัญญานั้นจะพึงไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัยอะไรเล่าว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความ ฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง ถึงโดยเรี่ยวแรง. กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้น อันผู้มีปัญญานั้นละ แล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องปรุงแต่งแล้ว จะพึงไปสู่คติทั้งหลายด้วยกิเลสอะไรเล่าว่า เป็น สัตว์เกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์ มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญาหรือเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี สัญญาก็มิใช่. บุคคลผู้มีปัญญานั้น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะอันเป็นเครื่องไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง จะพึงไปด้วยกิเลสอะไรเล่า เพราะเหตุนั้น พระผู้มี

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๕.

พระภาคจึงตรัสว่า                           ทิฏฐิ ที่กำหนด เพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อม ไม่มีแก่บุคคลผู้มีปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก เพราะบุคคลผู้มีปัญญา ละมารยาและมานะได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงจะพึงไปด้วย กิเลสอะไรเล่า. [๑๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรมทั้งหลาย ใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงด้วยกิเลสอะไร อย่างไรเล่า เพราะทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคล ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง สลัดเสียแล้ว ซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในโลกนี้นี่แหละ. [๑๐๕] คำว่า บุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรมทั้งหลาย มีความว่า กิเลสเครื่องเข้าถึง ได้แก่ กิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง คือ กิเลสเครื่องเข้าถึง คือตัณหา ๑ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อ ว่ากิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ บุคคลนั้นไม่ละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา ไม่สละคืนกิเลสเครื่อง เข้าถึงคือทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ไม่ละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา ไม่สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ จึงเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรมทั้งหลายว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึง ความฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง. กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้น อันบุคคล นั้นไม่ละแล้ว เพราะเป็นผู้ไม่ละกิเลสเครื่องปรุงแต่ง จึงย่อมเข้าถึง คือเข้าไปถึง รับ ถือมั่น ยึด มั่นวาทะติเตียนโดยคติว่า เป็นสัตว์เกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็น มนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญา หรือเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้า ถึง ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรมทั้งหลาย. [๑๐๖] คำว่า ใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงด้วยกิเลสอะไร อย่างไรเล่า มีความว่า กิเลสเครื่องเข้าถึงได้แก่ กิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง คือ กิเลสเครื่องเข้าถึง คือตัณหา ๑ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๖.

กิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ. บุคคลนั้นละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา สละคืนซึ่งกิเลสเครื่องเข้าถึง คือทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ ใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง. กิเลสเครื่องปรุงแต่งอันบุคคลเหล่านั้นละแล้ว เพราะเป็น ผู้ละกิเลสเครื่องปรุงแต่งแล้ว ใครๆ จะพึงกล่าวคติของบุคคลนั้นด้วยกิเลสอะไรเล่าว่า เป็นผู้เกิด ในนรก ฯลฯ หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่. บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะเครื่องกล่าว บอก พูด แสดง แถลงได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงด้วยกิเลสอะไรอย่างไรเล่า.
ว่าด้วยทิฏฐิ
[๑๐๗] คำว่า เพราะทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีกิเลส เครื่องเข้าถึงนั้น มีความว่า ทิฏฐิถือว่ามีตน ได้แก่สัสสตทิฏฐิย่อมไม่มี ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ได้แก่ อุจเฉททิฏฐิย่อมไม่มี ทิฏฐิถือว่ามีตน คือสิ่งที่ถือย่อมไม่มี ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน คือสิ่งที่พึงปล่อยย่อม ไม่มี. ผู้ใดมีสิ่งที่ถือ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมมีสิ่งที่พึงปล่อย ผู้ใดมีสิ่งที่พึงปล่อย ผู้นั้นชื่อว่ามีสิ่งที่ถือ พระอรหันต์ก้าวล่วงความถือและความปล่อย ล่วงเลยความเจริญและความเสื่อมเสียแล้ว. พระอรหันต์นั้นอยู่จบพรหมจรรย์เป็นเครื่องอยู่ ประพฤติธรรมเป็นเครื่องประพฤติแล้ว ฯลฯ ไม่มีภพใหม่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มี กิเลสเครื่องเข้าถึง. [๑๐๘] คำว่า เพราะบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น สลัดเสียแล้ว ซึ่งทิฏฐิทั้งปวง ในโลกนี้นี่แหละ มีความว่า ทิฏฐิ ๖๒ อันบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น ละ ตัดขาด สงบ ระงับ แล้วทำไม่ให้ควรเกิดขึ้นได้ เผาแล้วด้วยไฟคือญาณ. บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น สลัดแล้ว คือกำจัด กำจัดดี กำจัดออก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งทิฏฐิทั้งปวง ในโลกนี้นี่แหละ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น สลัดเสียแล้วซึ่งทิฏฐิ ทั้งปวงในโลกนี้นี่แหละ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๗.

บุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรมทั้งหลาย ใครๆ พึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ด้วยกิเลสอะไร อย่างไรเล่า เพราะทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคล ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น สลัด เสียแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในโลกนี้นี่แหละ ดังนี้.
จบทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๓.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๓๑๑-๑๘๒๑ หน้าที่ ๕๕-๗๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=1311&Z=1821&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=70&items=39&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=70&items=39&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=70&items=39&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=70&items=39&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=70              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]