ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๒๑] 	เท. พระสักยบุตรนั้น เป็นพระชินะ มีพระปัญญาสามารถ
                          มีพระปัญญากว้างขวางเช่นแผ่นดินอันประเสริฐ เป็น
                          นักปราชญ์ ไม่มีอาสวะ ทรงรู้แจ้งศีรษะและธรรมอันให้
                          ศีรษะตกไป ทรงองอาจกว่านรชน ประทับอยู่ ณ พระราช-
                          มณเฑียรแห่งพระเจ้าโกศลในพระนครสาวัตถี.
             [๒๒] 	ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นศิษย์
                          ผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์มา (บอกว่า). ดูกรมาณพทั้งหลาย มานี่เถิด.
                          เราจักบอก.ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา.
             [๒๓] 	ความปรากฏเนืองๆ แห่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดนั้น
                          ยากที่จะหาได้ในโลก วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
                          เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก มีพระนามปรากฏว่า พระ-
                          สัมพุทธเจ้า. ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี ดู
                          พระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์.
             [๒๔] 	ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ก็ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นแล้วจะรู้จักว่า
                          เป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร? ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะรู้จัก
                          พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยอุบายอย่างไร? ขอท่านจง
                          บอกอุบายนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด.
             [๒๕] 	พา. ก็มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย
                          ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งบริบูรณ์แล้วโดยลำดับ.
             [๒๖] 	ท่านผู้ใดมีมหาบุรุษลักษณะเหล่านั้นในกายตัว ท่านผู้นั้นมีคติ
                          เป็นสองอย่างเท่านั้น มิได้มีคติเป็นที่สาม.
             [๒๗] 	คือ ถ้าอยู่ครองเรือน พึงครอบครองแผ่นดินนี้. ย่อมปกครอง
                          โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา.
             [๒๘] 	และถ้าท่านผู้นั้นออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ-
                          อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสดังหลังคาอันเปิดแล้ว
                          ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า.
             [๒๙] 	พราหมณ์พาวรี (บอกแล้ว) ซึ่งชาติ โคตร ลักษณะ
                          และมนต์อย่างอื่นอีก กะพวกศิษย์ (ได้สั่งว่า). ท่าน
                          ทั้งหลายจงถามถึงศีรษะ และธรรมอันให้ศีรษะตกไปด้วยใจ
                          เท่านั้น.
             [๓๐] 	ถ้าท่านผู้นั้นจักเป็นพระพุทธเจ้าผู้เห็นธรรมไม่มีเครื่องกั้น. เมื่อ
                          ท่านทั้งหลายถามปัญหาด้วยใจแล้ว ก็จักแก้ด้วยวาจา.
             [๓๑] 	พราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ คือ อชิตพราหมณ์ ติสสเมตเตยย-
                          พราหมณ์ ปุณณกพราหมณ์ เมตตคูพราหมณ์.
             [๓๒] 	โธตกพราหมณ์ อุปสีวพราหมณ์ นันทพราหมณ์ เหมก-
                          พราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ กัปปพราหมณ์ ชตุกัณณี-
                          พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต.
             [๓๓] 	ภัทราวุธพราหมณ์ อุทยพราหมณ์ โปสาลพราหมณ์ โมฆ-
                          ราชพราหมณ์ผู้เป็นนักปราชญ์ ปิงคิยพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณใหญ่
                          ได้ฟังวาจาของพราหมณ์พาวรีแล้ว.
             [๓๔] 	ทั้งหมดนั้น เฉพาะคนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏ
                          แก่โลกทั้งปวง เป็นผู้เจริญฌาน ยินดีในฌาน เป็นธีรชน
                          ผู้มีจิตอบรมด้วยวาสนาในกาลก่อน.
             [๓๕] 	พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทุกคน ทรงชฎาและหนังเสือ อภิวาท
                          พราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว มุ่งหน้าเดินไปทาง
                          ทิศอุดร.
             [๓๖] 	สู่สถานเป็นที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมฬุกะ เมืองมาหิสสติในกาล
                          นั้น เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวน-
                          สวหยะ.
             [๓๗] 	เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต เมืองสาวัตถี เป็นเมืองอุดม
                          เมืองเสตัพยะ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารา.
             [๓๘] 	เมืองปาวา โภคนคร เมืองเวสาลี เมืองมคธและปาสาณเจดีย์
                          อันเป็นรมณียสถาน น่ารื่นรมย์ใจ.
             [๓๙] 	พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา (ปาสาณเจดีย์) เหมือนคน
                          กระหายน้ำรีบหาน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ารีบหาลาภใหญ่ และเหมือน
                          คนถูกความร้อนแผดเผาและรีบหาร่ม ฉะนั้น.
             [๔๐] 	ก็ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้วทรง
                          แสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือ
                          สีหนาทอยู่ในป่า.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๖๔-๑๒๒ หน้าที่ ๓-๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=64&Z=122&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=21&items=20              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=21&items=20&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=21&items=20              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=21&items=20              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=21              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]