[๕๑๐] แม้มารก็ชื่อว่ามัจจุราช แม้ความตายก็ชื่อว่ามัจจุราช ในอุเทศว่า มจฺจุราชา น
ปสฺสติ ดังนี้. คำว่า ย่อมไม่เห็น ความว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็น คือ ไม่ประสบ ไม่พบ
ไม่ปะ ไม่ได้เฉพาะ.
สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เนื้อที่อยู่ในป่า
เมื่อเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ เดินไปก็ไม่ระแวง ยืนอยู่ก็ไม่ระแวง นั่งพักอยู่ก็ไม่ระแวง นอนอยู่
ก็ไม่ระแวง. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเนื้อนั้นไม่ไปในทางของพราน แม้ฉันใด ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็เหมือนฉันนั้นแล สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน
อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมาร
ให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุแห่งมารผู้ลามก. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอก
ผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่. เข้า
ตติยฌาน เข้าจตุตถฌาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมารให้มืด กำจัดมารไม่
ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุของมารผู้ลามก.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะ
ล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวงอยู่.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมารให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่
ไม่เห็นด้วยจักษุของมารผู้ลามก.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง เข้าวิญญาณัญ-
*จยาตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดไม่ได้. ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
เข้าอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งไม่มี ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่. ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่. และอาสวะของภิกษุนั้นก็หมดสิ้นไป เพราะเห็น
ด้วยปัญญา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าทำมารให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่
สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุของมารผู้ลามก ข้ามแล้วซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ. ภิกษุ
นั้นเดินอยู่ก็ไม่ระแวง ยืนอยู่ก็ไม่ระแวง นั่งอยู่ก็ไม่ระแวง นอนอยู่ก็ไม่ระแวง. ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร? เพราะภิกษุนั้นไม่ไปในทางแห่งมารผู้ลามก. เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็น.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความ
เป็นของสูญทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พึงข้ามพ้น
มัจจุได้ด้วยอุบายอย่างนี้. เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้
มัจจุราชจึงไม่เห็น.
พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของ
ข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล.
จบ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๕.
-----------------------------------------------------
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๔๙๐๑-๔๙๓๕ หน้าที่ ๑๙๙-๒๐๐.
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=4901&Z=4935&pagebreak=0
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=510&items=1
อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=510&items=1&mode=bracket
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :-
https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=510&items=1
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :-
https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=510&items=1
ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=510
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐
https://84000.org/tipitaka/read/?index_30
https://84000.org/tipitaka/english/?index_30
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]