ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๓
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มาติกา
ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณ [ญาณอันสำเร็จ มาแต่การฟัง] ๑ ปัญญาในการฟังธรรมแล้ว สังวรไว้ เป็นสีลมยญาณ [ญาณ อันสำเร็จมาแต่ศีล] ๑ ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็นภาวนามยญาณ [ญาณอันสำเร็จมาแต่การเจริญสมาธิ] ๑ ปัญญาในการกำหนดปัจจัย เป็นธรรม ฐิติญาณ [ญาณในเหตุธรรม] ๑ ปัญญาในการย่อธรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนอดีต ส่วนอนาคตและส่วนปัจจุบันแล้วกำหนดไว้ เป็นสัมมสนญาณ [ญาณในการ พิจารณา] ๑ ปัญญาในการพิจารณาเห็นความแปรปรวนแห่งธรรมส่วนปัจจุบัน เป็นอุทยัพพยานุปัสนาญาณ [ญาณในการพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม] ๑ ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกไป เป็นวิปัสสนาญาณ [ญาณในความเห็นแจ้ง] ๑ ปัญญาในการปรากฏโดยความเป็นภัย เป็นอาทีนวญาณ [ญาณในการเห็นโทษ] ๑ ปัญญาในความปรารถนาจะพ้นไปทั้งพิจารณาและวางเฉย อยู่ เป็นสังขารุเบกขาญาณ ๑ ปัญญาในการออกและหลีกไปจากสังขารนิมิต ภายนอก เป็นโคตรภูญาณ ๑ ปัญญาในการออกและหลีกไปจากกิเลส ขันธ์ และสังขารนิมิตภายนอกทั้งสอง เป็นมรรคญาณ ๑ ปัญญาในการระงับประโยค เป็นผลญาณ ๑ ปัญญาในการพิจารณาเห็นอุปกิเลสนั้นๆ อันอริยมรรคนั้นๆ ตัดเสียแล้ว เป็นวิมุติญาณ ๑ ปัญญาในการพิจารณาเห็นธรรมที่เข้ามาประชุม ในขณะนั้น เป็นปัจจเวกขณญาณ ๑ ปัญญาในการกำหนดธรรมภายใน เป็น วัตถุนานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งวัตถุ] ๑ ปัญญาในการกำหนดธรรม ภายนอก เป็นโคจรนานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งโคจร] ๑ ปัญญาในการ กำหนดจริยา เป็นจริยานานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งจริยา] ๑ ปัญญา ในการกำหนดธรรม ๔ เป็นภูมินานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งภูมิ] ๑ ปัญญาในการกำหนดธรรม ๙ เป็นธรรมนานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งธรรม] ๑ ปัญญาที่รู้ยิ่ง เป็นญาตัฏฐญาณ [ญาณในความว่ารู้] ๑ ปัญญาเครื่องกำหนดรู้ เป็นตีรณัฏฐญาณ [ญาณในความว่าพิจารณา] ๑ ปัญญาในการละ เป็น ปริจจาคัฏฐญาณ [ญาณในความว่าสละ] ๑ ปัญญาเครื่องเจริญ เป็นเอกรสัฏฐญาณ [ญาณในความว่ามีกิจเป็นอันเดียว] ๑ ปัญญาเครื่องทำให้แจ้ง เป็นผัสสนัฏฐญาณ [ญาณในความว่าถูกต้อง] ๑ ปัญญาในความต่างแห่งอรรถ เป็นอัตถปฏิสัมภิทา- *ญาณ ๑ ปัญญาในความต่างแห่งธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ๑ ปัญญา ในความต่างแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ๑ ปัญญาในความต่างแห่ง ปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ๑ ปัญญาในความต่างแห่งวิหารธรรม เป็น วิหารัฏฐญาณ [ญาณในความว่าธรรมเครื่องอยู่] ๑ ปัญญาในความต่างแห่งสมาบัติ เป็นสมาปัตตัฏฐญาณ [ญาณในความว่าสมาบัติ] ๑ ปัญญาในความต่างแห่งวิหาร สมาบัติ เป็นวิหารสมาปัตตัฏฐญาณ [ญาณในความว่าวิหารสมาบัติ] ๑ ปัญญา ในการตัดอาสวะขาด เพราะความบริสุทธิ์แห่งสมาธิอันเป็นเหตุไม่ให้ฟุ้งซ่าน เป็น อานันตริกสมาธิญาณ [ญาณในสมาธิอันมีในลำดับ] ๑ ทัสนาธิปไตย ทัสนะมี ความเป็นอธิบดี วิหาราธิคม คุณเครื่องบรรลุ คือวิหารธรรมอันสงบ และปัญญา ในความที่จิตเป็นธรรมชาติน้อมไปในผลสมาบัติอันประณีต เป็นอรณวิหารญาณ [ญาณในวิหารธรรมอันไม่มีกิเลสเป็นข้าศึก] ๑ ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญ ด้วยความเป็นผู้ประกอบด้วยพละ ๒ ด้วยความระงับสังขาร ๓ ด้วยญาณจริยา ๑๖ และด้วยสมาธิจริยา ๙ เป็นนิโรธสมาปัตติญาณ [ญาณในนิโรธสมาบัติ] ๑ ปัญญา ในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลสและขันธ์ของบุคคลผู้รู้สึกตัว เป็น ปรินิพพานญาณ ๑ ปัญญาในความไม่ปรากฏแห่งธรรมทั้งปวง ในการตัดขาด โดยชอบและในนิโรธ เป็นสมสีสัฏฐญาณ [ญาณในความว่าธรรมอันสงบและธรรม อันเป็นประธาน] ๑ ปัญญาในความสิ้นไปแห่งกิเลสอันหนา สภาพต่างๆ และเดช เป็นสัลเลขัฏฐญาณ [ญาณในความว่าธรรมเครื่องขัดเกลา] ๑ ปัญญาในความ ประคองไว้ซึ่งจิตอันไม่หดหู่และจิตที่ส่งไป เป็นวิริยารัมภญาณ ๑ ปัญญาในการ ประกาศธรรมต่างๆ เป็นอรรถสันทัสนญาณ [ญาณในการเห็นชัดซึ่งอรรถธรรม] ๑ ปัญญาในการสงเคราะห์ธรรมทั้งปวงเป็นหมวดเดียวกันในการแทงตลอดธรรมต่างกัน และธรรมเป็นอันเดียวกัน เป็นทัสนวิสุทธิญาณ ๑ ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏ โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น เป็นขันติญาณ ๑ ปัญญาในความถูกต้องธรรม เป็นปริโยคาหนญาณ [ญาณในความย่างเข้าไป] ๑ ปัญญาในการรวมธรรม เป็นปเทสวิหารญาณ [ญาณในวิหารธรรมส่วนหนึ่ง] ๑ ปัญญาในความมีกุศลธรรม เป็นอธิบดีเป็นสัญญาวิวัฏฏญาณ [ญาณในความหลีกไปด้วยปัญญาที่รู้ดี] ๑ ปัญญา ในธรรมเป็นเหตุละความเป็นต่างๆ เป็นเจโตวิวัฏฏญาณ [ญาณในการหลีกออก จากนิวรณ์ด้วยใจ] ๑ ปัญญาในการอธิษฐาน เป็นจิตตวิวัฏฏญาณ [ญาณในความ หลีกไปแห่งจิต] ๑ ปัญญาในธรรมอันว่างเปล่า เป็นญาณวิวัฏฏญาณ [ญาณใน ความหลีกไปด้วยญาณ] ๑ ปัญญาในความสลัดออก เป็นวิโมกขวิวัฏฏญาณ [ญาณในความหลีกไปแห่งจิตด้วยวิโมกข์] ๑ ปัญญาในความว่าธรรมจริง เป็นสัจจวิวัฏฏญาณ [ญาณในความหลีกไปด้วยสัจจะ] ๑ ปัญญาในความ สำเร็จด้วยการกำหนดกาย [รูปกายของตน] และจิต [จิตมีฌานเป็นบาท] เข้าด้วยกัน และด้วยสามารถแห่งความตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญา [สัญญาประกอบด้วย อุเบกขาในจตุตถฌานเป็นสุขละเอียด] และลหุสัญญา [สัญญาเบาเพราะพ้นจาก นิวรณ์และปฏิปักขธรรม] เป็นอิทธิวิธญาณ [ญาณในการแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ] ๑ ปัญญาในการกำหนดเสียงเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียวด้วยสามารถการ แผ่วิตกไป เป็นโสตธาตุวิสุทธิญาณ [ญาณอันหมดจดแห่งโสตธาตุ] ๑ ปัญญา ในการกำหนดจริยาคือ วิญญาณหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยความแผ่ไปแห่งจิต ๓ ประเภท และด้วยสามารถแห่งความผ่องใสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เป็น เจโตปริยญาณ [ญาณในความกำหนดรู้จิตผู้อื่นด้วยจิตของตน] ๑ ปัญญาในการ กำหนดธรรมทั้งหลายอันเป็นไปตามปัจจัย ด้วยสามารถความแผ่ไปแห่งกรรม หลายอย่างหรืออย่างเดียว เป็นบุพเพนิวาสานุสสติญาณ [ญาณเป็นเครื่อง ระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้] ๑ ปัญญาในความเห็นรูปเป็นนิมิตหลายอย่าง หรืออย่างเดียว ด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพจักขุญาณ ๑ ปัญญาในความ เป็นผู้มีความชำนาญในอินทรีย์ ๓ ประการ โดยอาการ ๖๔ เป็นอาสวักขยญาณ [ญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย] ๑ ปัญญาในความกำหนดรู้ เป็น- *ทุกขญาณ ๑ ปัญญาในความละ เป็นสมุทยญาณ ๑ ปัญญาในความทำให้แจ้ง เป็น นิโรธญาณ ๑ ปัญญาในความเจริญ เป็นมรรคญาณ ๑ ทุกขญาณ [ญาณ ในทุกข์] ๑ ทุกขสมุทยญาณ [ญาณในเหตุให้เกิดทุกข์] ๑ ทุกขนิโรธญาณ [ญาณในความดับทุกข์] ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ [ญาณในข้อปฏิบัติ เครื่องให้ถึงความดับทุกข์] ๑ อรรถปฏิสัมภิทาญาณ ๑ ธรรมปฏิสัมภิทาญาณ ๑ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ๑ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ๑ อินทริยปโรปริยัติญาณ [ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย] ๑ อาสยานุสยญาณ [ญาณในฉันทะเป็นที่มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย] ๑ ยมก ปาฏิหิรญาณ [ญาณในยมกปาฏิหาริย์] ๑ มหากรุณาสมาปัตติญาณ ๑ สัพพัญญุตญาณ ๑ อนาวรณญาณ ๑ ญาณเหล่านี้รวมเป็น ๗๓ ญาณ ในญาณทั้ง ๗๓ นี้ ญาณ ๖๗ [ข้างต้น] ทั่วไปแก่พระสาวก ญาณ ๖ [ในที่สุด] ไม่ทั่วไปด้วยพระสาวก เป็นญาณเฉพาะพระตถาคตเท่านั้น ฉะนี้แล ฯ
จบมาติกา
-----------------------------------------------------
มหาวรรค ญาณกถา
[๑] ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณอย่างไร ปัญญาอันเป็นเครื่องทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้ สดับมาแล้วนั้นว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้ ธรรมเหล่านี้ ควรละ ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญ ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ธรรมเหล่านี้เป็นไป ในส่วนแห่งความเสื่อม ธรรมเหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งความตั้งอยู่ ธรรมเหล่านี้ เป็นไปในส่วนแห่งความวิเศษ ธรรมเหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นสุตมยญาณ [แต่ละอย่าง] ฯ [๒] ปัญญาอันเป็นเครื่องทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว คือ เป็นเครื่อง รู้ชัดซึ่งธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง เป็นสุตมยญาณอย่างไร ธรรมอย่างหนึ่งควรรู้ยิ่ง คือ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ธรรม ๒ ควรรู้ยิ่ง คือ ธาตุ ๒ ธรรม ๓ ควรรู้ยิ่ง คือ ธาตุ ๓ ธรรม ๔ ควรรู้ยิ่ง คือ อริยสัจ ๔ ธรรม ๕ ควรรู้ยิ่ง คือ วิมุตตายตนะ ๕ ธรรม ๖ ควรรู้ยิ่ง คืออนุตตริยะ ๖ ธรรม ๗ ควรรู้ยิ่ง คือ นิททสวัตถุ [เหตุที่พระขีณาสพนิพพานแล้วไม่ปฏิสนธิ อีกต่อไป] ๗ ธรรม ๘ ควรรู้ยิ่ง คือ อภิภายตนะ [อารมณ์แห่งญาณอันฌายี บุคคลครอบงำไว้] ๘ ธรรม ๙ ควรรู้ยิ่ง คือ อนุปุพพวิหาร ๙ ธรรม ๑๐ ควรรู้ยิ่ง คือนิชชรวัตถุ [เหตุกำจัดมิจฉาทิฐิเป็นต้น] ๑๐ ฯ [๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติทั้งปวงควรรู้ยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมชาติทั้งปวงควรรู้ยิ่ง คืออะไร คือ ตา รูป จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือแม้อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส เป็นปัจจัย [แต่ละอย่างๆ] ควรรู้ยิ่ง หู เสียง ฯลฯ จมูก กลิ่น ฯลฯ ลิ้น รส ฯลฯ กาย โผฏฐัพพะ ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือแม้อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัย ควรรู้ยิ่งทุกอย่าง ฯ [๔] รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหา สัมผัสสชาเวทนา การสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา รูป สัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธรรมวิตก รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธรรมวิจาร ควรรู้ยิ่ง ทุกอย่าง ฯ [๕] ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ วิญญาณกสิณ ควรรู้ยิ่งทุกอย่าง ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๑-๑๓๕ หน้าที่ ๑-๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=0&Z=135&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=31&item=0&items=6&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=31&item=0&items=6              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=31&item=0&items=6&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=31&item=0&items=6&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=0              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_31 https://84000.org/tipitaka/english/?index_31

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]